สอบเข้า ม.1 ห้องเรียนพิเศษ ทำไม…ข้อสอบยากกว่าที่เรียนในห้องเรียนไปเยอะ จนเด็กๆต้องไปหาที่เรียนพิเศษกัน

ข้อสอบยากกว่าที่เรียนในห้องเรียน

ข้อสอบยากกว่าที่เรียนในห้องเรียนไปเยอะ จนเด็กๆต้องไปหาที่เรียนพิเศษกัน … ไม่ใช่คำถามใหม่นะครับ

จะยากไปไหน?

เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจ
เป็นคำถามที่เห็นได้ตลอดเวลาบนโลก Internet
เป็นคำถามที่ถามแล้วถามเล่า ปีแล้วปีเล่า
เป็นคำถามที่มีแต่ผู้ปกครองแบบเราๆนี่แหละที่ช่วยกันตอบ ตอบกันเอง ตอบกันไป ตอบกันมา

ถามว่า ….. มันยากขนาดนั้นจริงๆหรอ?
ตอบได้ทันทีเลยว่า …. ใช่ ยาก ถึง ยากมาก ยากสุดๆ แฮะๆ

ถามว่า ………. แล้วทำไมถึงต้องออกข้อสอบยากขนาดน้านนนนนนน …. คร๊าบบบบคุณครู
ตอบ …. มันมีที่มาที่ไป ….


จากอดีตสู่ปัจจุบัน …

สมัยก่อน การแข่งขัน หรือ พยายามจะแข่งขัน ไม่ได้เข้มข้นรุนแรงเหมือนยุคสมัยนี้  (ซึ่งเราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ตามความจำเป็นอย่างพอเพียง)

จำความได้ว่า ตอนเรียนอยู่ ป.7 รู้อยู่แค่อย่างเดียวว่า จะไปสอบเข้า ม.ศ.1 ที่โรงเรียนประจำจังหวัด

ไม่มีคำว่า “สอบรอบห้องเรียนพิเศษ”
ไม่มีคำว่า “สอบรอบโครงการพิเศษ”
ไม่มีคำว่า “สอบห้อง Gifted”
ไม่มีคำว่า “สอบห้อง EP”
ไม่มีคำว่า “สอบห้อง GATE”
ไม่มีคำว่า “สอบห้อง MSEP หรือ ESC”

ตอนนั้นรู้อย่างเดียวว่า “ไปสอบ”

ไม่เคยรู้จักคำว่า “เรียนพิเศษ”
อ่อ..ลืมไปเรียนภาษาจีนกับเหล่าซือแถวบ้านอยู่หนึ่งวิชา เพราะว่าที่โรงเรียนไม่ได้สอน แต่ทางบ้านอยากให้เรียน … สรุป ปัจจุบันเป็นคนเดียวในบ้านที่ไม่รู้ภาษาจีน 5 5 5

ที่แย่กว่านั้น ไม่เคยอ่านหนังสือไปสอบด้วย เพราะเมื่อก่อน ไม่มีมนุษย์พ่อ มนุษย์แม่เหมือนเราตอนนี้ที่คอยบอกว่า ต้องอ่านหนังสือน้าาา ต้องเรียนพิเศษน้าาาา ทำการบ้านแล้วยัง … ฝึกทำโจทย์เยอะๆนะ ฯลฯ

ผลสอบออกมา “สอบได้” แถมได้อยู่ “ห้องคิง” ด้วย …. แต่ตอนนั้น ห้องคิงคืออะไร ก็ยังไม่รู้จัก รู้แต่ว่าอยู่ห้อง ม.ศ. 1/1 อยู่ในลำดับที่กลางๆค่อนมาทางหลัง

ผมอยากให้นึกภาพอย่างนี้ครับว่า การเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ให้เราตัดคำว่า ห้องเรียนพิเศษ ห้องกิฟ ห้องอีพี ฯลฯ ออกไปจากหัว ก็จะได้ภาพเช่นเดียวกันกับประสบการณ์ที่พวกเราเคยมีเมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้ว …. หรืออีกมุมหนึ่ง ตัดการสอบรอบห้องเรียนพิเศษออกจากความทรงจำ มันก็คือการสอบเหมือนที่เราสอบเมื่อก่อนนั้นเอง


ห้องเรียนพิเศษ เลยต้องไปเรียนพิเศษ

ในยุคหลังๆ เราจะได้ยินและคุ้นเคยกับคำว่า เด็กสายแข่งขัน กันมากพอแล้ว

ถามว่า เด็กสายแข่งขันคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร?

ถ้าถามผม … ผมก็ตอบไม่ได้หรอกครับ เพราะลูกเป็นประเภทเด็กสายลั้ลลา หรือบางท่านก็เรียน เด็กสายเอนเตอร์เทน
แต่ถ้าให้ตอบตามสิ่งแวดล้อมที่ได้ยินได้ฟังมาตลอด 2 ปีมานี้ (ก่อนหน้านี้แทบไม่รู้เรื่องอะไรเลยครับ) ก็คือ เด็กๆที่ผู้ปกครองหมายมั่นปั้นมือให้ลูกได้มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยมีเป้าหมายที่การสอบแข่งขันต่างๆทั้งระดับโรงเรียน จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ และ ระดับโลก และ เป้าหมายหลักก็คือ การสอบเข้าโรงเรียนดังๆห้องพิเศษๆ ในระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย การสอบชิงทุน บลา ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ หลายๆคนก็จะเรียกกันว่า “เด็กเหรียญ”

ประมาณนั้น นะครับ !!!

เส้นทางของเด็กกลุ่มนี้จะชัดเจนมาก และจะเจอหน้ากันแทบจะทุกสนามแข่งขัน ถึงแม้จะมาจากต่างโรงเรียนก็เจอกันจนเป็นเพื่อกันไปแล้ว รวมไปถึงผู้ปกครองด้วย ที่ต้องมาเจอกันหน้าห้องสนามสอบต่างๆ จนคุ้นหน้าชินตา สุดท้ายก็เป็นเพื่อนกัน และจะคุยกันเรื่องเกี่ยวกับพวกนี้แหละครับ …  ลูกเธอเหรียญเงิน ลูกชั้นเหรียญทอง ของคนนั้นทองแดง …. เออนี่สนามหน้าเจอกันอีกนะ …ฯลฯ ….. ก็ถือว่าเป็นอีกสังคมนึงที่แตกต่างไปเลยจากเด็กสายเอนเตอร์เทน

คือเด็กๆกลุ่มนี้เขาจะมีสูตรพิเศษปรุงเฉพาะ แล้วแต่ว่าผู้ปกครองไปได้ตำรับยาสูตรนั้นมาจากไหน เช่นคณิตศาสตร์ต้องครูเอ ฟิสิกส์ครูบี เคมีหรอไปครูซีเลย ภาษาอังกฤษคงไม่พ้นครูดี ชีวะนี่ไม่ค่อยมีนะแต่ถ้าอยากได้ก็ต้องครูอี

สูตรสำเร็จรูปพวกนี้ ไม่ตายตัวนะครับ แล้วแต่เจ้าพ่อเจ้าแม่แต่ละสำนักจะบอกกล่าวสืบต่อกันมา

แต่ …. มีเด็กหลายคนเหมือนกัน ที่ไม่ได้เรียนพิเศษ แต่ก็สามารถแทรกตัวเข้ามาขอมีที่ยืนได้ด้วยเช่นกัน

ผมได้สัมผัสเรื่องนี้ครั้งแรกก็วันที่พาลูกไปรายงานตัวเมื่อสองปีที่แล้ว … ไม่รู้จักใครเลย !!!

แต่กลุ่มผู้ปกครองด้านหลังเรา น่าจะรู้จักกันมาก่อน ไม่ได้มาจากโรงเรียนเดียวกันทั้งหมดด้วย และควบรวมห้องเรียนพิเศษทุกโครงการ ซึ่งในภายหลังก็ทราบว่าเป็นกลุ่มผู้ปกครองเด็กๆสายแข่งขัน ซึ่งตอนแรกๆ บอกเลยผมงง แต่ก็แอบผึ่งหูกระดิกๆฟังมาด้วยเหมือนกัน แต่มากระจ่างหลังจากเปิดเทอมไปนานพอควร  ….

  • มาแล้วลูกคนนี้เหรียญทองแดง มามา มานั่งด้วยกัน จองไว้ให้แล้ว
  • เออนี่ สสวท.ปีนี้ก็ยากนะ ลูกได้แค่เหรียญเงินเอง
  • มีใครแอบไปสอบปทุมวันไหมวันนี้ กลับมารายงานตัวที่นี่ทันหรือปล่าว (ปีนั้น ปทุมวันสอบวันเดียวกันกับที่ สพฐ.มอบตัวห้องพิเศษ)
  • เราจับกลุ่มกันสัก 15 คน เดี๋ยวจ้างครู XXX มาสอนเลขเลย เอาก่อนเปิดเทอมนี่แหละ สอนแบบรวดเดียวจบ ม.1-ม.3 ภายในเทอมแรกของ ม.1 นี่แหละ แล้วต่อด้วยตะลุยโจทย์ ไปจนถึงสอบเควิด สอบเอ็มวิด สอบเตรียมเลย ฯลฯ เน้นเป็นเรื่องๆ (ได้ยินอย่างนี้ ผมต้องหันไปมองเลยครับ แต่จำไม่ได้แล้วว่าพ่อใครแม่ใครบ้าง 5 5 5 ….. ที่หันไปมอง เพราะว่า งง ….อั๊ยยยยยยย ยะ …..ลูกเราจะรอดไหมเนี๊ยะ….)

นอกเรื่องไปเยอะละ …. กลับมา ๆ

การที่เด็กๆในรุ่นก่อนๆนับสิบยี่สิบปีที่แล้ว ประสบความสำเร็จทั้งในระดับชาติ ระดับโลก หรือ ระดับโอลิมปิค ประจวบกับการส่งเสริมอย่างเป็นทางการและเอาจริงเอาจังจากหลายๆหน่วยงานเช่น สอวน. สสวท. ทำให้ผู้ปกครองยิ่งสนับสนุนให้ลูกเดินทางใสสายแข่งขันกันอย่างจริงจังมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งหน่วยงานและองค์กรต่างๆที่เข้ามาช่วยส่งเสริมเหล่านี้ก็ได้มีการร่วมมือจัดตั้ง ห้องเรียนพิเศษเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศตามโรงเรียนต่างๆ

ดังนั้น !!! การคัดเลือกเด็กเข้ามาเรียน ก็ต้องไม่ธรรมดา ไม่ได้ปิดกั้นว่าเด็กคนนั้นจะรวยหรือจน ขอให้มีความสามารถควรค่าแก่การส่งเสริม เพื่อให้เป็นกำลังที่สำคัญของประเทศไทยสืบต่อกันไปในภายภาคหน้า

เราจะเห็นว่า แม้กระทั่งการสมัครสอบ บางโรงเรียนก็ได้มีการกำหนดเกรดขั้นต่ำจากระดับประถมศึกษาด้วยว่าจะต้องไม่ต่ำกว่าที่ทางโรงเรียนกำหนด นอกเหนือจากข้อสอบที่ทางโรงเรียนออกตามแนวทางที่โรงเรียนเชื่อว่าตรงตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งโครงการพิเศษนั้นๆ ดังจะเห็นได้ว่า ในแต่ละปี แต่ละโรงเรียนอาจจะมีการเน้นเนื้อหาที่ออกสอบที่แตกต่างกันไป



ลองวาดภาพดู

ไม่รู้ว่าจะยิ่งงงมากขึ้นหรือปล่าวนะครับ

เส้นทางที่ 1 คือเส้นทางที่คุ้นเคยของคนวัย 50 Up แบบเราๆยึดถือปฏิบัติกันมานาน ก็คือเรียนกันแบบสนุกสนานชิลชิลเล่นๆ อาจจะมีการีเรียนพิเศษเพิ่มเติมบ้าง ใครหัวดีหน่อยก็ไปสอบเข้าหมอเข้าวิดวะ ดังนั้นถ้าเทียบในปัจจุบัน ก็ยังมีเด็กจำนวนมากที่เดินอยู่บนเส้นทางแห่งความสุขแบบนี้ ถ้าเราไม่อยากเครียด ไม่อยากให้ลูกต้องไปเรียนไปสอบอะไรที่มันยากๆ มาเลยครับ ถูกทางแล้ว …

เส้นทางที่ 2 และ 3 ผมไม่รู้หรอกครับว่าเริ่มมีมากันตั้งแต่เมื่อไหร่ อาจจะมีตั้งแต่สมัยผมแล้วก็ได้ แต่้วยความที่ห่างไกลเรื่องการศึกษา เลยไม่ทราบจริงๆ

เส้นทางที่ 2 ที่เรากำลังพูถึงกันอยู่นั่นก็คือ การสอบเข้าโรงเรียนที่มีโครงการพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นห้อง Gifted หรือ ห้อง EP ของโรงเรียนต่างๆ ด้วยความที่ข้อสอบคัดเลือกก็จะยากกว่าปกติ เลยเป็นที่นิยมในการออกไปหาที่เรียนพิเศษเพิ่มเติม

เส้นทางที่ 3 เป็นช่วงเข้ามัธยมปลาย เป้าหมายของหลายคนก็จะไปเตรียมอุดม MWIT KVIS ซึ่งข้อสอบเข้าก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน จึงต้องมีการเรียนพิเศษเพิ่มเติม

สุดท้ายท้ายสุด ก็กลับมาเจอกันที่ admission เข้ามหาวิทยาลัยอยู่ดี หรือใครจะเลือกไปในเส้นทางสายอาชีพ หรือสายอื่นๆที่ตัวเองชอบ ก็แยกย้ายกันไปได้เลยครับ …

 


ทำไมครูต้องออกข้อสอบยากๆ

อย่างที่บอกไปเมื่อย่อหน้าที่แล้วเลยครับว่า แต่ละโครงการห้องเรียนพิเศษ เขามีความจำเป็นที่จะต้องคัดเด็กที่มีความสนใจ มีความตั้งใจ มีความสามารถ รวมทั้ง ผู้ปกครองส่งเสริมด้วย เพราะบางโรงเรียนบางโครงการ การเรียนการสอนจะค่อนข้างยาก(ตามหลักสูตร) และ ต้องใช้เวลาเรียนที่มากกว่าห้องเรียนปกติพอสมควร

การออกข้อสอบ เพื่อคัดเลือกเด็ก ให้ได้เด็กที่มีคุณสมบัติตามที่โรงเรียนคาดหวังและตั้งใจ ก็คงหลีกหนีไม่พ้นข้อสอบที่ไม่ธรรมดา ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ต่อยอดจากที่เด็กๆเรียนกันอยู่ในระดับประถมหรือไม่นั้น ก็ไม่อาจจะคาดเดาได้ และ แน่นอนว่า สถาบันกวดวิชาต่างๆ ก็พยายามที่จะรวบรวมข้อมูลจากเด็กๆที่สอบในปีที่ผ่านๆมา เอามาสอนดักเอาไว้ก่อนด้วย แต่อีกมุมหนึ่ง ครูก็พยายามที่จะออกข้อสอบฉีกแนวออกไปเรื่อยๆ แฮะๆ

ข้อสอบบางข้อ … จนทุกวันนี้ผมเห็นแล้วยังตอบไม่ได้เลย แฮะๆ (ไม่ใช่บางข้อมั้ง ส่วนใหญ่เลย อิอิ)


ไม่เรียนพิเศษได้มั๊ย?

ผมแถมให้อีกคำถามเลยว่า เรียนพิเศษแล้วไม่ไปสอบห้องเรียนพิเศษได้มั้ย?

เอาที่สบายใจเลยครับ …

ผมเชื่อว่า มีเด็กหลายคนที่สอบติดห้องกิฟของโรงเรียนต่างๆ ไม่ได้เรียนพิเศษเพื่อเตรียมตัวสอบ เด็กพวกนี้เป็นเด็กที่เก่งจริง ชอบค้นคว้า ชอบสังเกต ชอบเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของนักวิทยศาสตร์

และผมก็รู้จักเด็กๆหลายๆคนที่เรียนพิเศษ แต่ไม่ได้มุ่งหวังสอบห้องเรียนพิเศษ เรียนเพื่อขอสอบเข้ารอบปกติให้ได้ก็เป็นพอ

อ้าววววว แล้วทำไมต้องเรียนพิเศษหละ แล้วไหนบอกว่ารอบปกติ ข้อสอบไม่ยากมาก ไม่ได้ออกเกินจากที่เรียนกันมากนัก?

ต้องอย่าลืมว่า เด็กแต่ละคนมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน บางคนเก็บเล็กผสมน้อยมาตั้งแต่เด็กๆละ บางคนยังไม่ได้เก็บอะไรเลยจนปัจจุบัน 5 5 55

บางทีนอกเหนือจากปัจจัยทางครอบครัวแล้ว ความสามารถในการรับรู้ของเด็ก กลวิธีในการสอนหรือการสื่อสาร วิธีการการถ่ายทอดของครู และ สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ต้นทุนของเด็กไม่เท่ากันด้วย
ดังนั้น การเคาะสนิม การเตรียมความพร้อมด้วยความไม่ประมาทก็ยังคงต้องมีอยู่ จึงพบเห็นได้ว่า เด็กๆที่ไม่ได้มีเป้าหมายที่ห้องเรียนพิเศษเลย ก็มีการเรียนพิเศษมากขึ้นๆเรื่อยๆ บางท่านบอกว่า trend หรือ ความนิยม การตามเพื่อนก็มีส่วน … ตรงนี้ถ้าทางบ้านพร้อม ผมว่าก็เป็นเรื่องน่ายินดีนะครับ


บทสรุป

  • มันเป็นการเลือกของเราเองที่อยากจะเจอของยากหรือเจอของง่าย
  • ห้องเรียนพิเศษ ไม่ได้เป็นการศึกษาภาคปกติ ที่เด็กๆทุกคนจะต้องเรียน เป็นห้องที่ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสามารถของเด็ก
  • ข้อสอบไม่ได้ยากเกินเลยระดับแบบสุดโต่ง แต่เป็นความยากที่ผันแปรกับหลักสูตรของโครงการนั้นๆ
  • หลักสูตรโครงการห้องเรียนพิเศษต่างๆ ได้ร่างและเขียนมานานมากแล้ว และ มีการปรับปรุงปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ
  • สมัยนี้แหล่งเรียนรู้แบบฟรีๆ ไม่ต้องจ่ายตังส์ บนโลก Online ก็มีเยอะมากเลยนะครับ

ข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจ

สรุปข้อสอบเข้า ม.1 ห้องเรียนพิเศษ ปีการศึกษา 2560

เรื่องเรียนของลูก :: สรุปแนวข้อสอบเข้า ม.1 ห้องเรียนพิเศษ ปีการศึกษา 2559 ของโรงเรียนต่างๆ

EP SAMSEN 2560 คะแนนสูงสุด ต่ำสุด ชายกี่คน หญิงกี่คน

เรื่องเรียนของลูก :: รวบรวมบทความ “สอบเข้า EP สามเสน”