สามเสน ม.4

สามเสน ม.4 – EP MSEP ESMTE ปีการศึกษา 2561

สามเสน ม.4 – EP MSEP ESMTE ปีการศึกษา 2561

สามเสน ม.4 รอบห้องเรียนพิเศษ ตามที่เคยดูอยู่ห่างๆ ดูบ้างไม่ดูบ้าง ในปีที่ผ่านๆมา เพราะดูบ้างไม่ดูบ้าง ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าลูกจะต้องมาลงสอบกับเขาด้วย จึงสังเกตุเห็นได้ว่า ผมจะไม่ค่อยได้เขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องสอบเข้า ม.4 เลย . . . วันนี้ และ หลายๆครั้งที่ผ่านมา ก็มักจะมีคนถามผมอยู่เสมอว่า ทำไมไม่เขียนหรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับ สอบเข้า ม.4 บ้าง ซึ่งทุกครั้งผมก็ตอบไปในแนวทางเดียวกันเสมอว่า ส่วนใหญ่ที่เล่าหรือเขียน เขียนออกมาจากประสบการณ์จริง มันต้องเจอกับตัวเองก่อน ถึงจะเล่าได้อย่างไม่เขอะเขิล และเล่าได้เป็นธรรมชาติ

แต่สอบเข้า ม.4 ไม่เหมือนกับสอบเข้า ม.1 เมื่อสามปีก่อน เพราะไม่ได้ถือเป็นวาระของครอบครัวมาโดยตลอด นึกว่ายังไงก็ได้เรียนต่อที่เดิมแน่ๆอยู่แล้ว . . . หารู้ไม่ !!! . . . เลยต้องมามีวันนี้ . . .

ดังนั้น อาจจะไม่ได้เล่ายืดยาวเหมือนเก่า แต่ก็อยากจะเล่าบางมุม บางแง่ บางตอน ข้อคิด จากการได้เห็น ได้สัมผัส หลายสิ่งหลายอย่าง เพราะเท่าที่ผ่านมา เราดู เราเห็น เราฟัง แต่เราไม่ได้พูดอะไร เก็บเรื่องราวเหล่านั้น กะว่า วันหนึ่งคงได้เล่าสู่กันฟังบ้าง

เขียนมายืดยาว แต่ . . . .  จะบอกว่า วันนี้ไม่ได้มาเล่าอะไรหรอก เพียงแค่จะเอาผลการสอบคัดเลือกเข้าสามเสน ที่เพิ่งผ่านมา มาร่วมแชร์ ร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เท่านั้นเอง ยังไม่มีอื่นไกล

เดี๋ยวลองดูผลสอบกันก่อนนะครับ แล้วลองมาคิดกันูว่า ได้อะไรจากข้อมูลเหล่านี้บ้าง

+++ ข้อมูลที่นำมาใช้ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลสาธารณะที่ได้มาจากการประกาศผ่านทางเว็บของโรงเรียนและแหล่งอื่นๆบน internet ทั้งสิ้น ผมเพียงแค่เอามาปะติดปะต่อให้เข้ารูปเท่านั้น ความลำบากอยู่ตรงที่ ข้อมูลที่ได้มาเป็น pdf บ้าง เป็นภาพถ่ายที่ไม่ชัดบ้าง เลยต้องนำมาจิ้มดีดพิมพ์เองใหม่หมด (รวมทั้งของ ม.1 ที่ทำไปแล้วด้วย) ดังนั้น อาจมีข้อผิดพลาด พิมพ์ผิด พิมพ์ถูก ตกหล่นอะไรบ้างก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ +++

+++ เดี๋ยวเราไปสรุปกันตอนท้ายนะครับว่า ทำไมถึงเรียกสำรองกันหลายรอบ หลายสิบ เป็นร้อย . . +++


EP ศิลป์ภาษา(ฝรั่งเศษ-เยอรมัน)

มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความจำนง 151 คน
มีผู้มาสมัครสอบ 114 คน
มีผู้มาเข้าสอบ 108 คน
มีผู้สอบได้ 5 คน

ดูจากตัวเลขผู้สมัครแล้ว มันก็จะออกแนวบู๊โหดๆหน่อย เพราะสมัคร 114 คน รับ 5 คน อัตราส่วนประมาณ 1:23 เชียว เอาง่ายๆตอนเดินเข้าห้องสอบ มองซ้ายมองขวาดูละกัน 5 คนไหนจะได้ไปต่อ พอดีว่ามีการรับแค่ 5 คน ก็เลยไม่ได้ทำข้อมูลสถิติอะไรไว้ กวาดสายตาคร่าวๆก็พอจะประมาณได้ว่า แต่ละวิชาเป็นอย่างไร เป็นเด็กนักเรียนมาจากโรงเรียนไหนบ้างก็เห็นครบ 5 คน 5 โรงเรียน

EP คณิตศาสตร์(ศิลป์คำนวณ)

มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความจำนง 79 คน
มีผู้มาสมัครสอบ 54 คน
มีผู้มาเข้าสอบ 49 คน
มีผู้สอบได้ 5 คน

ค่อยน่ารักหน่อย 1:10 ก็พอจะสู้กันได้ 

EP วิทยาศาสตร์

มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความจำนง 119 คน
มีผู้มาสมัครสอบ 89 คน
มีผู้มาเข้าสอบ 81 คน
มีผู้สอบได้ 10 คน

ESMTE ห้องกิฟท์วิทย์

มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความจำนง 188 คน
มีผู้มาสมัครสอบ 134 คน
มีผู้มาเข้าสอบ 117 คน
มีผู้สอบได้ 30 คน

สำหรับห้องนี้ที่ปกติเรียน 36 คน แต่รับสมัครเพียง 30 คนนั้น ที่เหลืออีก 6 คน เป็นโควต้านักเรียนทุนของ สอวน. 

MSEP กิฟท์เลข

มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความจำนง 725 คน
มีผู้มาสมัครสอบ 586 คน
มีผู้มาเข้าสอบ 543 คน
มีผู้สอบได้ 72 คน


บทสรุป

มีหลายท่านถามผมว่า ทำไมถึงมีการเรียกตัวสำรองค่อนข้างเยอะ(มาก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้อง MSEP และ ESMTE ซึ่งผมเดาๆว่า  เด็กนักเรียนที่เข้าสอบทั้งสองห้องนี้กว่า85% เป้าหมายหลักเขาอยู่ที่ เตรียมอุดม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ทำคะแนนได้ดี เด็กที่ผ่านการคัดเลือก 72 คน ของห้อง MSEP และ 30 คนของห้อง ESMTE มากกว่า 90% ใจจะอยู่ที่การสอบสนามเตรียมอุดม

อ่าว ! . . . แล้วมาสอบที่นี่ด้วยจุดประสงค์อะไร?

คงมิใช่เพียงแค่เป็นการลองสนามสอบเหมือนกับว่าใช้ที่นี่เป็นสนามสอบ pretest เตรียมฯ หรอกครับ เพราะอย่างน้อยๆโครงสร้างและจำนวนวิชาที่สอบก็ไม่เหมือนกันแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งก็ยังพอไหว และใช้เป็นตัวชี้วัดใน 3 รายวิชานี้ได้อย่างคร่าวๆว่า คู่แข่งที่เห็นหน้ากันเกือบทุกสนาม แต่ละคนไปถึงไหนกันแล้ว ในวันที่ใกล้จะถึงวันสอบเข้าเตรียมอุดมแบบนี้ ที่เป็น Highlight เลย แบบว่าแถมมาโดยไม่ได้ร้องขอนั่นก็คือ การประกาศคะแนนของผู้เข้าสอบทุกคน ทำให้คนที่ติดหรือไม่ติด หรือได้ลำดับตัวสำรองลงไปนั้น ทราบคะแนนตัวเองและสามารถประเมินตัวเองได้ด้วย

ที่แน่ๆคือ หาที่เรียนสำรอง !

ทั้งนี้เนื่องจากว่า ห้องเรียนพิเศษในระดับชั้น ม.ต้น ของสามเสน ซึ่งก็คือห้อง MSEP และห้อง ESC นั้น ไม่สามารถขยับขึ้นมาเรียน MSEP หรือ ESMTE ในระดับชั้น ม.4 ได้โดยอัตโนมัติ จะต้องสอบคัดเลือกเข้ามาใหม่เหมือนกับเด็กๆจากโรงเรียนอื่นๆทั้งหมด ซึ่งเอาเข้าจริงๆเกือบทั้งหมดของเด็กเหล่านี้ ก็วางเป้าไว้ที่โรงเรียนดังที่มีแต่ระดับชั้นมัธยมปลายแทบทั้งสิ้น !

และที่ผมได้ยินผ่านหูมา ไม่รู้ว่าจริงเท็จอย่างไรก็คือเด็กเก่งจากบางโรงเรียน ถ้าจะไปสอบเข้าเตรียมอุดม จะต้องลาออกจากโรงเรียนเดิมก่อน ซึ่งเด็กเก่งๆเหล่านี้ ก็จำต้องหาที่สำรองเอาไว้เช่นกัน ถ้าเกิดพลาดพลั้งจับพลัดจับผลูไม่ได้เตรียมฯขึ้นมา ก็จะได้มีที่เรียนที่พอเหมาะพอควรได้

เด็กเก่งๆของ EP สามเสนก็เช่นกัน ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมสังฆกรรมในรอบนี้ด้วย และก็ทำได้ดีเช่นกัน ซึ่งกวาดตามองดูชื่อเด็กที่สอบได้แต่ละคนแล้ว หน้าตาก็ออกไปทางพระเกี้ยวน้อยกันแล้วทั้งนั้น

ดังนั้น หลังจากวันที่ เตรียมอุดมประกาศผล (5 เมษายน 61) ก็จะพบว่า เด็กเหล่านี้ที่สอบติดเตรียมฯ ก็จะไม่ได้มาปรากฏกายมอบตัวที่สามเสนในวันที่ 6 เมษายน 61 ปรากฏการเรียกตัวสำรองเป็นระลอกคลื่นก็จะปรากฏขึ้น เมื่อมีการเรียกตัวสำรอง แล้วตัวสำรองที่เรียกมาก็ไม่ได้มารายงานตัวอีกเพราะติดเตรียมเช่นกัน ก็ต้องเรียกใหม่อีก เป็นเช่นนี้ไปจนครบถ้วนจบกระบวนความ คลื่นถึงได้สงบ บางครั้งเรียกกันไปเรียกกันมาต่อเนื่องข้ามไปเดือนพฤษภาคมโน่น

แสดงว่าอะไร? . . . แสดงว่าเด็กเก่งๆ มาลงสนามนี้กันเยอะมากนั่นเอง เด็กเก่งรองลงไปที่อยากเรียนที่นี่จริงๆ บางครั้งก็ต้องรอจังหวะและโอกาส คล้ายๆกับยืมจมูกคนอื่นหายใจ แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว . . .