มีคนถามผมว่า ทำไมไม่วางแผนที่จะมา แพทย์เชียงใหม่ตั้งแต่ต้น ทำไมถึงเลือกเป้าหลักเป็น แพทย์ขอนแก่น ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่อะไรหรอกครับ คือเมื่อ 2 ปีที่แล้วตอนที่ลูกอยู่ ม.4 เทอมปลายซึ่งเป็นเวลาที่เรานั่งคุยกันเพื่อวางเป้า ปีนั้นก็จะเป็น TCAS รอบ Portfolio ของ DEK62 และปรากฏว่า Requirement ของแพทย์เชียงใหม่ เป็น Requirement ที่ยากที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆที่เปิดรับแพทย์รอบ portfolio
Requirement ของปี 2562
เจอ Requirement ข้อ 4.1 กับ 4.2 นี่โยนผ้าขาวเลย …. มันไม่ใช่ทาง แน่ๆ เพราะว่าไม่มีเลย และ ไม่สามารถที่จะวางแผนให้มีหรือให้เกิดขึ้นได้ในอนาคตข้างหน้า 2 ปี ยังนึกไม่ออกว่าจะต้องไปหาสนามแข่งขันที่ไหน ขนาดไหน ถึงจะได้ผลงานขนาดนั้น ก็เลยตัดทิ้งแบบไม่ต้องคิดมากเลย มุ่งหน้าล๊อคเป้าไปขอนแก่นอย่างเดียวเลย เพราะโอกาสที่มีเยอะมาก และขอนแก่นมีระบบเรียกตัวสำรองด้วย (ปีนั้นน่าจะเรียกสัมภาษณ์ทั้งหมดเลยมั้งครับเป็นร้อย แต่ก็เรียกสัมรองเยอะมาก เพราะว่ายังเป็นปีที่แต่ละมหาวิทยาลัยมีการสอบสัมภาษณ์ไม่ตรงกัน)
แต่ข้อดีของ Requirement ปี 62 ก็มีนะครับ เพราะว่าในการรับโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ เขาแยกกระดานรับเลย เด็กนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ ก็ไปแข่งกันเอง โดยรับจำนวน 5 คน ส่วนนักเรียนโรงเรียนไทยก็มาแข่งกันเอง รับจำนวน 30 คน (ปีนั้นรับเยอะเนอะ) พอมาในปี 2563 ก็ไม่ได้แยกโรงเรียนไทยกับนานาชาติละ รวบกระดานเลย มาจนถึงปีปัจจุบัน
ใน Post นี้ เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้
- โครงการที่เปิดรับของคณะแพทย์ศาสตร์
- จำนวนที่รับในแต่ละโครงการ
- ข้อกำหนด ความต้องการ หรือ Requirement ของโครงการต่างๆ
- แบบฟอร์ม Portfolio ของโครงการต่างๆ
- รุ่นพี่ๆยื่นอะไรเข้าเป็นผลงานใน Portfolio บ้าง
- จำนวนผู้สมัครในปี 2564 ของโครงการต่างๆ
ก่อนอื่น อยากจะขอออกตัวก่อนว่า ข้อมูลที่สรุปมาให้ก็เป็นข้อมูลที่ตามเก็บจากในโลกออนไลน์นี่แหละครับ ดังนั้น อาจจะขาดตกบกพร่องก็เป็นเรื่องปกติ แต่คิดว่าก็ค่อนข้างตรงในระดับหนึ่ง ถึงเวลาก็ขอให้ยึดมั่นประกาศทางการของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก / ขอบคุณครับ
แพทย์เชียงใหม่รอบ portfolio 2564
ปีนี้สำหรับ DEK64 ซึ่งมาเปิดดู Requirement ก็ไม่ได้ยากเหมือนเมื่อปี DEK62 ซึ่งก็พอทราบมาก่อน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รุ่น DEK63 แล้ว ซึ่งเดี๋ยวค่อยๆมาดูกันว่าปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นเราจะมาดูกันก่อนว่าสำหรับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดรับนักศึกษาแพทย์ในรอบ Portfolio กี่โครงการ กี่คน? และแต่ละโครงการมีเงื่อนไขอะไรอย่างไรบ้าง?
ในปีการศึกษา 2564 ได้เปิดรับรอบ Portfolio รวมทั้งหมด 4 โครงการดังต่อไปนี้
- โครงการผลิตแพทย์วิทยาการข้อมูล(หลักสูตร 7 ปี) รับจำนวน 10 คน
- โครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ รับจำนวน 25 คน
- โครงการเรียนดีโอลิมปิค รับจำนวน 25 คน
- โครงการรับนักกีฬาที่มีความสามารถดีเด่นระดับนานาชาติ/ระดับชาติ และ นักกีฬาตามยุทธศาสตร์ รับจำนวน 1 คน
ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผมอาจจะมีข้อมูลในส่วนของโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษมากกว่าโครงการอื่นๆ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาจับจ้องแต่โครงการนี้อย่างเดียว และลูกก็ยื่นในโครงการนี้ด้วย จึงเท่ากับว่าประสบการณ์สายตรงประมาณนั้นนะครับ แต่เมื่อมาเปิดข้อมูลที่เก็บสะสมมาแล้ว ก็คิดว่าพอที่จะเล่าให้ฟังได้ทุกโครงการอย่างพอสมควร
MED CMU Requirement 2021
เรามาดู Requirement และ รูปแบบของ Portfolio ของแต่ละโครงการนะครับ
โครงการแพทย์เรียนดีภาษาอังกฤษ
ในหลายๆมหาวิทยาลัยอาจจะใช้คำว่า “ผู้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ” ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน ในปีนี้จำนวนที่รับคือ 25 คน ถ้าจำไม่ผิด ปีที่แล้วจะรับ 30 คน อาจจะเกลี่ยไปทางโครงการวิทยาการข้อมูลด้วย เพราะแผนการรับนักศึกษาแพทย์ในแต่ละปีคือ 250 คน ได้กำหนดเอาไว้ก่อนแล้ว
เรามาดูกันว่า ตามประกาศของทางคณะแพทย์นั้น ได้มีข้อกำหนด หรือ requirement สำหรับโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษว่าอย่างไรบ้าง โดยเริ่มต้นจากประกาศเป็นทางการของทางมหาวิทยาลัย
สรุปคร่าวๆสำหรับนักเรียนโรงเรียนปกตินะครับ (โรงเรียนนานาชาติจะต่างกันที่เรื่องผลการเรียนเท่านั้น)
อธิบายเพิ่มเติม
เราลองมาดูรายละเอียดกันว่า มีอะไรน่าสนใจ มีอะไรน่าสงสัยในข้อกำหนดไหนบ้าง
- ผลการเรียนซึ่งในเรื่องนี้มีสาระสำคัญอยู่ 2 เรื่องนั่นก็คือ
- เกรดเฉลี่ยในระดับชั้น ม.4 ต้องได้ 3.50ขึ้นไป และ เกรดเฉลี่ย ม.5 ก็ต้องได้อย่างน้อย 3.50 ขึ้นไป ซึ่งหมายความว่า ให้คิดเฉลี่ยในแต่ละระดับชั้น ไม่ได้เอาทั้ง 4 เทอมของ ม.4 และ ม.5 มาคิดหาค่าเกรดเฉลี่ย
- เกรดเฉลี่ยรายวิชาที่กำหนดคือ เคมี/ฟิสิกส์/ชีววิทยา/คณิตศาสตร์ ก็เช่นเดียวกัน ในแต่ละวิชาจะต้องได้ 3.50 ขึ้นไป ในแต่ละระดับชั้นเรียน
- English Proficiency โดยสามารถเลือกสอบ IELTS หรือ TOEFL ก็ได้ โดยมีเงื่อนไขอยู่ว่าอย่างน้อยต้องได้ตามที่กำหนด และ ที่สำคัญจะนำไปแปลงเป็นคะแนนคิดน้ำหนักเป็น 30% ในการเรียกสัมภาษณ์และคัดเลือก
- IELTS Overall Band ต้องได้ 6.5 ขึ้นไป
- TOEFL iBT (Internet Base) อย่างน้อย 79 คะแนน ขึ้นไป
- Academic Achievement จะต้องมีผลคะแนนสอบ BMAT โดยที่มีผลรวมคะแนนสอบใน Section 1 กับ Section 2 อย่างน้อย 9.0 ขึ้นไป ข้อนี้สำคัญมาก เพราะว่า คิดน้ำหนักเป็น 50% ในการเรียกสัมภาษณ์และคัดเลือก
- Portfolio จะคิดน้ำหนักเป็น 20% โดยจะต้องมีผลงาน 4 ชิ้น(ชิ้นละ 5%) โดยในส่วนของโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษมีข้อกำหนดดังนี้
- ชิ้นที่ 1 ผลงานที่แสดงถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพแพทย์ ยกตัวอย่าง
- การไปฝึกงานตามโรงพยาบาล(Hospital Training) ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะเหมือนไปทำงานจริง ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้สังเกตุการณ์ อะไรประมาณนั้น ซึ่งจะไม่ใช่งานจิตอาสานะครับ
- การเข้าค่ายแพทย์ต่างๆ จะตรงตามความต้องการของคณะแพทย์ มช.ไหมไม่รู้นะครับ แต่เห็นมีผู้ที่สอบคัดเลือกผ่านหลายคนก็ใช้เรื่องนี้เป็นผลงานในหัวข้อนี้ ซึ่งแนะนำว่าถ้าเป็นค่ายที่จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย หรือ องค์กรนิสิตนักศึกษาของคณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆก็จะเป็นการดี ยกตัวอย่างเช่น
- ค่ายรามาปณิธาน แพทย์รามา (Link เปลี่ยนไปในแต่ละปี)
- ค่ายอยากเป็นหมอ แพทย์จุฬา
- ค่ายอยากเป็นหมอ แพทย์เชียงใหม่
- ค่ายสานฝันฉันจะเป็นหมอ แพทย์ขอนแก่น
- ค่ายเส้นทางสู่หมอศิริราช แพทย์ศิริราช (Link เปลี่ยนไปในแต่ละปี)
- ค่ายเปิดเสื้อกาวน์ แพทย์วชิระ
- ค่ายสู่ฝันวันเป็นหมอ แพทย์มศว.
- ค่ายฝันเป็นหมอขอได้ไหม แพทย์ธรรมศาสตร์
- ค่ายตะกายฝันสู่วันเป็นแพทย์ทหาร แพทย์พระมงกุฎ
- ค่ายเพาะกล้าหมอต้นใหม่ แพทย์สงขลา
- ชิ้นที่ 2-3-4 ผลงานด้านอื่นๆ(ไม่ซ้ำด้าน)
- ด้านนวัตกรรม วิจัย ความคิดสร้างสรรค์
- ด้านคุณธรรม จริยธรรม
- ด้านการทำงานเป็นทีม
- ด้านจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์
- ด้านกีฬา
- ด้านศิลปะ ดนตรี
- การแข่งขันวิชาการ (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์)
- ในแบบฟอร์มของ Portfolio เขียนกำกับเอาไว้ว่า ตัวอย่างที่ไม่นับว่าเป็นผลงาน portfolio ทางการแพทย์ เช่น การแข่งขันตอบปัญหาทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์
- ชิ้นที่ 1 ผลงานที่แสดงถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพแพทย์ ยกตัวอย่าง
การจัดทำ Portfolio
Portfolio ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองแล้วน่าจะง่ายสุดแล้วในบรรดา portfolio ของคณะแพทย์ที่จะต้องยื่นกันในรอบ TCAS-1 เพราะว่าจะมาเป็นแบบฟอร์มให้เรากรอกข้อมูล และ/หรือ เป็นเช็คลิสต์ให้เราเลือกตอบ ดังนั้น การหาข้อมูลมาใส่ไม่ใช่เรื่องยาก และผลงานที่จะต้องนำเสนอ 4 ผลงานนั้น ก็มีแบบฟอร์มให้ชัดเจน สามารถแปะรูปได้ผลงานละ 2 รูป ชัดเจนนะ !!!
ไม่ต้องไปนั่งคิดนอนคิดตีลังกาคิดว่า จะเขียนจะจัดระเบียบ portfolio อย่างไร ไม่ต้องทำสารบัญ ไม่ต้องทำหน้าปก ลองดูแบบฟอร์มตามนี้นะครับ
ในส่วนที่เป็นผลงาน ต่างๆก็จะเป็นประมาณนี้
ผลงานชิ้นแรก ก็จะเป็นประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพแพทย์ เราก็เลือกลงข้อมูลได้เลย ถ้าเป็นลักษณะการไปฝึกงานของลูกก็เลือกเป็น “การอบรม/สมัครเรียน” และผลงานนี้ทำให้ข้าพเจ้า ได้รับหนังสือรับรองการฝึกปฏิบัติงาน จากทางโรงพยาบาล
การอธิบายก็เขียนไปตามความเป็นจริง เขียนให้ได้ใจความ และ ควรจะสรุปด้วยว่า จากการไปปฏิบัติงานครั้งนี้ทำให้ได้รับอะไรบ้าง …
ประมาณนั้นนะครับ
ส่วนหน้าถัดไป ก็ให้เราติดรูปภาพ ตามกำหนดคือไม่เกิน 2 รูป
ผลงานอีก 3 ชิ้นที่เหลือก็จะมีแบบฟอร์มที่เหมือนๆกัน แต่เราต้องเลือกว่าผลงานนั้นเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับด้านไหน ซึ่งใน 3 ผลงานนี้จะต้องไม่ซ้ำด้านกัน
File แบบฟอร์ม การยื่น Portfolio โครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ ปีการศึกษา 2564
โครงการผลิตแพทย์วิทยาการข้อมูล
โครงการนี้เป็นโครงการใหม่ เพิ่งเปิดปีนี้เป็นปีแรก รับจำนวนทั้งหมด 10 คน เป็นหลักสูตร 7 ปี 2 ปริญญา นั่นคือจะได้ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตเพิ่มมาอีก 1 ใบ
ขอคัดลอก Requirement มาจากทาง website ประกาศรับสมัครของทางมหาวิทยาลัยนะครับ
ซึ่งเอามาสรุปสั้นได้ประมาณนี้ (จะงงกว่าเดิมไหม? 5 5 5)
อธิบายเพิ่มเติม
จะอธิบายเฉพาะส่วนที่ไม่เหมือนกันกับโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษที่ได้อธิบายไปแล้วนะครับ
- ในเรื่องของผลการเรียน ไม่มีอะไรแตกต่างกัน
- รับเฉพาะนักเรียนสายสามัญวิทย์-คณิต ผมแปลให้ว่าไม่รับเด็กอินเตอร์น่าจะใช่นะครับ
- เป็นผู้ผ่านการอบรม สอวน.ค่าย 1 และ ได้รับการคัดเลือกไปอบรม สอวน.ค่าย 2 สาขาใดสาขาหนึ่ง เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ หรือ คอมพิวเตอร์ ข้อนี้คิดน้ำหนักคะแนน 50%
จริงๆข้อนี้เป็น Requirement ทั้งของโครงการผลิตแพทย์วิทยาการข้อมูลและโครงการเรียนดีโอลิมปิก ซึ่งก็ได้มีการสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ที่ทำตัวเน้นไว้นั้นว่า ได้รับการคัดเลือกไปอบรมค่าย 2 สอวน. เพียงได้รับการคัดเลือกก็เพียงพอ หรือว่าต้องไปเข้าค่ายด้วยจนจบได้รับใบประกาศมา เพราะว่าถ้าต้องผ่านค่ายมาด้วย ก็สามารถเขียน Requirement ว่า เป็นผู้ผ่านการอบรม สอวน.ค่าย 1 และ ค่าย 2 สาขาใดสาขาหนึ่ง ก็น่าจะจบและชัดเจน พอดีว่าลูกไม่ได้ยื่นโครงการนี้ ก็เลยไม่ได้โทรสอบถามช่วงเวลานั้น
แต่ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อ Requirement ข้อนี้ ได้ถูกนำมาคิดคะแนนเพื่อใช้ในการเรียกสัมภาษณ์และคัดเลือกด้วยและคิดเป็น 50% ด้วย เยอะมาก ดังนั้น เกณฑ์ในการให้คะแนนข้อนี้ ส่วนตัวเลยมองว่า การเข้าร่วมการอบรมและได้ประกาศทั้ง 2 ค่าย ก็ย่อมน่าจะได้คะแนนมากกว่าอยู่แล้ว(มั้ง) ดังนั้น เด็กๆที่ผ่านเข้ามาก็จะเป็นคนที่ผ่านมาทั้ง 2 ค่าย(เท่าที่รู้) - เรื่องผลงาน ที่จะต้องมี 4 ผลงานนั้น จะคล้ายๆกับโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ นั่นคือ ผลงานชิ้นที่ 1 จะเป็นเรื่องประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชัพแพทย์ จะมีภาคบังคับเพิ่มเติมมาในผลงานชิ้นที่สอง ซึ่งจะต้องมีผลงานทางด้านวิทยาการคำนวณ 1 ผลงาน ส่วนที่เหลืออีก 2 ผลงานก็ตามแต่จะเลือกว่าเป็นผลงานด้านไหนตามที่เขาให้หัวข้อมา
รวมทั้งหมดเป็น 4 ผลงาน ผลงานละ 5% น้ำหนักคะแนนเป็น 20% - ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ น้ำหนักตะแนน 30% ได้ลดเกณฑ์ขั้นต่ำลงมาจากของโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ นั่นก็คือ
- IELTS Overall Band ต้องได้ 6.0 ขึ้นไป
- TOEFL iBT (Internet Base) อย่างน้อย 60 คะแนน ขึ้นไป หรือ
- TOEFL ITP (Paper Base) อย่างน้อย 500 คะแนน ขึ้นไป
การจัดทำ Portfolio
ในส่วนแรกที่เกี่ยวกับผลการเรียนก็จะเหมือนๆกับของโครงการเรียนดีภาษาอังกฤษ จะมีก็แผ่นที่สามที่ให้กรอกข้อมูลเกี่ยวกับการสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ หรือ การเข้าค่าย สอวน. ซึ่งส่วนนี้แหละที่บอกว่ามีน้ำหนักคะแนนถึง 50%
นอกจากนั้น ก็จะมีส่วนของผลงาน ที่ยอกว่าผลงานแรกจะเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางการแพทย์ ส่วนผลงานชิ้นที่สองก็จะเป็นผลงานทางด้านวิทยาการข้อมูล และ ติดรูปภาพไว้ด้วยในแผ่นถัดไป 2 รูป ที่เหลือก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากเดิมละ
ขอยกตัวอย่างจากการพูดคุยกับผู้ปกครองที่ลูกสามารถเข้าด้วยโครงการนี้ได้นะครับ (ขอขอบคุณคุณพ่อและน้อง นศพ.แพทย์ มช. ด้วยนะครับ) เนื่องจากเด็กเป็นนักเรียนทุนของโครงการ พสวท.อยู่แล้ว ซึ่งตามหลักสูตรก็จะต้องทำโครงงานเป็นข้อบังคับอยู่แล้ว และ จะมีการนำเสนอโครงงานตามขั้นตอนไปถึงระดับชาติ โดยโครงงานจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ลิ้นอิเลคโทรนิค” เพื่อวัดความหวานในน้ำส้ม โดยการทดลอง เก็บข้อมูล และเขียนโปรแกรมด้วย python เพื่อประมวลผล ซึ่งตัวโครงการ หลักๆอาจจะเป็นเรื่องเคมี แต่ความสำคัญอยู่ที่การเก็บข้อมูลและการประมวลผลเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการตามวัตถุประสงค์ของโครงงาน
ซึ่งก็ยังมีแนวทางของผลงานในรูปแบบอื่นๆ ลองค้นหาดูครับ
File แบบฟอร์มการยื่น Portfolio โครงการผลิตแพทย์วิทยาการข้อมูล
โครงการแพทย์เรียนดีโอลิมปิก
เป็นโครงการรับเด้กเรียนดีโอลิมปิกผู้ที่ผ่านค่าย สอวน.มากันแล้ว โดยรับจำนวนทั้งสิ้น 25 คน และมี Requirement คล้ายๆกับที่กล่าวไปแล้วในโครงการผลิตแพทย์วิทยาการข้อมูล ยกเว้นเพียงแต่ว่าในส่วนที่เป็นผลงาน จะไม่มีบังคับผลงานเฉพาะด้านเหมือนวิทยาการข้อมูล แต่ยังคงมีบังคับผลงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพแพทย์
อธิบายเพิ่มเติม
ซึ่งในแบบฟอร์มของโครงการเรียนดีโอลิมปิคนั้น ส่วนแรกที่เป็นเรื่องของผลการเรียนก็เหมือนๆกับโครงการที่ผ่านมา ส่วนที่สองเรื่องผลงานการผ่านค่าย สอวน. ก็จะเป็นรูปแบบเดียวกันกับที่กล่าวไปแล้วในโครงการวิทยาการข้อมูล และสุดท้ายเรื่องของผลงาน 4 ผลงานนั้นก็จะเป็นเช่นเดียวกันกับของเรียนดีภาษาอังกฤษ นั่นก็คือ มีผลงานประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องด้านแพทย์ 1 ผลงาน และผลงานอื่นๆอีก 3 ผลงาน นั่นเอง
File แบบฟอร์ม Portfolio ของโครงการเรียนดีโอลิมปิก ปีการศึกษา 2564
บทสรุป
น่าจะเขียนยาวเกินละ ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครอ่านมาถึงบรรทัดนี้กี่คน แฮะๆ แบบว่านึกอะไรออกก็เขียนนะ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ก่อนอื่นเดี๋ยวสรุปยอดผู้ที่ยื่น Portfolio ของปีต่างๆ ตัวเลขโดยประมาณนะครับ เท่าที่จะเก็บได้ อาจจะมากกว่านั้นไหม ไม่แน่ใจนะครับ แต่คิดว่าไม่น่าเยอะมาก
บทความอื่นๆที่พอจะมีประโยชน์นะครับ