พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ – พิพิธภัณฑ์ เดอะซีรีย์

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ 

(ขอขอบคุณ … บทความคัดลอดมาจาก http://www.reurnthai.com/ ตามกระทู้นี่เลยครับ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3700.0 ผมเข้าไปแอบอ่านในเรือนไทยบ่อยๆ ถือได้ว่าเป็นคลังข้อมูลที่สำคัญของชาติเลยครับ เฉพาะรูปที่ผมเป็นคนถ่ายมาเองครับ)
พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ หลังจาก “อยู่ดีๆ ท่านก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง”

“สมภารวัดร้าง” คือการที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมเชษฐา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้กระทำพระราชพิธีบวรราชาภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์วังหน้า ดำรงพระราชอิสริยยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน  มิใช่จะทรงเป็นแค่อุปราชวังหน้า เช่น สมเด็จกรมพระราชวังบวรพระองค์อื่นๆ

แต่การที่วังหน้าถูกปล่อยไว้รกร้าง หลังจากในรัชกาลที่๓ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่โปรดสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นวังหน้าอีก แต่ได้โปรดเกล้าฯให้ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏทรงย้ายที่จำพรรษาจากวัดราชาธิวาส เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ประกาศความนัยให้คนทั้งปวงรู้ว่าในรัชกาลของพระองค์ต่อจากนั้น ผู้ใดเป็นองค์อุปราชพระบวรราชวัง

เมื่อขึ้นรัชกาลที่๔ สภาพวังหน้าเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จมาครองนั้น ชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก และไม่โปรดที่จะประทับที่ “พระวิมาน” ในหมู่พระราชมณเฑียรเดิม จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งขึ้นมาใหม่เป็นตึกทรงยุโรป เสร็จแล้วพระราชทานชื่อว่า “พระที่นั่งวงจันทร์” ตามพระนามของพระธิดาองค์หนึ่ง แล้วเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้จนตลอดรัชกาล
หลังจากสวรรคตแล้ว สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์(รูปนี้มีการ retouch เพื่อเอาสายไฟที่พาดผ่านด้านหน้าออก นะครับ)


สถานที่ตั้ง 

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หรือที่ทราบกันว่าในอดีตเคยเป็นวังหน้ามาก่อนนั่นเอง ถ้าถามต่ออีกว่า แล้วพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอยู่ตรงไหนหรอ ก็ตอบตามที่เห็นเลยว่าบริเวณสนามหลวงส่วนที่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ขึ้นมาทางด้านทิศเหนือ

ถ้าดูตามแผนผังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้วจะพบว่าพระที่นั่งนี้ก็คืออาคารหมายเลข 6 นั่นเอง


เดินชมพระที่นั่ง

แผนผังแปลนห้องต่างๆภายในอาคาร

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานวังหน้าว่า

“พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงสร้าง ตามแบบอย่างตึกฝรั่ง เป็นตึกเก้าห้อง พื้น ๒ ชั้น รูป ๔ เหลี่ยมรี มีบันไดทำเป็นมุขขึ้นข้างนอก เพราะในสมัยนั้นยังถือกันอยู่ว่า ถ้าขึ้นทางใต้ถุนเป็นอัปมงคล…ชั้นล่างเป็นแต่ที่พนักงานอาศัยหาได้ใช้การอย่างอื่นไม่…”

“ตัวพระที่นั่งด้านหน้ามีเฉลียงโถง ๗ ห้อง ข้างในประธานตอนกลาง ๓ ช่อง กั้นเป็นห้องเสวย ห้องต่อมาข้างใต้ ๒ ช่อง เป็นห้องพระบรรทม มีฝาเฟี้ยมกระจกกั้นขวางอีกชั้น ๑ ต่อมาถึงที่สุดด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์”

“…ลักษณะที่ตกแต่งพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์เป็นแบบฝรั่งทั้งสิ้น พระแท่นบรรทมสั่งมาแต่เมืองนอก เป็นพระแท่นคู่ มีรูปช้างเผือกสลักอยู่ที่พนัก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้ยกไปตั้งที่พระที่นั่งในพระราชวังบางปะอิน…”

ปัจจุบันพระแท่นทั้งคู่ ได้ถูกนำกลับมาประดิษฐานยังห้องพระบรรทมดังเดิมแล้ว ลักษณะของพระแท่นที่เห็นมีประทุนสูงนั้น ก็เพื่อไว้กางมุ้ง สำหรับคนรุ่นเราแล้ว พระแท่นที่บรรทมของพระมหากษัตริย์พระองค์ที่๒ในรัชกาลที่๔จะดูเล็กๆกว่าเตียงในโฮเต็ลทั้งหลายเสียด้วยซ้ำ มิได้ดูหรูหราอลังการอะไรดังภาพพจน์ที่เกิดจากการอ่านในพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯก่อนจะมาเห็นของจริง“ตัวพระที่นั่งด้านหน้ามีเฉลียงโถง ๗ ห้อง ข้างในประธานตอนกลาง ๓ ช่อง กั้นเป็นห้องเสวย”  ซึ่งในปัจจุบันโถงกลางได้ปล่อยว่างไว้ หาได้มีโต๊ะเสวยแบบฝรั่งอยู่ไม่ 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ.๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องกลางในพระนั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งเป็นห้องเสวยเดิมนี้ ให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ

ครั้นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่๕เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวร และย้ายเจ้านายและข้าราชการวังหน้าไปสังกัดวังหลวงทั้งหมด เป็นเหตุให้วังหน้าว่างลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัฑสถานในพระบรมมหาราชวังมาจัดแสดงใน พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๐

ส่วนพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ และกรมพระราชวังบวรทุกพระองค์ ที่ประดิษฐานอยู่ในวังหน้ามาแต่เดิม โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญไปไว้ที่หอพระนาก ในพระบรมมหาราชวัง

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถาน พระนคร ไปด้วย โดยเป็นที่จัดแสดง พระราชอาสน์ เครื่องเรือนยุโรป และจีน ตลอดจนของสะสมต่างๆ ในสมัยสมัยรัชกาลที่๔ ตามลักษณะที่เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ มาแต่เดิม

ส่วนตู้ทองที่เคยประดิษฐานพระบรมอัฐินั้น ได้อัญเชิญพระป้ายฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสได้ทรงสร้างขึ้นสำหรับเจ้านายวังหน้าปฏิบัติบูชา เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของลูกหลานตามคติจีน มาสถิตย์พร้อมพระป้ายสมเด็จพระบรมราชชนก(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) และพระราชมารดา(สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี)ยังด้านข้างด้วย

พระป้ายฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯมีขนาดกว้าง๙เซนติเมตร  ยาว๑๕เซนติเมตร  และสูง๑๒เซนติเมตร จำหลักอักษรจีน ออกพระนามว่าเจิ้ง แซ่เจิ้ง อ่านแบบแต้จิ๋วว่า แต้เจี้ย มีข้อความในลิ้นชักระบุว่า ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์องค์ที่สองของสยาม และวันเดือนปีที่พระราชสมภพ

“ด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์” โดยข้อมูลกล่าวไว้ว่า เป็นห้องพระบรรทมเล็ก พระฉาย(กระจกเงา)


ชุด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เดอะซีรีย์

ยังไม่หมดนะครับ ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ แบบว่า เยอะมาก ก็เลยค่อยๆทะยอยตัดแบ่งเป็นส่วนๆมาลงครับ

ที่ได้ post ไปแล้วก็มี

ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ – นิทรรศการภาพถ่ายเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเสด็จสวรรคตสนามหลวง

ตามเก็บเล่าเรื่องพิพิธภัณฑ์

กำลังตามเก็บพิพิธภัณฑ์ต่างๆใน กทม.อยู่

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ – เรื่องเล่าที่มากกว่าดอกไม้และพิพิธภัณฑ์บนถนนสามเสน

พิพิธบางลำพู ชวนมาดูวิถีชุมชนเก่าแก่ชาวบางกอกย่านบางลำพูกัน

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตคนกรุงเทพสมัยหลังสงครามโลก