Native English Teacher
Native English Teacher เป็นอีกหนึ่ง Keyword ที่พูดกันเยอะว่าโรงเรียนอินเตอร์ที่นี่ใช้ครูต่างชาติแบบไหน ที่โน่นแบบไหน แต่เชื่อไหมว่า ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย ! ทำไม? เพราะไม่มีปัญญาส่งลูกเรียนอินเตอร์? แต่ในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนหลักสูตร English Program ก็เช่นกันก็ยังมีคำถามนี้อยู่บ้าง ลึกๆแล้วผมก็มีเหตุผลสนับสนุนอยู่บ้างเหมือนกัน ไม่ใช่แค่บื้อๆว่าไม่จำเป็นแล้ว..จบ
ครูต่างชาติสำหรับใครหลายๆคน ฝันเห็นแต่ฝรั่งหัวทองทั้งนั้น ผมยังเคยเจอผู้ปกครองบางท่านที่ไม่ยอมรับ Teacher ชาวอเมริกัน เพียงเพราะว่าเขาเป็นคนผิวสี โดยบอกว่าพวกนี้ไม่ใช่ Native !!! และกลับชื่นชอบครูฝรั่งผมทองอีกคนที่เป็นชาวสวีเดน …เอ่อ ตกลงเอาไงดี
เข้าใจว่าผู้ปกครองเกรงว่าลูกๆจะติดภาษาอังกฤษสำเนียงแปลกๆมา แต่เชื่อเหอะ ยังไงก็ยังหนีไม่พ้นภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆแน่นอน Thinglish ผมบอกหลายๆคนเสมอว่าภาษาอังกฤษสำเนียงไทยนี่เป็นภาษาอังกฤษที่ชัดเจนที่สุดละ แฮะๆ
อีกอย่างนึงก็คือเรื่องของงบประมาณในการจ้างครูสัญชาติต่างๆแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะแปรผันตามค่าเทอมที่จ่ายในระดับหนึ่งด้วย และด้วยฐานะของผมแล้วคงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องคิดถึงครูอังกฤษแท้ๆ
เล่าเรื่องตนเอง
ในช่วงวัยทำงานของผม 20 ปี กับบริษัทข้ามชาติสัญชาติสวีเดน มีเจ้านายโดยตรงเป็นคนอังกฤษ(เมืองนอริช) (เพิ่งมาทราบจาก facebook ลูกสาวแกว่าแกได้เสียแล้วเมื่อไม่นานมานี้) ในชีวิตการทำงานมาเจอภาษาอังกฤษมาหลายสำเนียง เอาเจ้าของบริษัทเลย สวีเดนจะเจอเยอะหน่อย และอื่นๆอีกคือ เดนมาร์ก นอร์เวย ฟินแลนด์ อังกฤษ ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ เวลล์ ไอซ์แลนด์ ฮอลล์แลนด์ ฝรั่งเศษ อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ (กำลังนั่งนึกภาพหน้าเพื่อนที่เคยร่วมงานทีละประเทศ) เยอรมัน สเปน อมเริกา เมกซิโก แคนาดา มีคนนึงอเมริกาใต้จำสัญชาติไม่ได้ละ มาต่อดีกว่า อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น เวียตนาม กัมพูชา ลาว มาเลยเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปิน อินโดนีเซีย พม่า(เพื่อนสมัยนั้นยังเป็นพม่า ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นเมียนมา) บรูไน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หมู่เก่าะโซโลมอน ฟิจิ ฯลฯ น่าจะมีอีก จำหน้าเพื่อนๆไม่ค่อยได้แล้ว
ที่ผม List มาซะยาวเฟื้อยเหล่านั้น จะบอกว่า มี Native Speaking อยู่ ไม่กี่ประเทศเอง และที่สำคัญ แต่ละประเทศนั้นก็ได้มีสำเนียงพื้นเมืองผสมเข้าไปบ้างแตกต่างกันไป ช่วงเวลาทำงานนอกจากชาวสวีดิชแล้ว ที่พบเจอต้องพูดคุยกันบ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้นรอบๆบ้านเรา สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย(ฐานลูกค้าเยอะ) ฟิลิปปินส์ เวียตนาม กัมพูชา ส่วนลาวจะใช้น้อย เพราะใช้ภาษาไทยในการพูดคุยเป็นหลัก
มีคนถามผมว่า ที่ทำงานมา…ภาษาอังกฤษของใครฟังยากที่สุด? ผมตอบโดยไม่ลังเลเลย . . . เจ้านายผมเอง คนอังกฤษแท้ๆ เพราะแกจะพูดอยู่ในลำคอ ตาสีน้ำแข็งก็จะจับอยู่ที่ตาเราตลอด(สงสัยจะดูว่าเราเข้าใจไหม)
Native Teacher
สิ่งที่ควรมีมากกว่า Native English Teacher คือ Native Teacher ผมคิดของผมเองนะครับว่าคนที่จะมาสอนลูกๆเราควรจะเป็นครูโดยความตั้งใจ และมีความเป็นครูอยู่ในจิตใจ เราต้องการ Teacher เราไม่ได้ต้องการ Backpacker จึงทำให้ผมคิดเองเออเองว่า เขาต้องเป็นครู พูดภาษาอังกฤษอยู่แล้ว และที่สำคัญ put the right man on the right job กล่าวคือรับครูเข้ามาให้มีวุฒิการศึกษาที่ตรงกับวิชาที่เราจะให้เขาสอน ไม่ใช่ว่าเขาเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ แต่มาให้เขาสอนคณิตศาสตร์ อันนี้ก็ไม่โอเคนะจ๊ะ
อีก case ที่เคยคุยกับลูกเช่นวิชาคณิตศาสตร์ จะมีครูสอนอยู่ 2 คน คนหนึ่งเป็น Native อีกคนเป็นครูไทยจบดอกเตอร์จากต่างประเทศ(สอนเป็นภาษาอังกฤษ) แล้วแต่ว่าห้องเรียนไหนจะได้ครูคนไหนไปสอน ห้องลูกได้ครู Native ผปค.สาย Native ก็ยิ้มแก้มปริ แต่ต่อมาในภายหลัง หัวร้อน สิครับ !
เพราะอะไรหรือ? เพราะครูต่างชาติส่วนใหญ่จะสอนในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย สอนตามหลักสูตร อาจจะผสมผสานหลักการของตัวเองบ้าง แต่ครูไทยกลับสอนลึกกว่า ลึกมาก มีการพลิกแพลงแนวคิดแปลกๆ มีโจทย์จากข้างนอกมาเสริมให้ มีสอดแทรกข้อมูลที่สนุกๆเข้ามา ผปค.native ก็ จะอาววว จะอาววววววว สิครับ แต่ถ้าไปบอกให้ Teacher Native ทำแบบนั้นบ้าง ..ยาก … ไม่มีทาง … เชื่อเฮอะ ก็เป็นอะไรที่เก็บไปคิดกันเอาเอง นะครับ . . .