Samsen2U : หมอรอบพอร์ต : Medical TCAS1(Portfolio)

พอดีเมื่อวานได้มีโอกาสไปนั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับ ผปค. และเด็กๆ EP วิทย์ ระดับชั้น ม.5 ซึ่งหัวข้อหลักๆก็คือ TCAS รอบ Portfolio อันเกี่ยวข้องกับ คณะแพทยศาสตร์ – วิศวกรรมศาสตร์ และ คณะอื่นๆที่ปรากฏอยู่ในรอบ portfolio

สิ่งหนึ่งที่รู้สึกดีใจมากๆกับการเสวนาครั้งนี้ก็คือ คำถามที่สอบถามเรื่องโน้นเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่มาจากเด็กๆ ทุกคำถามจะตั้งใจฟังมาก เพื่อหาคำตอบเท่าที่พอจะมีอยู่ในหัวที่คิดว่าตรงตามคำถามที่สุด แต่ก็มีบางคำถามที่ขอเก็บไปเป็นการบ้าน

ก่อนไปนั่งคุย เราก็ทำการบ้านไปบ้าง เพื่อให้มีข้อมูลพื้นฐานในการคุย ก็เลยเอาสิ่งที่เตรียมไว้คร่าวๆ มาแชร์ไว้ตรงนี้ด้วย หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงนะครับ

หลักๆที่เตรียมทำการบ้าน ก็ง่ายมากๆ ถอยหลังกลับมาหนึ่งก้าวแล้วมองดูว่า “เรา” ต้องการอะไร อยากรู้อะไร เพราะเราก็ไม่ได้รู้มากกว่าคนอื่น ก็หาข้อมูลมาคุยกันไปพร้อมๆกัน


หมอรอบพอร์ต

วันนี้มาเริ่มเรื่องหมอรอบพอร์ตก่อน เพราะเมื่อวานหลายๆคนก็ชวนกันพูดคุยกับเรื่องนี้ เสียดายว่าในห้องที่นั่งคุยกัน ไม่มี Projector ไม่งั้นก็ได้ฉาย powerpoint พร้อมๆกับคุยไปก็เป็นการดี

หมอรอบพอร์ต ก็ไม่ได้มีทุกมหาวิทยาลัยนะครับ สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดรับและจำนวนที่รับ ก็แสดงอยู่ในภาพนี้ครับ(2563) ตกหล่นที่ไหนไปขออภัยด้วยนะครับ สำหรับของรามา ก็มีเพิ่มมาให้อีกแผนการศึกษา นั่นคือ หมอ7ปี(+Master of Management) จำนวนอีก 20 คน ในปีการศึกษา 2564

อีกเรื่องที่บางครั้งก็อาจจะหาข้อมูลที่ถูกต้องตรงเผงไม่ค่อยได้เท่าไหร่ก็คือ ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน เพราะหลายที่หลายโครงการหลายราคา แตกต่างกันไปตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักหลายๆแสน

MED – CU :

คณะแพทย์จุฬารอบพอร์ต จะเป็นความหวังของเด็กเก่งๆจากโรงเรียนดังๆทั้งในแผนการเรียนปกติ โรงเรียนพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญเด็กๆจากโรงเรียนอินเตอร์ทั้งหลาย

ของจุฬาจะมีความแตกต่างจากที่อื่นนิดหน่อยก็คือ ไม่ได้บอกกำหนดขั้นต่ำของ BMAT มา “แต่” เอาคะแนนของ BMAT มาเป็นส่วนร่วมในการพิจารณาคัดเลือกร่วมกับ Portfolio โดยให้น้ำหนักของ Part 1 (Aptitude Test) – Part 2 (Academic Test) – Part 3 (Writing) เป็น 40:40:20


MED – RAMA :

แพทย์รามาเป็นอีกสถาบันหนึ่ง ที่มีการเปิดรับรอบ Portfolio เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สองปีที่แล้ว Dek62 รับ 30 คน มาปีที่แล้ว Dek63 รับเพิ่มหมอ 7 ปี(หมอ+วิศวะปริญญาโท) อีก 20 คน เป็น 50 คน ปีที่จะถึง Dek64 ก็รับเพิ่มมาอีก หมอ 7 ปี(หมอ+ Master of management) 20 คน รวมแล้วปีที่จะถึงรับเป็น 30+20+20 = 70 คนเลยทีเดียว


MED – CMU :

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สำหรับคณะแพทยศาสตร์รอบแรก TCAS-1 ความจริงมีรับถึง 3 โครงการก็คือ

  • เรียนดีโอลิมปิค (ผ่าน สอวน ค่าย 1 และได้รับคัดเลือกไปค่าย 2 ในสาขาวิชา ชีววิทยา/เคมี/ฟิสิกส์/เลข และมีผลสอบ IELTS ≥ 6.0 )
  • ผู้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ (ตามภาพด้านล่างเลย)
  • นักกีฬาระดับชาติ ประเภทครอสเวิร์ด / หมากกระดาน / บริดจ์

ในปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าได้ลดหย่อนเงื่อนไขของ portfolio ลงไปบ้าง


MED – KKU :

ที่นี่อาจจะเป็นตัวเลือกสำรองสำหรับเด็กเก่งๆ แต่เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆของเด็กปานกลาง ทั้งนี้เพราะเวลายื่นพอร์ต เด็กเก่งๆก็จะยื่นกวาดไปหมดเลยทุกที่ที่สามารถ เมื่อผ่านเพื่อเรียกสัมภาษณ์ก็ค่อยว่ากันอีกที

แต่ที่คณะแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีโครงการที่รับในรอบ TCAS-1 แบ่งออกเป็น MD02 ซึ่งจะรับสมัครเฉพาะเด็กในพื้นที่ภาคอีสานจำนวน 76 คน ส่วนอีกโครงการก็คือ MDX จะรับเป็นการทั่วไปจำนวน 44 คน

ที่แสดงในภาพด้านล่างก็จะเป็นการรับของ MDX


MED – VAJIRA :

ทั้งนี้ การรับของวชิรพยาบาล ก็มีการแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มตามเงื่อนไขที่มาที่ไปของนักเรียน หลักๆก็จะเป็นนักเรียนของโรงเรียนที่สังกัด กทม. แต่ที่นำมานั่งคิดนั่งอ่านนี้ก็คือส่วนที่มีการรับเป็นการทั่วไปในรอบ portfolio กลุ่มที่ 5 นักเรียนที่เรียนอยู่ในจังหวัดที่ติดกับกรุงเทพมหานคร คือ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร

ปีนี้ มหาวิทยาลัยนี้ มาแปลกสุด เพราะเงื่อนไข Requirement ไม่มีอะไรเลย ขอแค่ GPAX ≥ 3.00 กับทำ Portfolio มายื่นก็พอละ

ก็เลยลองกลับไปเปิดดู Requirement ของปีที่แล้ว ก็ยังพอมีหน่อยนะครับ ทั้ง IELTS ≥ 6.5 และ BMAT ≥ 13C


MED – SWU :

เรียนหมอสองประเทศฉบับดั้งเดิมก็ต้องมาที่ มศว. นอตติงแฮม นี่แหละครับ การยื่นพอร์ตหรือสอบเข้าที่นี่กลั่นกรองกันง่าย คู่แข่งมีจำนวนจำกัด เพราะอย่างแรกที่ต้องคำนึงถึงก็คือ “เงินในกระเป๋า”

ถ้าเงินไม่ใช่ปัญหา ก็เดินก้าวในขั้นตอนต่อไปได้เลย อย่างที่ทราบว่า จะต้องมีไปเรียนที่ประเทศอังกฤษในช่วง 3 ปีแรก ดังนั้น IELTS ที่สอบก็จะเป็นแบบ IELTS UKVI เป็น IELTS ที่จะใช้ยื่นขอ VISA ผ่านทางสถานฑูตอังกฤษ เพื่อไปเรียนหรือทำงานที่สหราชอาณาจักรนั่นเอง ว่ากันว่า ข้อสอบก็เหมือน IELTS Academic ที่เราๆสอบกันนั่นแหละ แต่จะแตกต่างกันที่ความเข้มงวดในการสอบ สถานที่สอบได้รับการรับรองจากทางสถานฑูตอังกฤษแล้วนั่นเอง

และที่นี่ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่ให้ยื่น BMAT โดยไม่ได้กำหนดขั้นต่ำ ซึ่งก็หมายความว่าเป็นการนำไปพิจารณาคัดเลือกเพื่อการสอบสัมภาษณ์ MMI และเข้าศึกษาต่อไป


MED – PCCMS :

PCCMS หรือ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ก็เป็นอีกสถาบันการแพทย์แห่งหนึ่งที่มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าและตรงตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน นั่นก็คือ มีการปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตร 7 ปี ที่เพิ่มการทำวิจัยเข้ามาในปีที่ 4 ซึ่ง Highlight ก็คือ ความร่วมมือในการทำการเรียนศึกษาและปฏิบัติงานวิจัย Research and Innovation นี้กับ University College London ที่ประเทศอังกฤษ แต่ก็เปิดโอกาสให้เรียนที่เมืองไทยก็ได้ในกรณีที่มีอุปสรรค์ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเรียนที่สหราชอาณาจักรได้ ส่วนในสามปีสุดท้ายก็คือปีที่ 5-6-7 ก็จะเรียนที่โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ โรงพยาบาลร่วมสอนอื่นๆ

สำหรับ PCCMS นั้นอาจจะแตกต่างจากที่อื่นตรงที่ในส่วนของ Academic Test ไม่ได้เปิดรับ BMAT แต่รับเป็น SAT Subject II ในรายวิชา Biology/Chemistry/Physics or Mathematics โดยต้องมีคะแนน ≥ 700

ในส่วนของ English Proficiency ก็กำหนด IELTS ≥ 7.0


MED – CICM TU :

CICM TU เป็นหลักสูตรที่สอนแบบ English Program วึ่งจะแตกต่างจาก International Program ตามความเข้าใจส่วนตัวก็คือ รับเด็กไทยมาเรียนในภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งการจัดการก็อาจจะเหมือนหรือคล้ายกับหลักสูตร EP ในระดับมัธยม เพราะมีข้อกำหนดหนึ่งในประกาศรับสมัครว่า “Can communicate in Thai” แต่ก็อาจจะไม่เหมือนที่คิดเป๊ะหรอก ต้องลองเข้าไปเรียนดูนะ ถึงจะรู้

Requirement ก็คล้ายๆกับหลายๆมหาวิทยาลัย แต่ที่นี่เกรดขั้นต่ำจะอยู่ที่ 2.50 และ
IELTS ≥ 6.5 ส่วน BMAT ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำแต่คงนำไปใช้พิจรณาการคัดเลือก


MED – KMITL :

หมอลาดกระบัง เอาเป็นว่า เพิ่งจะรู้จักหรือเพิ่งจะเคยได้ยินกันมาไม่นาน เพราะว่าเพิ่งจะเปิดนั่นเอง และก็เพิ่งจะได้ข่าวไม่กี่วันมานี้ว่า ลาดกระบัง จะสร้างโรงพยาบาลด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งต่อนักศึกษาเองและประชาชนทั่วไปในย่านนั้นๆ

การเรียนที่นี่จะเป็นหลักสูตรนานาชาติ ดังนั้นค่าเทอมย่อมไม่ธรรมดาแน่ๆ ส่วนการยื่นสมัคร ก็มี option ให้เลือกว่าจะยื่น BMAT หรือจะยื่น SAT Subject II ก็ถือว่ายืดหยุ่นพอสมควร


ตารางสรุปคร่าวๆ

จาก Requirement ของหลายๆมหาวิทยาลัย มีส่วนที่คล้ายๆกันหลายส่วนอยู่ ก็เลยลองเอามาสรุปเป็นตารางเดียวกันว่าใครมีความต้องการอะไรอย่างไรบ้าง

ยิ่งเขียนเรื่องยิ่งเยอะแฮะ เดี๋ยวก็นึกโน่นได้ เดี๋ยวก็นึกนี่ได้ คงต้องตอนต่อๆไปนะครับ

จาก Requirement ของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเห็นว่า มีเรื่องที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสมัครหรือการคัดเลือกก็คือเรื่องการสอบวัดระดับความรู้มาตรฐานต่างๆ ซึ่งก็คงต้องมาเขียนในตอนต่อๆไป แต่คงเลือกเอามาเท่าที่พอจะมีความรู้ความเข้าใจอยู่แล้วบ้างเช่น IELTS / SAT / SAT Subject / BMAT / CU-TEP / TU-GET จริงๆก็ยังมีอีกหลายสนามสอบที่สามารถเลือกเป็นตัวเลือกทดแทนได้โดยเฉพาะ English Proficiency ที่มีของมหาวิทยาลัยนั้นๆเอง หรือ TOEFL ฯลฯ แต่พวกนี้ผมไม่ค่อยได้สัมผัส เลยเลือกที่จะไม่พูดถึง


Samsen2U : ห้องเรียนพิเศษ ESMTE ไปเรียนต่อที่ไหนบ้าง?

Samsen2U : ห้องเรียนพิเศษ ESMTE ไปเรียนต่อที่ไหนบ้าง?

หลังจากที่ทำไปแล้ว 2 แผนการเรียนคือ สามัญวิทย์ และ ห้องเรียน EP วันนี้เราก็จะมาถึงห้องเด็กเก่งกันบ้าง นั่นก็คือห้อง ESMTE หรือห้องที่เรียกว่า พสวท. เมื่อก่อนนั้นเอง ก่อนที่จะมาเปิดอีกห้องเรียกเป็นห้อง พสวท.(สู่ความเป็นเลิศ) หรือห้อง 17 ห้อง ESMTE หรือห้อง 5 เป็นห้องที่เด็กๆสามารถสอบเข้าคณะและมหาวิทยาลัยดีดีตามที่ตัวเองต้องการ และ นักเรียนทุน พสวท.

Samsen2U – เด็ก EP ไปต่อที่ไหนกันบ้าง?

Samsen2U – เด็ก EP ไปต่อที่ไหนกันบ้าง?

คราวที่แล้วเขียนเกริ่นๆไปของห้องสามัญวิทย์ 601-604 วันนี้จะมาเขียนสรุปของห้อง EP ทั้ง 3 ห้อง EP วิทย์ 614-615 และ EP คณิต+ศิลป์ภาษา 613 ซึ่งอาจจะง่ายหน่อย เพราะเด็กสามห้องรวมกัน ไม่กี่คนเอง หลากหลายคำถามว่า เรียน English Program แล้วจะต้องไปต่อสาย International School หรือปล่าว?

Samsen2U : สามัญวิทย์ ไปเรียนต่อไหนกันบ้าง?

Samsen2U : สามัญวิทย์ ไปเรียนต่อไหนกันบ้าง?

จริงๆก็พยายามหาข้อมูลมานานอยู่หลายรอบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กสามเสนมอปลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นข้อมูลระดับ High Level เช่น ปีนี้สามเสนเข้า จุฬาได้ 129 คน ธรรมศาสตร์ 94 คน …… และ วิศวกรรมศาสตร์ 92 คน บัญชีบริหารและวิทยาการจัดการ 78 คน แพทย์ 41 คน …… ซึ่ง…พอเรามาดูแล้วมีความรู้สึกว่า