สำหรับพวกเรา…. เวลานั้น …. มันเป็นเรื่องใหม่ จัดว่ายากเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยความที่ว่า ข้อมูลฝังตัวอยู่ในโลก internet ดังนั้น การค่อยๆขุด ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไร การค่อยๆจัดระเบียบ เรียบเรียงข้อมูลที่ได้มา ก็เป็นเรื่องสำคัญ
ถามว่า … เราไปหาข้อมูลและรายละเอียดที่ไหน?
นอกจากแหล่งข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆแล้ว พวกสถาบันกวดวิชานี่แหละ ข้อมูลเยอะสุด เราเข้าไปขุด ไปหา เราไม่จำเป็นต้องไปเรียนกับพวกเขา ส่วนหนึ่งก็ดีเสียอีก ทำให้เรารู้ตื้นลึกหนาบางของแต่ละสถาบันว่าน่าสนใจมากน้อยขนาดไหน ! เพราะเมื่อเราจะต้องไปสมัครเรียน จะไปสมัครที่ไหน
เน้นย้ำนะครับว่า ข้อมูลที่รวบรวมมาและเห็นใน Post นี้ เป็นข้อมูลการรับสมัครเข้าเรียนปีการศึกษา 2562 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 ในปัจจุบันมีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้วนะครับ
ที่ไหนรับบ้าง? TCAS รอบ 1 – Portfolio
ในปีการศึกษาโน้นนนนนน . . . เราก็พอจะหาข้อมูลได้ประมาณนี้นะครับ (แต่ปีการศึกษาปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างพอควร ไว้มาสรุปให้ทีหลังนะครับ)
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #medcu
- รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล #medrama
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ #medpccms
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #medcmu
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ #medcicm
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง #medkmitl
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ #medswu
- มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช #mednmu
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น #medkku
ซึ่งจะสรุปคร่าวๆนะครับ เพราะเป็นข้อมูล ณ วันนั้น ส่วนข้อมูลของปีนี้ เดี๋ยวจะสรุปให้ต่างหาก
เงื่อนไขหลักๆสำหรับรอบ portfolio ก็มีประมาณนี้ (ใช้ได้จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเช่นนี้)
- เกรด หรือ ผลการศึกษา มัธยมปลาย ส่วนใหญ่จะเป็น 4-5 เทอม
- English Proficiency – ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ (IELTS / TOEFL / CU-TEP … etc.)
- Academic Achievement – พวกคะแนน BMAT SAT Subject
- Portfolio – ผลงานและกิจกรรมด้านต่างๆตามแต่ที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด
ตอนนั้น เราก็ลองวิเคราะห์ Requirement ของแต่ละที่ และดูความเป็นไปได้ และให้น้ำหนักเป้าหมายของแต่ละที่ เพราะคงยากที่จะพุ่งเป้าไปทุกๆที่ แต่ถ้าท้ายสุดแล้ว สิ่งที่เตรียมไว้ สามารถยื่นที่ไหนได้บ้าง ก็มาพิจารณากันอีกทีว่าจะยื่นไม่ยื่นที่ไหน
Requirement แต่ละที่ และ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ …
ข้อมูลตามประกาศรับสมัครของปีการศึกษา 2562 (ตอนนั้น ลูกอยู่ ม.4) และ ดูตามเงื่อนไขที่จะมาใช้กับลูกของผมได้นะครับ
หมายเหตุ ทุกมหาวิทยาลัยผมใช้ IELTS เป็นเกณฑ์สำหรับ English Proficiency เพราะเราจะสอบ IELTS อยู่แล้วสำหรับ Computer Engineering MUIC เลยไม่ได้มองมาตรฐานการสอบอื่นเช่น TOEFL CU-TEP
เป็นที่รู้กันว่า คะแนนสอบมาตรฐานต่างๆ มีอายุ 2 ปี (IELTS/SAT Subject/BMAT)
การประเมินความเป็นไปได้ ดูจากพื้นฐานความรู้ความสามารถ บวกกับการจะเตรียมตัว การเรียนพิเศษ และให้เจ้าตัววางเป้าเอง
#medcu – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- จำนวนรับ 18 คน
- GPAX 5 เทอม 3.50 ขึ้นไป
- IELTS ไม่ต่ำกว่า 7.0
- Portfolio กิจกรรมและผลงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้านจิตสาธารณะ การวิจัย กิจกรรมวิชาการอื่นๆ ไม่เกิน 10 หน้า
- ผลคะแนนการทดสอบ BMAT : เมื่อผ่านเงื่อนไขก่อนหน้านี้แล้ว เอาคะแนน BMAT มาเรียงลำดับแล้วเรียกสัมภาษณ์
เมื่อดูความเป็นไปได้แล้ว rang จะอยู่ประมาณ 5/10 เพราะเท่าที่ทราบ มีแต่ลูกเทพเด็กเทพทั้งนั้น … IELTS 7.0 ก็คิดหนักแล้ว ไหนจะมาคัดกันที่คะแนน BMAT อีกต่างหาก อันนี้จบเลย คงยากมากๆ
#medrama – แพทย์รามา มหาวิทยาลัยมหิดล
- จำนวนรับ 25 คน
- ตั้งแต่ ม.4 ถึงวันสมัคร GPAX ไม่น้อยกว่า 3.50 และ ชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ ไม่น้อยกว่า 3.50
- Portfolio มี
- Personal Statement ไม่เกิน 5300 ตัวอักษร หัวข้อ เหตุผลที่สมัครเรียน/แรงจูงใจในการอยากเรียนแพทย์/จุดมุ่งหมายในชีวิต
- กิจกรรม/ผลงาน ไม่เกินกิจกรรมละ 700 ตัวอักษร จำนวน 15 กิจกรรม
- เลือก 3 กิจกรรมจาก 15 กิจกรรมข้างต้น เขียนอธิบายเพิ่มเติมไม่เกิน 1325 ตัวอักษร
- IELTS Band 6.5 ขึ้นไป
- BMAT 12C ขึ้นไป
ดูแล้ว ความยากน่าจะอยู่ที่ Portfolio นี่แหละที่ต้องมีผลงานวิชาการด้วย และต้องการตั้ง 15 ผลงาน เอาสัก 5-6 ผลงานก็แย่ละ แฮะๆ เลยประเมินความเป็นไปได้อยู่ที่ 6/10 คะแนน IELTS 6.5 ก็เป็นเป้าหมายสูงสุดที่เราวางไว้อยู่แล้ว ส่วน BMAT 12C ถ้าตั้งใจจริงๆ ฝึกซ้อมหนักๆ อาจจะพอมีหวัง
#medpccms – ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- จำนวนรับ 28 คน
- GPAX 3.50 ขึ้นไป
- IELTS Band 7.0 ขึ้นไป
- SAT Subject Biology(M)/Chemistry/(Physics or Mathematic II) ต้องได้อย่างน้อยรายวิชาละ 700 คะแนนขึ้นไป
- Portfolio
ของที่นี่ไม่ได้ใช้คะแนน BMAT ทำให้จะต้องไปสอบ SAT Subject เพิ่มอีก 3 วิชา อีกทั้งค่าเทอมค่าเล่าเรียนก็พอสมควรเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ IELTS ก็อย่างที่บอก 7.0 มันไม่ได้น้อยๆเลยนะ ว่ากันว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กโรงเรียนอินเตอร์เลยประเมินความเป็นไปได้ที่ 4/10
#medcmu – มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- จำนวนรับ 30 คน (ปี 2562)
- เกรดเฉลี่ย ม.4 3.75 ขึ้นไป
- เกรดเฉลี่ย ม.5 3.75 ขึ้นไป
- เกรดเฉลี่ยรวมกัน ม.4 และ ม.5 ในแต่ละรายวิชาเหล่านี้ทั้งวิชาพื้นฐานและเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 3.50
- ชีววิทยา
- เคมี
- ฟิสิกส์
- คณิตศาสตร์
- ภาษาอังกฤษ
- IELTS Overall band 6.5 ขึ้นไป
- Portfolio จะต้องมีผลงานต่อไปนี้
- ผลงานแสดงทักษะศักยภาพทางภาษาอังกฤษทางด้าน ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ด้านละไม่เกิน 2 ผลงาน รวมทั้งหมดไม่เกิน 6 ผลงาน (จบเลย ข้อนี้ 5 5 5 ไม่มีทางได้แน่เรา)
- ผลงานทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ จำนวนไม่เกิน 3 ผลงาน (จบเหมือนกัน 1 ผลงานก็หาแทบไม่ได้ แฮะๆ)
- ผลงานที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์วิชาชีพแพทย์ 1 ผลงาน
- ผลงานด้านอื่นๆเช่น ด้านนวัตกรรม/วิจัย/ความคิดสร้างสรรค์ ด้านคุณธรรม/จริยธรรม ด้านการทำงานเป็นทีม ด้านจิตอาสา/บำเพ็ญประโยชน์ ด้านกีฬา ด้านศิลปะดนตรี จำนวนไม่เกิน 3 ผลงานและไม่ซ้ำด้าน
อ่าว เฮ๊ย ไม่มี BMAT หรอ … แต่เห็น requirement ของ portfolio แล้ว เป็นไปไม่ได้เลย (เน้นย้ำว่าเป็น Requirement ของปี 2562 และก่อนหน้านั้นนะครับ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในปีถัดไป 2563 และใช้มาถึงรุ่นลูกผม 2564) ดังนั้น ประเมินความเป็นไปได้ที่ 2/10 ครับ
#medcicm – วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- จำนวนรับ 29 คน
- IELTS Overall Band 6.5 ขึ้นไป
- GPAX 5 เทอม ไม่ต่ำกว่า 2.50
- ผลคะแนน BMAT
- พิจารณาคัดเลือกจาก
- ผลคะแนน BMAT
- ผลคะแนน IELTS
- ข้อมูลกิจกรรม การศึกษาและวิชาชีพ
- ข้อมูลกิจกรรม คุณธรรม จริยธรรม บำรุงส่งเสริมวัฒนธรรมและสังคม
- ความรู้ความสามารถพิเศษ
ประเมินความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงพอควร แต่เราไม่นิยมเรียนแพง ค่าเทอมสี่แสนกว่า ทำให้เราตัดออกเลย โดยไม่ต้องคิดมาก
#medkmitl – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- จำนวนรับ 30 คน (รับรอบ 2 อีก 20 คน)
- ไม่กำหนด GPAX มาให้
- ผลสอบวัดความสามารถทางวิชาการ ข้อใดข้อหนึ่ง
- SAT Subject ไม่ต่ำกว่า 600 คะแนนในรายวิชาเหล่านี้
- Biology
- Chemistry
- Physics or Mathematics
- BMAT
- Section 1 ไม่ต่ำกว่า 4.0
- Section 2 ไม่ต่ำกว่า 4.0
- Section 3 ไม่ต่ำกว่า 2 C
- SAT Subject ไม่ต่ำกว่า 600 คะแนนในรายวิชาเหล่านี้
- IELTS Overall Band ไม่ต่ำกว่า 7.0
- Personal Statement บรรยายถึงแรงจูงใจที่อยากเข้าเรียนคณะนี้ เป็นภาษาอังกฤษ ไม่เกิน 1000 ตัวอักษร
หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติ ค่าเทอม 495,000 บาท ก็ทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ยาก
#medswu – มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- จำนวนรับ 20 คน
- ปี 1-3 เรียนที่ Nottingham UK ปี 4-6 เรียนเมืองไทย
- GPAX ม.4-5 ไม่น้อยกว่า 3.00
- IELTS UKVI Overall Band 7.0 ขึ้นไป และแต่ละทักษะ(ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน) ต้องได้ 6.5 ขึ้นไป
- คะแนน BMAT
- ค่าเทอมรวมๆแล้วประมาณ 5.2 ล้านบาท ++
ก็คงไม่ต้องประเมินอะไรมาก เป็นอีกที่ที่อาจจะต้องลงทุนสูงเช่นกัน
#mednmu – มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- จำนวนรับ 12 คน (กลุ่มที่ 5 – นักเรียนผู้มีความสามารถทางวิชาการ)
- GPAX เฉลี่ยรวม 5 ภาคการศึกษา ไม่น้อยกว่า 3.00
- IELTS Overall Band อย่างน้อย 6.5
- BMAT มีผลคะแนนสอบรวมไม่น้อยกว่า 13 C
- Portfolio ไม่เกิน 10 หน้า
เป็นอีกที่ที่ดูแล้วพอจะมีความหวังบ้าง แต่จำนวนรับก็น้อยหยุมหยิมเหลือเกิน คะแนน BMAT ก็สูงเหมือนกัน น่าจะยากอยู่ ให้ประมาณ 6/10
#medkku – มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- จำนวน 44 คน โครงการ MDX ผู้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ
- GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00
- IELTS Overall Band 5.0 ขึ้นไป
- BMAT คะแนน part 1 และ part 2 รวมกันเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4.5
- Portfolio ผลงานและรางวัลต่างๆที่ได้รับ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทางด้านวิชาการ สังคม ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถพิเศษ จิตสาธารณะ และด้านความเป็นผู้นำ
ดูคร่าวๆ และ ดูแบบพิจารณาแล้ว ที่นี่มีโอกาสมากที่สุด และที่สำคัญ เรียกสอบสัมภาษณ์ทั้งหมดที่ผ่านเงื่อนไข และมีระบบการเรียกสำรองด้วย เพราะมีนักเรียนที่สอบได้ที่ดีกว่าสละสิทธิ์เยอะพอสมควร ดังนั้นมองแล้วว่าที่นี่น่าจะเป็นเป้าหมายหลักได้ ประเมินให้ 8/10 เลย และเมื่อดูข้อมูลต่างๆของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ถือได้ว่าดีเยี่ยม
วิเคราะห์แล้วก็วางเป้าหมาย
เมื่อนำข้อมมูลทั้งหมดมาพิจารณาแล้ว ก็สามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่น่าจะลองยื่นดู กับอีกกลุ่มที่ตัดออกไปเลย แล้วก็วางแผนตาม Requirement ที่มหาวิทยาลัยที่เราตั้งใจจะยื่น
กลุ่มที่ตัดออกไปเลย
กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตรนานาชาติหรือลูกครึ่ง ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ไม่ธรรมดาจริงๆ ก็เลยคิดง่ายกันออกมาก่อนได้เลย
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ #medpccms
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ #medcicm
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง #medkmitl
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ #medswu
กลุ่มที่จะลองยื่นดู
เป็นกลุ่มที่คิดว่ายื่นแน่
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น #medkku ( 8/10 )
- มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช #mednmu ( 6/10 )
- รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล #medrama ( 6/10 )
กลุ่มที่เอาไว้ตัดสินใจทีหลังเพราะเป็นไปได้น้อย
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #medcu ( 5/10 )
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #medcmu (2/10 )
ปรับเพิ่มแผน
เมื่อเป้าหมายมาเป็นแพทย์รอบ portfolio ก็ย่อมต้องกลับมาดูแผนการเตรียมตัว จากเดิมที่มี IELTS กับ SAT ยังไม่ทันได้สอบเลย แต่ตอนนี้มาเพิ่ม BMAT เข้ามาอยู่ในแผน ซึ่งช่วงเวลานั้น เขาเพิ่งจะจัดสอบ BMAT ผ่านไปพอดี(BMAT ปกติจัดสอบปีละ 2 ครั้ง แต่สามารถสอบได้แค่ 1 ครั้ง ต่อปีปฏิทิน โดยคะแนนมีอายุ 2 ปี แต่ก็ต้องดู บางมหาวิทยาลัยจะกำหนดเลยว่า ต้องการรอบไหนของปีไหน…) ดังนั้น ถ้าจะลงสนามก็ต้องรอปีหน้าเลย ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2562 โน่นเลย
ดังนั้น ยังไม่ต้องรีบมาก ก็ลองทำตามแผนเก่าไปก่อน นั่นคือ เตรียมตัวสอบ IELTS และ SAT โดยเป้าหมายก็ยังคงที่เดิมคือ
- IELTS เป้าที่ Overall Band 6.0 เป้าสูงสุดที่ Overall Band 6.5
- SAT เป้า Mathematics 700
…แน่นอนว่า เราได้เลือกที่จะวางเป้าหมายที่…
…คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น…
…เป็นเป้าหมายหลัก จากการนั่งคุยกันว่าจะสามารถทำคะแนน IELTS และ BMAT เต็มที่ได้ประมาณไหน และ เงื่อนไขของ portfolio พอที่จะทำได้ เพราะที่แน่ๆ เราไม่มีผลงานทางวิชาการเลย…
บทความที่ผ่านมา Series samsen2U
ตอนที่ 1 – เป้าหมาย
ลูกสนใจแพทย์รอบ portfolio … เอาละสิ !!