ทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามในการรวบรวมคำถามคำตอบที่นักเรียนและผู้ปกครองหลายท่านได้สอบถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการรวบรวมมาจากถามตอบในการ present ผ่าน Zoom ในรายการต่างๆเช่น Road Show to CMU Med ฯลฯ ก็เลยเก็บมาแชร์ๆกัน
1. Font ที่ใช้ในการกรอกแบบฟอร์ม
ใครจะว่าไม่สำคัญก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ที่เจอมากับตัว เสียวสันหลังว๊าบบบบบ เลย ที่ทางคณะกำหนด font มาว่าต้องเป็น font นี้ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เวลาเขามาเปิดอ่านจะได้ไม่มีปัญหาเรื่อง font ซึ่งกรณีของลูกผมชัดเจนเลยครับ มีอยู่ 1 หน้า ที่ไม่ได้ใช้ font ตามที่กำหนด ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่อ่านหน้นั้นไม่ได้เลย เพราะกลายเป็นภาษามนุษย์ต่างดาว !!!
โชคดีที่ทางเจ้าหน้าที่มีเมตตา(เท่าที่สัมผัสมาสองปี ทุกท่านมีเมตตา พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกๆท่านครับ) แจ้งกลับมาให้ทำหน้านั้นส่งกลับไปให้ใหม่ จึงรอดพ้นมาได้จนถึงวันนี้
อันนี้คือที่ทางเจ้าหน้าที่อ่าน เขา capture มาให้ดูว่าเราไปใช้ font อื่นที่ทางเขาอาจจะไม่มีอยู่ในเครื่องหรืออะไรก็ไม่รู้ ทำให้อ่านไม่ได้ความ
2) ตารางแสดงเกรดเฉลี่ยแต่ละวิชา
ก็เป็นอีกเรื่องที่มีข้อสงสัยกันหลากหลายว่าจะเอาอะไรกรอกลงตรงไหน วิชาไหนเป็นวิชาพื้นฐาน วิชาไหนเป็นวิชาเพิ่มเติม
และปีนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงแบบ minor change นั่นก็คือ
- สำหรับ portfolio โอลิมปิกและภาษาอังกฤษ จะตัดเกรด GPA ในส่วนของวิชา คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ออก จะคงเหลือแสดงเกรดเฉลี่ยวิชา ชีววิทยา เคมี และ ภาษาอังกฤษ ส่วน portfolio วิทยาการคำนวณ ยังคงเหมือนเดิม
- การคำนวณเกรดเฉลี่ย ทั้ง GPAX และ GPA รายวิชา ให้คำนวณเฉลี่ยทั้ง 2 ปี 4 เทอม ม.4+ม.5 เลย ไม่ต้องแยกแต่ละปีการศึกษาเหมือนที่ผ่านมา และ ค่า GPAX >= 3.00 / GPA รายวิชา >= 3.00
- ++ เพิ่มเติม ++ ได้โทรไปสอบถาม สำหรับบางโรงเรียนที่บางตัวชื่อวิชาเป็น “วิทยาศาสตร์” ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็น เคมี ชีวะวิทยา หรือ ฟิสิกส์ ถ้าเรามีรายวิชาเหล่านั้นอยู่แล้วในรหัสวิชาอื่น เราก็ไม่ต้องใส่ “วิทยาศาสตร์” เข้าไปในตารางก็ได้ (เพราะไม่รู้จะใส่ช่องไหน)
กรณีที่แบบว่าเรียนเยอะ แฮะๆ ช่องกรอกไม่เพียงพอ ท่านบอกว่าสามารถแทรกตารางเพิ่มเติมได้
และที่เป็นที่สงสัยกันมากมายว่า วิชาไหนเป็นวิชาพื้นฐาน วิชาไหมเป็นวิชาเพิ่มเติม ก็ตามนี้เลยครับ
ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ท่านจะต้องพิมพ์ใบแสดงเกรดนี้ออกมา แล้วให้ทางโรงเรียนหรือครุแนะแนวลงชื่อรับรองเอกสาร หลายคนถามว่าต้องลงตราประทับโรงเรียนไหม ส่วนตัวมองว่าถ้ามีก็ดีครับ แต่ก็ไม่ได้เห็นเขาเขียนไว้ตรงไหนว่าจะต้องมีตราประทับ
เอาเป็นว่า ทางคณะให้เกียรติและเชื่อถือคุณครูที่ลงชื่อ นะครับ จึงต้องมีเพราะบางทีคณะกรรมการก็ไม่ทราบหรอกครับว่าท่านเรียนวิชาอะไรอย่างไรบ้างตัวไหนหลักตัวไหนเสริม แต่ละโรงเรียนก็แตกต่างกันออกไปอีก ดูมา 10 กว่า โรงเรียนก็แตกต่างกันเยอะครับ
3) คะแนน BMAT จะส่งยังไง? ก็ยังไม่รู้หงะ?
เป็นอีกเรื่องที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนตารางเวลาการรับ โดยมีการแบ่งเป็นรอบ 1.1 และ รอบ 1.2 ทำให้กำหนดการรับสมัคร / สอบสัมภาษณ์ / ประกาศผล เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านๆมาหมด และ ทำให้ช่วงเวลาที่สมัครสอบของแพทยื มช. ยังไม่รู้ผลคะแนน BMAT รวมไปถึงวันที่จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ก็ยังไม่รู้คะแนนเช่นกัน ซึ่งจากการที่ทางคณะก็ปรับเปลี่ยนกลายเป็นว่า สำหรับผู้สมัครสอบโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ ก็จะสัมภาษณ์สำหรับผู้ที่ผ่านเกณฑ์อื่นๆเช่น GPAX / GPA / IELTS อะไรประมาณนั้น ซึ่งก็ถือว่ายังโอเคอยู่
แล้วจะทำอย่างไรกับคะแนน BMAT ?
ก็ไม่มีอะไร ทำตามที่เขากำหนดมา นั่นก็คือ
แปลว่าอะไร?
แปลว่าเด็กๆจะต้องส่งผลคะแนน BMAT (Statement of Results) ผ่านทาง eMail regismed@cmu.ac.th ในระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2565 เท่านั้น !!!
อ่าว …. แล้วเราใช้การแชร์คะแนนผ่านระบบแจ้งคะแนนสอบของ Cambridge Assessment ที่แจ้งผ่าน web www.metritests.com ได้ไหม? คำตอบก็คือ ในระบบนั้น สามารถแชร์ไปให้มหาวิทยาลัยต่างๆตามที่เราเลือกอยู่แล้ว ก็แชร์ไปให้ มช. ด้วยก็ได้
แต่….. จะอย่างไรเสีย ก็ต้องมาส่งผลผ่าน eMail ตามวันที่กำหนด เพราะกรรมการจะเข้ามาเก็บข้อมูลจาก eMail “เท่านั้น”
แล้วถ้าท่านมีคะแนน 2 ปี คือของปีนี้ 2022 และ ปีที่แล้ว 2021 จะให้ส่งอันไหนอย่างไร?
คำตอบก็คือ ให้ท่านเลือกผลคะแนนที่ท่านพึงพอใจที่สุด 1 ชิ้นส่งมาตาม eMail ตามวันและเวลาที่กำหนดเช่นกัน โดยที่ไม่ต้องกรอกในแบบฟอร์ม portfolio แต่ให้ส่งทาง eMail เป็นสำคัญ ไม่ใช่นึกว่ากรอกลงในฟอร์มแล้วเลยไม่ส่ง eMail ท่านก็อาจจะโคจรออกไปในอวกาศแบบไม่มีปลายทางก็เป็นได้
อย่าลืมว่า ส่วนนี้ น้ำหนักคะแนนถึง 55 คะแนนเลยนะครับ
4) English Proficiency
จะบอกว่าไม่สำคัญก็ไม่ได้เพราะมีค่าน้ำหนักตั้ง 30% ลองสังเกตุจากตารางนะครับ
ที่เก็บตารางมาให้ดูก็อยากจะให้คิดนะครับ ว่า ….. ทำไมคณะถึงต้องทำเป็นช่องตารางแบบนี้? ผมก็เดาเอาว่า มันน่าจะเป็นการ Rate คะแนนหรือปล่าว? เช่น ช่องขวาสุด 8.5-9.0 ก็อาจจะได้ 30 คะแนนเต็ม ช่องถัดมา 8.0 ก็ลดหย่อนลงไปอาจจะเป็น 25 หรือ เท่าไหร่ก็ตาม ตามที่คณะเขาคิดเอาไว้ (เขาไม่ได้บอกเราด้วยนะสิ) และอีกอย่างสำหรับผู้ที่สอบ TOEFL iBT ก็สามารถเปรียบเทียบคะแนนกับ IELTS ได้ว่าคะแนนน้ำหนักจะได้ประมาณเท่าไหร่
ดังนั้น เราได้ IELTS Band อะไร อยากจะ up คะแนน ก็ต้องไปหาสอบเพื่อให้ได้ Band ที่มากขึ้น แต่ที่เราไม่รู้ก็คือ แต่ละช่องมันห่างกันกี่คะแนน
5) กิจกรรม 1 ชิ้น แต่ได้รับรางวัลหลายเวที
เรื่องนี้ก็มีคนถามมาหลายคน ผมก็เลยแนะนำว่าให้โทรไปถาม แล้วช่วยมาบอกด้วยว่าทางคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ตอบมาว่าอย่างไร
มูลเหตุก็คือ ผลงานบางชิ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกโครงงานหรือนวัตกรรมที่เด็กๆจัดทำ ทั้งอาจจะเป็นชิ้นงานที่โรงเรียนอยู่แล้วหรือ อื่นๆ แล้วส่งเข้าประกวดตามลำดับความสำคัญเช่น
- ระดับโรงเรียน
- ระดับจังหวัด
- ระดับเขต
- ระดับภาค
- ระดับประเทศ
- ระดับนานาชาติ
- หรือเวทีอื่นๆ
ถามว่าจะเอามาเขียน จะเอาใบประกาศนียบัตรมาแปะเอาไว้ทั้งหมดเลยได้มั๊ย?
อันนี้เรียกว่ามีมากจนเลือกไม่ถูก( 5 5 5 แต่ของเราแบบ ไม่มี เลยไม่รู้จะเลือกอะไร)
คำตอบที่ได้รับจากการโทรไปถามของนักเรียนและผู้ปกครอง ก็ประมาณว่า
ให้เลือกผลรางวัลที่คิดว่าดีที่สุด ภาคภูมิใจที่สุด พร้อมทั้งเกียรติบัตรมาใส่ลงใน Portfolio เพียงชิ้นเดียว แต่ก็สามารถเขียนในช่องการอธิบายในการกล่าวถึงการได้รับรางวัลอื่นๆได้ด้วย
6) สามารถใส่รูปภาพกิจกรรมได้หลายรูปไหม?
เนื่องจากแบบฟอร์มที่ให้มา มันคือ 1 หน้ากระดาษ A4 ดังนั้นเราจะสามารถใส่รูปภาพที่เราไปทำกิจกรรมได้มากกว่า 1 รูปหรือไม่? ซึ่งหลายคนถามมาก็เช่นเคย ให้โทรไปสอบถามกับทางผู้เกี่ยวข้อง ก็ได้คำตอบออกมาว่า สามารถใส่รูปภาพที่ทำกิจกรรมได้หลายรูป จัดแต่งสวยงามได้ (แต่อย่าให้รก (อันนี้เขียนเพิ่มเติมเอง อิอิ))
- หน้าหลักฐานชิ้นที่ 1 (ใบรับรองการเข้าร่วมกิจกรรม) ซึ่งจะเป็นใบรับรอง หรือ เกียรติบัตรที่ได้รับ ที่ทางเจ้าหน้าที่แนะนำว่าควรจะเลือกมา 1 ใบ
- หน้าหลักฐานชิ้นที่ 2 (รูปถ่ายการเข้าร่วมกิจกรรม) อันนี้ก็เป็นอีกคำถามยอดฮิตว่าให้พื้นที่มาตั้ง 1 หน้า จะสามารถใส่รูปได้มากกว่า 1 รูปไหม (สมัยก่อนให้ใส่ช่องละ 1 รูป) ซึ่งคำตอบที่ได้รับมาก็คือ สามารถใส่ได้หลายรูป จัดวางหรือจะตกแต่งให้ดูดี
ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจอะไรอย่างไร สามารถโทรไปสอบถามได้นะครับ
7) ใช้ตัวอักษรเป็นสีอื่นๆได้ไหม?
อันนี้ผมก็สงสัยเหมือนกัน เพราะไม่ได้เขียนไว้ว่าห้าม แต่มันจะเหมาะสมอะไรหรือไม่ บังเอิญว่ามีผู้ปกครองที่สงสัยเหมือนกัน ก็เลยรบกวนให้ท่านโทรถาม แล้วมาแชร์ข้อมูลกันหน่อย
ก็ได้ความว่า สามารถใช้ตัวอักษรสี ตัวเข้ม ตัวเอียง ขีดเส้นใต้ หรือ highlight ได้ (แต่ก็อย่าให้รก (ความเห็นส่วนตัวเช่นกัน))
ปล. ตัวอย่างนำเสนอว่าที่ทราบมา น่าจะทำอย่างนี้ได้นะครับ ยังไงท่านสามารถโทรสอบถามทางกรรมการได้นะครับ
8) กรอกแบบฟอร์มเป็นภาษาอังกฤษได้ไหม? ใช้เขียนได้ไหม?
คำถามนี้ก็ได้ยินมาบ่อย แต่ก็ไม่เคยถามไปทางผู้เกี่ยวข้อง แต่ได้รับคำตอบจากการเข้าชมผ่าน Zoom ตอน Road Show to CMU Med ว่าขอเป็นภาษาไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแบบฟอร์ม Statement of Purpose ก็ได้ระบุเอาไว้ว่า “พิมพ์เป็นภาษาไทย”
สมัยก่อนก็เคยเห็นมีการกรอกแบบฟอร์มโดยการเขียนเหมือนกัน ซึ่งในบางครั้งก็เป็นเรื่องดีที่ได้ดูลายมือของนักเรียนไปด้วย เวลาเราดูลายมือหมอเขียนสั่งยาเราว่ายากแล้ว ลองดูว่าหมออ่านลายมือนักเรียนจะเป็นอย่างไร 5 5 5 ขลำๆนะครับ
คำตอบที่เป็นแนวทางที่ดีก็คือ “พิมพ์เป็นภาษาไทย”
มีนิดนึง ที่เด็กๆมักจะเขียนกันผิดก็คือคำว่า “แพทย์” ถ้าเขียนแบบทั่วๆไปเช่น แพทย์เชียงใหม่ แพทย์จุฬา แพทย์รามา นายแพทย์ ฯลฯ บน ยอยักษ์ก็จะมีการันต์(เครื่องหมายทัณฑฆาต) แต่เมื่อมาสมาสกับคำว่า ศาสตร์ แล้ว ก็จะตัดเครื่องหมายทัณฑฆาตออก เป็น “แพทยศาสตร์”
8) จะเรียกสัมภาษณ์จากข้อมูลพื้นฐานอะไร?
ยังเป็นที่ถกเถียงสงสัยกันอยู่ว่า ยังไงกันแน่ จะเรียกมาสัมภาษณ์อะไรอย่างไรจากคะแนนหรือเงื่อนไขอะไร???
เอาตามที่เข้าใจนะครับ (ความจริงจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ก็ไม่ทราบ แฮะๆ) โดยความเป็นจริงแล้ว ต้นเหตุของความสับสนวุ่นวายก็คือเจ้าคะแนนสอบ BMAT นั่นเองที่ออกมาไม่ทันการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์(ความจริงก็คือ กำหนดการประกาศคะแนนเขามีมาตั้งนานละ)
- โครงการเรียนดีโอลิมปิก ก็ยังคงดำเนินไปเหมือนเดิมเพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่ในมืออยู่แล้ว ซึ่งปกติโดยทั่วๆไปก็จะเรียกสัมภาษณ์ประมาณ 2 เท่าของจำนวนที่รับจริง แต่ปีนี้ก็อาจจะมากกว่านั้นก็ได้
- เงื่อนไขพื้นฐาน GPAX / GPA
- คะแนนภาษาอังกฤษ IELTS หรือ TOEFL iBT
- เหรียญโอลิมปิกหรือค่าย สอวน.
- Portfolio
- โครงการวิทยาการข้อมูล ก็จะเหมือนกับโครงการโอลิมปิก นั่นก็คือท่านมีข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ได้
- เงื่อนไขพื้นฐาน GPAX / GPA
- คะแนนภาษาอังกฤษ IELTS หรือ TOEFL iBT
- เหรียญโอลิมปิกหรือค่าย สอวน.
- Portfolio + ผลงานด้านวิทยาการข้อมูล
- โครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ สิ่งที่ยังขาดหายไปสำหรับการพิจารณาประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์นั้นก็คือ คะแนน BMAT นั่นเอง ดังนั้นจึงต้องเรียกสัมภาษณ์บนข้อมูลที่เป็นอยู่ สำหรับผู้ที่ผ่านเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้
- เงื่อนไขพื้นฐาน GPAX / GPA
- คะแนนภาษาอังกฤษ IELTS หรือ TOEFL iBT
- Portfolio
แปลว่าอะไร? แปลว่า สำหรับเรียนดีโอลิมปิกและวิทยาการข้อมูล ก็ดำเนินประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สัมภาษณ์ไปตามปกติ ส่วน เรียนดีภาษาอังกฤษ ก็เป็นการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ท่านที่ผ่านเงื่อนไขขั้นต้นทั้งหมด(โดยไม่รวมคะแนน BMAT)
ทั้งนี้ เหล่านี้คือตามความเข้าใจที่รับฟังมานะครับ
9) รอบ 1.1 ประกาศรายชื่อครั้งที่ 1 รอบ 1.2 ประกาศรายชื่อครั้งที่ 2 และ 3
+++ เพิ่มเติม +++ ไม่รู้จะเอาไปใส่ตรงไหน ก็เอามาแปะไว้ที่นี่ละกัน สำหรับวันสอบสัมภาษณ์ของคณะแพทยศาสตร์ทั้ง 3 โครงการ จะเป็นวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 (กำหนดการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รวมทุกคณะจะเป็นวันที่ 26-27 พฤศจิการยน 2565 +++ เป็นการสอบแบบ Online +++
เออ…. มันก็งง งง งง ใน งง เหมือนกัน แต่ก็จะสรุปตามความเข้าใจส่วนตัวประกอบกับการโทรสอบถามได้ประมาณนี้
- ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก รอบ 1.1 ประกาศครั้งที่ 1 วันที่ 8 ธันวาคม 2565
- ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก รอบ 1.2 ประกาศครั้งที่ 2 วันที่ 16 มกราคม 2566
- ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก รอบ 1.2 ประกาศครั้งที่ 3 วันที่ 27 มกราคม 2566
โดยที่การประกาศครั้งที่ 1 และ 2 จะต้องยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อน และทั้งหมดก็จะต้องไปยืนยันสิทธิ์ในระบบของ ทปอ. ด้วยในวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2566
ใครงงก็มาดูกันต่อ อาจจะงงยิ่งขึ้น ขออนุญาตใช้ flow เก่า และเอาของโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษเลยจะได้ครอบคลุมทั้งหมด
ประกาศครั้งที่ 1 : ก็คือภายหลังสอบสัมภาษณ์ และได้รับคะแนน BMAT เพื่อมาประมวลผล BMAT(55%)+IELTS(30%)+Portfolio(15%) แล้วจัดเรียงคะแนนการคัดเลือกเพื่อประกาศผู้มีคะแนนสูงสุด 25 คน ตามจำนวนที่ต้องการของรอบ 1.1 ซึ่งจะต้องเข้าไปยืนยันสิทธิ์กับระบบภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกก็ไปรอการประมวลผลในรอบ 1.2
ประกาศครั้งที่ 2 : รอบ 1.2 ก็ได้จากการประมวลผลโดยการนำคะแนนที่ได้จากรอบ 1.1 มาลดทอนลงเป็น 85%(คูณ 0.85) แล้วอีก 15% ก็จะเป็นคะแนน TGAT ที่ทางกรรมการสามารถดึงคะแนนมาจาก ทปอ. ได้โดยตรง เมื่อได้คะแนนครบแล้วก็จะจัดเรียงใหม่เพื่อคัดผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบ 1.2 ตามจำนวนที่ประกาศไว้ + จำนวนผู้ที่ไม่ยืนยันสิทธิ์จากรอบ 1.1 และ เมื่อประกาศรายชื่อครั้งที่ 2 แล้ว ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกก็จะต้องเข้าไปยืนยันสิทธิ์กับระบบภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประกาศครั้งที่ 3 : หลายคนอาจจะสงสัยว่า อ้าว…เฮ๊ย มีประกาศครั้งที่ 3 ด้วยหรอ แล้วไปยังไงมายังไงถึงมีได้หละ ตรงนี้ส่วนนึงก็ต้องขอขอบคุณน้องๆนักเรียนที่ได้ยืนยันสิทธิ์กับระบบภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ได้รับการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นเป้าหมายในดวงใจเช่นกัน จึงได้ขอสละสิทธิ์มาทางคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อที่ว่าทางคณะจะได้เรียกสำรองจากผู้ที่มีคะแนนในลำดับถัดไป และที่ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งก็คือเจ้าหน้าที่คณะกรรมการคัดเลือกที่ได้คอยตรวจสอบรายชื่อผู้มีรายชื่อผ่านการคัดเลือกของคณะแพทย์เชียงใหม่กับคณะแพทย์มหาวิทยาลัยอื่นๆ และ ได้ติดต่อสอบถามไปยังผู้ที่มีรายชื่อซ้ำเหล่านั้นถ้าปักใจจะเลือกมหาวิทยาลัยอื่นแน่นอนถึงความเป็นไปได้ที่จะกรุณาสละสิทธิ์เพื่อที่ทางคณะจะได้ดำเนินการเรียกสำรองต่อไป ขอขอบคุณจริงๆ
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ห้ามพลาดโดยเด็ดขาดก็คือ ผู้ที่ยืนยันสิทธิ์ภายในกับระบบของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปแล้วทั้งในรอบ 1.1 และ 1.2 “จะต้อง” ไปยืนยันสิทธิ์ในระบบของ ทปอ.ในวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยนะครับถ้าจะเรียนที่แพทย์เชียงใหม่
10) Timeline การประกาศผลคณะแพทย์มหาวิทยาลัยต่างๆ
เรื่องนี้มีความสำคัญกับทางคณะแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างไร? แน่นอนว่าถ้าเด็กๆติดทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ส่งผลให้ที่นั่งในรอบ TCAS-1 Portfolio ก็จะมีการสละสิทธิ์และเป็นที่นั่งว่าง ก็ต้องมีการบริหารจัดการกันต่อไป ไม่ว่าจะเรียกสำรองได้หรือไม่ หรือ ยกยอดไปให้รอบ TCAS-3 Admission (กสพท)
จะเห็นว่ารอบ 1.1 และ รอบ 1.2 ของเชียงใหม่ เป็นเรื่องของตัวเองล้วนๆ ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เอาเป็นว่าต่างกันแค่เอาคะแนน TGAT มาเพิ่มเท่านั้นเอง
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเชียงใหม่ก็คือ มหาวิทยาลัยอื่นๆที่อาจจะพูดได้ตรงๆเลยว่าเป็นเป้าหมายหลักของเด็กๆส่วนใหญ่ที่มาในรอบนี้ ทั้งเส้นทางเรียนดีภาษาอังกฤษ(บางมหาวิทยาลัยก็เรียกว่าผู้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษหรืออื่นๆ) และเส้นทางเรียนดีโอลิมปิก(ที่มีเชียงใหม่และศิริราช) นั้นมาประกาศผลทีหลัง หลังจากเชียงใหม่ได้ยืนยันสิทธิ์ภายในไปเรียบร้อยแล้วทั้งรอบ 1.1 และ 1.2
นั่นหมายความว่าถ้าเด็กๆเลือกที่จะไปมหาวิทยาลัยเป้าหมายของเขา ก็จะเกิดที่นั่งว่างสำหรับรอบ portfolio ของเชียงใหม่ ถือได้ว่าน่าจะเยอะพอสมควร ซึ่งถ้าดูจาก timeline แล้ว รามาประกาศผลวันที่ 20/1/66 เชียงใหม่ก็น่าจะพยายามเรียกสำรองจากกรณีที่นั่งซ้ำได้ ส่วนศิริราชที่ประกาศวันที่ 25/1/66 ก็อาจจะทันหรือไม่ทันอันนี้ก็ยังตอบไม่ได้ ในส่วยของจุฬานั้น ถ้าประกาศเหมือนสมัยก่อนกล่าวคือถึงแม้จะระบุว่าประกาศวันที่ 7/2/66 แต่ก็สามารถประกาศก่อนได้เพราะสอบสัมภาษณ์ไปตั้งแต่วันที่ 14/01/66 (สมัยรุ่นลูกผมประกาศก่อนกำหนดหลายสัปดาห์เลย)
ถามว่าตรงนี้ส่งผลอะไรอย่างไร? เรื่องหลักๆก็คือเด็กๆที่อยากเรียนและคาดหวังที่เชียงใหม่จริงๆก็อาจจะไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะการที่เชียงใหม่เปลี่ยนมาคัดเลือกเป็นที่แรก(ที่ผ่านมาจะเป็นมหาวิทยาลัยสุดท้ายเลยที่คอยเก็บนักเรียนที่พลาดหวังจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ) ก็จะทำให้ทุกคนเฮโลมาที่นี่ก่อนหมดเลย และคนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบ 1.1 และ 1.2 ก็จะเป็นนักเรียนชั้นแนวหน้าทั้งหมด และ จะเป็นนักเรียนที่พร้อมจะไปที่มหาวิทยาลัยอื่นในกรุงเทพฯเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ต้องยืนยันสิทธิ์ภายในกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อน แล้วค่อยไปคลายสิทธิ์เมื่อทราบผลของมหาวิทยาลัยในฝันแล้ว(ถ้าคลายสิทธิ์ตั้งแต่ระบบภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือว่าเป็นการสร้างบุญเลยก็ว่าได้) ซึ่งก็เท่ากับว่าคนที่รอคอยการเรียกสำรองต้องรอไปถึงวันที่ 27/1/2566 โน่นเลย ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าผลจะเป็นเช่นไร หรืออาจจะต้องคืนที่นั่งไปรอบ กสพท. . . . สงสารเด็กๆที่เตรียมตัวมารอบ Portfolio เพราะอย่าลืมว่า การเตรียมตัวช่างต่างกันมากมายระหว่างรอบ portfolio และรอบ กสพท.
หลายคนอาจจะสงสัยว่า อ่าว แล้วทำไมเชียงใหม่ไม่ปรับวันเวลาใหม่หละ???? (เหมือนผม) ซึ่งหลักๆก็คือ คณะแพทย์เชียงใหม่ต้องทำตามกรอบของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมๆกับคณะอื่นๆ ไม่สามารถแตกแถวได้ ก็ฝากอ้อนวอนไปยังผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ได้โปรดเมตตาและพิจารณาในปีต่อๆไปให้เอื้อต่อนักเรียนที่ต้องการเรียนที่คณะแพทย์เชียงใหม่จริงๆด้วยนะครับ
อื่นๆ
ไม่มีอะไรหรอก เอาบางอย่างมาแปะเอาไว้ละกัน