ศาลหลักเมือง ประจวบคีรีขันธ์
ประจวบคีรีขันธ์ ……. เวลาเราไปบ้านไหนเมืองใด ถ้าเจอศาลหลักเมืองเราก็มักจะแวะกราบไหว้ หรือไม่อย่างน้อยขับผ่านก็ต้องยกมือไหว้ ตามแต่สถานะการณ์ในเวลานั้นๆ เพราะบางแห่งบางสถานที่ยากแก่แากจอดรถลงไปสักการะบูชา แต่วันนี้มาที่นี่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงใกล้เที่ยงยามฝนตกพรำๆ เป็นช่วงที่เราเพิ่งเช็คเอ๊าท์ออกจากโรงแรมเพื่อตั้งต้นเดินทางกลับปทุมธานีกัน ก็เลยฉวยโอกาศนี้ขับรถชมเมืองวนไปวนมา จนกระทั่งมาถึงสถานที่นี้ … ศาลหลักเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ … ก็เลยได้จอดรถลงไปเดินชมรอบๆและไหว้ แต่ยังไม่ทันไร ฝนก็เริ่มตกหนัก จึงยกมือไหว้และได้วิ่งขึ้นรถกลับบ้านอย่างสวัสดิภาพ
การเดินทาง
เอาเป็นว่า จะบอกว่าอยู่ตรงส่วนไหนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ละกันนะครับ ซึ่งก็หาไม่ยากเลย เพราะอยู่ท่ามกลางศูนย์รวมราชการต่างๆของจังหวัด และเป็นที่น่าอิจฉายิ่งว่า ศูนย์ราชการต่างๆของจังหวัดนี้ มีสิ่งแวดล้อม ทิวทัศน์ที่สวยงาม เย็นสบายอย่างยิ่ง เพราะอยู่ริมชายทะเลอ่าวประจวบฯที่สวยงามอย่างยิ่ง
เราสามารถจอดรถริมถนนด้านหน้าของศาลหลักเมืองได้เลยนะครับ มีช่องให้จอดได้ประมาณ 10 คัน
เกี่ยวกับศาลหลักเมือง
ชื่อสถานที่ :: ศาลหลักเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เวลาเปิดปิด :: 08:00-19:00 ทุกวัน
ที่อยู่ :: ถนนสละชีพ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด
เบอร์โทรติดต่อ :: 032 513885, 032 513854
พิกัด :: 11°48’40.1″N 99°47’49.6″E หรือ 11.811151, 99.797116
ศาลหลักเมือง
ลักษณะของศาลหลักเมืองที่นี่ อาจจะดูแปลกตาไปบ้าง เนื่องจากมีการสร้างด้วยศิลปะแบบลพบุรี มีจตุรมุขยอดปรางค์ 9 ขั้นตามแบบสยามลพบุรี ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และ ชั้นที่เหลือก็จะประดิษฐานองค์เทพต่างๆ หน้าบันด้านหน้าก็เป็นรูปรอยตราพญาราหูอมจันทร์ และ หน้าบันอื่นๆก็จะเป็นรูปองค์เทพล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว 2 ชั้น
สำหรับองค์หลักเมืองที่มีนามว่า “จตุโชค” นั้น ทำจากไม้ตะเคียน ส่วนยอดแกะเป็นรูป 4 เศียร 4 พักตร์ ศิลปะศรีวิชัย และลงรักปิดทองด้วยอัญมณีทั้งองค์ ศาลหลักเมืองแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในสมัย ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในขณะนั้น และวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2536 ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา เวลา 09.59 น.
ต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร(ในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันก็คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร กษัตริย์องค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี) เสด็จฯ แทนพระองค์เป็นประธานศาลหลักเมืองแห่งนี้
+++ ขอบคุณข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย +++
เล่ากันว่า ก่อนหน้านี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่เคยมีเสาหลักเมืองมาก่อน แต่ในปี พ.ศ.2535 ทางกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้ทุกจังหวัดต้องมีเสาหลักเมือง ประจวบเหมาะกับท่านผู้ว่าราชการในสมัยนั้นเพิ่งย้ายมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเคารพบูชาจตุคามรามเทพ และศาลหลักเมืองที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก็ออกแบบตัวอาคารโดยมีจตุคามรามเทพอยู่ …. ศาลหลักเมืองของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็เลยได้รับแบบอย่างศิลปกรรมมาจากทางศาลหลักเมืองของนครศรีธรรมราชอยู่พอสมควร
ส่วนไม้ตะเคียนที่นำมาสร้างเสาหลักเมืองนั้น ก็ต้องขึ้นไปหาในป่าลึกของ อ.กุยบุรี ซึ่งนับว่าเป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติยาวนานมานับพันปี เพื่อนำมาทำพิธีและให้ช่างแกะสลักเป็นเสาหลักเมืองที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
บทสรุป
สำหรับคนที่มาถึงมาเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะมาเที่ยวที่เขาช่องกระจก ก็อย่าลืมไหว้สักการะบูชาศาลหลักเมืองแห่งนี้ด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กันมาก ยืนอยู่ที่จอดรถด้านหน้าศาลหลักเมืองก็แทบจะตะโกนเรียกกันถึงทางขึ้นเขาช่องกระจกอยู่แล้ว …
โพสต์อื่นๆในทริปเดียวกันนี้
@T Boutique Hotel – มาประจวบฯ พักที่นี่
Alpaca Restaurant – อัลปาก้า ชะอำ – ขับผ่านไปมาบ่อยมาก นึกว่าไม่มีอะไร !!! ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ละ !!!