เมื่อต้องเลือก . . . จะเลือกให้ลูกสอบที่ไหน . . . โรงเรียน และ โอกาส เป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบ

เมื่อต้องเลือก . . . จะเลือกให้ลูกสอบโครงการไหน? . . .

มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวที่เกิดซึ่งๆหน้า และ หลายๆเรื่องราวก็ตรงมาทาง Social Media . . . Trend …ค่านิยม…ชื่อเสียง…สิ่งแวดล้อม…ทุกอย่างดีหมด แล้วอย่าลืมหันกลับมามองตัวเองหรือลูกของเราเองบ้าง . . . ทุกอย่างไม่ได้บอกว่า อยากเข้าแล้วจะต้องเข้าให้ได้ ถ้าต้นทุนเราดีมีสูง ก็ยังไม่แน่ว่าจะได้ดั่งสมหวังหรือไม่ ในขณะเดียวกัน ถ้าต้นทุนเราต่ำ แต่เราอยากไขว่คว้าหาของสูง ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเลยเสียทีเดียว . . . แต่สิ่งที่ควรคำนึงคิดถึงให้มากยิ่งไว้ ก็คือ โอกาสไม่ได้มีให้เราบ่อยครั้งนัก หรือที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ โอกาสมีเพียงแค่ครั้งเดียว !!!


เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล

ที่กล่าวมาเยิ่นเย้อนี้ ก็อย่างที่บอกว่าเป็นเรื่องราวที่ผมสัมผัสมา ในช่วงสองสัปดาห์นี้ ซึ่งสำหรับผมแล้วมีข้อมูลผ่านเข้ามาก็เยอะ มีเรื่องราวผ่านเข้ามาก็แยะ มีคำถามผ่านเข้ามาก็มาก มีขอคำปรึกษาผ่านเข้ามา มากที่สุด . . . ผมพอจะให้ข้อมูลเท่าที่ทราบได้ แต่ไม่สามารถเป็นที่ปรึกษา เป็นโคช หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ได้

ด้วยความบังเอิญว่า ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ปกครองจิตอาสาในการจัดการการทดสอบศักยภาพทางการศึกษาของนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย เพื่อเตรียมตัวสอบเข้า มัธยมศึกษาปีที่ 1 และ หลังจากประกาศผลคะแนน ผมก็นึกสนุกเอาคะแนนมาจัดทำข้อมูลสถิติต่างๆ แบบง่ายๆ แบบบ้านๆ เอาแค่ว่า ลูกเราอยู่ตรงไหนของการทดสอบนี้ ไม่ต้องไปดูละเอียดถึงระดับคะแนนหรือเศษเสี้ยวของคะแนนเลย

เมื่อผลคะแนนออกมา ประกอบกับการที่ทางผู้จัดได้จัดให้ผู้ปกครองที่มีความสงสัยหรือต้องการดูกระดาษคำตอบของลูกได้ดูกัน ซึ่งกติกาก็แจ้งกันตั้งแต่ต้นแล้วว่า ข้อสอบเผาไปหมดแล้ว ดังนั้น สิ่งที่เห็นก็คือข้อผิดพลาด หรือ ข้อควรแก้ไข

สิ่งที่ผมพบเห็นก็คือ

  • เด็กตอบผิดจริง แต่บางครั้งผู้ปกครองยังไม่สามารถรับได้ เพราะว่าไปสอบ pretest ที่สนามอื่น วิชานี้ได้เยอะกว่านี้ตั้งเยอะ แต่ผมดูกระดาษคำตอบโดยเฉพาะข้อที่ไม่ใช่ตัวเลือก จะเห็นชัดเจนเลยว่า ตอบผิดคิดผิดทุกข้อ ก็ได้แต่พยายามให้กำลังใจว่า เด็กแต่ละคนอาจจะมีความชำนาญหรือชอบแนวข้อสอบที่แตกต่างกัน (แต่จริงๆก็ไม่ทราบแน่ชัดหรอกครับว่า คืออะไร?)
  • เด็กตอบถูก แต่ไปฝนกระดาษคำตอบไม่ถูกต้อง ในข้อที่ต้องฝนเป็นคำตอบ
  • ฝนกระดาษคำตอบผิดเลยในข้อที่ต้องฝนเป็นคำตอบ คือฝนผิดคำสั่ง ข้อนี้เจอเยอะสุด เพราะจะต้องฝนทั้งสี่หลักหน้าทศนิยมและสองหลักหลังทศนิยม (ถ้าหลักนั้นเป็น ศูนย์ ก็ต้องฝนศูนย์)
  • ในข้อที่มีตัวเลือก(Choice) เด็กคิดไม่ได้ ก็เลยไม่ได้ตอบ แฮะๆ ผมก็แนะนำว่า น่าจะฝนเดาไปนะ เผื่อถูก อย่าปล่อยไว้เฉยๆ
  • ฯลฯ

คราวนี้บางท่านก็สอบถามว่าอย่างนี้จะเข้าห้องพิเศษห้องโน้นห้องนี้ พอจะสอบได้มั๊ย . . . ผมก็บอกตามตรงเลยว่า ผมไม่สามารถจะไปฟันธงให้ได้ว่าอย่างโน้น อย่างนี้ หรือ อย่างนั้น ผมมีเพียงแค่ให้ข้อมูลทางด้านสถิติ จากการสอบคัดเลือกในปีที่ผ่านๆมา ที่เหลือ ผู้ปกครอง ควรต้องคิดต่อแล้วหละครับว่า โอกาสหนึ่งเดียวในการสอบวันที่ 10 มีนาคม 2561 นี้ ลูกจะเดินเข้าห้องสอบที่ไหน !

เพราะไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นที่ สามเสน สวนกุหลาบ บดินทรเดชา สตรีวิทยา โยธิน ตามที่ได้ยินชื่อบ่อยๆ แต่หลายๆโรงเรียนรอบนอกก็ถือว่าดีไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ถ้าเราไม่มั่นใจ ดูจากข้อมูลและสัมผัสที่หกเนื่องจากเราอยู่ใกล้ลูกมากที่สุด ถ้าความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย อย่าได้ตัดโอกาสลูกๆเลยที่จะปล่อยให้ลงไปต่อสู้ในสนามแข็งๆ (บางคนบอกว่านี่แหละเป็นโอกาสลูก เผื่อว่าไปสอบได้ในสนามแข็งๆ)

ที่ผมเจอ ในการพูดคุย ผู้ปกครองที่วางเป้าไว้ที่ EP สามเสน แต่พอเห็นคะแนนจากการสอบ pretest แล้ว ไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้  ก็ยิงคำถามมาว่า จะขอหลบไปสอบ EP โยธินแทนดีไหม? ซึ่งโดยมารยาทแล้วผมจะไม่ตอบว่าอะไรอย่างไรดี แต่ก็ให้ข้อมูลไปตามความเป็นจริงเรื่อง อัตราการแข่งขัน ความยากง่ายของข้อสอบเท่าที่รับทราบมาในช่วงสองสามปีนี้ ของทั้งสองโครงการที่ผู้ปกครองมีไว้ในใจ ในขณะเดียวกัน ก็ยกสถิติจากการสอบ pretest และ สอบคัดเลือกจริง ของสามเสน ครั้งที่แล้ว ก็จะพบว่า อันดับที่ที่อยู่หลังๆโน่นนนนนเลย ก็มีโอกาสสอดแทรกเข้ามาได้ . . . แต่ไม่ใช่ทั้งหมด !

อันดับที่ ถึงแม้จะเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง แต่อยากให้ดูโซนคะแนนมากกว่า เพราะบางครั้ง เราขยับเพียงแค่ 1 คะแนน อันดับที่เปลี่ยนไปหลายสิบเลย

และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ในวันสอบจริง 10 มีนาคม 2561 เด็กๆก็จะแยกย้ายกันไปสอบตามโรงเรียนเป้าหมายของตัวเอง คู่แข่งก็จะลดน้อยถอยลงไปด้วย

มาอีกเคสหนึ่ง บอกว่าจะอย่างไรเสีย ก็จะให้ลูกสอบที่นี่ เพราะอ่านบทความของพี่มาแล้วชอบที่นี่ ….

อ่าว ….. ไหงเป็นอย่างนั้นหละ . . .ผมจะโดนมั๊ยเนี๊ยะ
ก็เลยแนะนำไปว่า มันไม่ใช่อย่างน้านนนนนนน ต้องเอามาพิจารณาหลายๆเรื่อง ทั้งศักยภาพของลูก การเดินทาง ฯลฯ ที่สำคัญลูกชอบมั๊ย เพราะของแบบนี้ ไม่ได้สอบกันทุกเดือนนะ ชีวิตนึงมีครั้งนึง จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกทีก็ตอน ม.4 รออีก 3 ปี นะครับ หรือบางคนอยู่ยาวก็ 6 ปีเลย

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ต้องเอานั่งคิดทบทวนดู . . .

ที่เหลือก็อยู่ที่ผู้ปกครองเองว่า จะเลือกสนามไหนให้ลูกสอบ

และตามความเชื่อของผมตอนที่เลือกสนามให้ลูก ผมเลือกที่ผมสะดวกมากกว่า (ตอนนั้นที่เลือกว่าจะให้ลูกสอบ EP สามเสน ผมยังไม่รู้เลยครับว่า ที่นี่สอบเข้ายาก เกือบไม่มีที่เรียนแล้วมั๊ยหละ . .)


บทความอื่นๆ

สอบเข้า ปีการศึกษา 2561 – รวบรวมประกาศรับสมัครสอบเข้าเรียนระดับชั้น ม.1 และ ม.4

เรื่องเรียนของลูก :: รวบรวมบทความ “สอบเข้า EP สามเสน”

12 ห้องเรียน ม.1 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ปีการศึกษา 2561

สรุปข้อสอบเข้า ม.1 ห้องเรียนพิเศษ ปีการศึกษา 2560

เรื่องเรียนของลูก :: สรุปแนวข้อสอบเข้า ม.1 ห้องเรียนพิเศษ ปีการศึกษา 2559 ของโรงเรียนต่างๆ