ทำไมถึงต้องไปสอบ SAMSEN PRE-TEST 2023 ?

Samsen Pre-test เท่าที่จำความได้ลูกเคยมาสอบเมื่อตอนปี 2557 ซึ่งก็น่าจะเป็น สามเสนพรีเทส 2558 หรือ Samsen Pre-Test 2015 จะสังเกตุว่า เราจะใช้ปีการศึกษาถัดไปตามหลังชื่อ Samsen Pre-Test เพื่อเป็นการบอกว่า เป็นการทดสอบ ลองพลังเพื่อการสอบเข้าในปีการศึกษาที่จะถึงของเด็กๆรุ่นพี่ ป.6 นั่นเอง ซึ่งย่อมหมายความว่า รุ่นน้อง ป.5 และ ป.4 ก็สามารถมาลองสอบ มาเก็บเกี่ยวบรรยากาศ ประสบการณ์ต่างๆได้

สมัยที่ลูกมาสอบ ยังไม่มีแยกห้องเรียนพิเศษ ห้องเรียนปกติ ไม่มีการทำสถิติ ไม่มีการแยกรายงานผลการสอบเป็นแบบโน่นนี่นั่น แต่หลังจากที่ลูกเข้ามาเรียนแล้ว เราก็ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงาน ซึ่งการทำงานอาสาลักษณะนี้ คิดง่ายๆว่า “ถ้าเราเป็นผู้ปกครอง เราอยากได้อะไรอย่างไร” จึงได้นำเสนอว่าควรจัดเป็น รอบห้องเรียนพิเศษ และ รอบห้องเรียนปกติ และในขณะเดียวกันก็เขียนบทความใน Blog นี้ และสื่อสารกับเพื่อนผู้ปกครองผ่านทาง facebook page “SAMSEN PRE-TEST” เป็นหลัก เพราะเชื่อว่า การสื่อสารผ่านทาง facebook การตอบปัญหาผ่านทาง facebook เป็นช่องทางที่ดี จึงพยายามตอบทุกคำถามที่ถามเข้ามา และ การตอบคำถามที่คิดว่าก็จะคล้ายๆกัน ตอบไปหนึ่งครั้ง ทุกคนได้เห็นคำตอบพร้อมกันหมด ไม่ต้องไล่ตอบทีละคน และ คนที่มาทีหลังก็จะได้ไม่ต้องเริ่มสงสัย เพราะมีคำตอบให้อ่านก่อนอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ผมจะคิดไว้ก่อนเลยว่า ถ้าเราเป็นผู้ปกครอง เราอยากรู้อะไร เราจะถามอะไร ฯลฯ … เมื่อรู้อย่างนั้น เราก็เขียนไปก่อนเลย ไม่ต้องรอให้พวกเขาถาม . . .

เราคิดเสมอว่า เขาเป็นเพื่อนผู้ปกครอง ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นลูกค้า
เราปฏิบัติตอบสนองเสมอว่าเป็นเพื่อนผู้ปกครองแบบผู้ปกครองสู่ผู้ปกครอง ไม่ได้ปฏิบัติเหมือนบริษัทกับลูกค้า

และหลังจากนั้น ก็นำเสนอการวิเคราะห์ในรูปแบบต่างๆ ด้วยความที่ว่าเราคิดว่า ถ้าเราเป็นผู้ปกครองเราอยากรู้แบบไหน ก็ทำไปเลย ซึ่งก้ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง และเราก็ไม่ได้หยุด เพราะเวลาผ่านไป รูปแบบรายงานการวิเคราะห์ก็มีเพิ่มมากขึ้น ตามความต้องการของผู้ปกครองกลุ่มต่างๆ จริงๆ ยังมีความคิดที่จะทำมากกว่านั้น แต่เนื่องด้วยจังหวะไม่อำนวย จึงไม่ได้ทำ และคิดว่าในอนาคตน่าจะทำได้ เช่น การวิเคราะห์รายบุคคล รายวิชา เหมือนเช่นกับที่ TEDET วิเคราะห์(ไม่รู้ปัจจุบีนยังเป็นเช่นนั้นไหม) การจัดกิจกรรมให้ผู้ปกครองที่สนใจระหว่างรอลูกเข้าสอบพรีเทส ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสนทนา หรือ แนะแนว/แนะนำ ฯลฯ ซึ่งยังเคยคิดถึง Samsen Open House (สมัยนั้นยังเป็น EP Samsen Open House เอาจริงผมก็เสนอแนะนะว่าทำไมไม่ควบรวมห้องอื่นๆด้วย จนมาเปลี่ยนเป็น Samsen Open House ในอีกปีสองปีถัดมา)


SAMSEN PRE-TEST 2023

ปีนี้น่าจะเป็นปีแรกในรอบสองปีที่กลับมาจัดได้แบบเต็มรูปแบบจริงๆ หลังจากภาวะโควิดเข้าแทรกแซง และ ในปีนี้อาจจะพิเศษหน่อยตรงที่ว่า มีการจัดทั้งแบบ Onsite และ Online หรือที่เรียกว่า Hybrid Pre-Test แต่ความสำคัญจะเน้นหนักที่รอบ Onsite วึ่งเป็นสนามหลัก ในส่วนของ Online ก็เพื่อที่ว่าผู้ที่ไม่สามารถเข้าสอบแบบ Onsite อาจจะติดธุระอื่นๆ ติดเรียน ติดสอบ ติดไปเที่ยวต่างจังหวัดกับครอบครัว ฯลฯ และ นักเรียนอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆ จะได้เข้าถึงข้อสอบที่เด็กๆในส่วนกลางได้ทำกัน

แต่การประเมินผลหรือหลักการอื่นๆระหว่าง Onsite/Online ก็จะแยกจากกัน

ซึ่งถามว่า ทำไมถึงต้องมาสอบ ลองรวบรวมมานะครับ

  • เด็กๆได้โอกาสมาลองสนาม
  • มาสัมผัสบรรยากาศจริง
  • สถานที่จริง ห้องสอบจริงวันสอบเข้าก็ห้องเหล่านี้แหละ การคุมสอบ กฏข้อห้ามต่างๆ เราก็พยายามทำให้คล้ายวันสอบจริงทุกประการ เพื่อว่าเด็กจะได้ไม่ตื่นเต้นมากในวันที่ต้องลงสนามจริงๆ
  • ข้อสอบเสมือนจริง สอบตามวิชาเนื้อหาที่จะใช้ในการสอบคัดเลือก
  • โครงสร้างข้อสอบที่เหมือนจริง รูปแบบข้อสอบจะใกล้เคียงกับที่สอบคัดเลือก เด็กๆได้ฝึกการบริหารข้อสอบ การตอบในกระดาษคำตอบในรูปแบบที่อาจจะไม่เคยเจอ การฝนกระดาษคำตอบในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ
  • ผู้ออกข้อสอบตัวจริงหรือปล่าวอันนี้ไม่สามารถบอกได้..
  • สิ่งแวดล้อมรอบๆโรงเรียน / วันสอบจริงจะรถติดไหม? ไว้จะมาเล่ามาเฉลย
  • ผู้ที่วางเป้าไว้โรงเรียนอื่นๆ ก็สามารถสอบได้เพราะว่า ข้อสอบก็ออกในเนื้อหาที่ครอบคลุมสิ่งที่เรียนมาและครูจะนำไปออกข้อสอบในการคัดเลือกของโรงเรียนต่างๆ อาจจะต่างกันที่ความซับซ้อนยากง่าย
  • สามารถนำผลมาประเมินได้ว่า เมื่อเทียบกับเด็กๆในรุ่นเดียวกัน เราอยู่ใน rang ประมาณไหน
  • ฯลฯ

รายงานผลการสอบ

ในการสอบ Samsen Pre-Test ปกติก็จะมีการรายงานผลการสอบที่แยกแยะค่อนข้างละเอียดพอควรประมาณนี้

  • แยก Onsite / Online
  • ผลการสอบรวมทั้งหมด(ป.4-ป.5-ป.6) แยกประเภท ห้องเรียนพิเศษ/ห้องเรียนปกติ
  • ผลการสอบรวม แยกระดับ ป.4 – ป.5 – ป.6 แยกประเภท ห้องเรียนพิเศษ/ห้องเรียนปกติ
  • ผลการสอบรวมทั้งหมด(ป.4-ป.5-ป.6) แยกเพศ แยกประเภท ห้องเรียนพิเศษ/ห้องเรียนปกติ
  • ผลการสอบรวม แยกระดับ ป.4 – ป.5 – ป.6 แยกเพศ แยกประเภท ห้องเรียนพิเศษ/ห้องเรียนปกติ
  • ผลการสอบรายวิชา รวมทุกระดับ(ป.4-ป.5-ป.6) แยกประเภท ห้องเรียนพิเศษ
    • คณิตศาสตร์
    • วิทยาศาสตร์
    • ภาษาอังกฤษ
  • ผลการสอบรายวิชา รวมทุกระดับ(ป.4-ป.5-ป.6) แยกประเภท ห้องเรียนปกติ
    • คณิตศาสตร์
    • วิทยาศาสตร์
    • ภาษาอังกฤษ
    • ภาษาไทย
    • สังคมศึกษา
  • ผลการสอบรายวิชา แยกระดับ ป.4-ป.5-ป.6 แยกประเภท ห้องเรียนพิเศษ
    • คณิตศาสตร์
    • วิทยาศาสตร์
    • ภาษาอังกฤษ
  • ผลการสอบรายวิชา แยกระดับ ป.4-ป.5-ป.6 แยกประเภท ห้องเรียนปกติ
    • คณิตศาสตร์
    • วิทยาศาสตร์
    • ภาษาอังกฤษ
    • ภาษาไทย
    • สังคมศึกษา
  • ผลการสอบรวม คิดคะแนนแบบห้องเรียนพิเศษสามเสน ESC / MSEP (คณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์/ภาษาอังกฤษ 50/50/25)
  • ผลการสอบรวม คิดคะแนนแบบห้องเรียนพิเศษสามเสน EP (คณิตศาสตร์ /ภาษาอังกฤษ 50/50)
  • อื่นๆ (ถ้ามี)

สรุป

ซึ่งจากรายงานต่างๆที่ออกมา ทำให้ผู้ปกครองสามารถเลือกเอารายงานมาใช้ให้เหมาะสมกับบุตรหลานของเราได้ ในส่วนของรายงานแยกเพศ เคยมีผู้ปกครองถามผมว่าทำไมต้องมีรายงานแยกเพศ ซึ่งผมก็ตอบไปตามที่คิดในวันที่ทำรายงานนี้ออกมาครั้งแรก นั่นก็คือ สำหรับเด็กๆที่มีเป้าหมายที่สนาม สวนกุหลาบ สตรีวิทยา ศึกษานารี หรือโรงเรียนอื่นๆที่ไม่ได้เป็นโรงเรียนสหศึกษา ก็สามารถนำรายงานนี้ไปประเมินตัวเองได้ ซึ่งบอกแล้วว่า ไม่ว่ามีเป้าหมายที่ไหน ก็สามารถมาประเมินตัวเองได้

เช่นเดียวกันกับรายวิชาอื่นๆ เราประเมินขุนศึกของเราจากรายงานเหล่านี้ เพื่อนำไปปรับปรุงวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง ต้องเติมต้องแต่งอะไรตรงไหน ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ก่อนลงสนามจริง

น่าจะเปิดรับสมัครประมาณช่วงกลางเดือนปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน นะครับ วันแรกไม่ต้องรีบสมัครก็ได้ สมัครวันที่ 2 3 4 5 6 สบายๆ เพราะจากสถิติ เฮโลมาลงวันแรกหมด สายโทรศัพท์แทบไม่ว่าง กระจายๆกันนะครับ วันรับสมัครนานอยู่หลายสัปดาห์ แต่ก็อย่ารอจนปิดรับสมัครนะครับ จะเสียโอกาส