เลือกห้องเรียน

เลือกห้องเรียน ม.ต้นห้องสามัญ ห้องGifted ห้องEP มีผลต่อการสอบเข้า ม.4 อย่างไร?

เลือกห้องเรียน ม.ต้นห้องสามัญ ห้องGifted ห้องEP มีผลต่อการสอบเข้า ม.4 อย่างไร?

พอดีมีคำถามอยู่ในห้องรวบรวม ประมาณตามหัวข้อเลยครับ ผมก็นั่งเขียนตอบตามความคิดเห็นส่วนตัว และ ความรับรู้ที่พอจะมี พอเขียนเสร็จ ไม่สามารถที่จะโพสต์ลงได้ โดยไม่รู้ว่าเกิดเหตุขัดข้องอันใดไม่รู้ว่าเขียนยาวเกินไปหรือไม่ เห็นว่านั่งเขียนอยู่นานพอควร ไม่อยากให้เสียปล่าว เลยต้อง Copy มาลงตอบที่นี่แทน เดี๋ยวจะลองเอา Link ไปแปะ(ยังไม่รู้ว่าจะได้ไหม)


ตอบตามความคิดเห็นส่วนตัว

ความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆนะครับ

เด็กแต่ละคนมีต้นทุนพื้นฐานที่แตกต่างกันไป และ เด็กแต่ละคนก็มีความสามารถในการรับรู้ คิด วิเคราะห์ ตอบ พูด เขียน และ แสดงออกที่แตกต่างกันอีกด้วย

คราวนี้ก็ต้องกลับมาดูว่า ลูกเรา(บวกเราเข้าไปด้วยนิดหน่อย) ได้วางเป้าหมายอนาคตว่าจะไปทางอาชีพไหนอย่างไร ถ้าวางเป้าไปสายอาชีพที่เป็นที่นิยมมาแต่เก่าก่อน การเลือกที่จะไปสอบเข้าที่ไหนในระดับ ม.4 ในโครงการห้องเรียนแบบใด ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

แต่ในปัจจบันก็มีหลากหลายอาชีพที่เกิดขึ้นมากมาย และ อาจจะเหมาะ เคมีเข้ากันได้ กับลูกของเรา … แต่ปัญหาก็คือ ไม่รู้ว่าคืออะไร แล้วต้องเรียนทางสายไหน

ดังนั้น ผู้ปกครองหลายๆท่านจึงปักธงเอาไว้ว่า งั้นไปสายวิทย์ก่อนละกัน เพราะยังไปต่อยอดแตกแขนงเป็นโน่นนี่นั่นได้ตอนเลือกเรียนเข้ามหาวิทยาลัย

เลือกห้องเรียน

เมื่อถามว่า ห้องเรียนต่างๆ ในระดับชั้น ม.ต้น มีความสำคัญแตกต่างกันขนาดไหนต่อการสอบเข้า ม.4 ในโรงเรียนที่เราวางเป้าหมายไว้ ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผม เท่าที่นึกออกเวลานี้นะครับ

1) ถ้าย้อนไปดูสถิติของโรงเรียนในระดับ ม.ต้น ที่เด็กสอบเข้าไปสู่โรงเรียนยอดนิยมต่างๆในระดับ ม.ปลาย จะเห็นชัดเจนว่า การเรียนในห้องเรียนพิเศษ มีผลอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจาก การได้คัดกรองมาเด็กนักเรียนมาชั้นหนึ่งก่อนแล้ว ก่อนที่จะมาขัดเกลาเพิ่มเติมจากห้องเรียนใน ม.ต้น

2) มีหลายๆโรงเรียนที่เด็กๆจากห้องเรียนปกติ สามารถสอดแทรกเข้าไปได้ ทั้งนี้ส่วนนึงอย่างที่กล่าวมาแล้ว อยู่ที่ต้นทุนของเด็กเอง และที่สำคัญ อย่าลืมว่า ไม่ว่าจะเรียนห้องสามัญ หรือ ห้องเรียนพิเศษ มากกว่า 70% ก็ไปเจอกันที่ “กวดวิชา” ผมไม่ได้เชียร์ว่าต้องไปกวดวิชา แต่ระบบการคัดเลือก การสอบบ้านเรา มันทำให้รูปการณ์ต้องออกมาเป็นเช่นนั้น แต่ก็อย่าลืมว่า มีเด็กอีกหลายคนที่ไม่ได้กวดวิชา ใช้ความรู้จากห้องเรียนที่โรงเรียน ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือและ Internet  แต่ก็สามารถมีที่ยืนอยู่ตรงนั้นได้เช่นกัน

3) สิ่งแวดล้อม อันนี้เห็นชัดที่สุด เพราะเด็กห้องเรียนพิเศษ(โดยส่วนใหญ่) จะชวนกันเรียน มีความรับผิดชอบ และ วินัย ทั้งในเรื่องของการเรียนมากขึ้น เมื่อเห็นเพื่อนเรียนก็เรียนด้วย เมื่อเห็นเพื่อนทำการบ้านก็ทำด้วย อะไรประมาณนั้น ผมสังเกตุเห็นว่า เด็กห้องเรียนพิเศษส่วนใหญ่ หลังเลิกเรียน ก็จับกลุ่มเดินไปเรียนพิเศษแถวข้างๆโรงเรียนกัน ที่แน่ๆเด็กพวกนี้ก็ไม่ได้เรียนอย่างเดียว เล่นก็เล่น ไม่ได้หมายความว่าประเภทแว่นหนาเตอะ เดินเทอะๆทะๆ สิวเต็มแก้ม ก็เห็นพวกเขาสนุกสนานตามวัยและเวลาที่มีของเขา แต่ที่เห็นท๊อปฮิตในการพักผ่อนมากที่สุดคือเล่นเกมส์ ก็จะเล่นกันแบบเป็น network คุยกันรู้เรื่องในกลุ่ม

4) เด็กบางคน ชอบเรียนสบายในห้องเรียน แล้วไปเน้นที่กวดวิชา ซึ่งตรงนี้เป็นความสามารถส่วนตัวล้วนๆ (ผมจะไม่ฟันธงว่าเป็นความคิดของเด็กหรือผู้ปกครอง) ผมขอยกตัวอย่างที่สามเสน มีเด็กที่สอบเข้าห้อง MSEP ได้ ซึ่งก็แข่งขันกันดุเดือด และ เขี้ยวมากๆซึ่งสอบเข้ามาได้แล้ว แต่สละสิทธิ และเด็กคนเดียวกันก็ไปสอบห้องเรียนปกติของสามเสนเข้ามา เพื่อที่จะมาเรียนห้องเรียนปกติ แล้วไปอัดเพิ่มที่กวดวิชา … อันนี้แล้วแต่กลยุทธของแต่ละครอบครัว นะครับ

5) ถ้าถามถึงเนื้อหาวิชาการ ตอบได้เลยครับว่า Gifted ของแท้ไม่ว่าจะเป็น กิฟเลข กิฟวิทย์ กิฟวิทย์คณิต เรียนแตกต่างจากห้องเรียนปกติชัดเจนแน่นอน ทั้งเนื้อหาและความยากง่าย หลายๆท่านยังบ่นเลยว่าเกินหลักสูตรไปเยอะหรือปล่าวในบางโรงเรียน ทั้งนี้ ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการห้องเรียนพิเศษนั้นๆเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อเราเลือกที่จะให้ลูกสอบเข้าห้องเรียนพิเศษของโรงเรียนไหน เราก็ควรศึกษาก่อนว่า ตรงตามที่เราอยากได้หรือไม่ เพราะหลักสูตรเขาเขียนไว้ก่อนแล้ว ก่อนที่ลูกเราจะสอบได้

6) สำหรับห้อง EP แล้วโดยมากหลักสูตรไม่ได้แตกต่างไปจากห้องเรียนสามัญมากนัก เพียงแต่สอนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ที่เห็นเด็ก EP ไปสอบเข้าโรงเรียนดังๆกันยกชุด ยกห้อง ยกแถว ส่วนใหญ่ก็มาจากต้นทุนตัวเด็กเองอีกนั่นแหละ บวกกับการมาได้เพื่อนในแนวเดียวกัน เลยชวนกันเล่น ชวนกันไปเรียนกวดวิชาเช่นกัน และ อย่างที่บอก เด็ก EP จำนวนมากที่มีเส้นทางแฝงเพื่อที่จะไปต่อโรงเรียนยอดนิยมในระดับมัธยมปลาย เด็กพวกนี้ มีความสามารถที่จะสอบเข้าเรียนห้องกิฟได้สบายๆ แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะเรียนหนักในโรงเรียน หลีกเลี่ยงที่จะสอบเข้าห้องกิฟ เลือกสอบเข้าห้อง EP เพื่อเอาเวลาไปหนักนอกโรงเรียนเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยคิดว่า มาเก็บภาษาที่โรงเรียน แต่นั่นไม่ใช่เด็ก EP ทั้งหมดนะครับ เพราะว่าเด็กสายเลือด EP จริงๆที่อยากจะเดินเส้นทางนี้จริงๆ ก็มีเยอะครับ เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะต่อ EP ม.ปลายด้วย และก็ตามด้วยมหาวิทยาลัยในคลาส International

7) เกือบทั้งหมดที่กล่าวมานั้น กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนทิศทางก็คือ ผู้ปกครองแบบเราๆนี่แหละครับ ที่ส่วนใหญ่จะช่วยวางแผนให้ลูกๆตามระดับมาเรื่อยๆ แผนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามผลสัมฤทธิ์ที่ปรากฏออกมา ข้อมูลหรือแผนการเรียนก็มีการบอกต่อ รุ่นสู่รุ่น จากผู้ปกครองรุ่นนี้สู่ผู้ปกครองรุ่นโน้นซึ่งข้อมูลก็อาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แล้วแต่ที่มาที่ไปว่าลูกเรียนอยู่โรงเรียนไหน อยากไปสอบเข้าโรงเรียนไหน เรียนกวดวิชาที่ไหน  ฯลฯ …. รับรองว่า ทุกที่มีคุยกันยิ่งกว่านกกระจอบแตกรัง

นึกได้ตามเวลาประมาณนี้ เขียนออกนอกเรื่องก็เยอะ แฮะๆ


ข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจ

12 ห้องเรียน ม.1 สามเสนวิทยาลัย มีอะไรบ้าง? แบ่งเป็นอะไรบ้าง?
ม.1 สามเสน

 

รวบรวมประกาศรับสมัครสอบเข้าเรียน ชั้น ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2560