ทุกๆปี… จะต้องมีการพูดถึงเรื่องนี้ เมื่อเทศกาลสอบเข้ารอบสามัญมาถึง “เด็กเงื่อนไขพิเศษ” แต่เดิมถ้าจำไม่ผิด เคยเขียนไปเมื่อหลายปีที่แล้ว
ซึ่งในปีนี้มีความแตกต่างที่กำหนดโดย สพฐ. ซึ่งต้องดูว่า จะเป็นเพียงแค่แผ่นกระดาษที่เขียนไปเพียงเท่านั้นแต่ปฏิบัติจริงก็ต้องมาดูกันว่า แต่ละโรงเรียนที่สนองรับนโยบายหวานชื่นมาดำเนินการ จะทำอย่างไร ซึ่งนโยบายที่ขีดเขียนออกมาของ สพฐ. ให้มีการรับเด็กเงื่อนไขพิเศษได้ภายใต้เงื่อนไขหรือ “ข้อเท็จจริง” 4 ข้อ
จากแต่เดิมที่เงื่อนไขหรือเกณฑ์ในการพิจารณาซึ่งใครก็ไม่รู้ตั้งไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2554 โน่น มี 7 ข้อคือ
1. นักเรียนที่ทำคะแนนสอบคัดเลือกเท่ากันในลำดับสุดท้าย
2.รับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษตามข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน
3.เด็กยากไร้ เด็กด้อยโอกาส หรือเด็กพิการ
4.บุตรของผู้เสียสละเพื่อชาติ
5.บุตรของข้าราชการครู หรือบุคลากรในโรงเรียนแต่ไม่ครอบคลุมถึงหลานและญาติ
6.รับนักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่พัฒนา
7. รับนักเรียนของผู้ทำคุณประโยชน์ให้โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
มาปีนี้ ที่พูดถึงก็กลับมาอีกนั่นก็คือเรื่องของเด็กในพื้นที่ และ เด็กเงื่อนไขพิเศษ
ถามว่า มันสำคัญตรงไหน?
ย่อมต้องสำคัญสำหรับ เด็กและผู้ปกครอง ที่ต้องการให้ลูกสอบเข้าโรงเรียนนั้นๆ เพราะบางคนก็อยู่นอกเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนเป้าหมาย ซึ่งจำนวนรับนักเรียนก็ต้องมาแบ่งกันกับเด็กในพื้นที่บริการ บางโรงเรียนก็แบ่งกัน 50:50 บางโรงเรียนก็ไม่เท่ากัน บางโรงเรียนก็จะรับเด็กในพื้นที่น้อยมากเช่นสวนกุหลาบ ซึ่งก็เป็นไปตามสภาพชุมชนที่แวดล้อมหรืออยู่ในพื้นที่ให้บริการของโรงเรียน ที่มีบ้านเรือนไม่ได้มากมาย ไม่มีตึกสูง ไม่มีคอนโดที่หลังนึงมีได้หลายร้อยครอบครัว เป็นวัดเป็นโรงเรียนเป็นสถานที่ราชการอีกเยอะแยะ ซึ่งถ้าโรงเรียนเปิดรับนักเรียนในพื้นที่เยอะ คนสมัครก็จะไม่เต็มอยู่ดี ก็เลยรับพอประมาณตามความเป็นจริง
มีอีกหลายโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมเป็นเช่นนี้
นอกจากจะแบ่งกันระหว่างนอกเขตและในเขตแล้ว ยังมีวิธีการรับในรูปแบบอื่นอีกคือ ความสามารถพิเศษ และ เงื่อนไขพิเศษ
ความสามารถพิเศษ อาจจะไม่ต้องแปลความหมายมาก เพราะชื่อมันบอกๆอยู่ ความสามารถทางด้านกีฬา ความสามารถทางด้านดนตรี ฯลฯ แต่เงื่อนไขพิเศษนี่สิ แค่ชื่อทุกคนก็ตั้งคำถามกันไว้ในใจแล้วว่า “คืออะไร?” อะไรคือพิเศษ แล้วอะไรถึงจะไม่พิเศษ !!!
ว่ากันว่าคำว่าเงื่อนไขพิเศษนี้ ตั้งเป็นเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องแปะเจี๊ยะในสมัยนั้นที่โด่งดังในทุกๆปีการศึกษา
แปะ : ผู้ชายอายุเยอะหน่อย เป็นผู้หลักผู้ใหญ่แล้วหละ
เจี๊ยะ : กิน
ไม่ต้องบรรยายต่อละ . . .
ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมานั้นมี 7 ข้อ ตามที่กล่าวไปข้างต้น
แต่ในปีการศึกษานี้ สพฐ. ชี้เป้าว่า การรับเด็กเงื่อนไขพิเศษ ควรจะอยู่ในหลักเกณฑ์ 4 ข้อ ต่อไปนี้ (จากเอกสาร นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา ๒๕๖๔)
- นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้บริจาคที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างเพื่อจัดตั้งโรงเรียน ซึ่งมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงร่วมกันมาก่อนมติคณะรัฐมนตรี ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562
- นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส
- นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติหรือผู้ประสบภัยพิบัติ ที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ
- นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครูและบุคคลากรในโรงเรียน
แต่ก็ยังแอบมีทิ้งท้ายให้อีกว่า สำหรับเงื่อนไขพิเศษนอกเหนือจาก 4 ข้อข้างต้น หากโรงเรียนเห็นว่ามีความจำเป็นให้เสนอคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษาให้ความเห็นชอบ โดยต้องได้รับความเห็นชอบก่อนประกาศรับสมัครนักเรียน
ก็ลองดูว่า จะมีโรงเรียนไหนปฏิบัติตามแนวทางที่ให้มา 4 ข้อหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้ว ก็กลับไปเหมือนเดิม !!!
จำนวนเด็กเงื่อนไขพิเศษโรงเรียนดัง
เราลองมาดูว่า การรับเด็กเงื่อนไขพิเศษ โรงเรียนดังต่างๆนั้นมีจำนวนมากน้อยขนาดไหน ในปีนี้ และ เทียบกับ ปีที่แล้ว (กรุณาตรวจสอบจำนวนอีกครั้งหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็พยายามเก็บมาจากเอกสารประกาศทางการของโรงเรียนอยู่แล้ว)
ซึ่งจริงๆแล้ว ตั้งแต่สมัยโน้นได้มีการกำหนดเอาไว้ว่า สามารถรับเด็กเงื่อนไขพิเศษได้ไม่เกิน 20% ของจำนวนรับทั้งหมด !!! (แอบเยอะ เน๊อะ)
ประกาศ เงื่อนไขพิเศษ ของโรงเรียนต่างๆ
คราวนี้เรามาดูกันหน่อยว่า แต่ละโรงเรียนดังที่เห็นๆกัน มีการกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณา “เด็กเงื่อนไขพิเศษ” เอาไว้อย่างไรบ้าง ตามประกาศอย่างเป็นทางการของโรงเรียนนั้นๆ ซึ่งจะคล้อยตามแนวนโยบายที่ทาง สพฐ. ได้เกริ่นเอาไว้หรือไม่
เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า (37 คน เพิ่มขึ้น 3 คน)
เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ (90 คน เพิ่มขึ้น 5 คน)
เทพศิรินทร์ (32 คน ลดลง 11 คน)
บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) (75 คน เท่าเดิม)
โยธินบูรณะ (15 คน เท่าเดิม)
ศึกษานารี (50 คน เท่าเดิม)
สตรีวิทยา (40 คน เพิ่มขึ้น 10 คน)
สวนกุหลาบ (57 คน เพิ่มขึ้น 2 คน)
สวนกุหลาบรังสิต
สามเสนวิทยาลัย (50 คน เพิ่มขึ้น 48 คน)
หอวัง (108 คน เพิ่มขึ้น 6 คน)
บทสรุป
เชื่อว่าหลายๆโรงเรียนมีความจำเป็นจริงๆที่จะต้องมีการรับเด็กเงื่อนไขพิเศษตามภาระผูกพันที่มีมาแต่เดิม และเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ผู้ใดแสวงหาประโยชน์ส่วนตนจากช่องว่างเหล่านี้ คงรู้อยู่แก่ใจ จะไม่มีความสุขสงบในจิตใจอีกต่อไป
ใครเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็อ่านตามนี้เลยครับ