พิพิธบางลำพู
พิพิธบางลำพู ฟังชื่อแล้ว ก็น่าจะมาจาก พิพิธภัณฑ์+บางลำพู อะไรทำนองนั้น แต่ผมไม่รู้ที่มาที่ไปอย่างแท้จริงหรอกครับ ด้วยความบังเอิญว่ากำลังสืบหาข้อมูลบางอย่างอยู่แล้วมาเจอ facebook ของสถานที่แห่งนี้ แว๊บบบบบบแรกก็รู้สึกสนใจขึ้นมาทันที(อาจจะเป็นความสนใจตามอายุขัยกระมัง) ก็เลยกดเข้าไปดูรายละเอียด ปรากฏว่าเขากำลังจะมีงาน เสวนาในหัวข้อเรื่อง “เสน่ห์บางลำพู ธนารักษ์คู่ชุมชน” ในวันรุ่งขึ้น …. ก็เนื้อเต้นสิครับ อยากไปๆ ก็เลยสอบถามไป ปุ๊บๆปั๊บๆ คืนนั้นก็โอเคไปล๊ะกันวันพรุ่งนี้ อิอิ
เดิมทีอาคารสถานที่แห่งนี้ เคยเป็นโรงพิมพ์คุรุสภามาก่อน และ ก่อนหน้านั้นก็เป็น โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ อาคารหลังนี้ออกแบบโดย พระสาโรชรัตนนิม แบ่งเป็นอาคารสองหลัง อาคารหลังแรกอยู่ริมถนนพระสุเมรุ ก่ออิฐถือปูนแบบเบาเฮาส์ ที่มีลักษณะหลังคาสูง และมีหน้าต่างรายล้อม ชั้นบนทำด้วยไม้สัก ส่วนอาคารด้านหลังซึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางลำพู หรือ คลองรอบเมืองตรงข้ามกับวัดสังเวช มีลักษณะเป็นโถงสูง ทำจากไม้สักและไม้สแบก ได้รับอิทธิพลการออกแบบจากศิลปะอาร์ตเดคโคที่นิยมสร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกยุคแรกๆที่ออกแบบโดยคนไทยในยุคสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งที่ตรงนี้เป็นของ พระยานรนารถภักดี(เอม) ณ มหาไชย
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ขอใช้บ้านพระยานรนารถภักดี เพื่อเป็นที่จำหน่ายแบบเรียน หลังจากนั้นที่ดินก็ตกเป็นที่ราชพัสดุ ในภายหลังได้มีการรื้อและซ่อมแซมอาคารเดิมปรับปรุงเป็นโรงพิมพ์ในปี พ.ศ.2469 ครั้นอยู่มาถึง พ.ศ.2475 ก็ได้เปิดโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช สอนเรื่องการพิมพ์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ช่วงเช้ามีการเรียนการสอน ช่วงบ่ายก็รับงานมาพิมพ์ เพื่อฝึกให้นักเรียนนักศึกษาได้พิมพ์งานจริง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โรงพิมพ์ก็มีหน้าที่พิมพ์อย่างเดียว ไม่มีการเรียนการสอนแล้ว และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพิมพ์วัดสังเวช พิมพ์แบบเรียน หนังสือชุดวิชาครู วรรณคดีเอกของชาติเช่น รามเกียรติ์ พระอภัยมณี อิเหนา สามก๊ก เป็นต้น ในปี พ.ศ.2493 โรงพิมพ์ได้ถูกโอนมาเข้ากับองค์การค้าคุรุสภา จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ ซึ่งมีหน้าที่จัดพิมพ์ตำราของกระทรวงศึกษาธิการเช่นเดิม
ภายหลังได้มีการเปิดโรงพิมพ์คุรุสภาแห่งใหม่ที่ถนนลาดพร้าว ในปี พ.ศ. 2501 งานการจัดพิมพ์ตำราเรียนจึงไปพิมพ์ที่ลาดพร้าว แต่ที่อาคารหลังนี้ก็ยังคงถูกใช้งานอยู่จนกระทั่งหมดสัญญากับกรมธนารักษ์ และถูกปล่อยให้ทิ้งร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ.2541-2543 คณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์มีมติให้รื้อถอนอาคารโรงพิมพ์คุรุสภา แต่ประชาชนย่านนั้นได้รวมตัวกันเป็น ประชาคมบางลำพู คัดค้านการรื้อถอนจนสำเร็จ และผลักดันจนกระทั่งสามารถขึ้นทะเบียนอาคารเป็นโบราณสถานได้ในปี พ.ศ. 2544
ศูนย์การเรียนรู้กรมธนารักษ์และห้องสมุดชุมชน ปรับปรุงและออกแบบอาคารโรงพิมพ์คุรุสภาให้เป็นพิพิธภัณฑ์กรมธนารักษ์ จัดแสดงประวัติความเป็นมา ภารกิจ และผลงานของกรมธนารักษ์ในทุกๆด้าน และในส่วนของอาคารไม้ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นอาคารไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ได้ปรับปรุงด้านล่างเป็นห้องสมุดชุมชนบางลำพู ส่วนด้านบนเป็นพิพิธภัณฑ์วิถีชุมชนชาวบางลำพู ที่รวบรวมความเป็นอยู่ ศิลปและวัฒนธรรม ของชาวบางลำพูตั้งแต่ยุครุ่งเรืองเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งในปัจจุบันเกือบจะไม่หลงเหลือให้เห็นแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนสืบต่อไป
(ที่มา :: พิพิธบางลำพู และ ผมพยายามเรียบเรียงเองบ้าง)
การเดินทาง
ผมหยิบแผ่นพับที่ทางพิพิธบางลำพูให้มา มาเปิดออกดู เห็นภาพนี้ที่แสดงอาณาบริเวณที่เรียกขานกันว่า “บางลำพู” น่าสนใจมากมาย จึงขออนุญาติเอามาให้เพื่อนๆได้เห็นกันด้วย จริงๆแล้วผมพยายามหาข้อมูลอยู่เหมือนกันว่า บางลำพู นั้นมีอาณาบริเวณตรงไหนบ้าง
การเดินทางมาที่นี่ มาได้เกือบทุกทางยกเว้นทางอากาศ เอาเป็นว่าสะดวกขนส่งสาธารณะก็มาได้ มารถส่วนตัวก็พอได้ ก็มาเส้นทางเดียวกันกับสวนสันติชัยปราการ ที่ได้ทำการรีวิวไปก่อนหน้านี้แล้ว นะครับ
ชื่อสถานที่ :: พิพิธบางลำพู
ที่อยู่ :: พระสุเมรุ เขต พระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ :: 02 281 9828
facebook :: https://web.facebook.com/pipitbanglamphu/
website :: https://pipitbanglamphu.wordpress.com/
twitter :: @pipitbanglamphu
Instagram :: Pipit_banglumphu
เวลาเปิด-ปิด :: 10:00 – 18:00 น. หยุดวันจันทร์
รถเมล์ :: สาย 33 , 53 , 59, ปอ 70 มีอีกหลายสายนะครับ แต่เอาที่เห็นก่อน
เรือด่วน :: ลงท่าพระอาทิตย์ แล้วเดินมาหน่อยนึงครับ
รถส่วนตัว :: พิพิธภัณฑ์มีที่จอดรถน้อยมาก แต่สามารถจอดริมถนนฝั่งตรงข้ามได้ ตามวันและเวลาที่ตำรวจจราจรอนุญาติ (เห็นแว๊บๆจอดได้ 09:00-16:00 น. มั้งครั้บ)
ผมได้ปักหมุดสถานที่ย่านนี้เอาไว้บ้างแล้ว เท่าที่รู้จัก บางที่โด่งดังรู้จักกันทั่วก็จะปักไว้ด้วย บางที่อาจจะดัง แต่ผมไม่มีข้อมูลก็จะยังไม่ปักก่อน ไว้ไปเจอะเจอแล้วค่อยกลับมาปักทีหลัง
https://drive.google.com/open?id=1XcbkzTS3bDN-DOuU4AMKTubAibg&usp=sharing
ได้เวลาเดินเล่น
ตามนั้นเลยครับ เวลาไปไหนมาไหน งานอะไร ดดยมากผมมักจะไปก่อนล่วงหน้า เพื่อจะได้เก็บรายละเอียดข้อมูลสิ่งแวดล้อมก่อน บางทีคนมักสงสัยว่าไปงานเสวนาแบบนี้ ทำไมถ่ายรูปมาไม่ค่อยมีคนเลย … ตามนี้เลยครับ มาก่อน กลับหลัง
ว่ากันตั้งแต่มาจอดรถที่โรงเรียนวัดสังเวชเลยครับ จากโรงเรียนเดินข้ามสะพานก็ถึงพิพิธบางลำพูแล้วครับ ที่เห็นนี่คือด้านหลังของพิพิธบางลำพู อาคารไม้สักที่เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วิถีชุมชนชาวบางลำพู
สะพานนี้ก็เก่าแก่ไม่ธรรมดา ซึ่งสร้างโดย ยี่กอฮง นายอากรหวยคนสุดท้ายในสมัย รัชกาลที่ 6 ผู้ก่อตั้งปอเต๊กตึ้ง หรือที่รู้จักกันในนาม “พระอนุวัตร์ราชนิยม” ซึ่งท่านได้สร้างสะพานไว้หลายแห่งมากทั่วพระนคร
เดินมาอีก 20 ก้าวก็ถึงปากซอยลำพู ซึ่งตรงกับประตูทางเข้าของพิพิธบางลำพูพอดี
อย่างที่บอกนะครับ มาเร็วเกินไป อิอิ
ก็เลยได้เดินโต๋เต๋ไปมา …
นี่แหละ … จะมางานนี้ อยากมานั่งฟัง …
เดินวนรอบนอกๆก่อน เพราะไม่เคยมาแถวนี้เลย เคยมาเมื่อปี พ.ศ.2525 แต่ก็จำอะไรไม่ได้เลย มาที่โรงเรียนวัดสังเวชแล้วก็กลับ
ร้านค้าตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ ได้รับการปรับปรุงใหม่ แต่ยังคงโครงสร้างสิ่งปลูกสร้างเดิมๆ
เจอร้านนี้กำลังเปิดอยู่ ดีเลย กำลังหิวอยู่เหมือนกัน “พัวกี่เย็นตาโฟ”
เห็นโต๊ะแล้วหลับตานึกถึงอายุร้านได้เลย
เดินเข้าไปถาม ….ร้านเปิดแล้วยังครับ …. “ยังไม่เปิด”…..เปิดกี่โมงครับ…..”สิบโมง”
แฮะๆ สงสัยกำลังเหนื่ือยกับการเปิดร้าน น้ำเสียงที่ตอบมาแอบหน้าหงายเล็กน้อย เอามือตบกระเป๋าสตางค์ตัวเอง เราก็พอมีเงินจ่ายค่าอาหารอยู่น๊ะ
แต่สุดท้ายก็เดินกลับมากินอยู่ดี ตอนสิบโมงนิดหน่อย …คราวนี้มาเจอคุณลูกขาย ค่อยยังชั่วหน่อย
รสชาติอร่อยครับ สมแก่การเดินย้อนกลับมากินจริงๆ โดยเฉพาะเกี้ยวกุ้ง อร่อยจริงๆ
เข้างาน
แน่ใจแล้วว่า เข้างานตอนนี้ไ้ดลงทะเบียนแน่ๆ อิอิ
เชิญโต๊ะนี้เลยครับ … ลงทะเบียนกันก่อน
ลงทะเบียนเสร็จก็จะได้เอกสารพร้อมของที่ระลึกประมาณนี้
เวทีพร้อม….
บรรยากาศดีแฮะ …เสวนาในสวน สีเขียวๆจากต้นไม้เยอะแยะมากมาย ชอบจริงๆ สบายๆ ร่มรื่น ไม่เป็นทางการมากมาย
ด้านล่างอาคารไม้เป็น ห้องสมุดงานเสวนาเริ่มต้น “เสน่ห์บางลำพู ธนารักษ์คู่ชุมชน” โดยในงานนี้มีผู้ร่วมเสวนาหลายท่านเช่น คุณอมรรัตน์ กล่ำพลบ ผอ.สำนักบริหารที่ราชพัสดุ คุณวชารี เจริญสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ และที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ ป้านิด คุณอรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู
ป้านิด เล่าเรื่องที่คนอยากรู้ …
ระหว่างนั้นก็มีการแสดงศิลปะการแทงหยวกกล้วย ภูมิปัญญาไทยโบราณ ของลุงจ้อย วีระ แดงแนวโต จากชุมชนวัดใหม่อมตรส ซึ่งถือว่าฝีมือขั้นเทพแล้ว และทุกวันนี้ก็หาดูได้ยาก ควรค่าแก่การสืบถอดศิลปะนี้ให้แก่ชนรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป
พิพิธบางลำพู มีอะไร?
เป็นเสมือนคำถามที่เกิดขึ้นทุกๆครั้งเวลาเราไปเยือนที่แห่งใดก็ตามว่า ด้านในมีอะไรน่าสนใจบ้าง ที่น่ายินดีเป็นที่ยิ่งก็คือที่นี่ได้รับการออกแบบเพื่อให้รองรับกับทุกกลุ่มคน มีทางลาดเพื่อคนที่จำเป็นต้องใช้ wheel share มีอักษรเบลล์ตามจุดต่างๆเพื่อให้คนที่พิการทางสายตาได้สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆได้ด้วย
ที่นี่จะแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆก็คือ
- บริเวณชั้นล่างของอาคารปูน
- บริเวณชั้นบนของอาคารปูน
- บริเวณอาคารไม้ด้านหลัง
ในส่วนที่ 1 นั้น เราสามารถเดินชมได้อย่างอิสระ แต่ส่วนที่ 2 และ 3 จะต้องลงทะเบียนจองรอบ จะมีเจ้าหน้าที่พาเดินชมพร้อมทั้งบรรยาย โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาในการเดินชมส่วนที่ 2 และ 3 ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
เราสามารถลงทะเบียนเข้าชมได้ที่เคาน์เตอร์นี้เลยครับ เดินเข้ามาก็จะเจอก่อนเลย
เรามาเดินแช่แอร์เล่นด้านในกันบ้างดีกว่า ชั้นล่างนี้เราสามารถเดินชมได้ตามความพอใจเลยครับ
โดยห้องแรก ก็จะเป็นห้องสำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน “เอกบรมองค์ราชินี” จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคล 82 พรรษา ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระราชินีนาถก็เนื่องจากอาคารหลังนี้ก่อสร้างขึ้นในปี 2475 ซึ่งเป็นปีประสูติของพระองค์นั่นเอง
ห้องที่สองเป็นลักษณะห้องนิทรรศการเช่นกัน ชื่อห้องว่า ป้อมเขตขัณฑ์รัตนโกสินทร์ เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างกำแพงป้อมล้อมรอบกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยที่เริ่มสร้างเป็นเมืองหลวง
ที่ทำให้เห็นความเป็นมาของเมื่อแรกเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี กลางห้องมีแนวกำแพงเก่าที่จำลองขึ้น มีกำแพงเมืองแล้วก็ต้องมี “คูคลองล่องลำนำ” คูเมืองรอบพระนคร และคลองสำคัญต่างๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทำให้เกิดย่านชุมชนย่านการค้าต่างๆ ขึ้น
กลางห้องจะเห็นกำแพงที่มีลักษณะเหมือนที่สร้างขึ้นในสมัยนั้นมาจำลองให้เห็น พร้อมทั้งข้อมูลต่างๆสำหรับผู้ที่สนใจได้อ่าน ทำให้ทราบเรื่องราวของ การหล่ออิฐด้วยเทคนิคช่างโบราณ การก่อร่างสร้างกำแพงป้องกันราชธานี
ตรงนี้เป็นที่ที่เราหลบมานั่งพักร้อนอยู่บ่อยๆ เนื่องจากว่าอากาศด้านนอกเริ่มร้อนแล้ว ก็เลยเดินหลบเข้ามาด้านใน
เมื่อการเสวนาจบลง ผู้ที่เข้าร่วมฟังเสวนาก็จะเดินชมพิพิธบางลำพูเป็นกลุ่มๆ
นิทรรศการกรมธนารักษ์
เรามาเดินชมด้านบนของอาคารปูนกันต่อ ซึ่งตามที่บอกนะครับว่า จะต้องลงทะเบียนจองรอบ และจะมีเจ้าหน้าที่คอยนำและอธิบายตลอดเส้นทาง ทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลที่ชัดเจนตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ห้องพระคลังมหาสมบัติ เป็นห้องที่จัดแสดงสถานที่ต่างๆที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์
ห้องเบิกโรงกษาปณ์ ตามรอยเงินตรา อีกหน้าที่หนึ่งของกรมธนารักษ์ก็คือ ภารกิจด้านการผลิตเหรียญกษาปณ์ ขั้นตอนการผลิตเหรียญกษาปณ์ด้วยสื่อมัลติมีเดียผสมกราฟิกที่ทันสมัย ถ่ายทอดทั้งเกร็ดความรู้ความประณีต และทักษะที่สั่งสมมายาวนานของช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่เหรียญกษาปณ์จะถูกกระจายออกสู่สังคมเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน
ห้องทรัพย์แห่งความภูมิใจ อนุรักษ์ไว้เพื่อแผ่นดิน เป็นห้องที่จัดแสดงถึงความเป็นมาของการจัดเก็บทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินในพระคลังมหาสมบัติ ตลอดจนวิธีการอนุรักษ์
ห้องเพื่อราษฎร์และรัฐ เป็นห้องจัดแสดงที่ราชพัสดุ และ การประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์
โมเดลแสดงตำแหน่งที่ตั้งที่ราชพัสดุตามบริเวณต่างๆ
การประเมินราคาทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์
ประวัติโรงพิมพ์คุรุสภา
นิทรรศการชุมชนบางลำพู
หมดจากนิทรรศการกรมธนารักษ์อาคารปูนชั้นสอง เราก็เดินต่อเนื่องมาที่อาคารไม้ด้านหลัง โดยจะมีทางเดินเชื่อมต่อมาได้เลย
สีสันบางลำพู เข้ามาก็จะพบกับมัลติมีเดียแสดงถึงความเป็นอยู่ของบางลำพูในยุคปัจจุบัน …
เบาะแสจากริมคลอง ถัดมาก็จะเป็นการย้อนกลับไปในบางลำพูในอดีต ในยุคที่มีการขุดคลองรอบกรุง ก่อเกิดเป็นวิถีชุมชนริมน้ำ(สังเกตุบ้านไม้ที่เหลือๆอยู่ในปัจจุบัน จะหันหน้าเข้าหาคลอง)
พระนครเซ็นเตอร์ ในยุคที่บางลำพูได้ชื่อว่าเป็นย่านที่เฟื่องฟูที่สุดในแดนดินสยาม ทั้งทางภาคธุรกิจและบันเทิง ซึ่งแน่นอนว่าย่านนี้เป็นศูนย์รวมของมหรสพหลากหลายรูปแบบ เช่นโรงภาพยนต์บุศยพรรณ ลิเกหอมหวล อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมและจุดตัดของรถรางที่ถือว่าทันสมัยที่สุดแล้วในสมัยนั้น ทำให้เกิดร้านค้าที่โด่งดังหลากหลายร้านเช่น ห้าง ต.เง็กชวน ตั้งฮั่วเส็ง ร้านแก้วฟ้า ถนนสิบสามห้าง ฯลฯ
ห้าง ต.เง๊กชวน ผู้มีดนตรีอยู่ในหัวใจในอดีตย่อมไม่พลาดกับร้านจำหน่ายแผ่นเสียงที่ดังที่สุด “แผ่นเสียงตรากระต่าย” ในปัจจุบันร้านนี้ก็ยังคงอยู่ แต่ได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจไปเป็นร้านขายขนมเบื้องที่สุดแสนอร่อยไปแล้ว
เดินเล่น ช๊อปปิ้ง ย่านการค้าที่โด่งดังที่สุดในพระนคร
มีการจำลองร้านกาแฟเฉกเช่นในอดีต โดยที่ชั้นบนก็จะเป็นโรงเตี๊ยม ร้านกาแฟนันทิยา ที่ว่ากันว่ากลิ่นกาแฟหอมหวลยั่วยวนไปหลายซอย หรือในสมัยก่อนหลายท่านคงเคยชิมลิ้มรสซาลาเปาที่ ภัตราคารอั้นเฮียงเหลา
มาถึงร้านนี้ ร้านตัดรองเท้ายี่ห้อ Big Buffalo ของห้างแก้วฟ้า ซึ่งจากร้านตัดรองเท้าเล็กๆ ขยายกิจการใหญ่โตกลายเป็นห้างแก้วฟ้าพลาซ่า และยังเติบโตขยายเป็นห้างนิวเวิลด์บางลำพู แต่ก็ต้องประสบปัญหาคดีความเกี่วกับการสร้างต่อเติมอาคารผิดกฏระเบียบ ปัจจุบันจึงได้กลายเป็นตึกร้างอย่างที่เห็นอยู่
มาถึงร้านนี้ “ตั้งฮั่วเส็ง” จัดแสดงให้เห็นถึงภาพเก่าๆของหน้าร้านตั้งฮั่วเส็งในอดีต ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของ ไหมพรม ในปัจจุบันก็ยังคงมีส่วนของไหมพรมนี้ที่ชั้น 1 ของห้างตั้งฮั่วเส็ง
อีกร้านที่โด่งดังในยุคนั้น ใครมีต้องใส่โชว์กันเลยทีเดียว นั่นก็คือ ร้านเสื้อนพรัตน์
ย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า
นอกจากร้านค้า ห้าง เหลา ภัตราคารต่างๆแล้ว บางลำพู ยังมีอีกหลากหลายอาชีพที่ฝังตัวอยู่ในตรอกซอกซอยทั่วทิศทุกทางของย่านนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ก็รวบรวมเท่าที่จะหาข้อมูลได้ในยุคนี้ มาจำลองเมือนจริง และ เกือบทุกครอบครัวก็ได้บริจาค อุปกรณ์เครื่องใช้ของจริง เพื่อมาจัดแสดงที่นี่ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นได้ศึกษากันต่อไป … เดี๋ยวหลังจากเดินชมในพิพิธภัณฑ์นี้แล้ว เราจะออกไปเดินย่ำตรอกออกซอยเพื่อเยี่ยมเยียนสถานที่จริงกันเลยหละ …
ข้าวต้มน้ำวุ้น ขนมอร่อยแต่โบราณที่เพิ่งเคยได้เห็นและได้ยิน วันนี้บุญหนักนัก ได้ลิ้มชิมรสของจริงๆเสียด้วย หลังอาหารเที่ยงที่ทางพิพิธบางลำพูจัดให้อร่อยจริงๆ
ลานทอง ร้านช่างทอง ที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
โต๊ะทำทองของช่างทองเก่าแก่ ตัวนี้เป็นของจริงที่ทางทายาทได้มอบให้แก่พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาทางวัฒนธรรมต่ออนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป
ศิลปะการแทงหยวกกล้วย ก็ถือเป็นอีกแขนงที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นที่ยิ่ง
เดินมาโซนสุดท้าย เล่าเรื่องบางลำพูตาม Time Line
และมีการรวบรวมคนดี คนเด่น คนดัง จากบางลำพู
พระพุทธบางลำพูประชานาถ เดิมทีตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศน์วรมหาวิหาร และในทุกๆปีจะมีประเพณีแห่รอบย่านบางลำพู ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเกรงว่า ถ้าสิ้นท่านแล้ว ในอนาคตการที่ชาวบ้านจะมาเชิญองค์พระไปแห่รอบบางลำพูนั้น อาจจะลำบาก ประจวบเหมาะกับการที่มีการก่อสร้างพิพิธบางลำพูพอดี ท่านเลยรับสั่งให้ย้ายมาประดิษฐานที่พิพิธบางลำพู ซึ่งชาวบ้านชุมชนบางลำพูก็เห็นดีเห็นงามด้วย
มาถึงจุดนี้ก็หมายความว่า หมดเส้นทางการศึกษาของพิพิธบางลำพูแล้ว …
เล็กๆน้อยๆจากทางพิพิธบางลำพู เอาที่ได้ชิมนะครับ เพราะว่าเราลงมาจากเดินชมด้านบน ตลาดก็วายเสียแล้ว (เวลาเขาให้กิน เราไปชมพิพิธภัณฑ์ เพราะเกรงว่าถ้ามาพร้อมๆกัน คนจะเยอะมาก อิอิ)
ข้าวต้มน้ำวุ้น อร่อยจริงๆ
โอยยยยยยย …. แกงส้มชะอมกุ้ง แต่กินชะอมไม่ได้ ยอมเสี่ยง กินแกงกับกุ้ง ….อร่อยยยยยยยย ม๊ากกกกก (กลับบ้านต้องรีบกิยาแก้ปวดเก๊าท์เลย) ส่วนข้างๆน่าจะเป็นปลาดุกทอดแดดเดียว ประมาณนั้น …อร่อยไม่เหลือซากเหมือนกัน
ขนมอร่อยๆ ย่านบางลำพู … มากันเลย รับชิมรับกินหมด อิอิ
เป็นน้ำกระเจี๊ยบที่อร่อยที่สุดในสามโลก เท่าที่เคยกินมาเลยทีเดียว อยากเบิ้ลอีก สามสี่แก้ว แต่ก็เกรงใจจริงๆ
ย่ำตอกออกซอยบางลำพู
ตอนหน้า เราจะมาเล่าเรื่องประสบการณ์ที่ตามเจ้าหน้าที่พิพิธบางลำพูย่ำตอกออกซอยไปตามบ้านที่มีส่วนในการสร้างประวติศาสตร์ของชาวบางลำพูกัน … คอยติดตาม นะครับ