เตรียมความพร้อม – เตรียมกันยังไง ทำไมถึงต้องเตรียม

เตรียมความพร้อม เตรียมอะไรกัน?  

เตรียมความพร้อม หลักๆก็เป็นการเตรียมการให้ลูกๆของเราได้เข้ามาสู่สังคมใหม่ที่อาจจะแตกต่างจากเดิม แตกต่างจากชีวิตในวัยประถม แล้วลูกเราจะปรับตัวกับเขาได้ไหม แล้วจะได้ผลแค่ไหน ผมบอกเลยว่าเป็นความกังวลล่วงหน้าของพวกเราผู้ปกครองหลายๆคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองที่ลูกสอบเข้ามาได้โดยที่ในระดับชั้นประถมปลาย ลูกไม่ได้เรียนสองภาษาหรืออีพีมาก่อน จะค่อนข้างกังวลมาก . . . เชื่อไหมว่าสามปีที่ผ่านมานี้มีคนถามผมค่อนข้างบ่อยมากว่าช่วงที่รู้ผลสอบว่าสอบได้แล้ว จะให้ลูกไปติวไปเรียนที่ไหน เพื่อเตรียมตัวก่อนเปิดเทอม กลัวว่าลูกจะตามไม่ทัน ฟังไม่รู้เรื่อง และ เรียนไม่ทันไม่รู้เรื่องด้วย ถามหาหนังสือหนังหา ตำราที่ีใช้เรียน จะไปจัดหาจัซื้อมาให้ลูกได้ดูได้อ่านคร่าวๆก่อน ซึ่งผมตอบกลับไปเหมือนกันหมดว่า ให้ลูกได้พักเฮอะ พาลูกไปเที่ยว ให้เขาทำสิ่งที่เขาอยากจะทำ ในช่วงเวลาที่มีไม่มากนัก เพราะอีกไม่นานไม่กี่วันก็จะต้องเข้าเรียนเตรียมความพร้อมกันละ แน่นอนว่า ก็คล้ายๆกับเปิดเทอมกลายๆนั่นแหละ แต่เรียนกันแบบไม่ได้เข้มงวดมาก ผมว่ายิ่งเราไปให้เขาเตรียมตัวมากๆ เด็กๆก็จะยิ่งกลัวมากขึ้นหรือปล่าว(ผมคิดของผมเองนะครับ มองอีกแง่นึง ก็เพราะว่าผมคิดแบบนี้ไง ลูกถึงได้ต้องมาลุ้นกันตอนจบ ม.3 แฮะ แฮะ)


เตรียมความพร้อม !

++++++ ข้อมูลส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นฐานของห้องเรียนพิเศษ EP Samsen ที่ลูกชายเรียนนะครับ แต่ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับโครงการอื่นๆ ไม่ได้แตกต่างกันมาก ++++++

จริงๆ ผปค.รุ่นหลังๆอาจจะมีข้อมูลที่อัพทูเดทมากกว่าผมนะครับ ลองสอบถามกันดู แต่ที่เขียนนี่อยู่บนพื้นฐานการเรียนเตรียมความพร้อมของลูกนะครับ ซึ่งก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว ผปค.ท่านอื่นๆสามารถช่วยแชร์ประสบการณ์กันได้นะครับ

โดยปกติ หลายๆโรงเรียนก็มักจะให้เหตุผลว่า การเรียนเตรียมความพร้อมก็เพื่อให้นักเรียนที่มาจากต่างโรงเรียนกันจะได้ทำความรู้จักกัน . . . ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กๆจะได้ละลายน้ำแข็งกัน(ยิ่งอากาศร้อนๆอยู่)

ก็ยังมีหลายคนเช่นกันนะครับที่ถามผมว่า ไม่ลงเรียนเตรียมความพร้อมได้ไหม เพราะหลายท่านได้มีโปรแกรมไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว  ซึ่งเอาเข้าจริงๆผมตอบตามตรงไม่ได้หรอกครับ ผปค.ต้องไปคุยกับทางโรงเรียน วัตถุประสงค์จริงๆของทางโรงเรียนคงต้องการให้เด็กๆได้ปรับตัวกันกับเพื่อนๆก่อน นัยว่าให้เด็กได้ละลายน้ำแข็ง (ผมใช้ถูกไหม เห็นคนเก่งๆเขาชอบพูดกันว่า ice breaking อะไรทำนองนั้น เลยลองเอามาใช้มั่ง) และ ค่อยๆปรับลักษณะการเรียน จากรูปแบบการเรียนจากเดิมที่ครูเขียนบนกระดานแล้วให้นักเรียนจดตาม มาเป็นแบบต้องโน๊ตเอง จดเอง ให้มากขึ้น ครูก็จะมีเขียนให้บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมดเหมือนเมื่อตอนลูกๆเรียนประถมปลาย

เอาเข้าจริงๆผมว่าสำหรับเด็กหลายคนแทบจะไม่ได้อะไรทางวิชาการเท่าไหร่ ที่ได้มากที่สุดคือ เพื่อนใหม่ บรรยากาศใหม่ๆ วิธีการเรียนใหม่ๆ(เหมือนลูกผม 5 5 5) บางคนต้องเดินเรียนด้วย ก็อาจจะรู้สึกแปลกๆ ปกติเรียนประถมมีห้องประจำ แต่มาเรียนมัธยมต้องเดินไปเรียนห้องนี้ตึกโน้น (ที่สามเสนวิทยาลัย EP จะมีห้องประจำ แต่ฝั่งสามัญและห้องกิฟจะต้องเดินเรียน)


ใส่ชุดอะไรไปเรียนเตรียมความพร้อม?

— เขียนตอนนี้ ทำให้ผมลองกลับไปค้นหารูปในโทรศัพท์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว จึงได้เห็นหลายๆรูปที่ไม่เคยเปิดดูมาก่อน —

ก็เป็นอีกคำถามที่มีมาทุกปี คำตอบก็คือชุดนักเรียนโรงเรียนเดิมเลยครับ ผมว่าเป็นบรรยากาศที่น่ารักนะครับ เด็กๆแต่งชุดนักเรียนหลากหลาย มานั่งเรียนด้วยกัน

วันแรกที่ไปกัน ก็จะมีผู้ปกครองมาส่งลูกๆด้วยจำนวนหนึ่ง เพราะบางครั้งยังคิดอยู่ว่า เบบี๋ของเราจะอยู่ได้ไหมหนอ (ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไปด้วย 5 5 5 แต่ไม่ใช่เพราะความเป็นห่วง เป็นควมสอดรู้ใคร่อยากจะเห็นเสียมากกว่า จะเรียกตรงๆว่าสอดรู้สอดเห็นก็ได้นะครับ)

ในบางครั้งหรือในบางราย ผู้ปกครองก็อาจจะยังต้องคิดต้องปรับตัวอีกนะครับว่า เอ๊ะ ลูกจะทานข้าวยังไง จะเดินเข้าห้องถูกไหม จะไปรับหนังสือเรียนที่ไหน เมื่อไหร่  เลิกเรียนแล้วจะไปอยู่ที่ีไหน ฯลฯ

เรื่องที่เปิดเทอมแล้ว เดี๋ยวผมเอาไปเล่าอีกตอนหนึ่งนะครับ แต่ช่วงเรียนเตรียมความพร้อม เด็กจะสดกว่า ความหมายก็คือ เด็กจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายที่สดกว่า จึงอาจจะมีอะไรติดๆขัดๆบ้าง ดดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่มาเรียนที่นี่แบบแทบไม่มีเพื่อนที่รู้จักมาด้วยเลย มันก็จะวังเวงนิดๆ แต่ไม่นาน เชื่อผมเหอะ เด็กปรับตัวได้เร็วกว่าพ่อแม่ 

เช้าๆมาทานอาหารที่โรงเรียนได้เลยครับ ช่วงนี้ก็จะได้ซ้อมๆก่อน ซื้อเองกินเอง ไม่มีอาหารถาดอาหารหลุมวางบนโต๊ะให้เลือกนั่ง หรือ เดินถือถาดถือหลุมวนตักอาหาร มีแต่ซื้อ กิน แล้ว เอาจานชามไปเก็บที่จัดเก็บจานชามที่ใช้แล้ว . . .

พี่ๆสามเสนก็จะเยอะหน่อย 

หลังเลิกเรียน ก็อาจจะมีการนัดแนะกันว่า ให้ลูกรออยู่ตรงส่วนไหนของโรงเรียน ซึ่งโดยปกติแล้ว ก็มีจุดหลักๆที่เด็กๆสามารถรอได้อย่างมีความสุข(เพราะได้เล่นกับเพื่อน)ก็คือ บริเวณใต้อาคาร 3(จะเห็นทั้งนั่งทั้งนอนสนุกสนานเตรียมซักเสื้อผ้ารอเลยครับ) หรือที่บริเวณลานพระ และ ถนนต้นไม้

เดี๋ยวพอช่วงเปิดเทอมก็จะเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้นเพราะช่วงเตรียมความพร้อม ต้องเตรียมไปพร้อมๆกัน ทั้งเตรียมความพร้อมเด็กนักเรียนและเตรียมความพร้อมผู้ปกครอง


เรียนอะไรกันหรอ?

ผมดูจาก Sheet ที่ครูแจกให้เด็กๆแล้ว ก็พอประเมินประมาณได้ว่า มีการขู่แกมหยอกบ้าง บางวิชาก็ขู่กันหนักหน่อย บทเรียนที่เป็นภาษาอังกฤษ ที่อาจจะมีคำศัพท์ที่ยากเยอะหน่อย นัยจะบ่งบอกว่า … เจ้าหนูทั้งหลาย เรียน EP ไม่ได้ง่ายนะจ๊ะ . . . แต่บางวิชาก็ดูง่ายหายห่วง รวมๆก็กลายเป็นว่ามีทั้งตบหัวและลูบหลัง แต่อย่างที่บอกลูกๆเราก็ช่างดีและเก่งเหลือหลาย

เท่าที่จำได้จะมีการเรียน 5 รายวิชาสามัญ ก็คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคม และ ภาษาอังกฤษ ในส่วนของเด็ก EP ก็จะได้ลิ้มรสการเรียนบางวิชาเป็นภาษาอังกฤษ

ในส่วนของเด็กสามัญ ช่วงเวลานี้ก็จะมีการสอบคัดห้อง EIS ซึ่งจะมีการสอบ 2 วิชาคือ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ

ขออนุญาตและขอขอบคุณนำบางภาพจาก facebook ของทางโรงเรียนมาประกอบใน post นี้ด้วยนะครับ ภาพนี้เป็นบรรยากาศระหว่างการเรียนเตรียมความพร้อมรูปนี้น่าจะเป็นวันแรกที่มีเรียนเตรียมความพร้อมนะครับรูปนี้น่าจะเป็นวันสุดท้ายของการเรียนเตรียมความพร้อม จะเห็นได้ว่าทุกๆวันระหว่างเรียนเตรียมความพร้อม ก็จะมีพี่ ก.น.(กรรมการนักเรียน) มาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กๆด้วย

ถามว่า . . . . การเรียนพื้นฐานมีผลต่อการจัดห้องเรียนด้วยไหม? ซึ่งถ้าดูจากข้อมูลแล้ว เด็กที่เรียนห้องเดียวกันในช่วงเรียนเตรียมความพร้อม จะได้เรียนห้องเดียวกันในการเรียนปกติ …. แต่…. ไม่ใช่ทั้งหมด

จะมีบางคนที่สลับปรับเปลี่ยนไปอยู่ห้องอื่น และบางคนก็สามารถเข้าไปอยู่ห้องคิงส์ได้

ดังนั้น จึงช่วยตอบคำถามจากหลายๆคนว่า เรียนเตรียมความพร้อมมีผลต่อการจัดห้องหรือไม่ ทราบมาว่าจะใช้คะแนนที่สอบเข้าเป็นหลักผสมด้วยคะแนนที่ได้จากช่วงเตรียมความพร้อม ในการจัดเด็กเข้าห้องคิงส์ ส่วนคนที่คะแนนสอบเข้าห่างไกลจาก 30 อันดับแรกอยู่แล้วก็สบายใจได้เลย ไม่ต้องไปเรียนห้องคิงส์แน่ๆ

ช่วงที่ลูกเรียนเตรียมความพร้อมนั้น วันแรกๆผมก็หยิบชีทที่ใช้เรียนมาพลิกๆเปิดดูบ้างเหมือนกัน ก็ดูชีทสะอาดดี ไม่ค่อยได้รับการขีดเขียน ปราศจากลายลักษณ์อักษรที่มาจากหมึกปากกา จึงได้มีการอธิบายให้เล็กน้อยถึงวิธีการเรียน ตอนนั้นตัวเราเองก็ไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้มาก่อนว่า ลูกจะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของวิธีการสอน จากที่ครูบอกจด หรือ ครูจดบนกระดาน ให้นักเรียนจดตาม มาเป็นแบบ ให้ note เอง … แต่หลังจากบอกไปแล้วก็ดีขึ้น มีรอยน้ำหมึกปรากฏมาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนชื่อบนชีทเพื่อบ่งบอกความเป็นเจ้าของ

สิ่งที่กลับมาบ้านวันแรกของการเรียนเตรียมความพร้อมก็คือ คุยโม้ถึงเพื่อนๆที่เจอ ซึ่งมีแต่เด็กผู้ชายทั้งนั้น ยังคงมี เส้นกั้นบางๆระหว่างเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง แต่หลังเปิดเรียนไปแล้วสักแป๊บนึง ก็จะค่อยๆละลายหายไป


บทสรุป

หลังจากนี้ ก็ยังมีวันปฐมนิเทศน์อีกนะครับ หลังจากพิธีทางการปฐมนิเทศน์ก็มีกิจกรรมละลายน้ำแข็งจริงๆจากรุ่นพี่ด้วย สนุกน่าดู ตอนนี้เป็นตอนที่สองของ สามเสนสามปี เดอะซีรี่ย์ คงมีหลายตอนแหละครับ . . .

ตอนแรก – เกริ่นนำ

สามเสนสามปี – ปฐมบท เรื่องที่อยากเล่า – จดหมายเหตุสามเสนสามปี