แพทย์เชียงใหม่รอบ Portfolio 2565 แกะรายละเอียด

ประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการออกมาหลายวันก่อน วันนี้ก็เลยเอามานั่งเปิดดู(ปกติประกาศก็จะเห็นลักษณะนั้นในเว็บของมหาวิทยาลัย ยังไม่เคยเห็นประกาศที่เป็นหัวจดหมายตราสัญญลักษณ์คณะหรือมหาวิทยาลัย ยกเว้นตอนมีประกาศเพิ่มเติมหรือแก้ไข) เพื่อที่จะดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีอะไรเพิ่มเติมมาบ้าง จากปีที่แล้ว และที่สรุปก็คือ เราจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้างนั่นเอง

คร่าวๆที่มีการเปลี่ยนแปลงไปนะครับ (เอาที่สำคัญๆ)

  • ปรับลดเกรดในระดับ ม.4 ม.5 จาก 3.50 เหลือ 3.00
  • โครงสร้างการให้คะแนนที่เปลี่ยนไป
  • ผลงาน/รางวัล เหลือแค่ 3 ชิ้น จากเดิม 4 ชิ้น
  • มีเพิ่มคะแนนเจตคติ มาด้วย โดยไปลดคะแนนจากผลงานมาให้นั่นเอง

ความจริงยังมีอีกหลายๆเรื่องที่อยากบอก อยากเล่า แต่อาจจะไม่เหมาะไม่ควร เอาไว้ใครสนใจจริงๆไปถามในห้อง Line ได้นะครับ
ที่ผมเข้าไปตอบบ่อยๆก็จะมีอยู่ 2 แหล่งก็คือ

Line Open Chat ที่ชื่อว่า 2U ตาม Link นี้นะครับ

You’ve been invited to join “2U”. Visit the link below to join the OpenChat.
https://line.me/ti/g2/3l_LplDBcNSB5H22nYm-j-KfOWoFIDWmMqrVMg?utm_source=invitation&utm_medium=link_copy&utm_campaign=default

Line Group ที่ผู้ปกครอง นศพ.เชียงใหม่รอบ Portfolio จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลแก่เด็กและผู้ปกครองในรอบปี 64 ก็คือรุ่นลูกผมนั่นเอง ซึ่งพวกเราก็ได้ความกระจ่างในหลายๆเรื่องที่ยัง งง งง ไม่แน่ใจ อะไรประมาณนั้น เข้ามาถามก็จะได้คำตอบ จนได้มาเป็น นศพ.เชียงใหม่ในปี 2564 นี่แหละครับ แต่อันนี้จะเป็น Line Group ซึ่งท่านจะไม่เห็นข้อมูลเก่าๆที่เคยแชร์กันเอาไว้ก่อนหน้า ดังนั้น สงสัยอะไร ถามได้เลยครับ Line Group นี้มีชื่อว่า “แนะแนววิธีเตรียมพอร์ตสู่แพทย์ มช”

http://line.me/ti/g/gFPbsbrPdS

อีกช่องทางที่จะทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ก็ดูจาก Clip ของเด็กๆที่จัดทำนะครับ


โครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ

จะขอเริ่มเอาของโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษมาเป็นโครงในการเขียนนะครับ ส่วนอีก 2 โครงการเดี๋ยวจะเขียนเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่เหมือนกันให้ด้วยนะครับ

ซึ่งก็เหมือนปีที่ผ่านๆมาสำหรับแพทย์เชียงใหม่รอบ Portfolio นั่นก็คือ ไม่ต้องทำ Portfolio เป็นรูปเล่มสวยงาม ไม่ต้องทำปกหน้าหลากสี ไม่ต้องมีสารบัญ เพราะที่นี่ให้ผู้สมัครทุกคน กรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มที่ทางคณะให้มา โดยปกติก็จะประมาณ 10 หน้า แต่ปีนี้กี่หน้าเดี๋ยวต้องค่อยๆดูกันไปนะครับ

และปีนี้แบ่งตัวฟอร์มของ Portfolio ออกเป็น 2 ส่วน นั่นก็คือส่วนของ Education Background / English Proficiency / Academic Achivement ซึ่งจะรวมอยู่ในแผ่นที่ 1-3

เอาตัว Official Portfolio มาแปะไว้ให้ด้วยนะครับ ซึ่งจะมีอยู่ 2 ส่วน

ส่วนแรกจะเป็นเรื่องของคะแนนสอบ ประวัติการเรียนอะไรทำนองนั้น
ส่วนที่สองก็จะเป็นเรื่องของกิจกรรม/ผลงาน ต่างๆ

แบบฟอร์ม Portfolio โครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ

Portfolio สำหรับโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ ส่วนที่ 1

Portfolio สำหรับโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ ส่วนที่ 2

+++ ส่วนที่ 1 แผ่นที่ 1 +++

เป็นเรื่องของ Education Backgroud ก็คือผลการเรียน เกรด ตอนที่เรียนอยู่ ม.4 – ม.5 ของนักเรียนไทยทั้งภาคปกติและ English Program ซึ่งตามที่โปรยไว้แต่ต้นแล้วว่ามีการลดระดับความเข้มข้นลงมาเล็กน้อย นั่นคือ เกรดเฉลี่ยในรายวิชาที่กำหนด(เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ) จะต้องไม่ต่ำกว่า 3.00 (ปีที่แล้ว 3.50)

ส่วนการกรอกคะแนนในแต่ละวิชา ทั้งวิชาพื้นฐานและวิชาเพิ่มเติม โดยมากในหลักสูตรของโรงเรียนก็เขียนเอาไว้อยู่แล้วว่าเป็นวิชาพื้นฐาน หรือ วิชาเพิ่มเติม สำหรับ English Program ก็จะระบุเป็น Foundation / Additional

+++ ส่วนที่ 1 แผ่นที่ 2 +++

สำหรับแผ่นที่ 2 ก็ไม่มีอะไรมาก กรอกเกรดเหมือนเดิมต่อเนื่องจากแผ่นที่ 1 แต่ที่สำคัญก็คือ อย่าลืมให้ครูแนะแนวหรือตัวแทนโรงเรียนลงนามรับรอง (ของลูกชายให้ครูฝ่ายทะเบียนลงนาม และประทับตราโรงเรียน)

+++ ส่วนที่ 1 แผ่นที่ 3 +++ ( BMAT 55 คะแนน / IELTS 30 คะแนน )

แผ่นที่ 3 ก็จะเป็นเรื่องของนักเรียนโรงเรียนอินเตอร์ และ ผลสอบ BMAT ผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ IELTS / TOEFL iBT

ในหัวข้อที่ 4 เฉพาะสำหรับเด็กนักเรียนอินเตอร์นั้น ที่ขาดหายไปจากตารางก็คือ การใช้ผลคะแนน SAT Subject(SAT II) ซึ่งปีที่ผ่านมากำหนดให้มีคะแนนตั้งแต่ 650 ขึ้นไป ในรายวิชา เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ แต่ปีนี้ไม่มีตารางของส่วนนี้ ซึ่งเด้กบางคนสอบปีที่แล้ว บางคนทันสอบปีนี้ อายุของคะแนนก็ยังคงใช้ได้อยู่ ก็เลยไม่รู้ว่าจะใช้คะแนน SAT Subject โดยใส่ในช่องสุดท้าย “อื่นๆ / หมายเหตุ” จะได้หรือไม่ !!!


ในเรื่องของ Academic Achivement หรือผลสอบ BMAT ก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยปีนี้ได้มีการนำ Section 3 เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย นั่นก็คือรวมผลสอบทั้ง 3 Sections จะต้องได้ 12 C ขึ้นไป จากเดิมปีที่แล้วที่กำหนดให้คะแนนรวมของ Section 1 และ Section 2 รวมกันได้ตั้งแต่ 9 ขึ้นไป

และที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ ค่าน้ำหนักในการให้คะแนนเพื่อคัดเลือก ได้ให้ค่าน้ำหนักเป็น 55% จากเดิมปีที่แล้ว 50%


ในส่วนของ English Proficiency ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร โดยเกณฑ์ขั้นต่ำของ IELTS ยังคงเป็น Overall 6.5 ส่วน TOEFL iBT ไม่น้อยกว่า 79 สำหรับผู้ที่ศึกษาโรงเรียนไทย และค่าน้ำหนักคะแนนก็ยังคงเท่าเดิมที่ 30%


+++ ส่วนที่ 2 แผ่นที่ 1-2-3 +++ ( 5 คะแนน )

ส่วนที่ 2 ก็จะเป็นเรื่องของการนำเสนอผลงานแล้วหละ โดยของโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ กับ เรียนดีโอลิมปิก จะเหมือนๆกัน ส่วนวิทยาการข้อมูลจะแตกต่างในผลงานชิ้นที่ 1 เดี๋ยวค่อยๆดูไปนะครับ

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ จำนวนผลงาน/รางวัล ในปีนี้ลดลงเหลือ 3 ผลงาน และลดสัดส่วนคะแนนลงด้วยบ้างเล็กน้อย ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้น อย่างที่รู้กันนะครับว่าด้วยสถานการณ์โควิดแบบทุกวันนี้ เด็กๆเองก็จะหาสนามในการทำกิจกรรมและผลงานต่างๆได้ยาก โดยเฉพาะเด็กๆที่อยู่ในโซนแดงเข้มควบคุมพิเศษ

เรามาเริ่มกันที่ แผ่นที่ 1 เลยนะครับว่า ทางคณะกรรมการต้องการให้เรานำเสนอผลงานอะไรอย่างไรบ้าง

สำหรับส่วนที่ 2 แผ่นที่ 1 จะเป็นเรื่องของผลงานที่แสดงถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพแพทย์ โดยทางคณะกรรมการระบุมาเลยว่าผลงานเหล่านี้จะไม่สามารถนำมาเสนอในหัวข้อนี้ได้ นั่นก็คือ

  • การแข่งขันตอบปัญหาทางการแพทย์ และ วิทยาศาสตร์การแพทย์
  • ผลงานที่ไปซ้ำกับผลงานชิ้นที่ 2 และ 3 ที่จะนำเสนอ

แล้วผลงานแบบไหนหละที่จะสามารถนำมาลงในหัวข้อนี้ได้?

เอาแบบว่าเท่าที่พอจะเคยเห็นมาละกันนะครับ

  • การฝึกงานตามโรงพยาบาล ส่วนตัวแล้วคิดว่าการไป Shadow เป็นอะไรที่ตอบโจทย์ข้อนี้ได้อย่างดีที่สุด แต่อย่างที่ทราบ ในปีแบบนี้ เป็นการยากที่จะขอไป Shadow ตามโรงพยาบาล ซึ่งสถานการณ์ปกติถ้าไม่รู้จักใครในโรงพยาบาลต่างๆก็ยากอยู่แล้ว
  • การเข้าค่ายที่จัดอย่างเป็นทางการโดยนิสิต-นักศึกษา หรือ จากทางคณะแพทย์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่นค่ายรามาปณิธาน ค่ายเส้นทางสู่หมอศิริราช ค่ายอยากเป็นหมอ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ

แต่ที่สำคัญก็คือ การเขียนบรรยายหรืออธิบาย เพราะว่าพื้นที่มีจำกัด เราต้องเขียนสรุปให้กระชับได้ใจความ

  • ได้ไปทำอะไรบ้าง
  • ได้อะไรจากการทำกิจกรรมนี้บ้าง

ตัวอย่างของผลงานชิ้นนี้อาจจะพอเป็นแนวทางบ้าง

ส่วนในแผ่นที่ 2 และ 3 นั้น ก็จะเป็นการใส่รูปภาพหรือหลักฐานในการปฏิบัติงาน ใบประกาศนียบัตร ของผลงานชิ้นนี้ ของปีที่แล้ว แผ่นเดียวใส่ 2 รูปเลย ปีนี้ให้มาตั้ง 2 แผ่น แต่ก็ใส่ได้แค่ 2 รูปเช่นกัน

ตัวอย่างของผลงานชิ้นนี้อาจจะพอเป็นแนวทางบ้าง

+++ แผ่นที่ 4-5-6 และ 7-8-9 +++ ( ชุดละ 4 คะแนน )

แผ่นที่ 4-5-6 และ แผ่นที่ 7-8-9 จะเหมือนกัน โดยที่ให้เราเลือกผลงานหรือกิจกรรมอีก 2 ผลงาน ตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งเขียนอธิบายและแนบหลักฐาน

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนอกจากลดจำนวนผลงานเหลือเพียงแค่ 2 ผลงานแล้ว น้ำหนักคะแนนก็ลดลงเหลือผลงานละ 4 คะแนน (ปีที่แล้ว 3 ผลงาน ผลงานละ 5 คะแนน)

ตัวอย่างของผลงานชิ้นนี้อาจจะพอเป็นแนวทางบ้าง


++ คะแนนเจตคติ ++ ( 2 คะแนน )

ปีนี้ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ คะแนนเจตคติ 2 คะแนน ซึ่งก็มาจากการลดคะแนนในส่วนผลงานทั่วไปที่ไม่ใช่ผลงานหรือกิจกรรมทางการแพทย์(ซึ่งมี 2 ผลงาน) จากผลงานละ 5 คะแนน เหลือเพียง 4 คะแนน ดังนั้น จึงได้ 2 คะแนนมาเป็นส่วนของเจตคติ

เจตคติ (Attitude) คืออะไร?

ตอบเลย . . . ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ก็น่าจะหมายถึงทัศนคติต่อวิชาชีพแพทย์ (ความเห็นส่วนตัวล้วนๆ) ลองไปหาข้อมูลคำจำกัดความ

เจตคติ เป็นคุณลักษณะภายในของบุคคล ที่ไม่สามารถวัดได้โดยตรง จึงเป็นการวัดโดยทางอ้อม ได้แก่ การสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ การรายงานตนเอง

ซึ่งก็เลยเดาๆต่อไปว่า เป็นคะแนนที่ให้ในช่วงสอบสัมภาษณ์หรือไม? อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวอีกแล้วนะครับ ความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ทางคณะกรรมการ

ว่าแล้ว ก็เลยโทรไปถาม ก็ได้รับคำตอบ เป็นไปตามที่คาดคิดเลยครับ …


น่าจะหมดกระบวนความสำหรับโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ เดี๋ยวก็จะพูดถึงโครงการเรียนดีโอลิมปิก และ โครงการวิทยาการข้อมูล จะได้ดูว่ามีอะไรแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

โครงการเรียนดีโอลิมปิก

ในส่วนแรกของเอกสาร Portfolio โครงการเรียนดีโอลิมปิก ก็จะไม่มี Section ของคะแนน BMAT แต่ยังคงส่วนของคะแนน English Proficiency (IELTS/TOEFL)( 30 คะแนน ) และจะเพิ่มในส่วนของ แบบแสดงข้อมูลและรายการหลักฐานอันประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการฯ หรือการได้รับคัดเลือกเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย ซึ่งมีค่าน้ำหนักคะแนน 55 คะแนน

แบบฟอร์ม Portfolio สำหรับโครงการเรียนดีโอลิมปิก

Portfolio สำหรับโครงการเรียนดีโอลิมปิก ส่วนที่ 1

Portfolio สำหรับโครงการเรียนดีโอลิมปิก ส่วนที่ 2


ในส่วนที่ 2 ของโครงการเรียนดีโอลิมปิก ก็จะเหมือนกับของโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ …

โครงการวิทยาการข้อมูล

ในส่วนของโครงการวิทยาการข้อมูล หรือถ้าเรียกเต็มๆก็คือ โครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล ก็จะมีส่วนที่แตกต่างจาก โครงการเรียนดีโอลิมปิก และ โครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ และโครงสร้างคะแนนก็อาจจะแตกต่างกันพอสมควร

ในส่วนของผลคะแนนความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ เท่ากับโครงการอื่น 30 คะแนน จึงไม่ได้นำมาแปะไว้ในนี้ จะแปะเฉพาะส่วนที่แตกต่างกันนะครับ

แบบแสดงข้อมูลและรายการหลักฐานอันประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการฯ หรือการได้รับคัดเลือกเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย มีค่าน้ำหนักคะแนน 50 คะแนน (จะแตกต่างจากโครงการเรียนดีโอลิมปิกที่ให้ 55 คะแนน)

แบบฟอร์ม Portfolio สำหรับโครงการวิทยาการข้อมูล

Portfolio สำหรับโครงการแพทย์วิทยาการข้อมูล ส่วนที่ 1

Portfolio สำหรับโครงการแพทย์วิทยาการข้อมูล ส่วนที่ 2


สรุปโครงสร้างคะแนนของทั้ง 3 โครงการ

เอามาสรุปให้เห็นว่า แต่ละโครงการมีการให้น้ำหนักคะแนนส่วนไหนอย่างไรบ้าง


บทสรุป

ปีการศึกษา 2565 นี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ยังคงยึดตำแหน่งการคัดเลือกในรอบ Portfolio เป็นลำดับสุดท้ายเช่นเคย แต่ปีนี้อาจจะกระชับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น บอกคร่าวๆว่าปีที่ผ่านมา มช.กวาดเด็กที่ไม่ผ่านสัมภาษณ์จาก จุฬาและรามาไปเยอะมากสำหรับโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ เรามาสรุปตารางการสอบของปีนี้กันนะครับ

สำหรับรายละเอียดการรับสมัครของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูได้จาก Link นี้เลยนะครับ

https://www1.reg.cmu.ac.th/ugradapply/


MED KKU : แพทย์รอบพอร์ต ขอนแก่น 2565 มาดู Requirement คำต่อคำ

แพทย์รามา 2565 ประกาศทางการ มีอะไรเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม มาดูกัน !!

MEDICAL PLAYLIST SEASON 1 (Portfolio)