ช่วงนี้ มีคำถามยิงเข้ามาเยอะมาก ทั้งทาง inbox – messenger – line – line group – line openchat – facebook – fanpage …. ว่า… ทำไม่ถึงได้มีการเรียกนักเรียนสำรองเยอะมากในหลายๆแผนการเรียน ตามที่ปรากฏอยู่ ??? และเป็นกันหลายๆโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่เปิดสอนทั้งมอต้นและมอปลาย
ถ้าจะให้โรงเรียนมาตอบ ก็ยังดูไม่ออกว่า ใครควรจะออกมาตอบ และผมก็คิดว่าคงไม่ออกมาตอบอย่างเป็นกิจลักษณะ
ครั้นจะให้ผมไปถามครู…… ผมก็ไม่กล้า !!!
แต่ผมกล้าที่จะคิดเอง เออเอง …….. จากข้อมูล timeline และประสบการณ์ (ข้อมูลเยอะจนเครื่องพังไปเลย เมื่อวานนี้ วันนี้เขียนโพสต์นี้ฉลองเครื่องใหม่ !!!)
ใน post นี้ ผมก็เลยจะเขียนเรื่องราวประมาณนี้
- การได้มาของสิทธิ์ที่เรียนในรอบต่างๆ – ทำไมเด็กบางคนมีได้ถึง 4 – 5 สิทธิ์
จากรูปนี้ ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของปีนี้ ผมเชื่อว่าจะยังมีการเรียกอีกอย่างน้อย 1 ถึง 2 ครั้ง (อย่างมากเท่าไหร่ไม่รู้) เดี๋ยวจะเอาข้อมูลเปรียบเทียบ จำนวนที่รับจริงกับจำนวนเรียกตัวสำรอง เห็นแล้วจะตกใจ !!!
ยกตัวอย่างง่ายๆ
ห้อง พสวท. รับ 24 คน เรียกสำรองถึงลำดับที่ 100 !!!
ห้อง MSEP รับ 72 คน เรียกสำรองถึงลำดับที่ 131 …
นี่ขนาดว่า ปีนี้การสอบการเรียกสำรองในรอบห้องเรียนปกติจะเป็นแบบ New Normal ไปแล้ว นั่นคือเด็กที่มาสอบคือเด็กที่อยากเรียนจริงๆ (อ่าว … แล้วมีแบบไม่ได้อยากเรียนแต่มาสอบด้วยหรอ?) ถ้าไปดูของปีก่อนหน้านี้ จะยิ่งตกใจ !!!
เหตุผล !!! – ทำไมเด็กเก่งถึงมีเก้าอี้ได้ตั้ง 4-5 ตัว
พยายามนั่งนึกนั่งหาเหตุผล แล้วลองมานั่งเรียบเรียงดูก็พอได้ประมาณนี้นะครับ
เรื่องนี้ย้อนหลังไปหลายๆปี pattern ที่ออกมาก็จะคล้ายๆกัน และความจริงแล้วก็พยายามมีการแก้ไขเชิงนโยบายอยู่หลายๆรูปแบบ แต่ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้
A) เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน
อันนี้ก็เป็นนโยบายของทางการเหมือนกันว่า สำหรับโรงเรียนที่เปิดสอนทั้งระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย เด็กนักเรียนที่จบ ม.3 อย่างน้อยต้องมีที่นั่งให้เขาเรียนในระดับมัธยมปลาย ซึ่งทางโรงเรียนสามารถบริหารจัดการเอง โดยมีกฏเกณฑ์ว่า ใครสามารถยื่นสมัครสอบเข้าการเรียนแผนไหนบ้างนั้นขึ้นอยู่กับผลการเรียนที่ผ่านมาในระดับมอต้น หรือ อีกแนวทางหนึ่งก็คือ การสอบคัดเลือกเป็นการภายในเพื่อเข้าห้องเรียนพิเศษ… เดี๋ยวจะมีกล่าวต่อไป..
ซึ่งจากหลักเกณฑ์เหล่านี้ แน่นอนว่า ในขั้นต้นโรงเรียนจะต้องจัดหาที่นั่งให้กับนักเรียนทั้งหมดก่อน ซึ่งเรื่องนี้ได้เคยเขียนไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่แล้ว อาจจะไม่ up2date ในรายละเอียด แต่หลักการทั้งหมดยังใช้ได้อยู่
เลือกแผนการเรียน – สามเสน ม.3 ขึ้น ม.4 – ตอนที่ 2
ซึ่งจะพอสรุปได้ว่า เด็กทุกคนได้รับการจัดสรรที่นั่งตอนมอปลาย ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเก่งที่สุดหรืออ่อนที่สุดในโรงเรียน ……. แต่ก็ต้องรอเวลา รอผลคะแนน O-NET มาประกอบการจัดสรร ซึ่งการรอนี้นี่แหละ ก็จะทำให้ช่วงในการประกาศผลการจัดสรร+ผลการสอบคัดเลือกรอบสามัญ จะประกาศในเวลาที่ใกล้เคียงกัน
B) การสอบคัดเลือกห้องเรียนพิเศษภายใน
ที่นี่มีห้องเรียนพิเศษภายในอยู่ 2 ห้อง นั่นก็คือ ห้อง IMP(วิทย์-คณิต-คอม-ฯลฯ) และห้อง EIS(ศิลป์คำนวณ) ซึ่งจะทำการสอบคัดเลือกในวันสุดท้ายของการสอบ Final ภาคเรียนที่ 2 ของ ม.3
ซึ่งการประกาศผล ก็ไปประกาศผลหลังจากการประกาศผลการสอบคัดเลือกห้องเรียนพิเศษ(เดี๋ยวจะกล่าวต่อไป)
จะเห็นได้ว่า เด็กกลุ่ม A) และกลุ่ม B) จะเป็นกลุ่มที่ทับซ้อนกัน กล่าวคือ A เป็น subset ของ B
จะเห็นว่า ขั้นตอนนี้ ชื่อเด็กก็จะซ้ำกันละ = จำนวนคนใน B (45+45)
ตรงนี้ยังพอมีวิธีการจัดการภายในได้อยู่ …แต่ก็เป็นอีกจุดเริ่มหนึ่งที่ทำให้เกิดการเรียกสำรองกระทบไปเรื่อย
โรงเรียนก็จะใช้วิธีให้เด็กกลุ่ม B ยืนยันที่จะใช้สิทธิ์ และ เมื่อยืนยันแล้ว ที่นั่งในกลุ่ม A ก็จะถูกตัดออกไป
แต่ถ้าไม่ใช้สิทธิ์กลุ่ม B ก็จะถือว่าทิ้งห้อง IMP หรือ EIS ไป แต่สิทธิ์ของกลุ่ม A ยังคงมีอยู่ (เวลานั้นการจัดสรร กลุ่ม A ยังไม่ทราบผลเพราะยังรอคะแนน O-NET อยู่
C) การสอบชิงทุน พสวท.
ที่เอากลุ่มนี้มาพูดก่อนเพราะเป็นเรื่องที่เกิดก่อนกลุ่มถัดไป
การสอบชิงทุน พสวท. สอบกันตั้งแต่ประมาณเดือนธันวาคมโน่นครับ
ติดตามรายละเอียดของทาง พสวท. ได้ตามนี้เลยครับ
http://dpst.ipst.ac.th/
HighLight ของเราอยู่ตรงที่กรอบสีฟ้าแหละครับ ซึ่งเด็กที่มาสอบก็คือเด็กเก่งหัวกะทิระดับประเทศมาเรียงชื่อกันเลยครับ ส่วนใหญ่ก็หวังจะได้รับทุน แต่ถ้าไม่ได้รับทุน แต่อยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด(1-2000 หรือ เปอร์เซ็นไทล์ 80 ขึ้นไป) ก็จะสามารถสมัครเพื่อสอบสัมภาษณ์ตามโรงเรียนที่เป็นศูนย์ของ พสวท.(สู่ความเป็นเลิศ)ทั้ง 10 โรงเรียนได้ ในรอบห้องเรียนพิเศษ
ข้อดีข้อได้เปรียบก็คือ เด็กกลุ่มนี้ยังสามารถไปสมัครสอบรอบห้องเรียนพิเศษของโรงเรียนต่างๆได้อีกเช่น ESMTE MSEP EP Gifted ฯลฯ และที่สำคัญการสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษา เพราะวันที่สอบสัมภาษณ์ไม่ตรงกันกับการสอบเหล่านั้นเลย
D) การสอบคัดเลือก สพฐ. รอบห้องเรียนพิเศษ
เป็นไปตามกำหนดวาระของ สพฐ. ที่ให้มีการสอบคัดเลือกห้องเรียนพิเศษระดับมัธยมปลาย เช่นห้อง MSEP – ESMTE – Gifted วิทย์ หรือ คณิตต่างๆ – EP (ทั้ง วิทย์ – คณิต – ภาษา)
ถามว่าเด็กกลุ่มไหนบ้างที่มาสมัครสอบ
คำตอบก็คือ เด็กกลุ่ม A B C และรวมไปถึง E ที่ยังไม่กล่าวถึงด้วย
กลุ่ม A – B ก็พอเข้าใจอยู่ บางคนเป็นเด็กห้องเรียนพิเศษอยู่แล้ว ก็อยากจะสอบเอาไว้ก่อน บางคนเป็นเด็กห้องสามัญ ก็อยากจะลองสอบห้องเรียนพิเศษ
แต่เด็กที่อยู่ในกลุ่ม E ที่จะสอบเข้าเตรียมอุดม แน่นอนว่าจะต้องหาที่เรียนที่เหมาะกับความสามารถเป็นที่สำรองเอาไว้ก่อน นั่นก็คือ จะกระจายไปสอบห้องเรียนพิเศษโรงเรียนต่างๆ ซึ่งก็เฮโลไปสอบกันหมด ทั้งเก่งเทพ เก่งจริง เก่งปานกลาง เกือบจะเก่ง … แน่นอนว่า พวกนี้ก็จะสอบได้ห้องเรียนพิเศษทั้งตัวจริงตัวสำรอง ตุนไว้ในมือก่อน เมื่อได้เตรียมอุดมก็ค่อยสละสิทธิ์ …
E) การสอบคัดเลือกของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
เนื่องจากห้องเรียนของเตรียมอุดม เป็นห้องเรียนภาคปกติ ไม่ใช่ห้องเรียนพิเศษ จึงสอบไม่ตรงกับห้องเรียนพิเศษ เมื่อก่อนจะสอบวันเดียวกันกับการสอบคัดเลือกรอบห้องเรียนปกติ
แต่นัยว่า เพื่อแก้ปัญหาต้องเรียกตัวสำรองซ้ำซ้อน ปีที่แล้วเลยจัดให้สอบเข้าเตรียมสอบวันเดียวกันกับการสอบรอบห้องเรียนพิเศษ ปรากฏว่า จากจำนวนที่รับแค่ 1000 คน คนสมัครเป็นหมื่น เด็กเก่งหลายพัน เด็กเก่งที่พลาดหวังก็จะเยอะเป็นพิเศษ จะไปสอบรอบห้องเรียนพิเศษก็ไม่ได้แล้ว เพราะเขาสอบไปแล้ว สุดท้ายก็ต้องไปสอบรอบห้องเรียนปกติ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เด็กที่อยู่แนวกลางๆหลีกสนามเตรียมอุดมมาสอบรอบห้องเรียนพิเศษ ก็สอบติดกันได้เรียนห้องพิเศษไป เด็กเก่งที่พลาดก็ต้องไปแย่งห้องสามัญกันเอง …… ดูแล้วยิ่งแย่กว่าเดิม
ปี 2563 ก็เลยเอาใหม่ … สอบเตรียมอุดม ไม่ตรงรอบห้องเรียนพิเศษ และ ไม่ตรงรอบห้องเรียนปกติด้วย . . . . โอยยยยย พระเจ้าช่วยกล้วยทอด(ขายไม่ได้ด้วย ติดโควิด) ผลจะเป็นอย่างไร …. ด้วยการเข้ามาแทรกแซงของโควิด ทำให้เราไม่รู้ว่า ผลของการจัดการแบบนี้ ได้ผลสรุปอย่างไร
พอเตรียมอุดมประกาศผล ก็จะเห็นแล้วว่าชื่อจะไปทับซ้อนกับเด็กห้องเรียนพิเศษเรียกกันว่าเป็นร้อยร้อยลำดับเลย
เมื่อเตรียมอุดม มอบตัว ห้องเรียนพิเศาต่างๆก็จะมีการสละสิทธิ์เป็นล๊อตใหญ่
เมื่อเวลาผ่านไป เตรียมอุดมเรียกสำรอง ก็จะกระทบชิ่งลงมาอีกทั้งห้องเรียนพิเศษ ห้องเรียนพิเศษภายใน และ ห้องสามัญ ก็ต้องตามเรียกสำรองกันไปเรื่อย !!!
F) โรงเรียนพิเศษอื่นๆเช่น MWIT – KVIS
ความจริงโรงเรียนเหล่านี้ตารางสอบจะเป็นช่วงปลายปี ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับการสอบของ สพฐ. แต่ที่เกี่ยวข้องแน่ๆก็คือ นักเรียนเป็นกลุ่มเดียวกัน
กลุ่มนี้ที่มีที่เรียนแล้ว ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มาสอบเตรียมอุดมด้วย ซึ่งสอบได้หลายคนก็ไม่เอา ก็จะทำให้เตรียมอุดมมีเก้าอี้ว่าง ต้องเรียกสำรอง …… นึกภาพออกนะครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น … กระทบชิ่งกันไป
G) การสอบคัดเลือก สพฐ. รอบปกติ
ก็คือการสอบรอบสามัญที่เพิ่งสอบช่วงคลายล๊อกโควิดนิดนิด นี่แหละ สนามนี้เป็นความหวังสุดท้ายของเด็กๆ “ที่ต้องการที่เรียน” ซึ่งเป็นสนามที่รอการเรียกสำรองที่ส่งผลกระทบ+กระทบชิ่ง จากกลุ่มการเรียนต่างๆที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
ผลกระทบอย่างไร? – เรียกสำรองกี่ชิ่ง?
มาถึงบทสรุปของ Post นี้แล้ว ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงแค่ข้อมูลประกอบเท่านั้น มาถึงจุดนี้จะมาช่วยกันนั่งคิดว่า มันกระทบกันอย่างไรบ้าง?
เอาเป็นว่าจะเล่าจาก ต้นขบวนที่ทำให้เกิดการเรียกสำรอง ทั้งแบบกระทบสั้น และ กระทบยาวหลายชิ่ง หลักๆก็จะมาจากเด็กเก่งเลือกได้ มีหลายเก้าอี้ เมื่อตกลงปลงใจว่าจะเรียนที่ไหนแล้ว เก้าอี้ว่างที่เหลือที่ตัวเองมีสิทธิ์ ก็จะต้องเรียกสำรองมาเสริม ที่สำคัญ จะเรียกสำรองได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับ timeline ด้วยว่า สิทธิ์ในที่นั่งนั้นๆจะหมดลงเมื่อไหร่ของ timeline หลักๆก็น่าจะเป็น ไม่ได้ยืนยันสิทธิ์ ไม่ได้มามอบตัว (บางคนยืนยันสิทธิ์แล้ว มอบตัวแล้ว ก็ยังเปลี่ยนใจได้อีก…!)
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถ้า ผปค.หรือ นักเรียน มั่นใจแล้วว่า ไม่ใช้สิทธิ์นั้นแน่ๆ ติดต่อโรงเรียนเพื่อส่งเอกสาร(ทาง fax) เพื่อขอสละสิทธิ์ จะถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะสิทธิ์ของเก้าอี้ที่ว่างนั้น ทางโรงเรียนสามารถเรียกสำรองได้เลย
เขียนไปเขียนมา กลายเป็นว่า เป็นการสรุปว่า ทำไมแผนการเรียนนั้นๆถึงได้เรียกสำรองมากมาย…. เอาตามนี้ละกัน
เรามาเริ่มจาก Case ที่เพิ่งเกิิดขึ้นใหม่
1) พสวท.(สู่ความเป็นเลิศ)
ที่บอกว่าเป็น Case ที่เกิดขึ้นใหม่ก็เพราะว่าห้อง พสวท.(สู่ความเป็นเลิศ) เป็นห้องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ รุ่นแรกปีการศึกษา 2562 ก่อนหน้านี้เด็กทุน พสวท. จะไปฝากเรียนอยู่ตามห้อง ESMTE จำนวน 6 คน แต่พอมาเปิดห้องเพิ่มเอง ก็จะมารวมกองกันอยู่ห้องนี้หมด คือทุน 6 คน และเด็กที่สมัครตามเงื่อนไข(อันดับ 1-2000) อีก 24 คน
ซึ่งอย่างที่บอกว่า ห้องนี้สอบไม่ตรงกับการสอบคัดเลือกอื่นๆเลย และเด็กเก่งๆก็ลงสนามกันหมดเสียด้วย คนที่เป็นสุดยอดได้ทุน ก็ตั้งเป้าจะเลือกเรียนห้องที่เปิดที่โรงเรียนใหญ่ๆอย่างเตรียมอุดม-สวนกุหลาบ-สตรีวิทยา…….
แต่พอไม่ได้ทุน เมื่อมาถึงตอนสมัครเพื่อเรียนต่อรอบห้องเรียนพิเศษ ซึ่งมีให้เลือกอยู่ 10 ศูนย์ทั่วประเทศเด็กส่วนใหญ่ก็จะเลือกลงที่ สามเสนวิทยาลัย-บดินเดชา…… (เตรียม-สวน-สตรีวทยา…ไม่ได้เป็นศูนย์ 10 แห่ง) ดูรายละเอียด 10 ศูนย์ พสวท.
ซึ่งช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สมัครและสอบเตรียมอุดม ดังนั้น เด็กเก่งทอปๆ ก็จะมาลงสมัครเพื่อสอบสัมภาษณ์ที่ สามเสน และ บดินทรเดชา เพื่อเป็นการสำรองเอาไว้ก่อนกรณีสอบเตรียมไม่ได้ ซึ่งก็มากันทั้งโขยง
เท่านั้นยังไม่พอ เด็กกลุ่มเดียวกันนี่แหละ ก็ไปลงสอบรอบห้องเรียนพิเศษ(MSEP – ESMTE – EP) เพื่อเผื่อเอาไว้เป็นที่นั่งสำรองอีกสนามหนึ่งด้วย
เมื่อผลคัดเลือก พสวท.ออก และผลสอบของเตรียมอุดม-ห้องเรียนพิเศษ ออก อะไรจะเกิดขึ้น?
ไปเตรียมอุดม – สละสิทธิ์ห้องพิเศษ – สละสิทธิ์ พสวท
เมื่อเรียกสำรองมาแทนที่ห้องพิเศษ ก็จะเป็นเด็กในรายชื่อ พสวท.อีก แถมเด้กก็สอบได้เตรียมอุดมอีกด้วย ก็สละสิทธิ์ต่อ วนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้าย พสวท. เรียกสำรองถึงลำดับที่ 100 !!!
นั่นยังไม่นับรวมถ้าเป็นเด็กสามเสนเก่า ที่มีที่นั่งที่ห้อง EP วิทย์-คณิต-ภาษา หรือ IMP – EIS หรือ สามัญวิทย์-คณิต-ภาษา ที่นั่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นที่นั่งว่างอีก
2) MSEP – ESMTE – EP
ตระกูลห้องเรียนพิเศษก็ไม่ได้แตกต่างกัน ในปีที่สอบไม่ตรงกับเตรียมอุดม สนามนี้จะเป็นสนามที่สอบไว้เพื่อเป็นที่นั่งสำรอง เพราะส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าห้อง MSEP และ ESC ในระดับมอต้นนั้นจะล้างไพ่หมด คือไม่สามารถสืบทอดอำนาจมาตอนมอปลายได้ ต้องไปสอบเข้ามาใหม่ หรือได้ที่นั่งโควต้าจากห้องสามัญและห้อง EIS-IMP มอปลาย
ปกติแล้ว ผลสอบเข้า MSEP เมื่อก่อนบอกกันว่า ให้พลิกไปสองกระดานเลย !!! หมายความว่าอะไร?
หมายความว่าคนที่สอบได้ อันดับ 1 – 72 และ 73 – 144 แทบจะไปเตรียมอุดมหมดเลย !!! ดังนั้นเมื่อก่อนใครสอบเข้า MSEP สำรองลำดับแถว 100+ ก็ยังชิลๆ
ในส่วนของ ESMTE ก็เช่นเดียวกันกับ MSEP เพียงแต่ว่าไม่เข้มข้นเท่า
ส่วน EP นั้น เนื่องจากว่าเด็ก EP เก่าสามเสน มีเก้าอี้ที่เรียนใน EP สามเสนต่อ หรือบางคนอาจจะเลือกข้ามไปอยู่ สามัญวิทย์ คณิต ภาษา อยู่แล้ว ดังนั้น เด็กส่วนใหญ่ที่มาสอบเข้า EP ในรอบห้องเรียนพิเศษ ก็เพื่อเป็นที่สำรองของเตรียมอุดม อย่างแท้จริง
3) IMP
เป็นแผนการเรียนที่ได้รับผลกระทบในการเรียกสำรองแบบปลายทาง แต่ก็เยอะมาก เพราะเด็กที่สอบได้ เลือกไปที่อื่นหมด ถ้าจะตามลำดับก็ เตรียมฯ-ห้องเรียนพิเศษ-พสวท. ถ้าเด็กที่สอบได้เตรียมสละสิทธิ์ที่นั่งที่เหลือ IMP อาจจะต้องเรียกสำรอง 1-2-3 คน ก็เป็นได้ …. โอยยยย ปวดหัว
จบไม่ลง
บอกตรงว่า เขียนวนไป จบไม่ลง 5 5 5 นี่ขนาดว่าเขียนแบบไม่กลับไปดูข้อมูลเก่า เพราะเคยเขียนทำนองเดียวกัน มาครั้งสองครั้งละ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เขียนแล้วจะเหมือนเดิมไหม? 5 5 5
มีคำถามหรือสงสัยอะไร ลองถามมาได้นะครับ จะตอบได้หรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง
หรืออาจจะเข้าไปพูดคุยกันที่ Line Square ตามนี้เลยครับ เพื่อว่า ผู้ปกครองท่านอื่นๆที่มีประสบการณ์ตรง จะได้ช่วยตอบให้ด้วย
“สอบเข้าสามเสน”.
https://line.me/ti/g2/VQATLPishSNyOytEaiz0Kw
รวบรวมเรื่องราว ข้อมูล ถามตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สำหรับนักเรียนและผู้ปกครองที่ประสงค์จะเตรียมตัวและสอบเข้าโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ทั้งระดับชั้น ม.1 และ ม.4