แพทย์ขอนแก่นรอบ PORTFOLIO ปีการศึกษา 2569

น่าจะผ่านตาการนำเสนอของหลายๆท่าน หลายๆติวเตอร์แล้วนะครับว่า แพทย์รอบพอร์ตของขอนแก่นปีหน้านั้นเป็นอย่างไร(จริงๆก็คือยื่นกันปีนี้ แต่เป็นปีการศึกษาหน้า 2569) ก็เดี๋ยวเอามาเขียนซ้ำๆให้อีกรอบนะครับ ผมอาจจะไม่ค่อยสันทัด และ ไม่มีข้อมูลของแพทย์ขอนแก่นมากนัก แต่ก็เขียนตามความเข้าใจจากการอ่าน Requirement นะครับ

จริงๆก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณกรรมการรับนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ล่วงหน้ากว่า 6-7 เดือน ทำให้เด็กๆมีโอกาสในการเตรียมตัวในทุกๆด้านทั้งคะแนนมาตรฐานและ requirement อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคะแนนมาตรฐานที่ไม่ได้ใช้ MCAT แล้วและหันมาใช้ TBAT แทน

ไม่ใช่มาประกาศล่วงหน้า 30 วัน ทำให้เด็กๆหลายๆคนต้องขาดคุณสมบัติโดยปริยาย เพราะถ้าใช้ Requirement ของเก่าก็ยังสามารถยื่นได้ แต่ถ้าออกมาใหม่แล้วทำให้ยื่นไม่ได้ ก็จะทำให้เด็กๆมีปมกับคณะและมหาวิทยาลัยนั้นตลอดไป จริงๆก็อยากให้มหาวิทยาลัยอื่นๆที่มีใช้บริการคะแนนของ MCAT ออกมาชี้แนวทางให้บ้างในลักษณะนี้ก็ดีนะครับ

การที่แพทย์ขอนแก่นเปลี่ยนมาใช้ TBAT + CU-AAT นั้น ทำให้เด็กๆหลายคน สามารถเข้าถึงการสอบได้ โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับเด็กๆในรุ่นนี้และรุ่นต่อๆไป (ถึงแม้ว่ารุ่นนี้ ส่วนใหญ่จะ “ต้อง” สมัครสอบกันไปแล้ว คนละ 16,200 บาท และยังไม่รวมค่าลงติวกับติวเตอร์ต่างๆอีก อีกหัวละหลายหมื่นบาท)


มีอะไรเปลี่ยนแปลงในรอบ PORTFOLIO ของ MEDKKU 69

จะว่าไปแล้วปีนี้เปลี่ยนไปมาก ถือว่าเป็น Major Change ได้เลย หลักๆก็จะขอพูดถึง MDX เป็นหลักนะครับ

คะแนนวัดความรู้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ – English Proficiency

โครงสร้างคะแนนเดิม 2567 โดยคิดเป็นสัดส่วน 12% ของรอบ Portfolio

โครงสร้างคะแนนใหม่ 2568 โดยคิดเป็นสัดส่วน 30% ของรอบ Portfolio

+ สัดส่วนน้ำหนักคะแนนของ English Proficiency ก็เปลี่ยนจาก 12% มาเป็น 30%
+ ระดับช่วงคะแนนซอยย่อยมากขึ้นกว่าเดิมจาก 3 ระดับเป็น 4 ระดับ

จากการซอยย่อยลงไปครั้งนี้ ถ้าดูช่วงคะแนนของแต่ละระดับแล้ว เลี่ยงไม่ได้เลยที่เราจะต้องพยายามปีนไปให้ถึงระดับ 4 ซึ่งคะแนนจะต่างจากระดับ 3 ถึง 6 คะแนน และห่างจากระดับ 2 ถึง 14 คะแนน

แปลว่าเราต้องพยายามทำ IELTS ไปให้ถึง 7.5 ขึ้นไปให้ได้ เพื่อชิงความได้เปรียบตรงนี้ก่อน แต่ถ้าไม่ได้อย่างไร 6.5-7.0 ก็ยังโอเคอยู่ครับ

คะแนนวัดความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการ – Academic Achievement

ปีนี้ไม่ต้องพูดมากสำหรับ MDX ไม่ต้องเลือก มีตัวเดียวให้ไปหาคะแนนมาให้ได้นั่นก็คือ TBAT + CU-AAT จากเดิมที่มีตัวเลือกเป็น BMAT หรือ MCAT ซึ่ง BMAT ก็หมดอายุขัยไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ส่วน MCAT ก็ตามกระแสดราม่าเลยครับถึงความยากไม่เหมาะกับเด็ก ม.6 รวมทั้งราคาค่าสอบก็ไม่ธรรมดา แถมที่นั่งสอบก็มีจำกัด ซึ่งเราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้แล้วเพราะพูดไปกันเยอะมากเมื่อปีที่ผ่านมา

ซึ่งจากที่ประกาศมา น้ำหนักคะแนนของ Biomedical Science (TBAT + CU-ATT) คิดเป็น 70% เลยทีเดียว ซึ่งพอ่านปุ๊บ คำถามก็เกิดปั๊บ เลยว่าคะแนน 2 อย่าง ก็เท่ากับ 100% ละ ในการคัดเลือก แล้ว Portfolio หละ จะเอาไปคิดตอนไหน . . .ค่อยๆอ่านกันต่อไปนะครับ จะสังเกตุได้ว่า ไม่มีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำ ดังนั้นไปจัดหามา ไปสมัคร ไปสอบให้ได้คะแนนมา

ซึ่งถ้าจากประกาศฉบับใหม่นี้นั้น ทำให้เห็นว่าน้ำหนักวิชา ชีววิทยา และ เคมี 2 วิชาก็ 43% จาก 70% แล้ว เกินครึ่งเลยทีเดียว แต่เป้าหมายหลักๆก็คือ เก็บทุกๆวิชา ให้ได้คะแนนดีที่สุด อย่างน้อยๆเกาะไว้ที่ 70% วิชานึงก็ควรจะ 550 จาก 800 และอาจจะเน้นๆในรายวิชา Bio/Chem มากขึ้นหน่อยนะครับ

สำหรับรอบสอบปีนี้ของ TBAT และ CU-AAT นั้นยังคงมี 2 รอบคือ สอบวันที่ 06/07/2025 และ 05/10/2025

+ รอบสอบวันที่ 06/07/2025 สมัครสอบประมาณ 23-29/06/2025
+ รอบสอบวันที่ 05/10/2025 สมัครสอบประมาณ 22-28/09/2025

Requirement ของส่วนที่เป็น Portfolio

ปีนี้ตัว Requirement ของ Portfolio ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนพอสมควร มีความชัดเจนมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ถามกันเกือบทุกปีก็คือ กี่หน้า รวมปก รวมสารบัญไหม พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษได้ไหม บลาๆๆๆๆๆ ปีนี้กำหนดมาให้แล้วครับว่า

Portfolio ความยาวไม่เกิน 20 หน้ากระดาษ A4 (ไม่รวมปก คำนำ สารบัญ และ เอกสารอ้างอิง พิมพ์ได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ มีระบุ font และขนาดมาให้นะครับ

เรื่องของข้อกำหนดอื่นๆ ก็กำหนดมาอย่างชัดเจนว่า ต้องการกิจกรรม/ผลงาน/ความสามารถ ทางด้านไหนบ้าง และนำเสนอแต่ละด้านไม่ควรเกินกี่ผลงาน

Requirement ที่ระบุว่า “จะต้องเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 – พฤศจิกายน 2568” แต่ปีนี้ข้อความส่วนที่หายไปก็คือ (ไม่นับรวมเอกสารจากสถาบันกวดวิชา หรือองค์กร ที่จัดตั้งเพื่อธุกิจทางการศึกษา) ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า โอเค ได้แล้วนะ เพราะการพิจารณาให้คะแนนยังคงเป็นของกรรมการอยู่ดี

ในส่วนของกิจกรรม/ผลงาน ก็ระบุหัวข้อชัดเจน ใครจัดหามาได้ครบกว่าก็คงเป็นผลดี แต่ก็ควรเป็นผลงานที่มีคุณค่าในเรื่องนั้นๆด้วย ซึ่งต่างๆนานา ก็จะเริ่มไปคล้ายๆกับรามา

มีการกำหนดให้เขียน SOP อย่างเป็นทางการ ซึ่งสารตั้งต้นก็จะคล้ายๆกับการเขียน SOP ของที่อื่นๆนั่นก็คือ
+ เหตุจูงใจ ที่ทำให้อยากเรียนแพทย์
+ จุดมุ่งหมายหลังเรียนจบแพทย์
+ ทำไมเราถึงเหมาะสมที่จะเรียนแพทย์

มีการระบุผลงานประสบการณ์การทำงานในสถานพยาบาลคล้ายกับเชียงใหม่ แต่ที่ระบุละเอียดแสดงว่าให้ความสำคัญก็คือ เนื้อความในการไปฝึกงานนั้นๆว่า เราได้รับมอบหมายให้ทำอะไรบ้าง เราไปมีปฏิสัมพันธ์กับใครบ้าง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้ และ จำนวนชั่วโมงที่เราไปฝึกงาน(ใครจะว่าจำนวนชั่วโมงหรือวันไม่สำคัญก็แล้วแต่ แต่ถ้าระบุแบบนี้ มันก็ต้องมีอะไรบ้างแหละ)

กิจกรรมหรือผลงานนอกหลักสูตร ถ้าไม่ยกตัวอย่างมาให้ก็ตีความกันไปได้หลายๆอย่าง แต่ถึงแม้ยกตัวอย่างมาแล้ว ก็อาจจะมีอะไรนอกเหนือจากที่เขาบอกมาก็ได้ ที่เขาให้ตัวอย่างมาเช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะการแสดง ตอบปัญหาวิชาการ การเข้าค่าย ฯลฯ คัดมาตัวที่เด่นๆหลากหลาย แต่ไม่เกิน 7 ชิ้น/ผลงาน/กิจกรรม

ทักษะการทำงานเป็นทีม ไม่เกิน 3 ผลงาน

กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมสาธารณะ อันนี้มีกันเยอะแน่เลย แต่จำกัดให้ไม่เกิน 3 ผลงาน/กิจกรรม นะครับ

ส่วนสุดท้ายก็คือ เรื่องของผลงานสร้างสรรค์/งานวิจัย อันนี้น่าเป็นห่วง สำหรับหลายๆโรงเรียน หรือ หลายๆหลักสูตรในโรงเรียนที่ไม่มีหรือไม่เอื้อให้มีการทำโครงงานหรืองานวิจัย ก็ต้องไปหาทางออก จะจากไหนอะไรอย่างไร ก็ต้องค่อยๆดูกันไป


เกณฑ์การคัดเลือกเข้าสัมภาษณ์

คือถ้าอ่านจาก Section นี้ แปลภาษาไทยเป็นภาษาไทยก็คือ การคัดเลือกผู้เข้ารอบสัมภาษณ์นั้น ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติทั้ง 3 อย่าง
+ English Proficiency (น้ำหนัก 30%)
+ Academic Achievement (น้ำหนัก 70%)
+ Portfolio
โดยจะประมวลผลจากผลคะแนนสอบ English Proficiency (30%) + Academic Achievement (70%) นำมารวมกันแล้วเรียงคะแนนเรียกเข้าสัมภาษณ์ตามลำดับ

จะแปลว่า ไม่ได้เอา Portfolio มาร่วมพิจารณาในการเรียกเข้าสัมภาษณ์เหมือนกับ จุฬา ก็ประมาณนั้น แล้วเอา Portfolio พิจารณาร่วมกับการสอบสัมภาษณ์เพื่อการคัดเลือก อันนี้เขาก็ไม่ได้บอกแบบนั้นเหมือนกัน เอาไงดี?

ถ้าอ่านจากประกาศน่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ คือเอาคะแนนมาเรียงเรียกเข้าสัมภาษณ์

ซึ่งถ้าบอกไปให้ชัดเจนเลยว่า เกณฑ์การคัดเลือกจากรอบสัมภาษณ์เพื่อเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์นั้นใช้การพิจารณาจากอะไรบ้าง จะยิ่งสุดยอดไปเลย

ถ้าย้อนกลับไปดูเกณฑ์การให้คะแนนและคัดเลือกปีที่แล้วซึ่ง English Proficiency คิดเป็น 12% และ Academic Achievement คิดเป็น 28% รวมกันก็ 40% แล้วเขาก็ไม่ได้บอกว่าอีก 60% จะเอายังไง บางคนก็คิดว่าเป็น portfolio ไหม? ซึ่งก็ไม่รู้แน่ชัดเช่นกัน

จำนวนที่จะเรียกเข้าสัมภาษณ์ ก็บอกโดยประมาณว่า 200 คน สำหรับตระกูล MDX นั่นคือ MDX-1 / MDX-MHA / MDX-MDH


อื่นๆ