ไปไหว้พระ เดินเที่ยวที่ วัดบวร ไปยังไง จอดรถตรงไหน สำหรับคนที่ไม่เคยไป หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่ไม่เล็กเลย แต่ก็ไม่ใหญ่เกินความตั้งใจและความพยายาม
วันนี่เราไปกันให้เข้ากับ วัตถุประสงค์หน่อย ….. ไหนๆ ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุแล้ว …
เกษียณแล้ว … ไปไหน?
ก่อนหน้านี้ เราก็ชวนๆกันนะครับ
เกษียนแล้ว หางานหาการทำต่อสิครับ หรือไม่ก็ออกไปเที่ยวกันสิครับ เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน ตัดกิ่งตอนไม้ …ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ เข้าวัดเข้าวา
วันนี้ เราเข้าวัดเข้าวากันครับ ที่นี่ … วัดบวร
แต่วันนี้ เราไม่ได้มาเล่นๆ นะครับ เรามาทำบุญ มาเที่ยว พาเด็กๆมาทำความสะอาดวัดด้วย … ไงหละ ไม่ธรรมดาน๊ะ
คราวที่แล้ว เราเล่าเรื่องที่เด็กๆมาทำกิจกรรมจิตอาสาที่นี่กันไปแล้ว คราวนี้เรามาเดินชมวัดกันอย่างสบายใจบ้าง ที่ไม่ได้รวมเอาไว้ในรีวิวเดียวกัน เพราะเกรงว่ารูปจะเยอะเกิน และ จะเน้นเนื้อหาชวนเชิญมาเที่ยวที่รีวิวนี้แทน นะครับ
GALLERY :: ลูก EP สามเสน ร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาที่ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
ในวันนี้เราจะพูดถึงหัวข้อต่างๆเหล่านี้
- การเดินทางด้วยรถยนต์
- ที่จอดรถ
- แผนผังอาคารต่างๆในวัดบวร
- เดินชมอาคารต่างๆ ตุ๊กตาปูนจีน เยอะเหมือนกัน
- ไหว้พระประธาน
- ไหว้พระเสรีรางคารสมเด็จพระสังฆราช
- ชมพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
- หาอาหารทานมื้อเที่ยง แถวๆนั้น …
การเดินทาง
(ขอคัดลอกการเดินทาง สถานที่จอดรถ จากกระทู้ที่แล้วมาลงไว้ที่นี่ด้วยเลยนะครับ)
อย่างที่บอกแหละครับว่า เหมือนบ้านนอกเข้ากรุง ด้วยความที่ว่า ไม่เคยขับรถมาเองเลยครงนี้ เลยต้องอาศัย Google map อีกเช่นเคย จากบ้านที่ปทุมธานี มาที่วัดบวร เอาเข้าจริงๆไม่ได้ยุ่งยากมาก หลับตานึกภาพไว้เลยว่า ขึ้นทางด่วน มาลงทางด่วนที่ยมราช วิ่งเข้าถนนหลานหลวง วิ่งตรงไปเรื่อยจนไปวนที่วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วชะแว๊ปเข้าซอยตรงโรงเรียนสตรีวิท(ที่มีแมคโดนัลอยู่ด้านหน้า … ทำไมสามเสนไม่มีแบบนี้มั่ง อิอิ) เมื่อเข้าไปแล้วเจอแยกไฟแดงแรกเราก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุก็จะเห็นวัดบวรอยู่ทางด้านซ้ายมือ
ที่จอดรถ
มาถึงแล้ว จอดรถตรงไหน?
เนื่องจากว่า วันที่เราไปเป็นวันอาทิตย์ จึงสามารถจอดรถได้สองข้างทาง ยกเว้นอย่าจอดทับ ขาวแดง ละกัน แฮะๆ หรือ สามารถเข้าไปจอดที่ โรงเรียนวัดบวรนิเวศได้ ค่าจอดรถ 20 บาททั้งวัน
จอดริมถนนหน้าวัด
จอดตรงลานโรงเรียนวัดบวร(20 บาทตลอดวัน)
หรือไม่ก็ไปจอดที่ ที่จอดรถ กทม. ถนนไกรสีห์เดินประมาณ 5 นาทีนะครับจากวัด (รู้สึกว่าคิดค่าจอด ชม.ละ 20 บาท)
แผนผัง วัดบวร
คราวนี้เราก็มาทำความรู้จักกับ อาณาบริเวณและอาคารต่างๆภายในวัดบวรฯกันนะครับ
Credit :: ภาพแผนผังผมนำมาจาก เวบไซด์ของวัดบวร รวมทั้งรายระเอียดเนื้อหาส่วนใหญ่ด้วยนะครับ
Website :: http://www.watbowon.com/
เนื่องจากว่า บางท่านอยากจะไปกราบพระเสรีรางคาร สมเด็จพระสังฆราช แต่ไม่รู้ว่า จะต้องไปที่วิหารหรืออาคารไหน และบางท่านไปถูกแล้วแต่ก็ไม่เห็นว่าบรรจุไว้ที่แห่งใด (ขออภัยด้วยนะครับ ถ้าหากว่าในกระทู้นี้ผมใช้คำศัพท์ที่ผิดไปหรือไม่เหมาะสม) ผมก็มารู้ตอนนั้นเลย เดี๋ยวมาดูกันนะครับ เพราะผมไปค้นคว้าหาข้อมูลมาบ้างแล้ว
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศ และถนนพระสุเมรุ ในท้องที่แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุเทพมหานคร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างในระหว่าง พ.ศ.๒๓๖๗ และพ.ศ. ๒๓๗๕ ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส(ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๖) ซึ่งต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าร่วงโรยมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเข้ากับวัดบวรนิเวศวิหารเสีย เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ซึ่งในปัจจุบันยังคงเรียกส่วนที่เป็นวัดรังษีสุทธาวาสมาเดิมว่า “คณะรังษี”
เรามาเริ่มเดินทอดน่องท่องวัดกันเลยครับ เดี๋ยวจะได้เข้าไปกราบไหว้พระ
ประตูเสี้ยวกาง
มีลักษณะเลียนแบบศิลปะจีน หลังคาซุ้มมุงกระเบื้องกาบกล้วย หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายดอกพุดตานใบเทศเ กลางหน้าบันเป็นลายหน้าขบคายเถาดอกพุดตาน หน้าต่าง ๒ ข้างประดับด้วยกระเบื้องปรุ บานประตูสลักเป็นอารักษ์ทวารบาลแบบที่เรียกว่า เซี่ยวกาง (เสี้ยวกาง) ปัจจุบันประตูนี้เปิดเฉพาะงานพระราชพิธี โอกาสพิเศษหรือวันธรรมสนะเท่านั้น
มองย้อนออกไปบานประตูทั้งสองสลักเป็นรูปอารักษ์คู่ ที่เรียกว่า “เสี้ยวกาง”
ผมสังเกตุเห็นว่า ผู้ที่มาไหว้พระทำบุญที่วัดนี้ บางท่านจะต้องเดินมาลูบที่รูปสลักอารักษ์ทั้งสอง บริเวณหัวเข่าบ้าง เท้าบ้าง
พระอุโบสถ
สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3
พระพุทธชินสีห์
เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๔ นิ้ว
ด้านหลังของพระพุทธชินสีห์ จะเป็น พระสุวรรณเขต หรือ “หลวงพ่อโต” หรือ “หลวงพ่อเพชร” ซึ่งเป็นพระประธานองค์แรกของพระอุโบสถนี้
หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคารมาบรรจุไว้ ณ ใต้บัลลังก์พระพุทธชินสีห์ในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘
มาวัดก็ต้องฟังเทศน์สิครับ …
ออกมาเดินดูรอบๆพระอุโบสถบ้าง
บางท่าน เข้าไม่ถึงด้านใน ก็วางพานไหว้จากด้านนอกเลย
พระแท่นที่ประทับของพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่เสด็จออกทรงผนวช
ซุ้มปรางค์พระพุทธรูป อยู่ข้างพระอุโบสถนอกกำแพงแก้วข้างละซุ้ม
ตุ๊กตาปูนปั้นที่นี่ก็มีเยอะแยะมากมายเลยครับ (เอ๊ะ หรือว่าหินแกะสลัก แฮะๆ)
พระพุทธบาทจำลอง
รอยพระพุทธบาทคู่นี้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม กลางฝ่าพระบาทแต่ละข้าง มีรูปธรรมจักรขนาดใหญ่ ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับรูปพระพุทธบาทคู่ของลังกาสมัยอนุราธปุระและอินเดียสมัยโบราณ แต่ต่างกับลังกาที่ภายในธรรมจักรมีการแบ่งพื้นที่เป็นช่องบรรจุรูปมงคล ๑๐๘ ไว้ตามแนววงกลมเป็นชั้นๆ โดยจัดเรียงชั้นพรหมโลกและเทวโลกอันเป็นภูมิสูงสุดในจักรวาลไว้วงในรอบจุดศูนย์กลาง ส่วนพระจักรพรรดิรัตนะ เครื่องประกอบบารมี เครื่องสูง รวมทั้งมงคลอื่นๆของโลกมนุษย์จัดเรียงไว้รอบนอก เป็นการเรียงลำดับตามชั้นของไตรภูมิ เรื่องสวรรค์อยู่รอบในสุด เรื่องหิมพานต์อยู่รอบกลาง เรื่องของมนุษย์อยู่รอบนอกสุด คติการสลักรอยพระพุทธบาทคู่นี้คงได้รับรูปแบบมาจากพระพุทธบาทคู่ของลังกาโดยตรง จึงแตกต่างกับรอยพระพุทธบาทจำลองของสุโขทัยก่อนหน้านั้นที่รับรูปแบบการจัดรูปมงคล ๑๐๘ ในช่องตาราง ตรงกลางฝ่าพระบาทมีธรรมจักรขนาดเล็ก
เดินอ้อมมาด้านหลัง บริเวณ พระเจดีย์
ตุ๊กตาจีน มีให้เห็นตลอดทางเดิน
พระวิหารเก๋ง และที่เห็นมีเสาเยอะๆก็จะเป็น พระวิหารพระศาสดา
พระวิหารเก๋ง ด้านหน้าสุดที่เห็นหน้าต่างนั้น(มุขด้านทิศตะวันออก) ด้านในประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ”
ภายในวิหารเก๋งห้องตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูป ๓ องค์ คือ
พระพุทธวชิรญาณ
เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช ปางห้ามสมุทร ประดิษฐานตรงกลางหันพระพักตร์ไปทิศใต้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหล่อเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ ผู้ครองวัดบวรนิเวศวิหารเป็นองค์ที่ ๑ อัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๘ พระพุทธรูปฉลองพระองค์นี้ได้นามตามพระบรมนามฉายา ขณะทรงผนวชว่า “วชิรญาโณ”
พระพุทธมนุสสนาค
เป็นพระพุทธรูปยืนครองจีวรคลุมทั้ง ๒ พระอังสา ประดิษฐานด้านสกัดทางทิศตะวันตกเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์และบรรจุพระอังคารของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ครองวัดบวรนิเวศวิหารเป็นองค์ที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างนำมาประดิษฐานในพุทธศักราช ๒๔๗๓ พระพุทธรูปฉลองพระองค์นี้ได้นามตามพระนามฉายาของพระองค์ว่า “มนุสฺสนาโค”
พระพุทธปัญญาอัคคะ
เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ผู้ครองวัดบวรนิเวศวิหารเป็นองค์ที่ ๒ ประดิษฐานทางด้านสกัดทิศตะวันออก หล่อและประดิษฐานพร้อมกับพระพุทธวชิรญาณ ในพุทธศักราช ๒๔๒๘
เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ครองจีวรคลุม ๒ พระอังสา ประดับด้วยฉัตรทองฉลุลาย ๕ ชั้น เบื้องล่างบรรจุพระอังคารสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระพุทธรูปฉลองพระองค์นี้ได้นามตามสร้อยพระนามของพระองค์ว่า “ปัญญาอัครอนาคาริยรัตโนดม”
เดินมาอีกหน่อย เป็นมุขทางด้านตะวันตกของวิหารเก๋ง ซึ่งประดิษฐานพระพุทธชินสีห์จำลอง และสถานที่นี่นี้เองเป็นที่ประดิษฐานพระสรีรางคารของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ผอบพระสรีรางคารจะบรรจุไว้ที่ใต้ฐานพระพุทธชินสีห์จำลอง ณ พระวิหารเก๋ง ซึ่งพระพุทธชินสีห์องค์นี้สมเด็จพระสังฆราช ทรงหล่อขึ้นในโอกาสเจริญพระชนม์พรรษาครบ 80 พรรษา และคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะพระสรีรังคารต่อเนื่องไปอีกระยะ หลังจากนั้น จะเปิดให้ประชาชนสักการะพระอัฐิและพระสรีรางคารได้เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น (Cr. นสพ.แนวหน้า)
(พระบรมราชสรีรางคาร พระราชสรีรางคารหรือพระสรีรางคาร หมายถึง ขี้เถ้านอกจากกระดูกเป็นส่วนที่เหลือหลังจากการถวายพระเพลิง)
เดินมาที่พระวิหารพระศาสดา ห้องทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระศาสดา นั้นอยู่ระหว่างการซ่อมแซม เราก็เลยเดินมาทางห้องทิศตะวันตก ซึ่งประดิษฐาน พระพุทธไสยา
เป็นพระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองปางไสยาสน์ สมัยสุโขทัย ยาวตั้งแต่พระบาทถึงพระจุฬา ๖ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สร้างขึ้นราว พุทธศักราช ๑๘๐๐ – ๑๘๙๓ เดิมประดิษฐาน ณ วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๖ ทอดพระเนตรว่ามีลักษณะงามกว่าพระไสยาองค์อื่นๆ ครั้นเมื่อเสด็จประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จึงได้โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มุขหลังของพระอุโบสถ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๐ ครั้นสร้างวิหารพระศาสดาแล้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วิหารพระศาสดาห้องทิศตะวันตก ที่ฐานพระพุทธไสยาบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
หอสหจร เป็นสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลแบบยุโรป ปัจจุบันใช้สำหรับเป็นที่อยู่ของผู้ที่บวชโดยเสด็จพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระตำหนักทรงพรต
พระตำหนักทรงพรต (ถ่ายด้านหลัง)
เดินมาถึงอาคารมนุษยนาควิทยาทาน หรือเรารู้จักกันในชื่อ พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
เดี๋ยวเราจะเดินเข้าไปชมด้านในนะครับ โดยภายใน จะมีการจัดแสดงแยกเป็นห้องต่างๆ
อาหารการกิน
เดินเที่ยวมาเยอะแล้ว ตอนนี้ท้องก็เริ่มหิวขึ้นมาละสิ เมื่อเช้าเห็นแว๊บๆแล้วหละว่า แถวๆหน้าวัด น่าจะมีอะไรกิน ก็เลยเดินออกไปทางประตูด้านข้าง ออกถนนบวรนิเวศ มองไปฝั่งตรงข้ามเริ่มเห็นอะไรที่พอจะกินได้บ้างหละ
ตรงริมกำแพงวัดนั้น ก็จะมีขายน้ำ ขายผลไม้ ขายพวงมาลัย ฯลฯ
ด้วยอารมณ์หิว เจอร้านนี้ก็หม่ำร้านนี้ก่อนเลย …
ไม่ได้เข้ามากินปาท่องโก๋นะครับ แต่เป็นจานนี้x2 ข้าวหมูแดงหมูกรอบ รสชาติก็ถือว่าโอเคครับ จานนี้ครึ่งร้อย
อิ่มแล้วก็ลองเดินดู มีน่าทานหลายร้านนะครับ เอาไว้วันหลัง ต้องมาสำรวจละเอียดสักหน่อย
ใครชอบแบรนเนม ก็บะหมี่เลขแปดนี่เลยครับ
หรือจะอาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง ก็เดินมาหน่อยครับ
สรุป นะครับ
เป็นวัดที่มากด้วยประวัติศาสตร์ในยุครัตนโกสินทร์ที่เหมาะแก่การค่อยๆเดินชม ไปทีละนิด ผมตั้งใจว่า จะกลับมาใหม่ ด้วยเวลาที่เต็มวัน จะค่อยๆเดินชม และจะอ่านรายละเอียดมาก่อน รีวิวนี้ ไปก่อนกลับมาค้นคว้าเพิ่มเติมทีหลัง …