ที่ผ่านมายังไม่เคยดูของศิริราชมาก่อนเลย เพราะส่วนใหญ่ที่สนใจจะไม่ได้เกี่ยวกับพวกเหรียญโอลิมปิก สอวน ฯลฯ แบบว่าไม่รู้จักจริงๆ จนทุกวันนี้ก็ยังงงงงอยู่เลย สอวน. กับ สสวท. กับโอลิมปิก มันเกี่ยวข้องอะไรอย่างไร ยังไม่กระจ่าง ไหนจะมี IBO ฟิสิกส์สัประยุทธ์ โอยยยยยยย ไม่ได้อยู่สายแข่งขันนี่มึนตึ๊บจริงๆ และที่สำคัญที่ผ่านมาก็มักจะดูข้อมูลที่เป็นความหวังของเด็กปานกลาง ก็เลยไม่ได้ดูของศิริราชเลย
แต่ปีนี้ไม่ดูไม่ได้แล้ว เพราะสำหรับเด็กกิจกรรมเด็กปานกลาง เริ่มจะมองเห็นแสงบ้างแล้ว ถึงแม้จะริบหรี่แต่ก็ยังคงเป็นแสง
ประกาศรับสมัคร
โครงการโอลิมปิกวิชาการ
ปกติที่ผ่านมา ศิริราชจะรับในโครงการโอลิมปิก 40 คน แต่ปีนี้ก็ได้มีการเพิ่มจำนวนรับเป็น 70 คน และเพิ่มอีกหนึ่งโครงการคือความสามารถพิเศษที่จะรับ 20 คน
หลักๆนอกจากจะรับเพิ่มเป็น 70 คน แล้ว ยังขยายเงื่อนไขการรับจากเดิมที่จะรับพิจารณาเฉพาะโอลิมปิกเหรียญทองและเหรียญเงินเท่านั้น แต่ปีนี้ให้โอกาสเหรียญทองแดงด้วย และรับเหรียญจากหลากหลายสาขาวิชา
ส่วนเงื่อนไขของการผ่านค่ายของ สสวท. หรือ IBO Challenge นั้นก็ยังคงเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง
ซึ่งทราบมาจากผู้ปกครองที่โทรเข้าไปสอบถามข้อมูลมาว่า น้ำหนักของสาขาวิชานั้นเท่ากันหมด
ส่วนประกอบอื่นๆที่จะต้องมีในการยื่น portfolio ครั้งนี้ด้วยก็คือ
กิจกรรมความสามารถต่างๆที่ทำในโรงเรียน (ไม่ต้องไปหาทำข้างนอก) ด้านวิชาการ หรือความสามารถพิเศษเช่น การประกวดมารยาท คัดลายมือ รำไทย ดนตรีไทย ผู้นำกิจกรรมด้านต่างๆเช่นกีฬาสี ชมรมต่างๆ อะไรประมาณนั้นนะครับ
Statement of Purpose / Personal Statement ที่จะต้องอธิบาย แนะนำตัวเองในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายชีวิต พร้อมกับเหตุผลที่ทำให้สนใจที่แพทย์ศิริราช เขียนเป็นภาษาไทยไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4
โครงการผู้มีความสามารถพิเศษ
โครงการนี้เป็นโครงการใหม่ถอดด้ามของแพทย์ศิริราช ซึ่งเปิดรับ 20 คน โดยส่วนใหญ่ก็จะคิดไปว่าเป็นการใช้คะแนน IELTS และ BMAT ในการยื่น แต่จริงๆแล้วชื่อโครงการคือความสามารถพิเศษ ดังนั้น นอกจากการใช้คะแนน BMAT แล้ว ยังสามารถที่จะเลือกผลงานความสามารถพิเศษทางด้านอื่นๆตามที่ทางคณะกำหนดเช่น
- ด้านภาษาต่างประเทศ
- ธุรกิจ
- การเงิน
- AI
- robot
- ความเป็นผู้นำชุมชน/สังคม
- การวิจัย
- อื่นๆ
เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ยื่นโครงการผู้มีความสามารถพิเศษ ก็ต้องมี portfolio ที่บ่งบอกถึงความสามารถของตัวเอง แยกเป็นยิบย่อยได้ 2 แบบคือ
สมัครแบบความสามารถพิเศษ ก็ต้องอธิบายถึงผลงานของเราที่เราคิดว่าโดดเด่นได้รับการยอมรับระดับ ชาติ/นานาชาติ พร้อมทั้ง Statement of Purpose (เหมือนโครงการโอลิมปิก)
สมัครแบบความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ (ยื่น BMAT) ก็เขียนถึงกิจกรรมต่างๆที่ทำในโรงเรียน(ชอบจังคำนี้) ความสำเร็จด้านวิชาการ ความสามารถอื่นๆ แข่งขันตอบปัญหาวิชาการ การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมหรือสังคม เป็นผู้นำกิจกรรมด้านต่างๆ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ statement of Purpose
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือก
การพิจารณาเพื่อเรียกสัมภาษณ์ ยังไม่เห็นว่าได้เขียนไว้ตรงส่วนไหน แต่ที่ปรากฏให้เห็นก็คือการพิจารณาผู้ที่ผ่านการสัมภาษณ์ ซึ่งก็จะพิจารณาจาก 2 ส่วนก็คือ
- Portfolio และ Statement of Purpose / Personal Statement คิดเป็น 20%
- การสัมภาษณ์แบบ MMI คิดเป็น 80%
อื่นๆ
น่าตื่นเต้นจังมีเรื่องใหม่ๆดีๆเข้ามาในปีนี้ ก็ขอให้เด็กๆได้เรียนในที่ที่เหมาะสมสำหรับเขา