เลือกแผนการเรียน – สามเสน ม.3 ขึ้น ม.4 – ตอนที่ 2

เลือกแผนการเรียน – สามเสน ม.3 ขึ้น ม.4

เลือกแผนการเรียน คราวที่แล้วทิ้งท้ายเรื่องที่จะเขียนต่อนั่นคือ การยื่นเลือกแผนการเรียนในระดับชั้น ม.4 ของเด็กนักเรียน ม.3 ที่กำลังจะจบ ความจริงเรื่องของตอนนี้เกิดก่อนตอนที่ 1 เสียอีก เพียงแต่ว่าอยากให้มองเห็นภาพรวมทั้งหมดก่อน ก็เลยเลือกที่จะเขียน timeline ก่อน วันนี้เราจะมาพิจารณากันว่า จะต้องนำข้อมูลอะไร อย่างไร มาขบคิดบ้าง ซึ่งสำหรับระดับชั้น ม.1 และ ม.2 สามารถแปลออกมาได้ว่า จะต้องเตรียมตัวอะไรในชีวิตการเรียนปัจจุบันไว้บ้าง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปลำบากตอน ม.3

ความเดิมเรื่อง timeline จากตอนที่แล้ว

สามเสน ม.3 ขึ้น ม.4 – ตอนที่ 1 – เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสำหรับทุกๆคน


มีแผนการเรียนอะไรบ้าง?

ผมจบ ม.ศ.3 น่าจะปี 21 หรือ 20 ประมาณนั้น จำไม่ค่อยได้ แต่พอจำได้ว่า ตอนนั้นที่โรงเรียนมีแผนการเรียนให้เลือกหลักๆอยู่ก็คือ วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ภาษาต่างประเทศ . . . ผ่านมา 40 ปี ก็ยังคงเป็นรูปแบบเก่าๆเหมือนๆเดิม เพิ่มเติมคือห้องพิเศษ สมัยก่อนเรียนในระบบโครงการมัธยมแบบผสม (คมส)(พวกเราคิดว่าย่อมาจาก ครูไม่สอน) ยังจำได้ลางๆว่า มีแผนกช่างอุตสาหกรรมด้วยนะ แต่ช่างเหอะ เรามาดูของเราต่อ

  • วิทยาศาสตร์ (สายวิทย์)
  • คณิตศาสตร์ (สายศิลป์คำนวณ)
  • ภาษาต่างประเทศ (สายศิลป์ภาษา)

ซึ่งจากที่เคยเขียนไปเรื่อง 15 ห้องเรียน ม.4 สามเสนวิทยาลัย มีอะไรบ้าง เอามาขัดเกลาใหม่ ให้ทันกับข้อมูลของปีการศึกษาที่เพิ่งจะผ่านมา ซึ่งเป็นการรวบรวมเองนะครับ หากมีตัวเลขคลาดเคลื่อนก็ขออภัย เพราะสิ่งที่เห็นก็คือ จำนวนที่จะรับได้ในแต่ละห้องตามระเบียบ

จากตรงนี้เราจะเห็นว่าโดยรวมแล้วจาก 15 ห้องที่มีของระดับมอปลาย จะเป็นสายวิทยาศาสตร์ถึง 10 ห้องเลยทีเดียว และเป็นห้องคณิตศาสตร์และภาษาต่างประเทศอย่างละ 2 ห้องครึ่ง

และจะเห็นได้ว่า เด็กสามเสนที่จบ ม.3 ในปีการศึกษานี้มีจำนวนถึง 492 คน(ตัวเลขตามการคำนวณ) แต่ที่เปิดรับเป็นการภายในมีจำนวน 380 คน . . . เอ๊ะ…. หรือว่าจะต้องมีคนเจ็บตัว? . . . ค่อยๆดูไปนะครับ


การพิจารณาสิทธิในการเลือกแผนการเรียน

เรามาดูหลักการหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกกันดีกว่าว่ามีอย่างไรบ้าง อันดับแรก จะมาทำความเข้าใจในเรื่องของ 5 เทอม 6 เทอม กันก่อน ที่ต้องมาเล่านี่เพราะว่า หลังจากได้คุยกับเพื่อนๆผู้ปกครองหลายท่าน ในหลายๆช่วงเวลา หรือแม้กระทั่ง ผู้ปกครองรุ่นใหม่ที่ลูกๆขึ้นมาอยู่ ม.3 ในปีการศึกษานี้ ยัง งง หรือ ไม่ทราบ ไม่เข้าใจ อยู่ไม่น้อย

พูดภาษาบ้านๆก็คือ ในช่วงที่เด็กๆจะต้องยื่นเกรดเพื่อเลือกแผนการเรียนนั้น ต้องทำในช่วงเวลาเดือนมกราคม ซึ่งตกฟากเป็นเทอม 2 ของ ม.3 ดังนั้น การพิจารณาว่าเด็กคนไหนสามารถยื่นแผนการเรียนไหนได้บ้างนั้น ก็ต้องอาศัยผลการศึกษาที่ผ่านมา 5 เทอม นั่นก็คือตั้งแต่ ม.1-ม.2 จนถึง ม.3 เทอมแรก เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเด็กแต่ละคน สามารถยื่นเลือกแผนการเรียนไหนได้บ้าง และเด็กๆก็ต้องเลือกแผนการเรียนที่ต้องการตอนประมาณช่วงกลางเดือนมกราคม

ส่วนในการคัดเลือกจริงนั้น ก็จะอาศัยเกรดของทั้ง 6 เทอม คิดเป็น 70% รวมกับผลคะแนน O-NET 30% แล้วมาจัดตามลำดับการเลือกแผนการเรียนของเด็กๆ ส่วนวิธีการหลักการเดี๋ยวจะกล่าวกันตอนต่อไป้านล่างครับ


เลือกอะไรได้บ้าง?

เด็กๆจะสามารถรับรู้เรื่องเกี่ยวกับแผนการเรียนผ่านทางวิชาแนะแนวอยู่แล้ว และจะต้องเซ็นชื่อรับทราบว่าสามารถเลือกแผนการเรียนอะไรได้บ้าง ซึ่งก็ไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เพราะว่าทางโรงเรียนก็ได้เชิญผู้ปกครองในระดับชั้น ม.3 มารับทราบข้อมูลเช่นกันว่าทางโรงเรียนมีแผนการเรียนอะไรบ้างในระดับชั้น ม.ปลาย และเด็กๆจะสามารถเลือกเรียนอะไรได้บ้างอย่างไร และท้ายที่สุด ผู้ปกครองก็จะได้รับทราบและเซ็นชื่อรับทราบว่าลูกเราได้เกรดเฉลี่ย 5 เทอม และ เกรดรายวิชาที่สำคัญเท่าไหร่ และจะสามารถเลือกเรียนแผนการเรียนอะไรได้บ้าง

Sheet ที่ทางโรงเรียนเตรียมมาให้เราเซ็นรับทราบนั้น พอดีว่าผมไม่ได้มีสำเนา(เขาไม่อนุญาติให้แม้กระทั่งถ่ายรูปมา ผมก็เป็นคนดีไงครับ ก็เลยใช้จำมาว่าประมาณนี้ ถูกผิดอย่าว่ากันนะครับ แฮะ แฮะ)

ข้อมูลที่เห็น ผมสมมติขึ้นมาทั้งหมดนะครับ เพื่อให้เห็นถึงโอกาศต่างๆที่สามารถเป็นไปได้ ถ้าเห็นห้อง 1-8 แสดงว่าเป็นห้องทางฝั่งสามัญสามารถเลือกได้เฉพาะแผนการเรียนห้องสามัญ แต่ถ้าเป็นห้อง 9-12 แสดงว่าเป็นห้องฝั่ง EP สามารถเลือกได้ทั้งแผนการเรียนฝั่งสามัญและอีพี 

จะเห็นว่ามีช่อง “วิชาพื้นฐาน” และ “วิชาที่รวมทุกรายวิชา” ซึ่งคิดง่ายๆยกตัวอย่างสมมติก็คือ

คณิตศาสตร์รวมทุกรายวิชา = คณิตศาสตร์พื้นฐาน + คณิตศาสตร์เสริม

แต่จะเป็นเฉพาะของทาง EP เท่านั้นที่เอาวิชาเสริมมาคิดด้วย ทางฝั่งสามัญจะคิดเฉพาะวิชาพื้นฐาน

Mathematics = math + add math

ความแตกต่างระหว่างช่องคณิตพื้นฐาน และ คณิตทุกรายวิชานั้น ในส่วนของคณิตทุกรายวิชาจะรวมเกรดของรายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม หรือถ้าสังเกตุก็คือมีตัวอักษรและตัวเลข 2 ตัวแรกของรหัสวิชาเหมือนกันนั่นเอง (ความจริงตรงนี้ผมไม่แม่นเท่าไหร่นะ เพราะฟัง ผปค.คนอื่นมาอีกที)


ได้เวลาเลือกแผนการเรียน

จริงๆแล้ว ก่อนที่เด็กๆจะได้รับและส่งเอกสารเลือกแผนการเรียน จะมีช่วงที่รับสมัครเด็กที่สนใจเลือกแผนการเรียนห้องเรียนพิเศษภายใน IMP และ EIS ซึ่งรับห้องละ 40 คน และเป็นที่แน่นอนว่า จะมีเด็กๆมาสมัครเกินกว่าห้องละ 40 คนแน่ๆในทุกๆปี จึงต้องมีการจัดสอบคัดเลือก โดยจะสอบภายหลังจากสอบวิชาสุท้ายในการสอบปลายภาคนั่นเอง

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ใครๆก็สมัครได้ใน 2 ห้องเรียนพิเศษภายในนี้ ก็มีเกณฑ์ไว้ด้วยเหมือนกัน ประมาณนี้

  • ห้องเรียน IMP (ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เร่งรัดคณิตศาสตร์เสริมคอมพิวเตอร์) เกรดเฉลี่ย 5 เทอม 3.50 ขึ้นไป
  • ห้องเรียน EIS (ห้องเรียนคณิตศาสตร์ เรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์เป็นภาษาอังกฤษ สอนโดยครูไทย) เกรดเฉลี่ย 5 เทอม 2.50 ขึ้นไป

ซึ่งในช่วงเดือนมกราคมนั้น เด็กๆจะได้รับเอกสาร 2 แผ่น

  • แผ่นแรกเป็นใบสมัครเข้าเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษภายใน IMP-EIS ซึ่งเด็กๆจะสามารถเลือกได้ห้องใดห้องหนึ่งเท่านั้น และ 2 ห้องนี้ก็จะมีการสอบคัดเลือกในเวลาเดียวกันด้วย(ในวันสุดท้ายของการสอบปลายภาค)
  • แผ่นที่ 2 เป็นใบสมัครเลือกแผนการเรียน เด็กแต่ละคนสามารถเลือกได้ 3 แผนการเรียนเรียงตามลำดับความต้องการ โดยทางโรงเรียนจะพิจารณาจากการเลือกอันดับที่ 1 ก่อน เด็กๆและผู้ปกครองจะรู้ก่อนแล้วว่า สามารถเลือกแผนการเรียนอะไรได้ และ แผนการเรียนไหนไม่ได้ ตามที่ได้เซ็นชื่อรับทราบกันไปแล้ว(ถ้าเด็กเลือกแผนการเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ไป ก็จะทำให้เสียสิทธิ์ในการเลือกนั้นไปฟรีๆ)  มีกฏขั้นพื้นฐานอยู่ข้อหนึ่งก็คือ เด็กจากทางฝั่งสามัญ(ห้อง 1-8) จะไม่สามารถเลือกแผนการเรียนของทางฝั่ง EP ได้ ในทางกลับกัน เด็กทางฝั่ง EP(ห้อง 9-12) จะสามารถเลือกได้ทั้งแผนการเรียนทางฝั่งสามัญและ EP

เมื่อส่งเอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้ไปแล้ว ก็สบายตัวละ ที่เหลือก็รอสอบ O-NET และสอบปลายภาค  หลังจากนั้นก็รอฟังผลเลยว่าใครได้แผนการเรียนไหนกันบ้าง ตามที่ต้องการหรือไม่ ก็ลุ้นๆกันนะครับ กว่าจะรู้ก็ปลายเดือนมีนาคมโน่นเลยครับ (IMP-EIS ประกาศผลโดยใช้จากคะแนนที่สอบคัดเลือกโดยตรงประมาณ 19 มีนาคมครับ)

ดังนั้น สรุปได้ว่า ภาระหน้าที่ของเด็กและผู้ปกครองก็คือ ใส่ใจในการเลือกแผนการเรียน และทำคะแนนสอบให้ดีที่สุด ที่เหลือหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนในการคำนวณและจัดเรียงคะแนน(score) ตามแผนการเรียนต่างๆตามที่เด็กๆได้เลือกมา


การคำนวณ Score 

จริงๆแล้วการคำนวณคะแนน(score) นี้ นักเรียนและผู้ปกครองไม่มีส่วนที่จะต้องทำ เพราะทางโรงเรียนจะมีระบบในการคิดคำนวณให้เรียบร้อยอยู่แล้ว แต่ที่เอามาเขียนนี้ เพื่อความกระจ่างถึงที่มาที่ไปของคะแนนเหล่านั้น ที่ไม่ใช่เกรดเฉลี่ยเพียวๆ ที่ไม่ใช่คะแนน O-NET เพียวๆ แต่จะต้องนำมาคำนวณคูณด้วยค่าน้ำหนักของแต่ละรายวิชาตามแผนการเรียนนั้นๆ ผมก็ใช้วิธีการดูตารางแล้วทำความเข้าใจไปเอง ถูกผิดขออภัยนะครับ

สังเกตุดูเวลาประกาศผลการคัดเลือก จะเรียงตามคะแนนรวม 100% หรือคะแนนเต็ม 1,000 คะแนนนั่นเอง ก็เลยเป็นที่มาของส่วนนี้ว่า 1,000 คะแนนนี้มาจากไหนบ้าง

แน่นอนว่า ที่มาที่ไปของ 1,000 คะแนนของแต่ละแผนการเรียนก็จะไม่เหมือนกันจะให้น้ำหนักมากหน่อยสำหรับวิชาที่จำเป็นและสำคัญของแผนการเรียนนั้นๆ เราก็เลยมาดูหลักการคิดคำนวณละกันครับ

ทุกแผนการเรียน จะใช้คะแนนเกรดเฉลี่ย 70% และ คะแนน O-NET อีก 30% ซึ่งอย่างที่บอกนะครับว่าแต่ละแผนการเรียน จะเอาเกรของวิชาที่สำคัญมาคิดที่แตกต่างกันไป แต่จะสังเกตุได้ว่า วิชาภาษาอังกฤษจะถูกนำมาคิดหมดในทุกแผนการเรียน

ยกตัวอย่างจากกลุ่มการเรียนวิทยาศาสตร์ก็คือห้องเรียนในระดับมอปลายห้อง /1 – /4(สามัญ) และ /14-/15(EP) กลุ่มวิทยาศาสตร์มีรายวิชาที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 วิชา นั่นคือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ โดยมีค่าน้ำหนักที่แตกต่างกันคือ

  • GPA จาก 70% (700 คะแนน) จะแบ่งคะแนนเต็มเป็นดังนี้
    • เกรดรวม 10%(100 คะแนน) ก็คือเอา 25 มาคูณเกรดเฉลี่ยทั้ง 6 เทอม
      คำถามคือ 25 มาจากไหน?
      คิดง่ายๆบัญญัติไตรยางค์ เกรดเต็ม 4 เด็กได้เท่าไหร่ ดังนั้นเต็ม 100 ก็คือ (เกรด/4)X100 = เกรดX25 นั่นเอง ในรายวิชาอื่นๆก็ใช้วิธีคิดเช่นเดียวกัน
    • คณิตศาสตร์ 25%(250 คะแนน) เอาเกรดเฉลี่ยคณิตศาสตร์ 6 เทอม X 62.50
    • วิทยาศาสตร์ 25%(250 คะแนน) เอาเกรดเฉลี่ยวิทยา่ศาสตร์ 6 เทอม X 62.50
    • ภาษาอังกฤษ 10%(100 คะแนน) เอาเกรดเฉลี่ยภาษาอังกฤษ 6 เทอม X 25
  • O-NET จาก 30%(300 คะแนน) จะแบ่งคะแนนเต็มเป็นดังนี้
    • คะแนนรวม O-NET ทั้งหมด 10%(100 คะแนน) เนื่องจากว่าปีนี้ O-NET มีสอบ 4 วิชารวมเต็ม 400 คะแนน ดังนั้นจึงหารด้วย 4 เพื่อให้ได้ 100 คะแนน
    • คณิตศาสตร์ 8%(80 คะแนน) เอาคะแนน O-NET วิชาคณิตศาสตร์ X 0.8
    • วิทยาศาสตร์ 8%(80 คะแนน) เอาคะแนน O-NET วิชาวิทยาศาสตร์ X 0.8
    • ภาษาอังกฤษ 4%(80 คะแนน) เอาคะแนน O-NET วิชาภาษาอังกฤษX 0.4

ดังนั้น ในกลุ่มการเรียนคณิตศาสตร์(ใช้เกรดเฉพาะคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ)และภาษาต่างประเทศ(ใช้เกรดภาษาอังกฤษ) ก็จะมีหลักการคิดในทำนองเดียวกัน

เมื่อได้คะแนนครบแล้ว คะแนนรวมทั้งหมด 1000 คะแนน ถ้าเป็นแผนการเรียนวิทยาศาสตร์(ห้อง 1 – 4) ก็จะเอารายชื่อเด็กที่เลือกแผนการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นอันดับ 1 มาเรียงคะแนน ทางโรงเรียนก็จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกตามจำนวนที่ประกาศไว้ พร้อมกันนี้ก็ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวสำรอง

จะเป็นเช่นนี้ในทุกแผนการเรียน รวมทั้งทางฝั่ง English Program ด้วย


ประกาศผลการคัดเลือก

เวลาที่รอคอยก็มาถึง สำหรับผู้ที่ตั้งใจจะเรียนต่อที่สามเสนวิทยาลัยจริงๆ อย่างที่เห็นตามภาพ timeline จะเห็นว่า ผลของการคัดเลือกเข้า ม.4 ของสามเสนวิทยาลัย เรียงตามลำดับเวลาดังนี้

  • 16/03/2018 :: ผลการสอบทั่วไปรอบห้องเรียนพิเศษ MSEP-ESMTE-EP
  • 19/03/2018 :: ผลการสอบคัดเลือกห้องเรียนพิเศษภายใน IMP-EIS
  • 25/03/2018 :: ผลการสอบ O-NET
  • 26/03/2018 :: ผลการคัดเลือกนักเรียนเก่า ม.3 เข้าเรียน ม.4
  • 05/04/2018 :: ผลการสอบทั่วไปรอบสามัญ


กระบวนการเรียกตัวสำรอง

จาก Section ที่แล้วจะเห็นว่า มีการประกาศผลการคัดเลือกจากหลายเส้นทางในเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งจากวันที่ 16/03/2018 ที่เป็นวันแรกที่ประกาศผลการสอบทั่วไปรอบห้องเรียนพิเศษ จนกระทั่งถึงวันที่ 4/04/2018 ที่เป็นวันประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านการสอบทั่วไปรอบสามัญ

รายชื่อที่ปรากฏบนประกาศรายชื่อมีซ้ำซ้อนกันในหลายแผนการเรียน(เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของนักเรียนที่จะยื่นเกรด สอบภายใน และสอบภายนอก)  และรายชื่อเหล่านี้ก็ยังไปซ้ำซ้อนกับรายชื่อนักเรียนที่สอบติดโรงเรียนอื่นๆอีกเช่น เตรียมอุดมศึกษา MWIT KVIS

กระบวนการเรียกตัวสำรองก็เริ่มเรียกตั้งแต่วันที่ 9/04/2018 เป็นต้นมา เรียกหลายครั้งจนเปิดเทอม เพราะการเรียกสำรองมา คนที่ได้สำรองก็อาจจะไปสอบติดแผนการเรียนอื่นหรือโรงเรียนอื่นแล้ว แต่การเรียกสำรองจะเรียกตามเส้นทางที่เด็กนักเรียนสละสิทธิ์เช่น ถ้าเด็กสอบเข้ามาได้ในการสอบทั่วไปรอบห้องเรียนพิเศษ ก็จะเรียกสำรองจากตัวสำรองของการสอบเข้าทั่วไปรอบห้องเรียนพิเศษ  หรือถ้าเด็กที่สละสิทธิ์จากผลการคัดเลือกการยื่นเกรด ก็จะเรียกตัวสำรองจากการยื่นเกรด เป็นต้น


บทสรุป

อยากบอกว่า โดยสรุปแล้วถ้าเกรดเฉลี่ยนักเรียนถึงเกณฑ์ของแผนการเรียนนั้นๆ ก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเพื่อนๆเก่งๆจะสอบติดโรงเรียนอื่นๆกันเยอะมาก ถ้าเกรดเราไม่ได้รับเลือกเป็นตัวจริง การเป็นตัวสำรองก็รอหน่อยนะครับ แต่เชื่อว่าไม่มีใครอยากตกอยู่ในสถานะแบบนี้ เพราะความรู้สึกแบบนี้มันไม่ได้สนุก รวมไปถึงผู้ปกครองด้วย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็เห็นได้เรียนกันทุกคน ตามปริมาณการสอบได้โรงเรียนดีดีของเพื่อนๆร่วมรุ่น

ดังนั้น ฝากถึงเด้กๆ ม.1 ม.2 ว่า อย่าสนุกเพลิน อิอิ ถ้าไม่อยากเสียวก็ทำเกรดให้อยู่ในเกณฑ์ ในระดับที่คิดว่าน่าจะไปต่อได้