ตอนนี้เป็นตอนที่ 7 แล้วนะครับสำหรับซีรี่ย์สามเสนเข้ามหาวิทยาลัยของลูก
ถ้าย้อนไปเป้าหมายเดิมของเราคือ SAT โดยที่จะต้องได้ Mathematics 600 คะแนนขึ้นไป ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไร ยากตรงที่จะสมัครสอบให้ได้ให้ทัน ได้หรือไม่ เมื่อสมัครได้ก็ไปสอบเลยโดยไม่ได้เตรียมตัวอะไร มีซื้อหนังสือมาเล่มนึง ดูว่าโครงสร้างข้อสอบเป็นอย่างไร ลองทำดู แล้วไปสอบเลย ซึ่งก็ได้ตามเป้า จบ ไปอีกเรื่อง ซึ่งคะแนนที่มีอยู่ในมือทั้ง IELTS และ SAT สามารถใช้ยื่น Fast Track เพื่อเข้าเรียนที่ Computer Engineering MUIC ได้แล้ว สบายใจละ
งานต่อไปก็คือเดินตามเป้าที่ลูกวางไว้ ซึ่งแน่นอนว่า เราก็ต้องมาดู Requirement ของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อดูความเป็นไปได้และกำหนดคะแนนขั้นต่ำของวิชานั้นๆ ซึ่งได้เคยเขียนไว้แล้วในเรื่อง หาข้อมูล…หมอรอบ portfolio
ดังนั้นใน post นี้เราก็จะมุ่งไปที่ BMAT อย่างเดียวเลย เนื่องจาก SAT Subjetc Test นอกจากจะมีบังคับที่ PCCMS(จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย) และ เป็นตัวเลือกที่ KMITL แล้ว ทางผู้จัดสอบเองก็จะยกเลิก จะไม่จัดสอบ SAT Subject ทั่วโลกในไม่กี่เดือนนี้แล้วครับ
BMAT
เช่นเคย จะขอตัดหน้า Screen ที่ทำไว้เพื่อบรรยายให้ผู้ปกครองฟัง(บรรยายไป 2 รอบละ รอบแรกคนเยอะหน่อย ใช้เวลาไปเกือบ 4 ชั่วโมง มารอบที่สองกลุ่มเล็กหน่อยแต่ 4ชั่วโมงเต็มๆ ถามตอบกันทุกเรื่อง(แต่เดิมวางแผนเอาไว้ 3 ชั่วโมงสำหรับการบรรยายถามตอบ))
อย่างที่บอกว่า ให้ดู Requirement ของแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ไหนๆก็ไหนๆละ ผมเอามาแปะให้ได้ดูกันอีกรอบละกันนะครับ
.….เดี๋ยวตอนท้ายจะมาสรุปว่า ต้องได้คะแนนเท่าไหร่ถึงจะพอเหมาะพอตัว…..
สรุปข้อมูลจาก Requirement
เมื่อเราดูจาก Requirement ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และตัดบางมหาวิทยาลัยที่เราไม่สนใจออกไป เราก็จะเห็นแล้วหละว่า เราควรจะต้องทำอะไรให้ได้เท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเป้าหมายหลักของเรา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ต้องการคะแนนของ Part-1 และ part-2 รวมกันให้ได้ 9.0 ขึ้นไป รวมๆกับเผื่อฟลุ๊คเผื่อขาดเผื่อเหลือ…ถ้าสาม part ได้ 12C ขึ้นไป ก็จะสามารถยื่นได้ทั้ง ขอนแก่น เชียงใหม่ และ รามา…(ถึงแม้ port จะไม่ค่อยมีอะไรเลย แต่เราก็ผ่านเงื่อนไขที่จะยื่นได้)
ดังนั้นสรุปได้ว่า เป้าหมายสบายๆคือ 2 Parts รวมกันอยู่ที่ 10-11 แต่ถ้าเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นมา รวม 3 Parts ถ้าได้ 12C ขึ้นไปก็จะสบายตัวหน่อยแต่นั่นหมายความว่า 2 parts แรก 9.0 ขึ้นไปนะครับ
เตรียมตัวสอบ BMAT
หลายคนยังเริ่มไม่ถูกว่า BMAT มันคืออะไร จะเริ่มอย่างไร ก็แนะนำเลยครับว่าให้เข้าไปดูรายละเอียดที่เว็บไซด์เจ้าของหลัก สามารถ download ข้อสอบเก่าหรือที่เรียกกันเพราะๆว่า Past Paper มาลองทำหรือมาดูว่าโครงสร้างข้อสอบเป็นอย่างไร อีกอันที่สมควรจะเปิดดูเป็นไกด์ไลน์ก็คือ BMAT TEST Specification
เมื่อเรารู้คร่าวๆแล้วว่า จะต้องเจอข้อสอบแบบไหน มีจำนวนกี่ข้อ ให้เวลาเท่าไหร่ ข้อสอบครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง บลาๆๆๆๆๆ ก็ต้องมาถึงการวางแผนและเตรียมตัวในขั้นตอนต่อไปแล้วหละ
BMAT คืออะไร?
5 5 5 5 อันนี้คือคำถามที่อยู่ในใจ แต่ไม่ค่อยมีคนกล้าถาม รู้แต่ว่าจะยื่น port หมอ “มันต้องมี”
BMAT – BioMedical Admission Test ซึ่งจัดสอบโดย Cambridge Assessment แห่งสหราชอาณาจักร United Kingdom ซึ่งในประเทศไทยแล้ว นิยมนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกเข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์รอบ portfolio ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งการเข้าไปเรียนภาคปกติและหลักสูตรนานาชาติและ/หรือหลักสูตรลูกครึ่ง
สอบอะไรบ้าง?
ข้อสอบ BMAT จะแบ่งออกเป็น 3 Sections คือ
Section 1 : Thinking Skill เมื่อปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนโครงสร้างของข้อสอบใหม่โดยเอาข้อสอบแนวว Data Analysis ออกไป และปรับหัวข้อใหม่ให้ดูทันสมัยเป็น Problem Solving และ Critical Thinking โดยมีจำนวนข้อสอบส่วนละ 16 ข้อ รวมสองส่วนก็ 32 ข้อ ให้เวลาทำ 60 นาที คะแนนเต็ม 9
Section 2 – Scientific Knowledge ว่ากันว่าเป็นข้อสอบ Speed Test ของวิชา Mathematics Physics Chemistry Biology ที่มีข้อสอบรวม 27 ข้อ แหละให้เวลาทำ 30 นาที คะแนนเต็ม 9
Section 3 – Writing Task จะมีมาให้เลือก 3 ข้อ โดยเลือกเขียนเพียง 1 ข้อ คำถามที่ให้มาก็จะเป็นแนวจริยธรรมบ้าง หรือ ความคิดเห็นทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั่วไป หรือ หลักการแพทย์ คะแนนเต็ม 5A
ต้องติวไหม? ติวที่ไหน?
เป็นคำถามหลักเลยเท่าที่ผ่านมา ก็บอกตามตรงครับว่า อยู่ที่ตัวเด็กเลยครับ บางคนชอบที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง บางคนก็โตมากับการติว ติวน้อยติวเยอะก็ขอให้ได้ติว ส่วนลูกผม สำหรับ BMAT ถ้าปล่อยให้อ่านเองเตรียมตัวเองไม่น่ามีปัญหา แต่อาจจะได้คะแนนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็เลยส่งไปเข้าห้องเรียน ตอน ม.5 โดยวางเป้าหมายอย่างที่บอกเลย 2 parts แรกรวมกัน 9 คะแนนขึ้นไป
ซึ่งหลักๆแล้วการติวเรื่องพวกนี้ สิ่งที่เราต้องการก็คือ แนวทาง โครงสร้างของข้อสอบ และที่สำคัญ เทคนิคการทำข้อสอบในรูปแบบต่างๆ แต่ละติวเตอร์ก็อาจจะมีแนวทางในการสอนที่แตกต่างกันไป บางที่ก็สอนสด บางที่ก็เป็นวิดีโอ บางที่ก็มีทั้งสดทั้งวิดีโอ บางที่สอนสดห้องละสิบยี่สิบคน บางที่สอนสดห้องละเป็นร้อย . . . ฯลฯ เยอะแยะไปหมด
ซึ่งเราจะเห็นแต่ละสถาบันก็แข่งกันโฆษณาถึงความสำเร็จ เข้าที่โน่นได้กี่คนที่นี่กี่คน แต่ไม่ค่อยเห็นที่ไหนบอกเลยว่าที่เข้าได้จำนวนเท่านั้น จากเด็กทั้งหมดกี่คน? แล้วคนที่ไม่ได้หละ ….. ไปรอบ admission ประมาณนั้นหรือ มีจำนวนเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับคนที่เข้าได้?
สิ่งที่สำคัญสุดก็คือเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะแต่ละสถาบัน ราคาไม่ธรรมดาจริงๆ บางที่ก็จะซอยย่อย เพื่อให้ดูราคาต่อคอร์สไม่สูงมากนัก แต่ถ้าเอามารวมๆเพื่อให้ครบหลักสูตร มันก็ไม่ได้แพงแตกต่างกันสักเท่าใดนัก
สิ่งที่พวกเราๆ ทำกันมาอย่างต่อเนื่องก็คือ มักจะถาม ผปค.รุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จว่า ไปติวที่ไหนมา ซึ่งก็ถือว่าเป็นทางลัดในระดับหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และ คำคำนี้ก็ยังใช้ได้อยู่เสมอ นั่นคือ “ต่างกรรมต่างวาระ”
สถาบันติวที่สอน BMAT อย่างเต็มรูปแบบและจริงจังเท่าที่ทราบมีเยอะมาก แต่ที่เห็นๆปรากฏบนหน้า Social Media ค่อนข้างเยอะก็เช่น (ปล. ผมไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลยจากสถาบันเหล่านี้นะครับ)
- Premire Prep อาคารวรรณสรณ์ชั้น 10 (ช่วงนี้น่าจะตามพี่บอลล์ไปเรียนหลายคนละ)
- Ignite by Ondemand
- Interpass (Enconcept)
- Edutrain
- etc
ผมมีหนังสือเรียนมือสองของสถาบันเหล่านี้ เอามาเปิดๆดู ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก และยังมีอีกหลายๆสถาบันเยอะแยะมากมาย ส่วนใหญ่ก็จะสอนเกือบครบทุกอย่างรวมทั้ง IELTS SAT Sat Subject ….. บางคนก็นิยมแบบติวเดี่ยวก็มีให้เลือกเรียน อีกที่นึงที่น่าสนใจก็คือ website ของต่างชาติที่มีนามว่า BMAT NINJA ก็โอเคนะครับ ราคาค่าสมาชิกคิดเป็นรายปี ราคาแล้วแต่ package ด้วยมั้ง
สุดท้ายเลย อยู่ที่ตัวเราเองแล้วหละว่า ไปเรียนแล้วกลับมาทบทวน กลับมาทำโจทย์ ลองทำ past paper บ้างหรือไม่
สอบ BMAT
BMAT สามารถสอบได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น ถึงแม้โดยปกติแล้วจะมีการจัดสอบ 2 ครั้งต่อปี (ไม่นับรวม BMAT-COVID19 ที่จัดครั้งเดียวในปี 2020) และคะแนนสามารถเก็บได้ 2 ปี คล้ายๆกับการสอบอื่นๆ แต่ก็อีกละที่จะบอกว่า ให้ดู Requirement ของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครที่มีเป้าหมายจะไปจุฬา บางปีเขากำหนดว่าต้องเป็นของปีนั้นๆ แต่บางปีก็ให้ใช้ที่ยังมีอายุอยู่ได้ บลา ๆ ๆ สรุปแล้วก็คือ เมื่อถึงเวลาของลูกท่าน ก็อ่านรายละเอียดประกาศรับสมัครกันดีดี
ในบ้านเราก็มีผู้ดำเนินการจัดสอบอยู่ 2 รายด้วยกันคือ
- British Council
- Capwise
ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกันมากนัก เท่าที่เห็น Capwise จะมีสนามสอบต่างจังหวัดอยู่หลายที่
บทสรุป
สำหรับคนที่คิดว่าจะเดินทางมาสายนี้แน่ๆ ถ้าจะเตรียมตัว BMAT คิดว่าการเตรียมตัวเพื่อสอบในรอบ September หรือ November ในขณะที่เรียนอยู่ ม.5 น่าจะดี เพราะเป็นการลองสนามแบบหวังผล ถ้าคะแนนถึงเกณฑ์ในบางมหาวิทยาลัยเช่น ขอนแก่น หรือ เชียงใหม่ ก็จะถือว่าดีเยี่ยม ถ้าเกิดทะลุไปพอที่จะยื่น รามา จุฬา ได้ นั่นถือได้ว่า Best of the Best เลย แต่ถ้าไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ถือเป็นประสบการณ์ เพื่อลุยในสนามจริงปีต่อไปตอน ม.6
บทความอื่นๆ
บทความที่ผ่านมา Series samsen2U
ตอนที่ 1 – เป้าหมาย
ตอนที่ 3 ลูกสนใจแพทย์รอบ portfolio … เอาละสิ !!
ตอนที่ 4 หาข้อมูล…หมอรอบ portfolio
ตอนที่ 5 — ทำไมถึงต้องเป็นรอบ PORTFOLIO
ตอนที่ 6 – แผนสามปี กับบันไดสามขั้น : ขั้นที่ 1