สอบเข้า ม.4 สามเสนวิทยาลัย ปีการศึกษา 2566

วันก่อนเขียนเกี่ยวกับ สอบเข้า ม.1 สามเสนวิทยาลัย แล้วมีผู้ปกครองอยากได้ของ ม.4 ด้วย
จริงๆ ของ ม.4 จะมีความยุ่งเหยิงมากกว่า ม.1 มากมาย แถมรับน้อยกว่าด้วย แต่ในเมื่อมีผู้ต้องการ ก็จะขอจัดให้ นะครับ

ที่บอกว่ายุ่งเหยิงก็เพราะว่า มอปลายของสามเสนวิทยาลัย มีหลากหลายโครงการ หลายแผนการเรียน

จริงๆเคยเขียนเอาไว้ครั้งหนึ่งสองสามปีที่แล้ว ดังนั้น ในโพสต์นี้อาจจะ Copy ข้อความมา paste ด้วยนะครับ

ปีนี้ไม่ได้ทำสรุปตัวเลขว่าห้องไหนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คณะไหนที่ไหนบ้าง(ขี้เกียจแหละ ดูออก) แต่ก็ต้องขออนุญาตและขอขอบคุณคุณครูแนะแนวสำหรับข้อมูล ผมก็ขออนุญาตนำมาแปะเลยละกันนะครับ เป็นผลประกอบการของ DEK65 นะครับ แถมของ DEK64 ตรงบทสรุปส่วนท้ายนะครับ

ส่วนของ DEK66 กำลังขับเคี่ยวกันอยู่

ห้องเรียนที่ 1-4 ห้องเรียนสามัญวิทยาศาสตร์

หรือเรียกกันสั้นๆว่าห้องวิทย์(สมัยผมเรียน มศ.4 – มศ.5 เขาเรียกห้องวิทย์-คณิต) เป็นห้องที่เด็กๆ ม.3 สายสามัญส่วนใหญ่(รวมทั้งห้อง ESC-MSEP ม.3) จะเลือกเอาไว้เป็นอันดับต้นๆ ที่นั่งทั้งหมดมี 160 ที่นั่ง( 4 ห้อง ห้องละ 40 คน) ดูจากแผนการรับนักเรียนรับ 30 คน แสดงว่าประเมินว่าเป็นนักเรียนเก่าของสามเสนวิทยาลัยอีก 130 คน

ทุกปีก็จะโดนถามว่า แล้วจาก 4 ห้องนี้ ห้องไหนเป็นห้องคิงส์ จริงๆก็ไม่ได้มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการรับรู้จากการสังเกตุว่า จะมีนักเรียนที่ยื่นผลการเรียนเพื่อเลือกห้องนี้ลพดับต้นๆกองกันอยู่ และ อีกจุดสังเกตุก็คือ นักเรียนที่สอบเข้าได้ในรอบห้องเรียนปกติลำดับต้นๆก็จะมาอยู่ห้องนี้ด้วย ส่วนนักเรียนที่เหลือก็จะคละกันไปในอีก 3 ห้อง

เมื่อก่อนก็ไม่ได้ยึดติดว่าห้องที่กำลังพูดกันอยู่นี้คือห้องไหน /1 /2 /3 หรือ /4 เพราะวนๆกันไป แต่ในปีสองปีนี้ก็สังเกตุเหมือนกันว่า เอ๊ะ หรือว่าไม่เปลี่ยนละ เป็นห้อง …. เดี๋ยวดูปีนี้อีกปี

ห้องเรียนที่ 5 ESMTE / ห้องเรียนที่ 17 พสวท.(สู่ความเป็นเลิศ)

เดิมทีห้องนี้ก็คือห้องที่จะเอานักเรียนทุน พสวท. อีก 6 คน มานั่งเรียนด้วย แต่หลังจากที่ พสวท.ได้จัดตั้งห้องใหม่เรียกว่า ห้องพสวท.(สู่ความเป็นเลิศ)(ห้อง 17) ก็ได้ย้ายนักเรียนทุนไปเรียนที่ห้องนั้นแทน โดยได้สนับสนุนงบประมาณ แต่ต่อมาหลังจากเปิดได้ 3 ปี ทาง พสวท. ก็ได้ยกเลิกโครงการไป แต่ทางโรงเรียนศูนย์ต่างๆ ก็ยังคงมีห้องนี้อยู่

ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment) และห้อง พสวท. มีเรียนวันเสาร์ และวันปกติก็มีเรียนคาบ 9-10 เป็นปกติเช่นกัน

ห้องเรียนที่ 6 IMP

ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เร่งรัดคณิตศาสตร์ เสริมคอมพิวเตอร์ (Intensive Mathematics Program – IMP) เป็นห้องเรียนพิเศษภายใน ซึ่งหมายความว่า จะทำการสอบตัดเลือกจากนักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่กำลังจะขึ้น ม.4 ที่สนใจในห้องเรียนนี้ โดยจะทำการสอบคัดเลือกในวันสุดท้ายของการสอบปลายภาคของระดับชั้น ม.3

ห้องนี้จะเร่งรัดเรียนคณิตศาสตร์ให้จบหลักสูตรภายใน ม.5 แล้ว ม.6 ก็จะเตรียมตัวเน้นเข้ามหาวิทยาลัยโดยการตลุยโจทย์หรือกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ และห้องนี้ก็จะมีเรียนเสริม Computer

ห้องเรียนที่ 7 – 8 MSEP

ห้อง MSEP หรือ ห้องเรียนพิเศษด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ (Mathematics & Science Enrichment Program – MSEP) จะเปิดรับจากการสอบคัดเลือกเข้ามาทั้งหมดของรอบห้องเรียนพิเศษ หมายความว่า นักเรียนสามเสน ม.3 ถ้าจะเข้าห้องนี้ ก็ต้องไปสอบคัดเลือกเข้ามาทั้งหมดรวมทั้งนักเรียน ม.3 ห้อง MSEP เดิมก็ตาม หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า ล้างไพ่ นั่นเอง

ห้องเรียนที่ 9 EIS

ห้อง EIS – โครงการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ คอมพิวเตอร์ เป็นภาษาอังกฤษ โดยครูไทย (English for Integrated Studies Classroom) เป็นอีกห้องเรียนพิเศษภายในที่มีวิธีการคัดเลือกเหมือนกับห้อง IMP นั่นคือ จะมีการสอบคัดเลือกเป็นการภายในจากนักเรียนสามเสนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

EIS เป็นแผนการเรียนแบบคณิตศาสตร์ หรือศิลป์-คำนวณนั่นเอง โดยในรายวิชาวิทยาศาสตร์ก็จะเป็นวิทยาศาสตร์ทั่วไป ไม่ได้เจาะลึกลงพวก Biology Physice Chemistry เหมือนแผนการเรียนวิทย์ และจะมีการเรียนเพิ่มเติมในรายวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคม และมีการเรียนเสริมในวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมด้วยในเรื่องของ Writing และ Conversation อย่างละ 2 คาบ ต่อสัปดาห์

ห้องเรียนที่ 10 – ห้องเรียนสามัญคณิตศาสตร์

ห้องเรียนคณิตศาสตร์หรือห้องศิลป์คำนวณ ก็จะมีความคล้ายกับห้องเรียน EIS เพียงแต่ไม่ได้มีการเรียนการสอนในรายวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ คอมพิวเตอร์เป็นภาษาอังกฤษโดยครูไทย

หลายคนถามเหมือนกันว่า ห้องศิลป์คำนวณไปเรียนต่ออะไรได้บ้างในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจริงๆแล้วก็ไปได้เยอะแยะนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ

ห้องเรียนที่ 11 – 12 ห้องสามัญภาษาต่างประเทศ

หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า ห้องศิลป์ภาษา ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าแนวไหน สำหรับสามเสนวิทยาลัยก็เปิดรับสมัครภาษาต่างประเทศประมาณนี้
+ ภาษาฝรั่งเศส 7 คน
+ ภาษาเยอรมัน 7 คน
+ ภาษาจีน 12 คน
+ ภาษาญี่ปุ่น 12 คน
+ ภาษาเกาหลี 6 คน

ห้องเรียนที่ 13 EP คณิตศาสตร์-ภาษาต่างประเทศ

ไม่ได้เป็นห้องที่เน้นคณิตศาสตร์และภาษาต่างประเทศไปพร้อมๆกัน แต่ห้องนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ EP คณิตศาสตร์ และ EP ภาษาต่างประเทศ อย่างละ 15 คน โดยที่ในรายวิชาพื้นฐานที่เรียนเหมือนกันก็จะเรียนด้วยกัน และจะแยกย้ายกันไปเรียนในรายวิชาเฉพาะของแผนการเรียนนั้นๆ

ในการรับนักเรียนนั้น ก็จะเป็นโควต้าของนักเรียน EP เก่า และรับนักเรียนใหม่ดังนี้
+ EP คณิตศาสตร์ โควต้าเด็กเก่า 5 คน รับนักเรียนใหม่ 10 คน
+ EP ภาษาต่างประเทศ โควต้าเด็กเก่า 5 คน รับนักเรียนใหม่ 10 คน

การรับนักเรียนใหม่ ก็คือการสอบคัดเลือกรอบห้องเรียนพิเศษ นั่นเอง

ห้องเรียนที่ 14-15-16 EP Science

จริงๆแล้วถือเป็นห้องเรียนที่ร้อนแรงมาระยะหนึ่งหลังจากที่ผมปั่นผมเชียร์มาพอสมควรในรอบ 2-3 ปีนี้ 5 5 5 ซึ่งไม่ได้เกิดความนิยมเพราะผมปั่นหรือเชียร์หรอกครับ แต่เป็นไปตามกลไกลของหลักสูตรเขา ที่พยายามปรับให้เข้ากับสภาวะการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในรอบ Portfolio และ International School ทั้งหลาย

จำได้ว่ามีคนถามในห้อง “สอบเข้าสามเสน” แต่จำไม่ได้แล้วว่าเขาถามว่าอะไร Copy มาแปะเลยละกันนะครับ

ปัจจุบันเปิดรับ 30 คน ถือว่าเยอะมาก เมื่อก่อนเปิดรับสอบเข้าแค่ 10 คน

ห้องเรียนที่ 17 พสวท.(สู่ความเป็นเลิศ)

เป็นหลักสูตรที่ได้รับความร่วมมือจาก สสวท. และ มหาวิทยาลัยเครือข่ายหรือ มหาวิทยาลัยมหิดล นักเรียนจะได้รับการสนับสนุนจากโครงการในการทำกิจกรรมต่างๆ การใช้เครื่องไม้เครื่องมือของทางศูนญ์

และห้องนี้จะมีนักเรียนทุนของ พสวท. มาเรียนด้วยอีก 6 คน

ข้อดีของห้อง พสวท. ก็คือ มี MOU กับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา


โค้งสุดท้าย

ความจริงก็มีผลประกอบการของรุ่น DEK64 ด้วยนะครับ ขอเอามาแปะตรงนี้ละกันนะครับ map ห้องเอาเองนะ