แพทย์ศิริราช รอบ TCAS-1 Portfolio ปีการศึกษา 2567

ปีนี้น่าจะประกาศ Requirement ออกมากันเร็วกว่าปีที่ผ่านๆมากันเกือบทุกมหาวิทยาลัยเป็นแน่แท้ วันนี้ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ก็ประกาศออกมาเพิ่มเติมด้วยข้อมูลเยอะพอสมควร ถ้าจะเหลือก็เหลือแค่ประกาศรับสมัครฉบับเต็มเท่านั้น . . . เดี๋ยวเราลองมาดูหน่อยว่า มีอะไรเปลี่ยนแปลงแปลกใหม่

ซึ่งที่เห็นชัดเจนเลยก็คือ ปีนี้รับเฉพาะ TCAS-1 และ TCAS-3 ส่วนรอบ TCAS-2 โครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่น-ดนตรีแสดงเดี่ยว ที่ปีที่แล้วเปิดรับ 1 คน นั้นก็ไม่มีเปิดรับในปีนี้ และ ในรอบ TCAS-1 เองนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไปพอสมควร


TCAS-1 PORTFOLIO

เปิดรับ 3 โครงการคือ
+ โครงการโอลิมปิกวิชาการ 70 ที่นั่ง
+ โครงการความสามารถพิเศษด้านภาษาอังกฤษ 20 ที่นั่ง
+ โครงการรับบุคคลจบปริญญาตรี 10 ที่นั่ง

ในรอบ TCAS-1 Portfolio นี้นั้น ก็จะเหมือนกับปีที่แล้ว นั่นก็คือจะอยู่ในรอบ 1/2 ของ TCAS-1 หลายท่านที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ปีที่แล้วอาจจะงงก็เป็นได้ว่า TCAS 1/2 มันอะไร ยังไงหรอ?

เอาเป็นว่า สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดล เขาแบ่งช่วงการรับในรอบ Portfolio ออกเป็น 2 รอบ ซึ่งก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กๆ ซึ่งในแต่ละรอบย่อยนั้น จะสามารถยื่น portfolio ได้เพียงแค่ 1 คณะสาขาวิชาเท่านั้น (1 คนยื่นได้ 1 พอร์ต) ทั้งนี้ไม่รวมพวกหลักสูตรนานาชาติ(ที่สามารถยื่นได้เท่าที่ต้องการ และสามารถยื่นพร้อมกับหลักสูตรปกติได้อีก 1 portfolio)

บางคณะก็จะเปิดในรอบ 1/1 ถ้ารับได้ไม่ครบ ก็สามารถเปิดรับในรอบ 1/2 ได้ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในรอบ 1/1 จะยืนยันสิทธิ์”ภายใน” หรือไม่ก็ได้ ถ้ายืนยันสิทธิ์ก็เท่ากับว่ายอมรับคณะนี้ในมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว จะไม่สามารถสมัครคณะอื่นๆในรอบอื่นๆของมหาวิทยาลัยมหิดลได้อีกแล้ว (ไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ)

บางคณะก็จะเปิดรับในรอบ 1/2 คนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจากรอบ 1/1 หรือคนที่ได้รับการคัดเลือกแต่ไม่ได้ยืนยันสิทธิ์ “ภายใน” ของรอบ 1/1 ถ้าสนใจคณะอื่นๆของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เปิดรับในรอบ 1/2 ก็สามารถยื่นสมัครในรอบ 1/2 ได้

ทั้งแพทย์ศิริราช และ แพทย์รามา ของมหาวิทยาลัยมหิดล ล้วนอยู่ในรอบ 1/2 ทั้งคู่ นั่นแสดงว่า เราจะต้องเลือกยื่นที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น


โครงการเรียนดีโอลิมปิก

ถ้าจะมาดูว่าปีนี้มีอะไรพิเศษกว่าปีที่ผ่านมา ก็คงต้องมาดูที่คุณสมบัติเฉพาะ

สรุปความเปลี่ยนแปลงที่เห็นก็คือ

+ รับเฉพาะนักเรียนสายการเรียน “วิทยาศาสตร์” เท่านั้น
+ เหรียญโอลิมปิก ปีนี้รับเฉพาะเหรียญทองและเหรียญเงิน ส่วนเหรียญทองแดงปีนี้ตัดออกไป (กลับไปเหมือนปี 2565) ส่วนสาขาวิชายังคงเหมือนเดิม
+ เพิ่มผลคะแนนสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษ IELTS ≥ 6.5 หรือ TOEFL iBT ≥ 79

ซึ่งการกำหนด spec เรื่องเหรียญให้สูงขึ้น ย่อมสะท้อนให้เห็นอยู่แล้วว่าเด็กๆที่ยื่นแต่ละคนคุณสมบัติค่อนข้างสูง เก่งๆกันทั้งนั้น และมาเพิ่มเงื่อนไขเรื่องคะแนนมาตรฐานภาษาอังกฤษก็จะเป็นการกรองอีกชั้นหนึ่ง เพราะอย่าลืมว่าภาษาอังกฤษจะต้องใช้ตลอดไปเยอะมาก สำคัญมาก ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาเป็นนักศึกษาแพทย์. . .

ในส่วนของตัว Portfolio เองนั้น ก็มีการปรับเปลี่ยนข้อความ โดยเน้นคำว่า “กิจกรรมอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน” ซึ่ง cover คำเก่าที่เขียนไว้เมื่อปีที่แล้วทั้งหมด. . . การประกวดมารยาท คัดลายมือ รำไทย ดนตรีไทย ผู้นำกิจกรรม กีฬา ดนตรี ฯลฯ แต่ก็แฝงไว้ด้วยนัยสำคัญที่กว้างกว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน” เพื่อสะท้อนตัวตนของเราเองว่าเรามีทักษะความสามารถด้านอื่นๆอะไรอีกบ้างนอกจาก เรียน เรียน เรียน แล้วก้อเรียน ถ้าเรามีกิจกรรมหลากหลายและทำมาเรื่อยๆ ไม่ได้มาเร่งทำตอนปีสุดท้ายนี้ มันก็ดูสะท้อนตัวเราได้ชัดเจน และเราก็ควรที่จะเขียนเอง ในรูปแบบของเราเอง

อีกเรื่องหนึ่งที่มีข้อกำหนดที่เพิ่มเติมมาก็คือ Statement of Purpose / Personal Statement ที่กำหนดให้ใช้
+ Font TH sarabun NEW ขนาด 16
+ Single Space
+ กั้นหน้า กั้นหลัง กั้นบน กั้นล่าง 1 นิ้วทั้ง 4 ด้าน
+ SOP สามารถพิมพ์ได้ทั้งภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ (ปีที่แล้วกำหนดเป็นภาษาไทยอย่างเดียว)

ถ้าใครยังไม่มีฟอนต์นี้ก็สามารถหา download มาใช้ได้ครับ หรือ download จากที่นี่ TH Sarabun New

Credit : f0nt.com

โครงการความสามารถพิเศษด้านภาษาอังกฤษ

ถ้าถามว่าเปลี่ยนแปลงไปเยอะไหม? ก็ขอตอบว่าก็พอสมควร เปลี่ยนไปในแนวทางที่สามารถเปรียบเทียบจับต้องได้ เนื่องจากปีที่แล้วใช้คำว่า “โครงการความสามารถพิเศษ” โดยมีกลุ่มทักษะต่างๆมากมายรวมทั้งภาษาอังกฤษ เช่น ความสามารถพิเศษทางด้านธุรกิจการเงิน, AI, Robot, ความเป็นผู้นำชุมชน, งานวิจัย ซึ่งครั้งแรกที่เห็นของปีที่แล้วก็คิดอยู่ในใจแล้วว่า เกณฑ์แบบนี้เป็นการยากที่จะเปรียบเทียบคัดเลือกให้เกิดความยุติธรรม ปีนี้ปรับเหลือแค่ภาษาอังกฤษ แล้วไปว่ากันที่กิจกรรมที่ทำกัน

มาดูกันที่คุณสมบัติเฉพาะว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างนะครับ

สรุปความเปลี่ยนแปลงที่เห็น
+ กำหนดคุณสมบัติแผนการเรียน “วิทยาศาสตร์” เท่านั้น
+ ไม่ดูเกรดเฉลี่ยรายวิชาแล้ว
+ ไม่รับวุฒิ กศน. และ GED
+ ปรับเกณฑ์ผลสอบคะแนนมาตรฐานภาษาอังกฤษขึ้น และรับเฉพาะ IELTS ≥ 7.0(จากเดิม 6.0) และ TOEFL iBT ≥ 100(จากเดิม 79) (อายุ 1 ปี)
+ ไม่ใช้คะแนน BMAT หรือ MCAT มาพิจารณา ถึงแม้ว่าปีนี้จะยังคงมีสอบ BMAT
+ อย่างที่บอกว่าปีนี้ไม่รับความสามารถพิเศษทางด้านธุรกิจการเงิน, AI, Robot, ความเป็นผู้นำชุมชน, งานวิจัย

จริงๆก็โดนใจนะครับที่ไม่เอาเกรดเฉลี่ยวิชาภาษาไทย/สังคมศึกษามาพิจารณาเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำ และการปรับเกณฑ์ภาษาอังกฤษให้สูงขึ้นเป็นการกรองที่เข้มขึ้น(ถึงแม้ 7.0 สำหรับเด็กไทย เดี๋ยวนี้ จิ๊บ จิ๊บ) ก็คงต้องไปว่ากันที่การนำเสนอ portfolio ละครับว่าใครมีกิจกรรมใดน่าสนใจมากกว่ากัน ใครไม่ได้ fake ใครมีกิจกรรมที่แสดงตัวตนได้ดี

ในส่วนของตัว Portfolio และ Statement of Purpose / Personal statement นั้น ก็เปลี่ยนแปลงในรายละเอียดจะเหมือนๆกับโครงการโอลิมปิก


บทสรุป

ปีนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเหรียญรางวัลของโครงการโอลิมปิก ซึ่งก็ต้องดูอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่รับโครงการทำนองเดียวกันนี้ นั่นคือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ้าเชียงใหม่รับจบกระบวนการก่อนศิริราชเหมือนเช่นปีที่แล้ว และได้เด็กเหรียญทองเงินไปเยอะ ก็อาจจะโดนเทจากเด็กเหรียญทองเงินถ้าเด็กๆได้ที่ศิริราชเหมือนปีที่แล้ว (เอ๊ะอย่างนี้ เชียงใหม่พิจารณารับเด็กเหรียญทองแดงลงมาถึงค่าย 2 เป็นหลักจะดีไหม จะได้ไม่โดนเท แฮะๆ ล้อเล่นนะครับ)

แพทย์ศิริราช รอบ Portfolio ปีการศึกษา 2566

RAMA PORTFOLIO สำหรับ DEK67