เกาะเกร็ด
เกาะเกร็ด เมื่อนึกถึงทีไร ก็จะนึกถึงภาพเครื่องปั้นดินเผา ชาวมอญ ขนมหวาน อะไรประมาณนั้น เคยไปเกาะเกร็ดมาแล้วสี่ห้าครั้ง ทุกครั้งก็ไปแค่ที่วัดปรมัยยิกาวาส แล้วเดินเล่นตรงแถวหมู่บ้าน ก็หมดเวลาหมดแรงแล้ว เมื่อสองสามวันก่อนไม่รู้นึกยังไงเปิดภาพมาเห็นแผนผังแผนที่ของเกาะเกร็ด จึงนึกว่าจะลองไปปั่นจักรยานชมวัดอื่นๆบนเกาะเกร็ดดูบ้าง ว่าสภาพโดยรอบของเกาะเกร็ดนั้นเป็นอย่างไร
วันนี้พอมีเวลาหน่อย และเป็นวันธรรมดา(ที่ไม่ธรรมดา)ด้วย เข้าใจว่าบนเกาะคนจะน้อยมาก แต่ร้านค้าก็ไม่ได้เปิด ในใจไม่ได้คิดจะไปจับจ่ายซื้อของอยู่แล้ว อยากจะไปปั่นจักรยานรอบเกาะแวะไหว้พระตามวัดต่างๆ(ตอนแรกก็ไม่นึกว่าเกาะจะใหญ่และวัดจะเยอะขนาดนี้) ก็เลยตัดสินใจหลังจากส่งลูกที่โรงเรียนแล้วก็ม่งหน้าไปห้าแยกปากเกร็ดทันที
การเดินทาง
ความจริงเรื่องการเดินทางมีคนพูดถึงและรีวิวมาแล้วเยอะแยะมากมายทั้งทางรถสาธารณะ ทางเรือ ฯลฯ ดังนั้นวันนี้ก็จะพูดถึงเฉพาะที่เราเดินทางกันวันนั้นเลยว่าไปยังไงมายังไง … แต่จะขอกล่าวสั้นๆก่อนว่า เกาเกร็ดมันอยู่ตรงไหนของกรุงเทพ
พอจะเห็นเป็นเกาะนะครับ อยู่ประมาณตำแหน่ง 11 นาฬิกาของกรุงเทพ ดูๆแล้วเกาะก็ไม่เล็กไม่ใหญ่
แน่นอนว่าขับรถไป เพราะเพิ่งส่งลูกที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยเสร็จก็หันหัวรถมาทางนี้เลย ลงทางด่วนตรงแจ้งวัฒนะ มุ่งหน้าไปห้าแยกปากเกร็ด เมื่อถึงแยกไฟแดงก็ตรงเลยครับ(รอสัญญาณไฟเขียนก่อนนะครับ) จะเห็นถนนกว้างๆก่อนถึงโรงภาพยนต์เมเจอร์หรือถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 16 ก็สามารถเข้าทางเส้นทางนี้ได้เลยครับ(ตามเส้นสีเขียวในรูป) หรือใครอยากจะไปเส้นเก่าแก่ก็ตรงไปอีกจะเลี้ยวเข้าทางถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 4 (ตามเส้นสีแดงในรูป) ซึ่งก็จะนำไปสู่วัดสนามเหนือ เพื่อจอดรถลงเรือข้ามไปเกาะเกร็ด ความจริงแล้วเราก็สามารถจอดและลงเรือที่วัดอื่นๆได้อีกเช่นวัดกลางเกร็ด หรือข้าวเจ้าพระยาไปจอดฝั่งตรงข้ามที่วัดบางจากก็ได้ครับ วันหยุดฝั่งวัดบางจากคนจะน้อยกว่า
ภาระกิจไหว้พระบนเกาะ
แน่นอนมาวันธรรมดา มาแต่เช้า ไม่ได้มาช๊อป ไม่ได้มาชิม แน่ๆ เรามาจอดรถที่วัดสนามเหนือ ซึ่งก็จอดแบบสบายๆ
มาในช่วงก่อนเทศกาลวันพระใหญ่หยุดยาว
เดินอ้อมไปทางด้านหลัง ก็เจอคุณพี่นั่งขยันทำงานแต่เช้า
มาถูกทางแล้วครับ …
ถึงท่าเรือข้ามฟาก ริมตลิ่งก็ยังกงมีการก่อสร้างแนวกำแพงกั้นอยู่บ้าง แต่โป๊ะท่าเรือก็พอดูดี น่าจะปลอดภัย
มองไปยังฝั่งเกาะ ก็เห็นเจดีย์เอียงซึ่งเป็น Landmark ของเกาะเกร็ดอยู่แล้ว
ยังไม่ได้จ่ายตังส์เลย ลงเรือไปก่อน แป๊บเดียวก็มาถึงฝั่งวัดปรมัยยิกาวาส แล้ว
ถึงท่าเรือฝั่งเกาะเกร็ดแล้ว
เดินขึ้นท่าไปจ่ายตังส์ที่ศาลาด้านบนโน่น
ขึ้นมาจากเรือก็จ่ายสองบาท ขากลับจะลงเรือก็จ่ายสองบาท
จ่ายเสร็จแล้วผมก็เดินไปทางด้านซ้ายมือเลยครับ เพื่อที่จะเช่าจักรยาน ในราคาคันละ 40 บาท ไม่จำกัดชั่วโมง
ถ้าหิวก็หาอะไรรองท้องแถวๆนั้นก่อนได้เลยครับ เพราะวันนี้หาของกินยากหน่อย ร้านจะปิดเสียเป็นส่วนใหญ่
ได้เวลาไหว้พระ
วันนี้เราจะไปไหว้พระตามวัดต่างๆตามแผนที่นี้เลยครับ
วัดปรมัยยิกาวาส
เดิมชื่อวัดปากอ่าว มีชื่อเรียกในภาษามอญว่า “เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง”
เป็นวัดตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นถิ่นฐานของชาวมอญ วัดนี้จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจและวัฒนธรรมของชาวมอญมาช้านาน
พระเจดีย์มุเตา เป็นเจดีย์ที่สร้างแบบชาวมอญ จะมีผ้าแดงคลุมไว้ตามวัฒนธรรมของชาวรามัญ พระเจดีย์มุเตาสร้างโดยชาวมอญที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อครั้งปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในบรรจุพระธาตุเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยเชื้อสายมอญ แต่เดิมเป็นเจดีย์ที่สร้างตั้งตรงดั่งเช่นปกติ แต่ต่อมาน้ำเซาะตลิ่งพัง จึงทำให้เจดีย์ทรุดตัวและเอียงลง
มองไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะเห็นหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ของวัดบางจากอยู่ฝั่งตรงกันข้ามโน้น
วัดไผ่ล้อม
เราปั่นจักรยานผ่านหมู่บ้านไปตามเส้นทางที่สร้างขึ้นเพื่อการสัญจรรอบเกาะ จึงเป็นที่สะดวกยิ่ง ไม่นานนักก็มาถึงวัดไผ่ล้อม
เข้าใจว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดบนเกาะเกร็ดสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ต้องกลายเป็นวัดร้างในสมัยนั้นเนื่องจากพม่ายกทัพเข้ามายึดเมืองนนทบุรีก่อจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 ในปัจจุบันวัดไผ่ล้อมมีชื่อเรียกตามภาษามอญว่า “เภี่ยะโต้” ซึ่งแปลว่าวัดกลาง เนื่องจากวัดไผ่ล้อมอยู่ระหว่างกลางของวัดมอญอีกสองวัดนั่นคือ วัดปรมัยยิกาวาส และ วัดเสาธงทอง
พระปางแหงนหน้ามองฟ้า ผมก็ไม่ทราบว่าเรียกว่าปางอะไร
อาคารไม้เก่าแก่ทรุดโทรมมาก ไม่แน่ใจว่าในอดีตเป็นอะไร? แต่ดูแล้วอยากให้บูรณะขึ้นมาใหม่จริงๆ
พักเหนื่อยกับกาแฟโอ่งกันหน่อยนะครับ หน้าวัดไผ่ล้อมเลย
นั่งพักให้หายเหนื่อยหน่อย อากาศร้อนแบบไม่ธรรมดาจริงๆ
ฝั่งตรงข้ามโน้นก็วัดบางจาก ที่บอกว่าเราสามารถไปจอดรถแล้วลงเรือข้ามมาที่เกาะได้เช่นกัน
วัดเสาธงทอง
มากันต่อที่วัดเสาธงทอง เป็นอีกวัดมอญเก่าแก่ขนาดใหญ่บนเกาะเกร็ด โดยเดิมทีที่สร้างในตอนปลายสมัยอยุธยาตอนต้นสมัยกรุงธนบุรีนั้นย่านนี้เป็นสวนหมากมากมาย จึงได้ชื่อว่า “วัดสวนหมาก” แต่ก็ได้มีการตัดโค่นต้นหมากไปเสียหมดสิ้น ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อได้มีการบูรณะใหม่ก็เลยเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดเสาธงทอง ชาวมอญท้องถิ่นเรียกวัดนี้ว่า “เพ๊ยะอาล๊าต” \
มาเริ่มจากท่าเรือหน้าวัดกันเลย แฮะๆๆ
ฝั่งตรงข้ามก็คือวัดบางจากที่เห็นหลวงพ่อโตโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ถ้าเรามาจอดรถที่วัดบางจาก ลงเรือข้ามฟาก 5 บาท เรือจะมาส่งที่ท่าวัดเสาธงทองนะครับ เราก็สามารถเที่ยวรอบเกาะเกร็ดได้เช่นกัน … อ่อ ..เห็นแว๊บๆ แถวๆนี้ก็มีจักรยานให้เช่าด้วยเช่นกันนะครับ
เดินเข้าไปด้านใน สิ่งที่เห็นโดดเด่นแปลกตาก็คือเจดีย์องค์นี้ เลยต้องกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติม เรียกกันว่าเป็นเจดีย์ทรงกลีบมะเฟืองอวบ เป็นเจดีย์ศิลปะแบบอยุธยามีลักษณะเป็นทรงระฆังกลมฐานสูงตัวองค์ระฆังเป็นกลีบมะเฟือง 9 กลีบสันนิษฐานว่ารับอิทธิพลจากปรางค์แบบเขมร ซึ่งเหลืออยู่องค์สุดท้ายแล้วเท่าที่พบเจอกัน และเพิ่งจะได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรเมื่อไม่นานมานี้เอง
เจดีย์อีกองค์เป็นทรงระฆังกลม
เดินเข้ามาด้านในโบสถ์ซึ่งมีลายเพดานสวยงามมากเขียนลายทองกรวยเชิงอย่างงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ แต่ช่วงนี้อาจจะมีพิธีอะไรเลยมีผ้าคลุมไว้อยู่
ข้างๆโบสถ์หลัก ยังมีโบสถ์หลังเล็กอยู่อีกหลังหนึ่ง ลายปูนปั้นบริเวณประตูแตกหักไปเยอะแล้วด้านในประดิษฐานหลวงพ่อทันใจ
ต้นยางอายุกว่า 200 ปี ในบริเวณนี้มีต้นยางสูงใหญ่มากมายหลายต้น บางต้นที่อายุเยอะหน่อยก็มีอย่างน้อย 200 กว่าปีแล้ว
เดินออกมาทางด้านหลังวัด ก็ยังคงมีเจดีย์ที่สำคัญอีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงย่อมุมยี่สิบระฆังคว่ำองค์กลางซึ่งถือได้ว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดบนเกาะเกร็ดด้วย และยังรายล้อมไปด้วย เจดีย์ย่อมุมสิบสอง ขนาดเล็กอีกสิบสององค์
เดินเลยจากเจดีย์ตรงนี้มาหน่อย ก็สังเกตุเห็นสิ่งก่อสร้างรกร้าง ประจวบเหมาะกับมีคุณลุงท่านหนึ่งเดินฝ่าป่ารกออกมา ก็เลยถามลุงว่า ตรงนี้เมื่อก่อนเป็นอะไรหรอครับ? ลุงบอกว่า เมื่อก่อนเป็นโรงเรียน แต่เดี๋ยวนี้ร้างละ เด็กมาเรียนน้อย ก็เลยกลับมาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ได้ความว่า ที่นี่ก็คือโรงเรียนวัดเสาธงทอง เป็นโรงเรียนแห่งแรกของเกาะเกร็ดเลย ก็เลยสงสัยว่าเด็กๆคงไปเรียนที่โรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส หรือไม่ก็มีอีกโรงเรียนก็คือโรงเรียนวัดศาลากุล อีกอย่างก็คือข้ามไปเรียนบนฝั่งโน่นเลย ….. น่าเสียดายจริงๆ ดูสภาพแล้วมีหลายอาคาร น่าจะนำมาปรับปรุงทำอะไรได้อีกเยอะนะ
วัดร้าง
วัดมะขามทอง
จะเรียกว่าวัดก็อาจจะดูไม่เหมือนวัดแล้ว เพราะที่นี่เป็นวัดร้าง คงเหลือแต่พระพุทธรูปและลูกนิมิต 4 ลูก ปัจจุบันเป็นศาลาเอนกประสงค์ขนาดที่เห็นตามภาพเลยครับ
วัดจันทร์ (เก่า)
วัดศาลากุล
จากวัดเสาธงทอง ปั่นจักรยานผ่านวัดร้างสองวัด ก็คือวัดมะขามทองและวัดจันทร์ หลังจากนั้นปั่นไปอีกไกลพอควรกว่าจะมาถึงวัดศาลากุล แถม บรรยากาศแอบเปลี่ยวๆด้วย ปั่นไปมีเหลียวหลังอยู่บ่อยๆ
ว่ากันว่าเดิมทีวัดนี้ก็อยู่ริมน้ำ แต่ผ่านมานานวันเข้า แผ่นดินก็งอกเพิ่มมาเรื่อยๆ จนทำกลายเป็นว่าปัจจุบันให้วัดอยู่กลางเกาะ ในปัจจุบันถาวรวัตถุ อาคารสถานที่ ล้วนแต่สร้างขึ้นมาใหม่หมด แต่ก็ยังคงมีของเก่าแก่เก็บรักษาไว้ เช่น เครื่องมุก เครื่องแก้ว ฯลฯ บริเวณวัดยังมีโรงเรียนในสภาพดีอยู่ด้วย
ออกจากวัดศาลากุลเราก็ปั่นจักรยานไปตามทาง สองข้างทางก็เป็นสวนผัก สวนผลไม้
จนกระทั่งมาถึงบริเวณท่าเรือป่าฝ้าย ก็จะมีส่วนที่เป็นสะพานไม้ ที่เข้าใจว่ารอการปรับปรุงซ่อมบำรุงอย่เป็นแน่ เพราะเป็นช่วงเดียวเท่าที่ปั่นมา ที่ไม่ได้เป็นทางคอนกรีต จะเห็นว่าบริเวณสะพาน ก็มีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นวัดเช่นกัน เราก็เลยลงไปดูกัน
วัดร้าง (วัดป่าเลไลย์)
สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันเลยอยู่ในความดูแลของวัดฉิมพลี เนื่องจากว่าอยู่ใกล้ๆกัน
ลายปูนปั้นเก่าแก่เหลือให้เห็นน้อยเหลือเกิน
วัดฉิมพลีสุทธาวาส
จากวัดร้างวัดป่าเลไลย์ เราก็ไปกันต่อ … อีกนิดเดียว …… ปั่นกันต่อ …. ปั่น ๆ ๆ ….. อ่าว ยังไม่ทันปั่นเลย ถึงล๊ะ ข้างหน้านี่เอง วัดฉิมพลี
วัดนี้ดูใหญ่โตไม่แพ้วัดปรมัยยิกาวาสเลยน๊ะ
เดิมทีวัดนี้ชื่อว่าวัดป่าฝ้าย สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ต่อมามีการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๒ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดฉิมพลีสุทธาวาส และวัดนี้ยังมีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นภาษามอญว่า คนมอญมักจะเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะโต้”
ท่าเรือที่หน้าวัดฉิมพลี
บทสรุป
ใช้เวลาอยู่บนเกาะประมาณเกือบ 4 ชั่วโมง บรรลุวัตถุประสงค์ แต่ยังไม่ตกสะเก็ด เพราะว่าไม่ได้ทำการบ้านไปก่อน ตั้งใจว่า จะหาเวลาไปปั่นในวันธรรมดาอีกสักรอบหนึ่ง แล้วจึงค่อยไปวันหยุด เดี๋ยวคราวหน้าจะลองไปจอดรถทางฝั่งวัดบางจากดูบ้าง
วันธรรมดา อาจจะเริ่มมีร้านค้าเปิดมากขึ้นในช่วงบ่ายๆนะครับ