15 ห้องเรียน ม.4 สามเสนวิทยาลัย มีอะไรบ้าง
ครั้งที่แล้วที่เขียนของ ม.1 ไปนั้น เขียนจากประสบการณ์ล้วนๆ เพราะได้สัมผัสมาบ้าง ช่วงเวลานั้น ก็มีหลากหลายเสียงเรียกร้องว่า อยากจะได้ของ ม.ปลายด้วย เพราะคำว่า “สามเสนวิทยาลัย” ไม่ได้มีดีเฉพาะมอต้น เราก็เลยนึกๆว่า ม.4 สามเสนวิทยาลัย เราจะเขียนอย่างไรดี ความรู้ก็ไม่มี บุพการีก็ไม่ได้เรียนที่นี่ จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ล่วงเลยมานานหลายเพลา ประจวบเหมาะกับว่า ปีการศึกษานี้ เจ้าลูกชายของเราก็จะต้องลงสนามเพื่อเตรียมตัวที่จะแสวงหาที่นั่งเรียนในระดับชั้น ม.4 ในปีการศึกษาหน้าแล้วด้วย ก็เลยถือโอกาสไปขุดคุ้ยข้อมูลเท่าที่พอจะหามาได้ เพื่อมาทำความเข้าใจเสียก่อน แต่เนิ่นๆ แบบว่า อ่าน ๆ ๆ ๆ แล้วก็อ่าน ไม่ได้ไปให้ใคร proof ดังนั้น ไม่รับประกันว่าข้อมูลที่เขียนไป ถูกต้อง 100% อิอิ แฮะๆ และหวังว่าลูกจะมาถามเราบ้าง 5 5 5
ท่านครูบาอาจารย์ ท่านผู้ปกครองมีประสบการณ์ ผ่านมาก็รบกวนชี้แนะด้วย ผิดพลาดเพิ่มเติมแก้ไขอะไรอย่างไรตรงไหน ….. บอกกล่าว แนะนำกันได้เลยครับ จักขอบพระคุณเป็นที่ยิ่ง
ในโพสต์นี้ แหล่งที่มาของข้อมูลก็จะเป็น หลักการณ์และการพิจารณาของเมื่อปีการศึกษา 2560 ที่เพิ่งจะสอบผ่านเข้ามานี่เอง หรืออีกเส้นทางหนึ่งก็คือ เด็กนักเรียน ม.3 ของสามเสนวิทยาลัยประจำปีการศึกษา 2559 ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเรียน ม.4 ในระบบยื่นเกรดนั่นเอง
ต้นเรื่อง – 12 ห้องเรียน ม.1 สามเสนวิทยาลัย
15 ห้องเรียน ม.ปลาย
มอต้นมี 12 ห้อง พอมา มอปลายมี 15 ห้อง ดูดีนะครับ เด็กๆมีที่นั่งเรียนเพิ่มเติมมากขึ้น แต่ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนเลยนะครับว่า มีห้องอะไร เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
ห้อง 1-4 วิทยาศาสตร์
อย่าได้สับสนว่าเป็นห้องกิฟนะครับ ตอนแรกผมเองก็คิดไปเลยว่า กิฟวิทย์ละ แต่พอมานั่งนึกๆดูอีกที สมัยตอนเราเรียน ม.ศ.4 (ที่โรงเรียนคณะราษฏร์บำรุง จังหวัดยะลา) สี่ห้องแรกที่โรงเรียนเขาก็เรียกว่า สายวิทย์ ห้องถัดไปก็ศิลป์คำนวณ อะไรแบบนั้น ก็เลยกลับมาตั้งสติใหม่ ห้อง 1-4 คือห้องสามัญสายวิทย์นั่นเอง
ห้อง 5 ESMTE (ESC)
ห้อง ESMTE แต่เดิมเราเรียกว่า ESC แต่ถ้าเราจะเรียกชื่อให้เต็มยศเลยก็คือ ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment) ซึ่งเป็นโครงการในความร่วมมือระหว่าง สพฐ.+ สกอ. + สวทช. + สสวท. โอววววววววว เยอะมาก เด็กๆที่เรียนห้องนี้ จะมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงประจำตัวและจะต้องมาพบปะกันในวันเสาร์ด้วย และเอาเข้าจริงๆแล้ว เด็กๆกลุ่มนี้จะได้รับการส่งเสริมศักยภาพและคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมการนำเสนอโครงงานทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และ ระดับนานาชาติตามศักยภาพของเด็กคนนั้นๆ
น่าเรียนใช่มั๊ยหละ …. อิอิ แนวๆออกไปทางนักวิชาการมั๊ย? แฮะๆ
ห้อง 6 IMP
ห้องนี้เป็นที่หมายปองกันพอสมควรเลย แต่เดิมเป็นห้อง Advance Program ทางด้าน คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เร่งรัดคณิตศาสตร์ เสริมคอมพิวเตอร์ (Intensive Mathematics Program – IMP)
การเรียนการสอนก็เหมือนกับห้องวิทยาศาสตร์ปกติ แตกต่างก็คือ วิชาคณิตศาสตร์จะเร่งรัดเรียน จาก 3 ปี (ม.4-6) เหลือ 2 ปี (ม.4-5) ในปีที่ 3 หรือตอน ม.6 จะเป็นการทบทวนทำโจทย์เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย(ภาษากวดวิชาก็ ตะลุยโจทย์ โค้งสุดท้าย อะไรทำนองนั้น อิอิ ) และที่เพิ่มเติมมาอีกก็คือ มีให้เรียนตามความสมัครใจในวิชา Calculus AP ตามหลักสูตรของ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ก็ต้องมีการทำโครงงาน และ มีการเรียนคอมพิวเตอร์ในทุกๆภาคเรียนด้วย
เห็นแว๊บๆที่ไหนน๊อออ ว่า ห้องนี้มีเรียนวันเสาร์ด้วย ใช่ไหมครับ? ซึ่งวิชาที่เรียนวันเสาร์ก็คือ คณิตศาสตร์ และ คอมพิวเตอร์ …. ไม่ได้มาเรียนเล่นๆนะ เพราะว่าจะนำผลไปรวมกับวิชาเพิ่มเติมที่เรียนในคาบวันปกติด้วย
ห้อง 7-8 MSEP
ห้องเรียนพิเศษด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ (Mathematics & Science Enrichment Program – MSEP) นั้น ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มาใช้หลักสูตรเดียวกันกับ ESMTE ต่างกันตรงที่ว่า ไม่ได้ มีการเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์ที่ทาง ESMTE จะมีวิทยากรจากภายนอกมาสอน
ห้อง 9 EIS
ห้อง EIS – English for Integrated Studies เป็นห้องที่เปรียบเสมือนห้องสามัญสายคณิตศาสตร์ เพิ่มเติมคือ จะมีการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์เป็นภาษาอังกฤษโดยครูไทย
มีการเรียนเสริมในวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมด้วยในเรื่องของ Writing และ Conversation อย่างละ 2 คาบ ต่อสัปดาห์
ห้อง 10 คณิตศาสตร์
ห้องสามัญ คณิตศาสตร์ ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นห้องเน้นคณิตศาสตร์ตามชื่อ หรือว่าจะเหมือนห้องศิลป์คำนวณ หรือห้องคำนวณในสมัยก่อนๆ แต่…เอ๊ะ แล้วมันเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันอย่างไรหรอ? ชักงงตัวเองละ ก็คงจะเรื่องเดียวกันแหละครับ
ห้อง 11-12 ภาษา
อันนี้จะค่อนข้างชัดหน่อย นั่นก็คือ ศิลป์ภาษา มีภาษาต่างๆประมาณนี้นะครับ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น คุ้นๆว่า ในปีนี้มีภาษาเกาหลีเพิ่มมาด้วย ลองเช็คดูอีกทีนะครับ
ห้อง 13-15 EP
ห้อง 13-15 เป็นห้อง English Program ซึ่งก็จะมีการแบ่งกันอีกว่า ห้อง 14-15 เป็นห้อง Science ส่วนห้อง 13 ก็จะเป็นห้อง Mathematics + Language ถ้าแปลเป็นภาษาไทยๆก็คือ ห้อง 14-15 ก็คือห้องสายวิทย์ของอีพี ห้อง 13 ก็จะผสมกันระหว่าง ห้องคำนวณกับห้องภาษาของอีพี(เรียนวิชาพื้นฐานร่วมกัน และ แยกย้ายกันไปเรียนวิชาตามสาย) แต่การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
การรับเด็กเข้าเรียนในระดับชั้น ม.4
มาถึงตรงนี้ ก็มาถึงช่วงที่อยากรู้แล้วหละครับว่า จาก 15 ห้องนั้น มีวิธีการรับเด็กอย่างไรบ้าง ซึ่งจากการดูและตามอ่านอย่างคร่าวๆแล้วพอสรุปได้ว่า วิธีการได้มาเพื่อให้เด็กได้มีที่เรียนนั้น มีอยู่ 3 วิธี (ตามข้อมูลที่สืบอ่านมาได้ถึงตอนต้นปีหรือ Q1/2560 นะครับ)
- โควต้าตามความตกลงของ พสวท. (จำนวน 6 ที่นั่ง ของห้อง 5 หรือห้อง ESMTE)
- โควต้านักเรียนที่กำลังเรียน ม.3 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
- รับสมัครเป็นการทั่วไป ทั้งรอบห้องเรียนพิเศษ และ รอบทั่วไป
เอาง่ายๆก่อนเลย โควต้าของ พสวท. นี่ จำนวน 6 คน เป็นการคัดเลือกนอกรอบซึ่งไม่เกี่ยวกับทางโรงเรียน ส่วนโควต้าเด็กนักเรียน ม.3 ของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยนั้น เดี๋ยวมีรายละเอียดยิบย่อย ค่อยๆว่ากัน หัวข้อสุดท้ายก็คือเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกเป็นการทั่วไป ก็เหมือนๆกับตอนที่เราสอบเข้า ม.1 นั่นแหละครับ มีรอบห้องเรียนพิเศษ และ รอบทั่วไป จะขอยกตัวอย่างจากปีการศึกษาที่เพิ่งผ่านมา
003 ประกาศรับ มอสี่ ห้องเรียนพิเศษ
005 ประกาศรับ มอสี่ ห้องเรียนปกติ
จำนวนที่รับ ตามวิธีการต่างๆข้างต้น
คราวนี้เราก็มาดูกันว่า แต่ละห้องนั้น รับเด็กจากวิธีการไหน อย่างไร จำนวนเท่าไหร่บ้าง ซึ่งอย่างที่บอกนะครับว่า ข้อมูล base on ปลายปีการศึกษา 2559 ต่อเนื่องต้นปีการศึกษา 2560 นะครับ
ซึ่ง ถ้าดูจำนวนนักเรียนชั้น ม.3 เดิม(คร่าวๆ จากห้องชั้น ม.1 คือ 492 คน) จะมีมากกว่า นักเรียนที่ได้สิทธิ์เข้าเรียนในระดับชั้น ม.4 แสดงว่า ทุกคน ไม่ได้มีที่นั่งในระดับชั้น ม.ปลายโดยอัตโนมัติ จะมาเรียนๆ เล่นๆ ไม่ได้นา จะบอกให้
เด็ก ม.3 สามเสน ยื่นเกรดคัดเลือกเพื่อที่เรียนในระดับชั้น ม.4
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจริงๆสำหรับเด็กที่ต้องการจะเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สามเสนวิทยาลัยต่อไป เพราะอย่างที่กล่าวไว้ว่า จำนวนเด็ก ม.ต้น ที่มีอยู่ทั้งหมด มากกว่าจำนวนโควต้าที่มีเป็นจำนวนมากทีเดียว แต่ก็อีกนะ ในแต่ละปี มีเด็กที่ออกไปอยู่โรงเรียนอื่นๆก็จำนวนไม่ใช่น้อยเหมือนกัน เช่น เตรียมอุดม เอ็มวิทย์ เควิทย์ ฯลฯ
จริงๆแล้ว เรื่องนี้ขอบอกตามตรงว่ายังไม่แม่น เพราะว่าเพิ่งอ่านเพิ่งทำความเข้าใจ แต่ยังไม่เจอของจริง เอาเป็นว่าสรุปคร่าวๆได้ประมาณนี้
ห้อง 6-IMP และ ห้อง 9-EIS
เรามาเริ่มกันจากห้อง 6 IMP และห้อง 9 EIS กันก่อนเลย เพราะว่าสองห้องนี้เป็นห้องเรียนพิเศษแบบเป็นการภายใน มีคนสนใจส่งเกรดคัดเลือกกันเยอะทุกปี ก็เลยต้องมีการจัดสอบคัดเลือกในกลุ่มคนที่สมัคร ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะนัดสอบกันวันสุดท้ายที่มีการสอบ Final นั่นแหละครับ ซึ่งการประกาศผลก็จะมีการประกาศทั้งตัวจริงและตัวสำรอง
เด็กที่สามารถยื่นเกรดเพื่อสมัครสองห้องนี้ได้ ต้องได้เกรดตามเกณฑ์ที่กำหนด และสามารถสมัครได้หมดตั้งแต่ห้อง 3/1 – 3/12 แต่สามารถเลือกลงสมัครได้ห้องใดห้องหนึ่งเท่านั้น(ผมสอบถามจาก ผปค.ท่านหนึ่ง)
อนึ่งเด็กๆที่ลงสอบคัดเลือกในสองห้องนี้ ยังคงได้สิทธิ์ในการยื่นเกรดห้องสามัญต่อไป …. คุณยังมีโอกาส คุณยังมีทางเลือก
ห้อง 1-4 วิทยาศาสตร์ ห้อง 10 คณิตศาสตร์ ห้อง 11-12 ภาษา
7 ห้องนี้คือห้องสามัญของสามัญ ไม่ได้เติมแต่งพิเศษอะไร ไม่ได้ Enrichment หรือ Intensive หรือ Integrated อะไรเพิ่มเติม ผมนึกภาพถึงตอนสมัยเรียนเมื่อสี่สิบปีที่แล้วเลย มีกันแค่นั้นจริงๆ ไม่มีแม้กระทั่งห้องคิงส์ด้วย (สมัยก่อนผมเรียน โครงการ คมส. หรือ โครงการมัธยมแบบผสม แต่พวกเรามักจะเรียกกันว่า โครงการครูไม่สอน อิอิ) เรียกกันว่า ดั้งเดิม Origin กันเลยทีเดียว
เด็กนักเรียนที่สามารถยื่นเกรดขอคัดเลือกลง 7 ห้องนี้ก็คือเด็กๆจากห้อง 3/1 – 3/12 ซึ่งก็คือ เด็กๆทั้งหมดนั่นเอง
ห้อง 13 EP math-language ห้อง 14-15 EP Science
สามห้องนี้ โครงการ English Program ซึ่งเด็กๆที่สามารถยื่นเกรดเข้าคัดเลือกได้คือ เด็กๆจากห้อง 3/9 – 3/12 หรือเฉพาะเด็กๆจากโครงการ EP นั่นเอง
หรือสรุปง่ายๆก็คือ เด็กสาย EP สามารถยื่นเกรดเพื่อคัดเลือกเข้าห้องเรียนต่างๆทั้งทางฝั่งสามัญและทาง English Program แต่เด็กทางสายสามัญ(รวมทั้งเด็กห้องกิฟหรือ MSEP, ESC) จะไม่สามารถยื่นเกรดเพื่อข้ามมาเรียนทางฝั่ง English Program ได้
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือก
อ้างอิงตามความที่อ่านได้จากหลักเกณฑ์ของปีการศึกษา 2559 เพื่อเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2560 ซึ่งในปีต่อๆไปอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเป็นได้ ดังนั้นก็ต้องติดตามกันต่อไป แฮะๆ
หลักๆเลยก็มีสองสามขั้นตอนที่ต้องพิจารณา ประมาณนี้นะครับ
- ผ่านเกณฑ์ เกรดขั้นต่ำทั้ง GPAX (เกรดเฉลี่ยทุกวิชา) และ GPA (เกรดเฉลี่ยรายวิชา) ของวิชาที่กำหนด แล้วแต่สายการเรียนที่เด็กๆเลือก ซึ่งจริงๆแล้ว ก็มีดูดูกันอยู่แค่ 3 วิชา นั่นก็คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แต่จะดูรายวิชาไหนบ้างนั้น ก็ขึ้นกับสายที่เด็กๆเลือก
- เมื่อเห็นผลการเรียนแล้ว ก็มีการพิจารณาพฤติกรรมเด็กด้วย ตรงนี้ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจากอะไร อาจจะมีจากฝ่ายปกครองหรอ? จาก …
- ถ้าผ่านสองข้อแรกแล้ว คราวนี้ก็ต้องมาวัดกันนะครับ โดยการเอาคะแนนมาเรียงกันตามสายวิชาที่เลือกเลยครับ โดยที่มาของคะแนนจะมาจาก 2 ส่วนคือ
- GPA รวม 6 ภาคเรียน (ม.1-3) คิดเป็น 80%
- O-NET คิดเป็น 20%
ส่วนวิธีการที่จะนำคะแนนทั้ง GPAX, GPA และ O-NET มาแปลง เป็นคะแนนเพื่อใช้ในการเรียงลำดับนั้น ก้ไม่ได้มีความยุ่งยากมากมายสักเท่าไหร่ สามารถตั้งเป็นสูตรใน excel sheet จัดการแปลงออกมาได้เลย
เกรดขั้นต่ำในการยื่นสมัครของแต่ละห้อง
แต่ละสายวิชามีเกณฑ์การคัดเลือกจากเกรดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเด็กๆเอง ก็ต้องประเมิณตนเองตั้งแต่ต้นแล้วว่า สามารถยื่นเกรดตามสายวิชาที่อยากเรียนได้หรือไม่ได้ บางคนอยากเรียนสายวิทย์ แต่เกรดไม่ผ่านเกณฑ์ก็ไม่สามารถยื่นเกรดเพื่อความหวังได้ ในปีนึงๆก็มีเด็กจำนวนนึงที่ไม่ผ่านเกณฑ์เลยสักสายวิชา ซึ่งก็แปลว่า ต้องไปสอบใหม่แน่ๆ ไม่ว่าจะโรงเรียนเดิมหรือโรงเรียนอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็เป็นเครื่องเตือนใจบ่งชี้ให้เด็กๆในรุ่นหลังๆพึงตระหนักแล้วว่า ไม่ใช่ว่าสอบเข้ามาได้แล้ว ทุกอย่างทางโล่ง เรายังคงต้องตกแต่งทำความสะอาดเส้นทางของเราเองอีกต่อไป การเดินทางเพิ่งจะเริ่มต้นมาไม่นาน
การเลือกสายวิชา
ในการยื่นเกรดเพื่อขอสมัครเข้ามีที่เรียนในระดับ ม.ปลายนั้น เด็กแต่ละคน สามารถเลือกได้ 3 อันดับ จากตัวเลือกต่างๆต่อไปนี้
- กลุ่มสายวิชาที่เด็กๆจากทุกห้องสามารถเลือกได้หมด (3/1 – 3/12)
- วิทยาศาสตร์
- คณิตศาสตร์
- ภาษา – จีน
- ภาษา – ฝรั่งเศส
- ภาษา – เยอรมัน
- ภาษา – ญี่ปุ่น
- ภาษา – เกาหลี
- กลุ่มสายวิชาของ EP ที่เลือกได้เฉพาะเด็ก EP (3/9 – 3/12)
- EP – วิทยาศาสตร์
- EP – คณิตศาสตร์
- EP – จีน
- EP – เกาหลี
- EP – ญี่ปุ่น
- EP – ฝรั่งเศส
- EP – เยอรมัน
ซึ่งแต่ละคนเลือกได้แค่ 3 เท่านั้น และกรณีที่เลือกสายภาษา ก็ต้องระบุไปเลยว่าภาษาอะไร
ตัวอย่าง ที่เด็กๆเลือก (ตัดมาจากผลการคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว) จะสังเกตุว่า กรณีที่มีการเลือกกระโดดข้ามไปมาระหว่างฝั่งปกติกับ EP นั้น แสดงว่าเป็นเด็ก EP
การเรียงสกอร์และการแปลงเกรดเป็นสกอร์
เมื่อได้ข้อมูลการเลือกของเด็กๆแล้ว ก็จะนำเกรดมาแปลงเป็น score ก่อน ตามสูตรค่าสัมประสิทธิ์ของแต่ละสายสาขาวิชา และ จะนำมารวมกับ คะแนนโอเน็ต ซึ่งก็ต้องมีการแปลงลดทอนและใช้เฉพาะวิชาของแต่ละสายวิชาที่กำหนด ถึงจะได้เป็นสกอร์รวม สำหรับใช้ในการคัดเลือกเด็กๆตัวจริงและตัวสำรองของแต่ละสายวิชากันต่อไป
ในแต่ละสายวิชา(สามสายวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ ภาษา) ก็จะมีสูตรในการแปลงคะแนนที่แตกต่างกันออกไปอย่างมีนัยสำคัญ และ การแปลงการคิดคำนวนของสายสามัญ และ EP มีหลักการแปลงเหมือนกัน
มาว่ากันทีละสายวิชาเลยละกัน
สายวิทยาศาสตร์
สายวิทยาศาสตร์ ก็จะเน้นหนักในวิชา วิทยาศาสตร์ และ คณิตศาสตร์
ลองนั่งแกะตัวเลขจากการประกาศผลคัดเลือก ก็เลยได้ตัวเลขตัวแปรที่ใช้ในการแปลงประมาณนี้
นั่นก็คือ
- ผลรวม GPA 80% ได้มาจาก
- เกรดวิทยาศาสตร์ x 75 (เต็ม 300 คะแนน)
- เกรดคณิตศาสตร์ x 75 (เต็ม 300 คะแนน)
- เกรดภาษาอังกฤษ x 25 (เต็ม 100 คะแนน)
- เกรดเฉลี่ยทั้งหมดทุกรายวิชา x 25 (เต็ม 100 คะแนน)
- ผลรวม O-NET 20% ได้มาจาก
- คะแนนภาษาอังกฤษ x 0.2 (เต็ม 20 คะแนน)
- คะแนนคณิตศาสตร์ x 0.4 (เต็ม 40 คะแนน)
- คะแนนวิทยาศาสตร์ x 0.4 (เต็ม 40 คะแนน)
- คะแนนโอเน็ตรวม 5 วิชา x 0.2 (เต็ม 100 คะแนน)
นำสองคะแนนมารวมกัน GPA80% + O-NET20% ก็จะได้เป็น Score ของเด็กๆ หลังจากนั้นก็เรียง Score ตามอันดับการเลือกสายวิชา ก็จะได้ผลลัพท์ออกมา
สายคณิตศาสตร์
สายวิทยาศาสตร์ ก็จะเน้นหนักในวิชา คณิตศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ
- ผลรวม GPA 80% ได้มาจาก
- เกรดคณิตศาสตร์ x 87.5 (เต็ม 350 คะแนน)
- เกรดภาษาอังกฤษ x 87.5 (เต็ม 350 คะแนน)
- เกรดเฉลี่ยทั้งหมดทุกรายวิชา x 25 (เต็ม 100 คะแนน)
- ผลรวม O-NET 20% ได้มาจาก
- คะแนนภาษาอังกฤษ x 0.5 (เต็ม 50 คะแนน)
- คะแนนคณิตศาสตร์ x 0.5 (เต็ม 50 คะแนน)
- คะแนนโอเน็ตรวม 5 วิชา x 0.2 (เต็ม 100 คะแนน)
สายภาษา
สายภาษาเป็นสายที่มีให้เลือกยิบย่อยลงไปอีกตามภาษาที่ต้องการ
- ผลรวม GPA 80% ได้มาจาก
- เกรดภาษาอังกฤษ x 175 (เต็ม 700 คะแนน)
- เกรดเฉลี่ยทั้งหมดทุกรายวิชา x 25 (เต็ม 100 คะแนน)
- ผลรวม O-NET 20% ได้มาจาก
- คะแนนภาษาอังกฤษ x 1 (เต็ม 100 คะแนน)
- คะแนนโอเน็ตรวม 5 วิชา x 0.2 (เต็ม 100 คะแนน)
บทสรุป
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นนะครับ ผมอ่านเอง เออเอง เลยไม่ได้ Confirm ว่าเป็นไปตามนี้ทั้งหมด แต่คิดว่า ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงนะครับ แฮะๆ
จากข้อมูลคร่าวๆที่เล่ามา จะเห็นได้ว่า เด็กๆสามเสนมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการสรรหาที่เรียนในระดับชั้น ม.4 ค่อนข้างกว้างพอสมควร ถ้าเรียงตาม timeline ก็จะประมาณว่า
- ยื่นเกรดสมัครและสอบรอบห้อง IMP และ EIS
- ยื่นเกรดสมัครคัดเลือกรอบห้องปกติและห้อง EP
- สมัครและสอบคัดเลือกรอบห้องเรียนพิเศษของสามเสนวิทยาลัยและหรือโรงเรียนอื่นๆ
- สมัครและสอบคัดเลือกรอบทั่วไปของสามเสนวิทยาลัยและหรือโรงเรียนอื่นๆ
- ฯลฯ
ถ้าเป็นการภายใน ก็จะมีเด็กๆจำนวนหนึ่งที่สามารถสอบห้อง IMP หรือ EIS ได้แล้ว และยื่นเกรดคัดเลือกก็ได้อีก จึงต้องมีกระบวนการยืนยันสิทธิ์และเรียกสำรองมาทดแทนในรายชื่อที่ซ้ำซ้อน
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อมีการประกาศผลคัดเลือกของโรงเรียนดังๆเช่นเตรียมอุดม เด็กๆที่สอบได้ ก็จะสละสิทธิ์ ก็ต้องมีการเรียกสำรองมาเพิ่มเติมเป็นระยะๆ สำหรับเด็กๆที่เรียนปานกลาง และไม่ได้หวังว่าจะไปสอบเข้าที่อื่น ก็ภาวนาให้เพื่อนๆติดเตรียมฯกันเยอะๆ ที่นั่งในห้องเรียนดีดีก็จะมีว่างเพิ่มมากขึ้น เป็นโอกาสที่จะทำให้พวกเขาได้ขยับขึ้นไปเรียนในห้องที่ตั้งความหวังไว้แต่ยังคงเป็นตัวสำรองไว้ได้ ….
เส้นทาง … ไม่ได้มีแค่นี้ … ยังต้องก้าวเดินกันต่อไป … แต่เป็นช่วงเวลาที่เราจะถอยออกมาเต็มตัวแล้ว หลังจากที่ค่อยๆถอยออกมาหลังจากสอบเข้ามอต้นได้ ที่เหลือเด็กๆต้องคิดเองทำเป็น ว่าอนาคตจะเลือกเดินอย่างไร จะเลือกไปทางไหน …. เราแค่เฝ้ามองและคอยให้คำแนะนำเท่านั้น ….
ข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจ
สรุปข้อสอบเข้า ม.1 ห้องเรียนพิเศษ ปีการศึกษา 2560
เรื่องเรียนของลูก :: สรุปแนวข้อสอบเข้า ม.1 ห้องเรียนพิเศษ ปีการศึกษา 2559 ของโรงเรียนต่างๆ
EP SAMSEN 2560 คะแนนสูงสุด ต่ำสุด ชายกี่คน หญิงกี่คน