แพทย์รอบ Portfolio กับ งานวิจัย !!!

5 5 5 ความจริงก็ไม่ได้มีอะไรวุ่นวายหรอกครับ เพียงแต่ว่ามีประเด็นเรื่อง “งานวิจัย” ทั้งในส่วนของ Shopping งานวิจัยของอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย มาผสมโรงกับงานวิจัยของนักเรียนที่ยื่น portfolio เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ที่มีคำวิจารณ์กันว่างานวิจัยนั้นๆ

+ ควรหรือไม่ควรได้รับการพิจารณา
+ เป็นผลงานที่แท้จริงหรือไม่
+ แค่เอามาปรับเปลี่ยน wording ก็ได้แล้วหรอ
+ นี่มันงานวิจัยผ่าน Google ชัดๆ
+ ต้องไปลงคอร์สกับสถาบันติวเตอร์ รวมๆค่าใช้จ่ายครึ่งแสนจนเหยียบแสน
+ จ่ายเงินเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์
+ จ่ายเงินเพื่อให้มีชื่อต่อพ่วงในงานวิจัย
+ หนึ่งงานวิจัย ชื่อยาวเป็นหางว่าว
+ ฯลฯ

ยังมีอีกเยอะแยะมากมายที่วิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่ม Line หรือ Social Media ต่างๆ

อันเป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปคิดต่อของหลายๆคน มีทั้งไม่อยากให้มีรอบพอร์ต ไม่มีความโปร่งใสในการคัดเลือก ฯลฯ ต่างๆนานา ซึ่งในการรับรอบพอร์ตของแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีความแตกต่างกัน ตามแต่ความต้องการของมหาวิทยาลัยนั้นๆว่าอยากได้เด็กแบบไหน การที่จะวางหลักเกณฑ์ให้ถูกใจทุกคนในทุกเรื่องก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น ค่อยๆดูกันไปนะครับว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ซึ่งถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ก็มีงานวิจัยของเด็กหลายๆคน ที่ทำด้วยความถูกต้องตามเส้นทาง และ นอกเหนือจากงานวิจัย ก็จะมีโครงงานต่างๆที่เด็กๆตั้งใจทำเพื่อประกวดในสนามต่างๆที่มี ทั้งในระดับโรงเรียน จังหวัด ภาค ชาติ และ นานาชาติ

ถ้ามองแล้วโครงงานยังไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักเรียนในโรงเรียนที่มีห้องเรียนพิเศษ เช่น สสวท. พสวท. ฯลฯ ซึ่งต้องมีโครงงานในแผนการเรียนอยู่แล้ว

ส่วนที่มีปัญหาที่กำลังถกเถียงกันก็คืองานวิจัย และเป็นงานวิจัยที่ดำเนินการโดยสถาบันหรือติวเตอร์หรือโรงเรียนกวดวิชา หลายๆความเห็นบนโลก Social Network เช่น ถ้าจะทำได้ขนาดนี้ น่าจะเป็น นักศึกษาปริญญาโทละ บางชิ้นก็โอยง่ายเกินไป แค่ทำ Questionair ผ่าน google form แล้วนำมาสรุปสถิติ ฯลฯ


ทำไมถึงต้องมีรอบ Portfolio?

ที่เขียนต่อไปนี้คือ คหสต. (ความเห็นส่วนตัว) นะครับ ที่ฟังๆมาจากผู้อื่นหลายๆท่านอีกที ไม่ถึงกับคิดเองไม่เป็น แต่ที่เขาพูดมามันก็มีเหตุผลในตัวอยู่บ้าง ก็เลยรับลูกมาไว้ในสมองด้วย

คำพูดคำกล่าวที่ได้ยินมากที่สุดก็คือการคัดเลือกรอบ Portfolio คณะ/มหาวิทยาลัย สามารถเลือกเด็กที่ตรงตามความต้องการของตัวเองได้ อีกทั้งยังได้สอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือก ทำให้ได้ดูบุคลิกภาพ วิสัยทัศน์ สติ-ปัญญา ความคิด ไหวพริบ ความมีเหตุผล ฯลฯ ตามแต่ธงหรือเป้าของผู้สัมภาษณ์อยากจะดู ซึ่งทั้งนี้อาจจะแตกต่างไปจากการคัดเลือกแบบที่เรารับรู้มากันตลอดหรือที่เรารู้กันในชื่อ กสพท. รอบ Admission ว่า แบบนี้ เด็กจะเป็นผู้เลือกมหาวิทยาลัยเองจากคะแนนที่มีอยู่ในมือ ซึ่งมีบางความเห็นก็บอกว่า คือการเรียนๆๆๆๆเพื่อสอบทำคะแนนอย่างเดียว พอเข้ามาในชีวิตมหาวิทยาลัย บางคนก็จะมีปัญหา ทั้งเรื่องความเครียด การเข้าสังคม ฯลฯ

ซึ่งจริงๆแล้ว การรับรอบ Portfolio ไม่ได้มีเฉพาะคณะแพทย์อย่างเดียว คณะอื่นๆเขาก็มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายๆกัน คือคัดเด็กที่ใช่สำหรับคณะ/มหาวิทยาลัยของเขา ได้วางหลักเกณฑ์กติกาในการคัดเลือกเองตามแนวทางที่คณะอยากจะได้ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านั้น ไม่ได้มีเฉพาะด้านวิชาการ การสอบ อย่างเดียว แต่จะรวมไปถึงความสนใจของเด็กๆที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพนั้นๆ

และอีกหลากหลายเหตุผลที่ได้ยินมาเช่น “เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่” เมื่อเข้ามาแล้ว ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างเดียว เพราะมีวิธีการในการจัดการกับเวลาว่างในแนวทางต่างๆซึ่งบางครั้งก็แสดงให้เห็นใน portfolio เช่น การเล่นดนตรี การเล่นกีฬา การทำกิจกรรมอาสา ชมรม สโมสร ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กไม่เครียดมากจนเกินไปในระหว่างเรียน หรือเรียกได้ว่า มีวิธีในการกำจัดความเครียด ที่เห็นได้ผ่าน portfolio แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่มาจากรอบ กสพท. จะไม่ได้เป็นอย่างนี้

อีกเหตุผลก็คือ การเรียนการสอน ล้วนแล้วแต่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ และปรากฏว่า เด็กจำนวนมากที่ตามไม่ทัน มีปัญหาเรื่องนี้ มีหลายคนถึงกับต้อง drop หรือบางคนก็ลาออก ดังนั้น อาจารย์จึงให้ค่าน้ำหนักกับวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างสูง ตามมาด้วย ชีววิทยา และ เคมี จะสังเกตุเห็นได้ว่าหลายๆโรงเรียนแพทย์ ไม่มีการเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์แล้ว

ส่งเสริมการทำวิจัย บางมหาวิทยาลัยก็อยากได้เด็กที่มีทักษะ ความชอบ ในการทำงานวิจัย อาจารย์ก็จะคัดเลือกเด็กที่คิดว่ามีทักษะการทำวิจัย มีความสนใจ ซึ่งก็ดูจากตัว Portfolio ที่นำเสนอ และสามารถมาต่อยอดกันได้ แต่ก็มามีเรื่องที่กำลังดังอยู่นี้เกิดขึ้นมา ก็ต้องกลับมาย้อนดูว่าอะไรคือเหมาะคือควร ควรจะพิจารณาอย่างไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคณะแพทย์ทุกมหาวิทยาลัยอยากได้คนที่มีงานวิจัยหมด!

ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆกับทางต่างประเทศ เช่นรามาก็มีส่งนักศึกษาแพทย์เข้าร่วมการประชุมของ Association for Medical Student in Europe (AMEE) ที่ Lyon, France ไปนำเสนอผลงานวิจัย ซึ่งก็จะได้นักเรียนแพทย์จากส่วนนี้เข้าไปเป็นกำลังสำคัญ

ก็ยังมีเหตุผลอื่นๆนะ เพราะส่วนใหญ่ก็ฟังมาจากผู้ปกครอง ติวเตอร์ อาจารย์ open house บทความตามหน้า Social ต่างๆ

แพทย์รอบพอร์ต รับผ่านโครงการไหนบ้าง?

แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีโครงการในการรับที่เหมือนและแตกต่างกัน ดังนั้นบางทีเราก็ต้องดูวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการเหล่านั้นด้วย เท่าที่เห็นทุกวันนี้ ก็จะมีโครงการที่รับแบ่งออกเป็น 2-3 กลุ่ม คือ

กลุ่มภาษาอังกฤษ

อาจจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่ลักษณะจะคล้ายคลึงกัน เช่น โครงการผู้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ โครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ ประมาณนี้
ซึ่งคุณสมบัติหลักๆของโครงการภาษาอังกฤษก็คือ ใช้คะแนนสอบทั้งทางด้านวิชาการ ความถนัด และภาษา ที่มาจากการสอบมาตรฐานที่เป็นภาษาอังกฤษ คะแนนหลักๆ ก็จะมาจาก 3 กลุ่มเหล่านี้คือ
+ Academic Achievement : เท่าที่เห็นก็คือคะแนนสอบ BMAT แต่ BMAT ก็จะมีสอบปลายปีนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ผู้จัดสอบเขาจะเลิกจัดสอบ ก็ต้องดูว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะเอาคะแนนอะไรมาใช้แทน
+ English Proficiency ก็คือคะแนนสอบวัดระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษ ที่นิยมสอบก็มี IELTS / TOEFL และอาจจะมีของแต่ละมหาวิทยาลัย
+ Portfolio ที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่า เรามีผลงาน กิจกรรม รางวัล เกียรติบัตร อะไร มาจากที่ไหนบ้าง บางมหาวิทยาลัยก็จะกำหนดมาว่าด้านไหนบ้างเช่น ด้านแข่งขันวิชาการ ด้านงานวิจัย ด้านจิตอาสา ด้านช่วยเหลือสังคม ด้านที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ ฯลฯ

มหาวิทยาลัยที่เปิดรับจากโครงการนี้ก็เช่น จุฬา+รามา+เชียงใหม่+ขอนแก่น+มศว+จุฬาภรณ์+ศิริราช+ธรรมศาสตร์

โอลิมปิกวิชาการ

ปกติแล้วเท่าที่เห็น ก็จะมีแพทย์ศิริราชที่รับผ่านโครงการโอลิมปิกวิชาการ และ แพทย์เชียงใหม่โครงการเรียนดีโอลิมปิกและโครงการแพทย์วิทยาการข้อมูล ซึ่งมีกฏเกณฑ์จากการรับนักเรียนที่ผ่านค่ายหรือได้รับเหรียญโอลิมปิกวิชาการ ตามแต่เงื่อนไขของแต่ละมหาวิทยาลัย อย่างของเชียงใหม่ก็มีการเอาคะแนนภาษาอังกฤษ(IELTS/TOEFL) เข้ามาให้น้ำหนักในการพิจารณาด้วย

ความสามารถพิเศษ

ความจริงกลุ่มนี้ต้องถือว่าเป็นกลุ่มใหม่ที่มาจากศิริราช เพราะนอกจากจะใช้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษด้วยคะแนน BMAT เหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆแล้ว ยังมีให้เลือกที่จะใช้ความสามารถพิเศษทางด้านอื่นๆทดแทนเช่น ธุรกิจ การเงิน AI Robot การวิจัย ฯลฯ แต่ก็ยังใช้คะแนนมาตรฐานภาษาอังกฤษควบคู่ในการพิจารณาด้วย(IELTS/TOEFL/MU GRAD TEST/ . . .)


แพทย์รอบพอร์ต มีที่ไหนบ้าง?

เดี๋ยวเรามาลองสรุปกันดูว่า แพทย์รอบ portfolio มีที่ไหนบ้าง และรับด้วยโครงการไหนบ้าง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการ :: ผู้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ
จำนวนรับ :: 24 คน
หลักการพิจารณา :: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีขั้นตอนการพิจารณาประมาณนี้
1) ตรวจเอกสาร และ เกณฑ์ขั้นต่ำ(IELTS>=7.0, อื่นๆ) ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์
2) ได้รับคะแนน BMAT จัดเรียงคะแนน BMAT ตามสัดส่วนที่คณะกำหนด 4:4:2 ของ Section 1 2 และ 3 หลังจากนั้นเรียกผู้มีคะแนนสูงสุด 60 ลำดับแรกเข้าตรวจร่างกายและสอบสัมภาษณ์
3) ประกาศผลคัดเลือกโดยใช้ผลการสอบสัมภาษณ์ร่วมกับผลงานตาม portfolio

รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการ :: ไม่ได้เขียนชัดเจน แต่เราเข้าใจกันว่าเป็นโครงการผู้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ
จำนวนรับ :: หลักสูตรแพทยศาสตร์ 30 คน
หลักสูตรแพทยศาสตร์-วิศวกรรมศาสตร์ 20 คน
หลักสูตรแพทยศาสตร์-การจัดการ 20 คน
หลักการพิจารณา :: แพทย์รามามีขั้นตอนการพิจารณาดังนี้
1) เกณฑ์ขั้นต่ำ IELTS >= 6.5 / BMAT >= 12C
2) เรียกสัมภาษณ์โดยพิจารณาจาก portfolio
3) ประกาศผลคัดเลือกโดยใช้คะแนนจากการสัมภาษณ์แบบ MMI เรียงลำดับจากมากไปน้อย

ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการ / จำนวนรับ :: 1) โครงการโอลิมปิกวิชาการ รับ 70 คน รับจากเงื่อนไขเหรียญโอลิมปิก
2) โครงการความสามารถพิเศษ รับ 20 คน รับจากความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ และ ความสามารถพิเศษอื่นๆ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการเรียนดีโอลิมปิก รับ 30+5 คน
โครงการแพทย์วิทยาการข้อมูล รับ 5+5 คน
โครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ รับ 25+5 คน

ซึ่งสองโครงการแรกก็รับจากเกณฑ์การได้รับเหรียญรางวัลโอลิมปิกวิชาการ และ/หรือ การเข้าค่าย สอวน. พร้อมทั้งคะแนนมาตรฐานภาษาอังกฤษ และ Portfolio

ส่วนโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ ก็ใช้คะแนนจาก BMAT / IELTS และ Portfolio

มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ แยกรับเป็น 2 โครงการคือ

โครงการผู้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ ทั่วประเทศ MDX รับ 44 คน
แพทยศาสตร์ MDX-1 รับ 29 คน
แพทยศาสตร์+การบิหารโรงพยาบาล MDX-MHA รับ 10 คน
แพทยศาสตร์+วิทยาการข้อมูล MDX-MDH รับ 5 คน

โครงการผู้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ MD02 รับ 92 คน
แพทยศาสตร์ MD02-1 รับ 67 คน
แพทยศาสตร์+การบิหารโรงพยาบาล MDX-MHA รับ 20 คน
แพทยศาสตร์+วิทยาการข้อมูล MD02-MDH รับ 5 คน

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

แพทยศาสตร์โครงการร่วมน๊อตติ้งแฮม รับ 20 คน

มหาวิทยาลัยนวมิทนทราธิราช

จำนวนรับสำหรับนักเรียนโรงเรียนในกรุงเทพฯและปริมณฑล 12 คน

Chulabhorn International College of Medicine (CICM)

เนื่องจากที่นี่การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษหลักสูตร English Program ย่อมแน่นอนว่า Portfolio ก็ต้องเป็นความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ

และเปิดรับจำนวน 30 คน (รอบ portfolio 29 คน และรอบ Quota อีก 1 คน(เพื่อรองรับที่นั่งสำรองจากรอบ Portfolio))

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (PSCM)

เป็นโครงการร่วมกับ University College London ซึ่งก็แน่นอนว่ารับในโครงการภาษาอังกฤษ และแบ่งการรับออกเป็น 2 รอบ รอบแรกรับ 28 คน รอบที่ 2 รับ 4 คน

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL)

ของเทคโนพระจอมเกล้าเป็นแพทย์หลักสูตรนานาชาติ จำนวนที่รับ 30 คน


ท้ายเรื่อง

ก็อาจจะมีที่อื่นๆ เรื่องอื่นๆอีกที่ไม่ได้กล่าวถึง ก็อ่านแล้วเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ก็เก็บเอาไว้ในใจนะครับ ยังมีเรื่องที่จะต้องเผชิญ ต้องเปลี่ยนแปลงกันอีก ตามความคิดของผู้รับผิดชอบ แต่บอกได้เลยว่า DEK66 นี่หนักสุดละ

ข้อสรุปว่า ต่อไปจะเป็นอย่างไร ณ วันนี้ คงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง น่าจะต้องเฝ้าดูกันต่อไป . . . .

และที่อยากจะบันทึกเอาไว้ว่า รอบ Portfolio เป็นเรื่องที่มีส่วนดี แต่ต้องมาดูวิธีการปฏิบัติ พิจารณา ว่าอะไรควรไม่ควร !!!