เด็กในพื้นที่ !!!

เด็กในพื้นที่ !!!

ความจริง…ผมเขียนเรื่องนี้เป็นหัวข้อหนึ่งในโพสต์ อัตราการแข่งขัน สอบเข้า ม.1 รอบสามัญ … แต่ …. เขียนไปๆ มันเยอะ ยาว มากๆ ท้ายที่สุดก็เลยตัดมาเป็นอีกโพสต์หนึ่งเพื่อให้เกียรติแก่ “เด็กในพื้นที่” หรือ “เด็กในพื้นที่บริการ”

ถามว่า … อ่าว…เฮ๊ย…มันอะไรกันนักกันหนา? เด็กในพื้นที่ก็คือเด็กที่มีบ้านอยู่ใกล้ๆกับโรงเรียนไง ก็แค่นั้นแหละ !

แต่มันไม่ได้แค่นั้นนะสิ ไม่งั้นจะมีดราม่าให้พูดกันปากต่อปาก เม๊าท์ทูเม๊าท์ มาทุกปีได้ยังไง !!!

ตัวผมเอง ก็ไม่ได้เป็นเด็กในพื้นที่ กทม.ด้วย ก็ยิ่งไม่เคยรับรู้ถึงการแข่งขันประเภทนี้ ก็ได้แต่นั่งอ่าน ๆ ๆ


นิยาม – เด็กในพื้นที่

ปีการศึกษานี้ นิยามเด็กในพื้นที่จะเหมือนหรือคล้ายกันหมดเกือบทุกโรงเรียนเลย ยังกะเป็น template จะขอลองยกตัวอย่างสักฉบับนะครับ

ย่อหน้าแรกก็เข้าใจง่ายนะครับ ตรงไปตรงมา ชัดเจนดี พิสูจน์ทราบได้

เด็กในพื้นที่ สำคัญไฉน?

ในทุกๆปีที่ผ่านมา เด็กในพื้นที่จะได้รับสิทธิ์ในการคัดเลือก 2 รอบ หรือที่เรียกกันว่า 2 เด้ง กล่าวคือ

รอบแรก คัดปนกันหมดในรอบเด็กทั่วไป เอาเด็กที่เข้าสอบทั้งหมดมาเรียงคะแนน(คะแนนสอบ + O-NET) คัดเอาเด็กตามจำนวนที่ประกาศรับเด็กนักเรียน “ทั่วไป”

รอบที่ 2 เอาเด็ก “ในพื้นที่” ที่เหลือ มาเรียงคะแนน แล้วคัดเอาเด็กตามจำนวนที่ประกาศรับเด็กนักเรียน “ในพื้นที่”

ซึ่งแน่นอนว่า คะแนนอันดับแรกของเด็กที่สอบได้ “ในพื้นที่” จะ “น้อยกว่า” คะแนนคนสุดท้ายของเด็กที่สอบได้ “ทั่วไป”

ใครๆก็อยากมาอยู่ในพื้นที่ !!!

แต่มาปีนี้ ทาง สพฐ. ได้มีการประกาศระเบียบการการรับใหม่ ตามคำแนะนำของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 โดยให้รับเด็กในพื้นที่ในอัตราส่วนที่มากขึ้น (เห็นส่วนใหญ่ปรับเป็น 60:40) และให้เข้มงวดในเรื่องของ “ความเป็นจริง” ของ เด็กในพื้นที่

หลายๆโรงเรียนจึงปรับเปลี่ยนประกาศกันใหม่ ทั้งจำนวนที่รับ วิธีการพิจารณา “เด็กในพื้นที่” … ฯลฯ

ใครๆก็อยากมาอยู่ในพื้นที่ !!!

พอความต้องการที่จะอยู่เป็นเด็กในพื้นที่มีมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งอยู่ในพื้นที่จริง หรือ ไม่จริง หรือ อยู่กันตามธุรกิจ “รับจ้างให้อยู่อาศัย” ซึ่งแน่นอนว่า เหล่านี้ต้องอยู่กันมามากกว่า 2 ปีตามเกณฑ์การพิจารณาทั้งเก่าและใหม่

จึงต้องตามมาด้วย การพิจารณา การพิสูจน์ ความอยู่ในพื้นที่จริงของเด็กๆตามนิยามของโรงเรียน

บ้างก็ต้องมีการสัมภาษณ์เด็ก
บ้างก็มีการสัมภาษณ์ผู้รับประกัน
บ้างก็ต้องมีการลงพื้นที่สำรวจจริง ฯลฯ

ลองย้อนกลับไปดูอัตราการสมัครของเด็กในพื้นที่ กับ เด็กทั่วไป จะเห็นชัดเจนว่า ทำไมถึงต้องพยายามมาเป็นเด็กในพื้นที่กัน

โรงเรียน-ครู เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามนโยบาย


เอาจริงๆ พวกเราที่นั่งอ่านนั่งเขียนนั่งวิจารณ์กันอยู่นี้ ก็ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบ อาจจะไม่รู้ข้อมูลกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน เพราะทั้งหลายทั้งปวง มาจากเบื้องบนทั้งนั้น ทางโรงเรียนรวมทั้งคณาจารย์ เป็นเพียงผู้นำมาปฏิบัติ ที่ผ่านมาหลายๆปี ก็มีเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่กฏเกณฑ์มันก็มีเปลี่ยนไปบ้างตามยุคตามสมัยของผู้หลักผู้ใหญ่ แต่ปีนี้น่าตื่นเต้นหน่อย เพราะมาปรับเปลี่ยนก่อนการรับสมัครไม่นาน ทำให้ผู้ปกครองอาจจะปรับตัวกันไม่ทัน ทั้งผู้ปกครองของเด็กในพื้นที่โดยธรรมชาติพฤตินัย หรือ ผู้ปกครองของเด็กในพื้นที่ทางนิตินัย

แนวทางในการปฏิบัติของแต่ละโรงเรียนจะว่าไปแล้วก็ไปในแนวทางเดียวกัน แต่จะเข้มข้นมากน้อย หรือ แม่นกฏเกณฑ์มากน้อยขนาดไหน ก็แล้วแต่โรงเรียนเลยครับ ต่างกรรมต่างวาระ (ขนาด กกต.ดูแลการเลือกตั้ง การนับคะแนน ก็ยังพลาดหรือเข้าใจกฏเกณฑ์ไม่ตรงกัน ไม่ใช่เขาจะมีเจตนาทุจริต แต่อาจจะเป็นการไม่เข้าใจถ่องแท้มากกว่า)

บางโรงเรียนก็เชิญเจ้าหน้าที่จากเขต(อำเภอ) เอาคอมพิวเตอร์มานั่งหาข้อมูลตรวจสอบ online กันเลย หรือบางโรงเรียนถ้าเด็กอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องได้รับการพิสูจน์ ก็จะมีการลงพื้นที่เพื่อไปสอบสัมภาษณ์และหาข้อมูลจากเพื่อนบ้านว่าเ้กได้อยู่อาศัยจริง เพราะมีหลายๆกรณีที่เด็กอาศัยอยู่กับญาติมาตั้งแต่เกิด เรียนโรงเรียนแถวๆนั้นแหละซึ่งก็ใกล้ๆกับโรงเรียนที่จะไปสมัครและอยู่ในพื้นที่บริการ แต่พ่อแม่ไม่มีกำลังที่จะซื้อบ้านได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมีการพิสูจน์ทราบกัน

สุดท้าย อยู่ที่คณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนนั้นๆเป็นผู้ตัดสินใจ


เด็กในพื้นที่มีน้อยนิด

เรื่องจริงที่น่าคิด เพราะว่า บางโรงเรียน มีเด็กๆที่ีอยู่ในเขตพื้นที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนที่รับ ซึ่งโดยหลักการแล้ว จำนวนที่นั่งที่เหลือ ก็จะต้องโดนโยกไปให้สิทธิ์กับเด็กๆที่ลงสมัครในประเภททั่วไป แต่ประเด็นหลักมันอยู่ตรงที่ว่า “ทำให้เห็นโอกาส” แค่ย้ายเข้ามาเป็นเด็กในพื้นที่ให้ตรงหลักเกณฑ์ สมัครและไปสอบก็จะได้เป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนนั้นแล้ว . . . แค่สอบก็ได้ละ !!!

จะเรียนไหวหรอ?

ก็มีหลายท่านแอบเป็นห่วงเป็นกังวลว่า วิธีการที่เข้ามาได้ง่ายๆของเด็กพื้นที่ ถ้าวิชาการไม่แน่นจริง จะไปเรียนสู้กับเด็กเก่งๆเขี้ยวๆที่ฝ่าฟันสอบเข้ามาอย่างมหาหินได้หรือไม่? ไม่ใช่เรียนไปสักพัก ถอดใจ ตามไม่ทัน ลาออก . . . หรือจะไปดึง ไปทำให้มาตรฐานของโรงเรียนลดน้อยถอยลงหรือไม่?


ฟ้องศาล !!!

ผมก็ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า เรื่องแบบนี้ต้องถึงโรงถึงศาลด้วย แต่ก็เป็นไปแล้ว โดยเจ้าทุกข์หรือผู้ฟ้องคือนักเรียนและผู้ปกครองที่ไม่ได้ให้รับสมัครในประเภท “เด็กในพื้นที่บริการ” และผู้ที่ถูกฟ้องก็คือผู้บริหารสถานศึกษานั้นๆ ก็ไม่รู้ว่ามีกี่กรณี กี่โรงเรียน กี่จังหวัด ทั่วประเทศ

ซึ่งผลที่จะปรากฏออกมานั้นก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ในขั้นต้นทราบมาว่า(เท็จจริงอย่างไรไม่ทราบนะครับ) สำหรับ ผปค. ที่ยอมรับว่าได้กระทำการย้ายชื่อเข้ามา แต่ไม่ได้มาอยู่จริง ศาลก็ได้ทำการยกฟ้อง ส่วนอื่นๆที่ยังไม่ได้พิสูจน์ ก็ให้เด็กได้สอบในพื้นที่บริการไปก่อน แต่ถ้าผลพิสูจน์ออกมา ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ . . . น่าเป็นห่วงเด็กๆ จะอยู่อย่างไร?

หลากหลายคำถาม? มากมายคำบอกเล่า

จะขอรวบรวมคำถาม คำบ่น คำบอกเล่า มีทั้งการแสดงความคิดเห็น ฯลฯ ของ ผปค.รุ่น”เด็กในพื้นที่” ทีอ่านเจอผ่านๆตาบน Social Media เผื่อเอาไว้ให้ผู้ปกครองที่ตกลงมาอยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้ในปีต่อๆไปได้คิดก่อน (แต่เดี๋ยวกฏก็เปลี่ยนอีกแหละ) แต่ ไม่มีคำตอบให้นะครับ เพราะคนตอบที่ถูกต้องที่สุด คือตัวท่านเอง และ คณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนนั้นๆ

++++ ขออนุญาต เจ้าของคำพูด เจ้าของข้อเขียน ทั้งหลายนะครับ ผมจดจำคัดลอกมาบ้างจนไม่รู้ว่าที่ไหนๆแล้ว ++++

  • โรงเรียนจะดูจากทะเบียนบ้าน และดูว่าเด็กอยู่จริง(ดูยังไง สัมภาษณ์ ลงพื้นที่) ถ้าไม่ได้อยู่จริง ก็ให้ไปสมัครเป็นเด็กทั่วไป
  • ยอมรับนะว่าย้ายชื่อลูกมาอยู่ในเขตแต่ไม่ได้อยู่จริง วันที่ไปสมัครก็ยอมรับก่อนจะเข้าไปสมัครแล้วว่า คงต้องสมัครแบบทั่วไป แต่ให้ลูกเข้าไปสอบสัมภาษณ์ในเขต ดูว่าลูกจะตอบยังไง ปรากฏว่า ลูกพูดความจริงทุกอย่าง ก็เลยเดินไปสมัครแบบทั่วไปอย่างแมนๆ
  • ลูกก็โดนถามหลากหลาย แล้วแต่ดวงว่าจะเจอครูที่ดุมากน้อยขนาดไหน โดนถามว่ามาอยู่ที่นี่นานแล้วยัง ในบ้านมีใครอยู่บ้าง ไปโรงเรียนยังไง เช้าๆเดินไปกินข้าวที่ไหน
  • รู้จักตลาด XXXXX ที่อยู่แถวบ้านมั๊ย? เขามีขายอะไรบ้าง ชอบกินอะไร
  • หน้าบ้านมีรถเมล์สายอะไรผ่านบ้าง
  • มีศิษย์เก่ามาร่วมสอบสัมภาษณ์ด้วย ถามโหดจริงไรจริง
  • ความถูกต้องไม่ต้องมากับความเกรี้ยวกราด ไม่ต้องถามจนเด็กร้องไห้ . . .
  • ยิ่งกว่าไปสอบสัมภาษณ์ขอ VISA อเมริกาอีก
  • ลงทุนมาซื้อบ้านแถวๆโรงเรียนไว้ล่วงหน้า 3-4 ปี แต่ก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นเด็กในพื้นที่ !!!
  • สรุปนี่เราไปสมัครหรอเนี๊ยะ ยังกับเราเป็นผู้ร้ายเลย
  • ใช้คำพูดและกริยาข่มขู่เด็กและผู้ปกครอง เพราะคิดว่าตัวเองเป็นทนายหรือตำรวจ
  • เกสต์เฮ้าท์ไหนเอาชื่อไปแปะแล้วไม่ได้เข้าเรียน ก็ไปด่ากันเองละกัน . . .
  • ขอให้ยึดเอาวัตถุประสงค์ของนโยบายนี้เป็นหลัก เขาอยากให้เด็กๆที่อยู่อาศัียละแวกนั้นจริงๆ ได้เรียนใกล้บ้าน
  • การที่มาซื้อบ้านแถวโรงเรียนย้ายชื่อเข้ามาแล้วปล่อยบ้านให้คนอื่นเช่า เป็นการอาศัยช่องว่างของกติกาอย่างน่ารังเกียจ
  • การที่โรงเรียนและหน่วยงานต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น ก็เพราะคนที่อาศัยช่องว่างกติกาอย่างผิดๆนี่แหละครับ
  • แค่จะเข้าเรียนยังเริ่มทุจริต คอรัปชั่นกันแล้ว ความสง่างามความภาคภูมิใจอยู่ตรงไหน ผปค. ควรเป็นแบบอย่างที่ดี
  • ครูรับลงทะเบียนและสัมภาษณ์นักเรียนเข้า ม.1 ที่สมัครสอบในพื้นที่ วันก่อนเลิกห้าทุ่ม วันวานเลิกตีสาม !!!
  • การสกรีนนั้นถูกต้องแล้วครับ แต่ต้องจัดเวลาใหม่ ไม่ให้มากองกันวันสุดท้ายแบบนี้
  • ฯลฯ

เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ปกครองจากหลายๆโรงเรียนได้พร่ำพรรณาให้ได้รับรู้กันนะครับ อย่างที่บอก ผมไม่สามารถบอกว่าอะไรถูก หรือ อะถไรผิด อยู่ที่ตัวเราเองครับ เพราะเรา คิดเอง ทำเอง ทั้งนั้น


บทสรุป

ลูกผมรับรู้มาตลอดว่า ถ้าจะสอบเข้าที่ไหนต้องขวนขวายอย่างหนัก เพราะถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่มีทางใช้วิธีซิกแซก ตั้งแต่สอบเข้ามัธยมต้น มัธยมปลาย ล่าสุด จะไปสอบเพื่อเข้าเรียน รด. ช่วงปิดเทอม ก็ไปฟิตร่างกาย ฝึกอย่างหนัก เพราะถ้าสอบคัดเลือกไม่ผ่าน จะไม่มีการวิ่งเต้นแน่นอน ต้องไปสอบปีหน้า หรือไม่ก็เตรียมตัวเกณฑ์ทหารเลย สุดท้ายก็สอบผ่าน

ในกรณีของ “เด็กในพื้นที่บริการ” นั้น ปัญหาไม่ได้เพิ่งเกิดปีนี้ เพียงแต่เพิ่งจะมาเข้มงวดกันในปีนี้ ถ้าจะหาทางแก้ปัญหานี้ก็คงยากนะครับ มันต้องแก้ที่ตัวบุคคล เท่าที่พอคิดได้ก็เช่น

  • ยกเลิก เรื่องเด็กในพื้นที่บริการไปเลย
  • ยกเลิกเฉพาะโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง
  • ตกเขียว – คือให้เด็กในพื้นที่ที่ต้องการจะสอบเข้าจริงแจ้งความจำนงพร้อมทั้งหลักฐานการอยู่อาศัยและการเรียนในพื้นที่จริง ตั้งแต่ ป.4 เลย และให้มีการอัพเดทข้อมูลด้วย
  • ถ้าตกเขียวตั้งแต่ ป.4 ไม่ได้ เพราะเกรงว่ายุ่งยากมากไป ก็ร่นระยะเวลาการตกเขียวให้มาแจ้งความจำนงตั้งแต่ต้นปีการศึกษา ป.6 เลย เพื่อที่ทางโรงเรียนจะได้มีเวลาพิสูจน์ทราบ
  • เออ…. แล้วทำไมเราต้องมาทำให้มันยุ่งยากขนาดนี้นะ . . . . มนุษย์

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

อัตราการแข่งขัน สอบเข้า ม.1 รอบสามัญ