สามเสน ม.3 ขึ้น ม.4 – ตอนที่ 1 – เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสำหรับทุกๆคน

สามเสน ม.3 ขึ้น ม.4

สามเสน ม.3 ขึ้น ม.4 ความจริงเรื่องนี้ได้เขียนไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปีสองปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นแบบว่าเขียนดดยที่ยังไม่ได้เจอะเจอด้วยตนเอง เขียนจากการอ่าน เขียนตามความเข้าใจ เขียนจากการเปรียบเทียบข้อมูล . . . แต่มาวันนี้ ช่วงเวลาตื่นเต้นได้ผ่านมาแล้ว พร้อมกับข้อมูลที่พยายามเก็บมา ซึ่งก็ค่อนข้างจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้การแชร์ข้อมูลตรงนี้จะอิงของเด็ก EP เป็นหลักแต่ก็ใช้ได้กับทั้งหมดในระดับ ม.3 ส่วนไหนที่ไม่ Cover ของนักเรียนทางฝั่งสามัญเดี๋ยวผมก็จะแจ้งไว้ให้นะครับ หลายคนก็ถามว่า สามเสน ม.3 ขึ้น ม.4 มันยากไหม? . . . เอาเข้าจริงๆ ตอนเป็น ผปค. ม.1 ม.2 รู้สึกชิลๆมาก แต่ในวันที่ขึ้นมาเป็น ผปค. ม.3 ความเสียวก็เริ่มมาเยือน . . . สำหรับใครหลายๆคนอาจจะไม่เสียว แต่สำหรับเด็กที่ผลการเรียนปานกลางลงมาก็จะเริ่มรู้สึก ซึ่งจะขอเล่าตาม timeline ที่ปรากฏมาในรอบปีการศึกษา 2560 (พฤษภาคม 2560 – เมษายน 2561)

ครั้งที่แล้วเขียนไว้ประมาณนี้ครับ
15 ห้องเรียน ม.4 สามเสนวิทยาลัย มีอะไรบ้าง

และถ้าจะมองหาเส้นทางว่า เด็กๆมีทางเลือกไปทางไหนได้บ้าง ตรงนี้ก็มีข้อมูลให้คร่าวๆนะครับ
เด็ก EP จบ ม.3 จะข้ามฝั่งไปเรียนทางห้องเรียนพิเศษของฝั่งสามัญได้หรือไม่?


คำถามที่พบบ่อย

ก่อนที่จะไปตาม timeline ลองมานึกคำถามที่เจอมาบ่อยๆ

  • จะยื่นเลือกแผนการเรียนกันเมื่อไหร่?
  • เกรดวิชา คณิตศาสตร์เพิ่มเติม ต้องเอามาคิดคำนวณรวมด้วยหรือไม่?
  • แผนการเรียนต่างๆจะเอาวิชาอะไรมาคิดบ้าง?
  • ตกลงใช้เกรด 5 เทอม หรือ 6 เทอม มาคิดกันแน่?
  • แล้วจะรู้ผลการคัดเลือกตอนไหน? ก่อนหรือหลังการสอบคัดเลือกเข้า ม.4 ทั่วไป? ก่อนหรือหลังสอบเตรียม?

กลุ่มเด็กๆและทางเลือกต่างๆ

ใน Post นี้ จะบรรยายเหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการก้าวข้ามจาก ม.3 ไป ม.4 ตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจริง ส่วนวิธีการคิด วิธีการเลือกจะขอยกไปอีก Post เพราะเรื่องมันยาวทั้งสองเรื่อง ที่ต้องเอาเรื่อง timeline มาเล่ากันนี้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าอารมณ์ในแต่ละช่วงตอนนั้น เป็นอย่างไร ก่อนอื่นก็ต้องขอแยกกลุ่มอารมณ์ออกเป็นกลุ่มๆดังนี้นะครับ

  • กลุ่มไม่ต้องคิด(ไม่ใช่สิ้นคิดนะครับ) นั่นก็คือพวก Outclass นั่นเอง อยากจะเรียนอะไรก็เลือกได้
  • กลุ่มที่คิดว่าน่าจะได้อยู่แล้ว แต่จะได้แผนการเรียนที่ต้องการหรือปล่าวนั้นยังเป็นที่ต้องคิดต่อ
  • กลุ่มที่ลุ่มๆดอนๆ อะไรก็ได้ ขอให้มีที่เรียน
  • กลุ่มที่ตกที่นั่งลำบาก ต้องพยายามเพื่อให้ได้มีที่เรียน

ดังนั้น เด็กๆทุกกลุ่ม ก็มีทางเลือกต่างๆในการหาที่เรียนในระดับชั้น ม.4 ประมาณนี้

  • เรียนต่อสามเสน โดยการยื่นเกรดเลือกแผนเรียน
  • เรียนต่อสามเสน โดยการสมัครสอบห้องเรียนพิเศษภายใน IMP และ EIS
  • เรียนต่อสามเสน โดยการไปสอบเข้ามาใหม่ทั้งในรอบห้องเรียนพิเศษ(EP-ESMTE-MSEP) และ ห้องเรียนสามัญ
  • เรียนต่อโรงเรียนอื่น โดยการไปสอบเข้าใหม่

ซึ่งแต่ละทางเลือก มันมีเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะทั้ง 4 ทางเลือกที่แจงไว้ เป็นต่างกรรมต่างวาระกัน บางคน มีชื่อได้ที่เรียนจากทั้ง 4 ทางเลือกเลย เช่น

  • ยื่นเกรดเลือกแผนเรียนไปก็ได้รับสิทธิ์ตามเกรด สมมุติได้ห้อง วิทย์
  • สมัครสอบห้อง IMP ก็สอบได้อีก
  • ไปลองสมัครสอบรอบทั่วไปห้องเรียนพิเศษเข้ามาใหม่ ก็สอบได้ห้อง MSEP อีก
  • ไปสมัครสอบรอบทั่วไปห้องเรียนสามัญ ก็สอบได้โรงเรียนเตรียมอุดมอีก

ที่ทำได้ ก็เพราะว่าในแต่ละทางเลือกเกิดในเวลาที่ไม่พร้อมกัน ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นที่มาของการเรียกตัวสำรองกันอย่างมโหฬาร และ กระทบชิ่งด้วย เดี๋ยวมีเวลาจะเล่าเรื่อง “การเรียกตัวสำรอง” ให้ฟังว่า มันวุ่นวายขนาดไหน แต่ตอนนี้เรามาต่อเรื่องของเราต่อดีกว่า

เล่าไปละ เด็กบางคนได้หลายทางเลือก แต่ . … มุมกลับกัน เด็กบางคนก็มีทางเลือกที่ต้องผสมความพยายามเข้าไปด้วยอีกหลายๆคน

ลูกเรา จะเป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มไหน?


TIMELINE

คราวนี้เรามาเดินดูเหมือน reality กันเลยดีกว่านะครับ ว่าอะไรมันเกิเมื่อไหร่? แล้ว(ลูก)เราต้องทำอะไร?

  1. December 2017 ผ่านเกณฑ์ไม่ผ่านเกณฑ์
    ช่วงปลายๆเดือน ทางโรงเรียนก็จะเรียกนักเรียนและผู้ปกครองมาเซนต์ชื่อรับทราบว่า จากเกรดในรายวิชาต่างๆนั้น ลูกเราจะสามารถเลือกแผนการเรียนอะไรได้บ้าง และ ไม่สามารถเลือกแผนการเรียนอะไรบ้าง ! ผู้ปกครองและเด็กไม่ต้องส่งรายละเอียดอะไรไปให้นะครับ เพราะโรงเรียนมีหมดอยู่แล้ว ไปเซนต์ชื่อรับทราบอย่างเดียว
  2. 04-10 January 2018 สมัครสอบ IMP – EIS
    นักเรียนที่มีเกรดผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดและสนใจห้องเรียนพิเศษภายในซึ่งมีอย่างละ 1 ห้อง นั่นก็คือ ห้องเรียนพิเศษทางด้าน วิทยาศาสตร์ เร่งลัดคณิตศาสตร์ เสริมคอมพิวเตอร์(IMP – Intensive Mathematics Program) และห้องเรียนพิเศษคีณิตศาสตร์ที่จัดการเรียนการสอนรายวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ คอมพิวเตอร์เป็นภาษาอังกฤษโดยครูไทย (EIS – English for Integrated Studied ถือเป็นห้อง ศิลป์คำนวณนั่นเอง)
    ซึ่งถ้ามีเด็กสมัครเกินกว่าจำนวนที่รับได้ ก็จะจัดให้มีการสอบคัดเลือก โดยปกติจะสอบกันหลังจากสอบปลายภาควิชาสุดท้าย
  3. 12-18 January 2018 ยื่นเลือกแผนการเรียน
    อันนี้แหละครับที่เป็นความหวังของเด็กๆหลายๆคนซึ่งก็มีแผนการเรียนให้เลือกตามนี้
    – วิทยาศาสตร์
    – คณิตศาสตร์
    – ภาษาต่างประเทศ
    และของทางนักเรียน EP มีตัวเลือกให้เลือกเพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือมีแผนการเรียนต่อไปนี้ที่สามารถเลือกได้(แต่เด็กทางฝั่งสามัญ ESC และ MSEP ไม่สามารถเลือกได้)
    – EP วิทยาศาสตร์
    – EP คณิตศาสตร์
    – EP ภาษาต่างประเทศ
  4. 03-04 February 2018 สอบ O-NET
    O-NET ไม่ใช่เรื่องเล่นๆอีกต่อไป เมื่อต้องเอาคะแนน O-NET มาร่วมพิจารณาทั้งการยื่นเกรดเลือกแผนการเรียนและในการสอบเข้าทั่วไปรอบสามัญ
    ในระดับชั้น ม.3 O-NET จะสอบกัน 4 วิชา วันละ 2 วิชา
  5. 13-15 February 2018 สอบปลายภาค + สอบคัดเลือก IMP และ EIS
    ที่สามเสนนี่เปิดเทอมเร็วและปิดเทอมเร็ว ม.3จะสอบปลายภาคเสร็จกลางเดือนกุมภาพันธ์ และได้กำหนดให้มีการสอบคัดเลือกห้องพิเศษภายใน IMP และ EIS ในช่วงเย็นหลังจากสอบปลายภาควันสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว นั่นก็คือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561
  6. 24-28 February 2018 สมัครสอบทั่วไป รอบห้องเรียนพิเศษ EP MSEP และ ESMTE
    จะสังเกตุเห็นได้ว่า เรายังไม่รู้ผลสอบ O-NET หรือผลการคัดเลือกขึ้น ม.4 อะไรเลย แต่ช่วงเวลาของการรับสมัครเพื่อสอบเข้าห้องเรียนพิเศษต่างๆมาถึงแล้ว ดังนั้น คนที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่แน่ใจว่า จะสามารถผ่านการคัดเลือกและได้ตามแผนการเรียนที่ต้องการหรือไม่ หรือ คนที่ยังรอผลสอบคัดเลือก EIS – IMP อยู่ ซึ่งก็ยังไม่ได้ประกาศผล ดังนั้น เด็กๆจำนวนหนึ่งก็จะมาสมัครสอบในรอบนี้
  7. 11 March 2018 วันสอบทั่วไปรอบห้องเรียนพิเศษ
    วันสอบรอบห้องเรียนพิเศษ ตามที่ได้สมัครสอบไป ในข้อ 6 นั่นเอง
  8. 16 March 2018 ประกาศผลการสอบรอบห้องเรียนพิเศษ
    สอบทีหลังแต่ประกาศก่อน ใครที่สอบได้แผนการเรียนที่ต้องการในรอบนี้ก็สบายตัวไปเลย ไม่ต้องงรอลุ้นผลอะไรละ รอรายงานตัว มอบตัว แล้วเปิดเทอมได้เลย
  9. 19 March 2018 ประกาศผล IMP และ EIS
    การประกาศผลการสอบคัดเลือกห้องเรียนพิเศษภายใน IMP และ EIS พร้อมรายชื่อตัวสำรอง
  10. 25 March 2018 ประกาศผล O-NET และ 26 March 2018 ประกาศผลการคัดเลือก ม.3 ขึ้น ม.4
    แผนการเรียนที่เด็กๆยื่นเลือกไปตั้งแต่เมื่อกลางเดือนมกราคมนั้น ต้องรอผลคะแนน 2 อย่างคือ คะแนนผลสอบ O-NET และ คะแนนผลสอบปลายภาคเรียนที่ 6 หรือ ปลายภาค ม.3 นั่นเอง ในการนำคะแนนทั้งสองหมวดมาแปลงเป็นสกอร์และจัดเรียงลำดับตามแผนการเรียนที่เด็กๆเลือก เพื่อจะได้มาเป็นผลการคัดเลือกทั้งตัวจริง และ ตัวสำรอง ส่วนวิธีการแปลงคะแนนและเรียงลำดับนั้น จะขอยกไปกล่าวในโพสต์ต่อไป เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
  11. 25-28 March 2018 รับสมัครสอบทั่วไปรอบสามัญ รวมทั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
    น่าจะเป็นความจงใจที่ทางการประกาศคะแนน O-NET และทางโรงเรียนประกาศผลการคัดเลือก ก่อน และ/หรือ อยู่ในช่วงที่มีการรับสมัครสอบพอดี เพราะเด็กๆที่ทราบผลแล้ว ถ้ายังไม่มีที่เรียนจะได้รีบมาสมัครสอบ แต่เด็กนักเรียนหลายคนในระดับชั้น ม.3 ก็จะสมัครสอบของโรงเรียนเตรียมอุดม
  12. 01 April 2018 วันสอบรอบสามัญ และ เตรียมอุดมศึกษา
    เป็นอีกวันสำคัญสำหรับเด็กๆที่ยังไม่มีที่เรียน หรือ ยังไม่ได้ที่เรียนที่ตรงตามความต้องการ ซึ่งในรอบนี้ก็จะมีการสอบเข้าในแผนการเรียน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ ภาษาต่างประเทศ สำหรับโรงเรียนที่มีีระดับมัธยมต้นด้วย จำนวนการรับก็จะน้อยหน่อย แต่สำหรับโรงเรียนที่มีแต่ระดับมัธยมปลาย ก็จะเปิดรับจำนวนค่อนข้างมาก
  13. 05 April 2018 ประกาศผลสอบรอบสามัญ และ เตรียมอุดมศึกษา
    ถือว่าเป็นวันที่จะประกาศผลสอบรอบสุดท้ายอย่างเป็นทางการ(ยกเว้นจะมีการเปิดรับรอบสองของบางโรงเรียน ซึ่งผมก็ไม่มีข้อมูล) หลังจากนี้ก็จะเป็นการเล่นเก้าอี้ดนตรีกันอย่างสนุกสนาน นั่นก็คือการเรียกตัวสำรอง ซึ่งการเรียกตัวสำรองนั้น ก็จะเป็นการเรียกแล้วส่งผลกระทบไปหลายด้าน เพราะในบางครั้ง คนที่เรียกมา ได้แผนการเรียนอื่นแล้ว เมื่อมารายงานตัว ก็ต้องไปสละสิทธิ์แผนการเรียนอื่น ในส่วนของแผนการเรียนอื่นนั้นก็ต้องเรียกตัวสำรองต่ออีก . . . . เรื่องมันก็จะวุ่นๆ
  14. 09 April 2018 เริ่มเรียกตัวสำรอง
    เรื่องมันยาวนิดหน่อย(ตกลงจะยาวไหม ทั้งยาว ทั้งนิดหน่อย) ก็เลยยกยอดไปเขียนใน Section ถัดไปด้านล่างนี่แหละครับ

การเรียกตัวสำรอง

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ใครๆก็ไม่อยากให้เกิดกับชีวิตตัวเอง ใครๆก็อยากจะได้เป้าหมายที่ตั้งไว้ไปเลย ไม่อยากมา รอ รอ รอๆๆๆ แล้วก็รอ ผมเข้าใจความรู้สึกนั้นดีครับผ่านการสัมผัสบรรยากาศช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ได้คุยกับเพื่อนผู้ปกครองหลายๆท่านในสถานะการณ์นั้นๆ

ความจริงแล้ว การสละสิทธิ์ของเด็กนักเรียนก็จะมีมาให้เห็นเป็นช่วงๆอยู่แล้ว เอาเท่าที่จำได้นะครับ

  • 18 March 2018 เด็กที่สอบผ่านการสอบทั่วไปรอบห้องเรียนพิเศษ(EP MSEP และ ESMTE) ถ้าไม่มารายงานตัว ก็ถือว่าสละสิทธิ์
  • 23 March 2018 เด็กที่สอบคัดเลือกเป็นการภายในห้อง IMP และ EIS ถ้าไม่มารายงานตัวถือว่าสละสิทธิ์
  • 27 March 2018 เด็กที่ยื่นเกรดเลือกแผนการเรียน ให้มารายงานตัว ถ้าไม่มารายงานตัวถือว่าสละสิทธิ์
  • 04 April 2018 เด็กที่สอบผ่านการสอบทั่วไปรอบห้องเรียนพิเศษ(EP MSEP และ ESMTE) ให้มามอบตัว ถ้าไม่มามอบตัวก็จะหมดสิทธิ์ทันที
  • 05 March 2018 เด็กที่สอบผ่านการสอบทั่วไปรอบสามัญให้มารายงานตัว ถ้าไม่มารายงานตัวถือว่าสละสิทธิ์
  • 08 March 2018 การมอบตัวของเด็กนักเรียน IMP – EIS – รอบสามัญทั้งหมด และ เด้กนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกแบบยื่นเกรดเลือกแผนการเรียนทั้งหมด(EP วิทย์ – EP คณิต – EP ภาษา – สามัญทั้งหมด)

ซึ่งตรงนี้ ถามว่า ในเมื่อมีการสละสิทธิ์กันมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม แล้วทำไมไม่เรียกตัวสำรองกันตั้งแต่ตอนนั้นเลยหละ? – อันนี้ผมคิดเองนะครับ นั่งคิดตีลังกาคิด ก็ขอเดาๆว่า ทางโรงเรียนก็คงไม่อยากเรียกมาแล้ว เดี๋ยวพอได้แผนการเรียนอื่นที่จะประกาศต่อๆกันมา ก็จะมาสละสิทธิ์ ทำให้ต้องเรียกตัวสำรองมาทดแทนตัวสำรองที่เรียกมาก่อนหน้านั้น

ดังนั้น ทางโรงเรียนก็เลยเรียกตัวสำรองทีเดียวเลย ครั้งแรกวันที่ 9 เมษายน 2561 โดยเริ่มเรียกในทุกๆแผนการเรียน เพราะเอาเข้าจริง เด็กๆที่ได้รับคัดเลือกมาก่อนหน้านี้ ก็จะมาสละสิทธิ์กันมากขึ้น เมื่ีอทางโรงเรียนเตรียมอุดมประกาศผลสอบ เพราะเด้กสามเสนเราเก่งๆเยอะ ยกทัพไปกันปีละร่วมร้อยทุกปี ปีนี้ก็เช่นกัน ดังนั้นเทศกาลเรียกตัวสำรองก็จะเกิดขึ้นอย่างโกลาหล เพราะอย่างที่บอก การเรียก 1 ตัวสำรอง ก็ยังอาจจะไปกระทบกับแผนการเรียนอื่นๆทำให้ต้องเรียกตัวสำรองเช่นกัน สนุกเน๊อะ ลองนั่งนึก นั่งคิดดูว่า case ที่เป็นไปได้มีอะไรบ้าง

  • ยกตัวอย่างแรกเลยเอาแบบใกล้ตัว ตามลำดับเวลา ด้วยความที่ว่าผลการเรียนประเภทไม่ค่อยสวย ไม่มั่นใจว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการไหม(EP วิทย์) ตอนนั้นผมก็เดาๆจากพื้นฐานข้อมูลเกรดเฉลี่ย 5 เทอม(3.83) เขาว่าผลน่าจะได้ลำดับที่ 40 ปลายๆ หรือ 50 ต้นๆ นี่แหละ
    • 12/01/2018 ยื่นเกรดเลือก EP วิทย์ – EP คณิต – EP ภาษา
    • 15/01/2018 สอบ IMP เพราะดูจากเกรดแล้วไม่มั่นใจว่าจะได้ EP วิทย์ที่คาดหวังไหม
    • 11/03/2018 สอบคัดเลือกทั่วไปรอบห้องเรียนพิเศษ EP วิทย์ – ลองสอบดูเผื่อได้ก็สบายใจไปเลย
    • 15/03/2018 สอบได้ – คัดเลือกทั่วไป EP วิทย์ – เอาเลยมอบตัว เพราะตั้งใจไว้แล้ว
    • 19/03/2018 สอบได้ – IMP ตัวสำรองอันดับ 18
    • 25/03/2018 ได้รับเรียกตัวสำรอง IMP (ทางโรงเรียนก็ยังต้องเรียกตามลำดับอยู่ถึงแม้จะสละสิทธิ์ไปแล้ว)
    • 26/03/2018 ได้รับคัดเลือก EP วิทย์ จากการยื่นเกรดอันดับ 45 (รับ 50) ใกล้เคียงกับที่คาดการไว้มาก
    • 27/03/2018 มาสละสิทธิ์ EP วิทย์จากการยื่นเกรด และ สละสิทธิ์ IMP จากการเรียกตัวสำรอง
  • จากตัวอย่างด้านบน ถ้าซับซ้อนมากขึ้นสำหรับเด็กเก่งๆบางคนที่สอบเข้าเตรียมอุดมศึกษาได้ ก็จะเพิ่มความซับซ้อนขึ้นไปอีก 1 ขั้น
  • ตัวสำรองที่เรียกมาในแผนการเรียนนี้อาจจะเป็นตัวจริงไปแล้วในแผนการเรียนอื่น
  • ตัวสำรองที่เรียก อาจจะสอบติดที่อื่นไปแล้ว ก็ต้องเรียกตัวสำรองใหม่ในครั้งต่อไป

บทสรุป

Post นี้เป็นการลำดับเหตุการณ์ที่เด็กๆและผู้ปกครองจะต้องเจอ . . . อย่างที่บอกถ้าผลการเรียน เกรดเราดี เราก็ไม่ต้องมาเป็นห่วงเรื่องแบบนี้ ในช่วงแบบนี้ การทำเกรดให้ได้ดีตามเกณฑ์ที่กำหนดและอยู่ในลำดับที่น่าจะพอสบายใจได้ ไม่ได้มาทำกันตอน ม.3 แต่ต้องเริ่มสะสมมากันตั้งแต่ ม.1 เทอม 1 เลยนะครับ . . . ไม่ว่าเป้าหมายเราจะต่อที่นี่ หรือ เตรียมตัวเพื่อที่จะไปสอบที่อื่น แต่การมีที่เรียนไว้ก่อน ก็เป็นเรื่องสำคัญ . . . เริ่มนับ 1 ตอน ม.1 ดีกว่านับ 1 ตอน ม.3

ตอนต่อไป จะมาคุยกันเรื่อง เกณฑ์ในการคัดเลือกแผนการเรียนต่างๆว่า เอาอะไรมาคิดอย่างไรบ้าง?