จากสามเสนไปเตรียมอุดม น่าเป็นห่วง EP สามเสน

จาก BTS อารีย์ ไป BTS สยาม

จากสามเสนไปเตรียมอุดม . . . จาก BTS สถานีอารีย์ ไปสถานีสยาม เส้นทางที่เด็กๆเลือกเดินกันอย่างเป็นปกติ เพราะในแต่ละปี เด็กที่จบ ม.3 ก็มุ่งไปยังเป้าหมายหลักที่ได้วางไว้นั่นคือเตรียมอุดม ซึ่งส่วนใหญ่แล้ววางเป้านี้ตั้งแต่ก่อนสอบเข้า ม.1 เสียอีก

ในช่วงเวลาเรียนปกติ หลังเลิกเรียน เด็กๆก็มักจะขึ้น BTS จากสถานีอารีย์ ปลายทาง ประมาณ สถานีพญาไทเพื่อไปตึกวรรณสรณ์ และ สถานีสยามเป้าหมายแถวตึกสยามกิตต์ เพื่อภาระกิจเช่นนี้นั่นเอง

ทำไมถึงบอกว่าน่าเป็นห่วง EP สามเสน เดี๋ยวไปว่ากันช่วงท้ายๆนะครับพร้อม คหสต.(ความเห็นส่วนตัว) ลองอ่านข้อมูลปูพื้นฐานดูก่อน แล้วไปอ่านสรุปกัน


มีทั้งปกติและไม่ปกติ

ความเป็นปกติก็คือ เด็กสามเสนมุ่งไปสอบเตรียมฯเหมือนทุกๆปี ส่วนความไม่ปกติก็คือเป็นปีที่เตรียมเลื่อนมาสอบพร้อมรอบห้องเรียนพิเศษ

ปกติแล้ว เด็กๆจะสามารถเลือกสอบเข้าสนามต่างๆได้ตาม timeline ประมาณนี้

  • สอบเข้า MWIT
  • สอบเข้า KVIS
  • ยื่นเกรดเพื่อขอเรียนชั้น ม.4 ห้องเรียนปกติ (รู้ผลเกือบหลังสุด ต้องรอคะแนน O-NET) (เด็ก EP สามารถยื่นได้ทั้งฝั่ง EP และสามัญ)
  • สอบภายในเพื่อห้องเรียนพิเศษ IMP และ EIS (รู้ผลประมาณพร้อมห้องเรียนพิเศษภายนอก)
  • สอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนต่างๆรอบห้องเรียนพิเศษ (MSEP-ESMTE-EP . . .)
  • สอบคัดเลือกเข้าเตรียมอุดม (ที่ปีนี้มาจัดตรงกับรอบห้องเรียนพิเศษ)
  • สอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนต่างๆรอบสามัญ

นอกจากนี้ก็ยังมีสอบชิงทุน พสวท. อีก(อาจจะมีมากกว่านี้ นะครับ)

ประเด็นสำคัญก็คือ ปกติสนามที่คึกคักที่สุดก็คือ เตรียมอุดม ซึ่งปกติอีกนั่นแหละ เมื่อก่อนเด็กๆจะสอบรอบห้องเรียนพิเศษไว้เป็นที่เรียนสำรอง แล้วก็ไปสอบเตรียมฯอีกรอบหนึ่ง(เมื่อก่อนเตรียมสอบพร้อมรอบสามัญ) เผื่อว่าพลาดจากเตรียมอุดมจะได้มีที่เรียน(ที่ดีกรีเข้มข้นหน่อย) แต่พอมาปีนี้ จัดสอบพร้อมกัน จึงต้องเลือกเด็กที่มีเป้าหมายเตรียมอุดมอยู่แล้วและมั่นใจหรือมีความหวัง ก็ยังคงไปสนามใหญ่อยู่ แต่เด็กบางคนที่คิดว่าโอกาสน้อยที่สนามใหญ่ และเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ไปลงสนามเล็กซึ่งมีโอกาสค่อนข้างมากในปีนี้

ถามว่าถ้าพลาดจากสนามใหญ่ เด็กๆจะทำอย่างไร โดยเฉพาะเด็กห้อง ESC/MSEP ที่ไม่สามารถขึ้น ม.4 ห้องเรียนพิเศษแบบอัตโนมัติ ดังนั้นทางเลือกมี 2 ทางคือ ห้องเรียนสามัญ(ที่ใช้เกรดยื่นเพื่อเลือกสายการเรียน เด็กเก่งก็จะคาดหวังว่าได้อยู่ห้องคิงส์) หรือ ห้องเรียนพิเศษภายใน IMP/EIS (ที่มีการสอบภายในก่อนแล้ว) และ/หรือ ปีนี้ที่มีทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับเด็กที่มีสิทธิ์ยื่นสอบสัมภาษณ์เพื่อเรียนห้อง พสวท. ( ห้อง 16 – สามเสนวิทยาลัย – ห้อง พสวท. )

ที่จริงได้เคยเขียนเรื่องที่คล้ายๆแบบนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว ข้อแตกต่างก็คือเรื่องของการเลื่อนสอบเตรียมเท่านั้น(แต่ก็กระทบพอควร) ในหัวข้อ

สามเสน ม.3 ขึ้น ม.4 – ตอนที่ 1 – เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสำหรับทุกๆคน

เลือกแผนการเรียน – สามเสน ม.3 ขึ้น ม.4 – ตอนที่ 2


เด็ก EP มีทางเลือก มากกว่า

ที่พูดแบบนี้ก็เพราะว่า เด็ก EP สามารถยื่นเกรดเลือกห้องเรียน EPวิทย์ EPคณิต EPภาษา อีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ธรรมดา นอกเหนือจากที่ยื่นเกรดเลือกห้องทางฝั่งสามัญ และ สอบคัดเลือกภายในสำหรับห้องเรียนพิเศษภายใน IMP/EIS

พูดง่ายๆ เด็ก EP สามารถยื่นเกรดเลือกได้เหมือนเด็กห้องสามัญและเด็กห้องเรียนพิเศษ MSEP/ESC และเพิ่มเติมคือห้อง EPวิทย์ EPคณิต EPภาษา ซึ่งทางฝั่งสามัญจะไม่สามารถยื่นเกรเลือกห้องเหล่านี้ได้ ดังนั้นเด็ก EP จึงไปลงสนามสอบเตรียมอุดมอย่างไม่ต้องพะวงหลังมากมาย

ได้เคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้เหมือนกัน

เด็ก EP จบ ม.3 จะข้ามฝั่งไปเรียนทางห้องเรียนพิเศษของฝั่งสามัญได้หรือไม่?


น่าเป็นห่วง EP สามเสน !!!

ที่พูดเช่นนี้…เป็น คหสต. นะครับ แต่มีวิกฤตย่อมต้องมีทางออก….. วิกฤตคืออะไร

ปกติที่ผ่านมา EP ก็สอบติดเตรียมอุดมประมาณปีละ 40 คนอยู่แล้ว ปีนี้พาเหรดกันไปตั้ง 60 คน โดยเฉพาะห้อง 12 สอบได้ 25 คนจาก 30 คน ……… เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กๆและครอบครัว …..แล้วอะไรคือปัญหา? อะไรคือวิกฤต? อะไรที่บอกว่าน่าเป็นห่วง? สำหรับ EP Samsen

ประเด็นหลักก็คือ ถ้านับกันตามตัวเลขเลย จะเหลือเด็ก EP อีก 59 คนที่อยู่สามเสนในระดับมัธยมปลาย ซึ่งยังไม่รวมที่จะไปพวกโรงเรียนดรุณสิดขาลัย และในเครือ วมว. อื่นๆอีก(ถ้ามี)

และในแต่ละปี ก็จะมีโยกไปเรียนทางฝั่งสามัญบ้าง ไม่ว่าจะเป็นห้องวิทย์ ห้อง IMP ห้อง EIS (ต้องดูวันมอบตัวและตัวสำรองที่จะเรียกกันอย่างต่อเนื่องถึงจะรู้ยอดจริงว่ากี่คน) และอาจจะมีสอบเข้ามาในห้อง MSEP/ESMTE(ที่เห็นในประกาศปีนี้มี 5 คน) อีกด้วย

เมื่อหักลบกับที่มีเด็กส่วนหนึ่งที่สอบเตรียมได้แต่ขอเรียนต่อที่ EP สามเสน ซึ่งก็มีทุกปี

มองๆว่า น่าจะเหลือเด็ก EP เก่าประมาณไม่ถึง 50 คน ที่จะกระจายกันเรียนอยู่ 3 ห้อง คือห้อง13(คณิต+ภาษา) และ ห้อง 14+15 (วิทย์)

เด็กในส่วนที่รับเข้ามาใหม่โดยการสอบเข้าในรอบห้องเรียนพิเศษ EPวิทย์ 10 คน(เป็นเด็ก EP ม.3 สอบเข้ามา 2 คน) EPคณิต 5 คน EPภาษา 5 คน

รวมเด็กทั้งหมดประมาณ 70 คน (อันนี้คิดในแง่ดีนะ แต่จริงๆอาจจะเหลือน้อยกว่านี้)

โดยที่จำนวนเด็กกำหนดไว้ห้องละไม่เกิน 30 คน มีห้องเรียน EP 3 ห้อง แสดงว่าเฉลี่ย เด็กห้องละประมาณ 20 กว่าคน ทั้งนี้ในแต่ละปีก็จะมีเด็กที่ไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ห้องละ 3-5 คน แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีเด็กที่กลับมาจากแลกเปลี่ยนเช่นกัน ซึ่งการกลับมาก็ยังสามารถเลือกได้อีกว่าจะซ้ำชั้น หรือ ไม่ซ้ำชั้น (ขึ้นอยู่กับคณะและสายการเรียนที่ตั้งใจไว้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย)

ปีที่แล้วเด็ก EP ติดเตรียมประมาณ 40 คน ห้องลูกนั่งเรียนกัน 21 คน(EP วิทย์) ปีนี้ติดเตรียม 60 คน กำลังเทียบบัญญัติไตรยางค์อยู่ . . . แปล๊บบบบ นะ

เด็กเรียนห้องละ 20++ คน โดยส่วนตัวถ้าเป็นมุมมองของผู้ปกครองอย่างเรา ก็จะรู้สึกว่าดี ครูสามารถดูแลเด็กๆได้ทั่วถึง แต่ในมุมมองของโครงการ เงินค่าเทอมที่ขาดหายไปหรือที่ควรจะได้เพื่อนำมาบริหารทั้งทางด้านบุคคลากรและอื่นๆ ก็เป็นจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน สมมติว่ามีเด็กเรียน 70 คน จากจำนวนเต็ม 90 คน ก็จะขาดหายไป 20 คน คิดจากค่าเทอมคนละ 40,000 บาท รวมกันก็เป็นเงินที่ตกหล่นไปเทอมละ 800,000 บาทเลยทีเดียว


จะทำอย่างไร?

ด้วยสายตาจากคนนอกแบบพวกเรา ซึ่งไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักการหรือกฏเกณฑ์ในการบริหารการศึกษา โดยเฉพาะห้องเรียนพิเศษ ก็ได้แต่มองและคิดแบบชาวบ้านทั่วๆไป ผมก็มาคิดของผมเอง แต่คิดดังไปหน่อยเลยกระเด็นออกมาเป็นตัวหนังสือได้ประมาณนี้

เป็นเรื่องที่ทางโรงเรียนและ โครงการ English Program น่าจะพยายามหาทางออกกันอยู่เหมือนเช่นทุกๆปี แต่ปีนี้ดูจะหนักหน่อย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าปีต่อๆไปจะเป็นอย่างไร ลองคิดเล่นๆแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

  • จากการสอบคัดเลือกเข้ามาในรอบห้องเรียนพิเศษ จะสามารถเพิ่มจำนวนได้ไหม(อันนี้ไม่แน่ใจว่ามีกฏเกณฑ์อะไรกำหนดไว้หรือไม่) โดยมีวิธีการดำเนินการได้ 2 แบบคือ
    • เรียกจากตัวสำรองเพิ่ม ถึงแม้จะครบ 10 คนจากจำนวนที่ประกาศรับ (ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม เพราะรู้ว่ามันคนละกระดานกัน)
  • จัดสอบรอบ 2 (เด็กที่พลาดจากเตรียมฯอาจจะมาสมัครสอบเข้าห้องนี้) (ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม)
  • ยังคิดไม่ออก

ทำไมปีนี้เด็ก EP สอบติดเตรียมฯกันเยอะ

จริงๆข้อมูลนี้ผมสัมผัสและรับฟังมาตลอด 3-4 ปีนี้คือทั้งหมดนี้หลายต่อหลายท่านมีการวางแผนมาตั้งแต่ลูกอยู่ประถมศึกษาตอนปลายโน่น ในการสมัครสอบคัดเลือกเข้า ม.1 มีการคิดวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในเวลาที่จะต้องใช้ 3 ปี ในสามเสนวิทยาลัย เมื่อจบ 3 ปี จะยังไงต่อ

หลายๆคนที่วางเป้าไว้ที่เตรียมอุดมแน่ๆก็จะเลือกให้ลูกสอบ EP เพื่อที่ว่า 3 ปีในระดับ ม.ต้น จะได้มีเวลาแต่งตัวเพื่อการสอบเข้าเตรียมอุดมนั่นเอง เพราะอย่างที่รู้กันว่า เมื่อเทียบกันในทุกสายการศึกษา(ESC-MSEP-EP-EIS-สามัญ) กลุ่ม EP เป็นกลุ่มที่เรียนเบา เรียนสบายที่สุด

(เอาจริงๆ ผมไม่มีความคิดแบบนี้เลย คิดแค่ลูกสอบเข้าได้ มีที่เรียนยาวๆ 6 ปีก็บุญโขแล้ว เพิ่งมาได้ยินได้ฟังก็ตอนลูกสอบเข้ามาแล้ว )

วันปกติเลิกเรียน ก็ไม่มีคาบเรียนพิเศษต่อ ลั้ลลาบ้าง ไปเรียนพิเศษกันต่อข้างโรงเรียนบ้าง วรรณสรณ์บ้าง เสาร์อาทิตย์ก็ได้พักผ่อน ไม่ก็ไปเจอกันที่วรรณสรณ์ – สยามกิตต์ แล้วแต่การวางแผนของแต่ละครอบครัว คือเขาจะมีสูตรสำเร็จรูปกันเลย อาจจะมีหลายสูตรหน่อย ขึ้นอยู่กับที่มาของสูตรนั้นๆเช่น

คณิตศาสตร์ ต้องเรียนให้จบของ ม.ต้นทั้งหมด ตอน ม.2 เพื่อที่จะลุย ตลุยโจทย์กันตอน ม.3 กับครู XXX ที่ YYY
ภาษาอังกฤษต้องไปเรียนที่โน่นที่นี่ตอน ม.ไหน ….
ชีวะ แล้วแต่ชอบนะ ที่นี่ก็ดี ………
ฟิสิกส์เรียนสดดีกว่ามั๊ย ไปเรียนที่นี่นะ …….
เคมีกับครู ….
ภาษาไทย …
สังคม ต้องครูนี้เลย ….. พอจะสรุปข่าวไปลงคอร์สครู …….

อะไรประมาณนี้ครับ

เด็กสายแข่งขัน หรือ เด็กเก่งๆหลายคน ก็เลยเลือกที่จะสอบเข้า EP แทนห้อง Gifted หลายๆปีมานี้ เด็กที่ทำคะแนนสอบเข้าวิชาคณิตศาสตร์รอบห้องเรียนพิเศษ ก็เป็นเด็กที่สอบเข้า EP เช่น

  • ในปี 2562 คะแนนคณิตศาสตร์สูงสุด 48.8 EP
  • ในปี 2561 คะแนนคณิตศาสตร์สูงสุด 48 ก็มีทั้ง ESC-MSEP-EP
  • ในปี 2560 คะแนนคณิตศาสตร์สูงสุด 49 EP

เด็กที่เก่งจริงๆ และ สอบเข้าห้องเรียนพิเศษ MSEP-ESC ซึ่งมุ่งมั่นวิชาการทั้งทฤษฏีและปฏิบัติ ก็เป็นแนวทางของห้องเรียนพิเศษที่ตั้งหลักสูตรมาเช่นนี้ เด็กๆที่เรียนจะค่อนข้างเกร่ง อึด รับมือได้กับงานโปรเจคและการบ้าน มีการเรียนการสอน การทำงานโครงการที่เป็นแนวทางส่งเสริมการศึกษาอย่างจริงๆ มีการเรียนในวันเสาร์ด้วย แต่อาจจะทำให้มีเวลาน้อยลงหน่อยนึงในการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้า (มี ผปค.เล่าให้ฟังว่า ต้องทำต้องแก้งานจนเกือบจะถึงวันที่สอบเข้าเตรียมอุดมกันเลยทีเดียว)

สรุปประเด็นนี้ก็คือ เด็ก EP ได้เปรียบตรงมีเวลาเตรียมตัวได้มากกว่า เรียนไม่หนัก ไม่เครียด


ข้อสรุป

สรุปตาม คหสต. (อีกละ)

  • เด็กจำนวนหนึ่ง มีต้นทุนมาดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรียนโครงการไหน ห้องเรียนพิเศษหรือสามัญ ยังไงก็สอบได้
  • เด็กที่มีต้นทุนดีอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ผปค.เลือกที่จะให้เรียนสบายที่ EP แล้วไปเน้นการเตรียมตัวมากกว่า
  • เด็ก EP มีเวลาเตรียมตัวเพื่อเป้าหมายมากกว่า
  • เด็ก EP อาจจะได้เปรียบภาษาอังกฤษ แต่ก็เสียเปรียบภาษาไทยสังคม (แต่เด็กพวกนี้เขามี plan ในการติวสองวิชานี้อยู่แล้ว)
  • เด็ก MSEP/ESC จะมีความได้เปรียบมากกว่าเวลาไปทำข้อสอบแบบคิดวิเคราะห์ของ MWIT/KVIS

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ได้รับฟังมา จากผู้ปกครองหลายๆรุ่น โปรดใช้วิจารณญานในการอ่านและคิดวิเคราะห์ ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ ทางที่ลูกเราชอบและถนัด !


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

เรื่องเรียนของลูก :: รวบรวมบทความ “สอบเข้า EP สามเสน“

1160x500-เดือนแดงเดือด

MSEP – SAMSEN – 2562 สรุปคะแนนกัน

EP SAMSEN – 2562 สรุปคะแนนสูงสุดต่ำสุด การกระจายคะแนน และ อื่นๆ