เพิ่มเติมช่องทางพูดคุย กับ Line Square สอบเข้าสามเสน
[สอบเข้าสามเสน] You’ve been invited to join a LINE square.
https://line.me/ti/g2/JECNC0B0Y9
รวบรวมเรื่องราว ข้อมูล ถามตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สำหรับนักเรียนและผู้ปกครองที่ประสงค์จะเตรียมตัวและสอบเข้าโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ทั้งระดับชั้น ม.1 และ ม.4
ใครสงสัยก็ถาม ใครรู้ก็ช่วยตอบ !!!
ห้องเรียน ม.1 สามเสนวิทยาลัย(ปีการศึกษา 2560)
+++++ สำหรับปีการศึกษา 2561 ตามไปที่ Link นี้เลยครับ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของจำนวนที่รับ นะครับ +++++
12 ห้องเรียน ม.1 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ปีการศึกษา 2561
เรื่องของเรื่องก็คือ ผมได้ไปนั่งฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นบ้างเกี่ยวกับการสอบเข้า ม.1 และคำถามที่ได้ยินบ่อยๆ ก็เช่น
- สามเสน ม.1 มีกี่ห้อง?
- ม.1 มีห้องอะไรบ้าง
- ห้องเรียนสามัญมีห้อง King มั๊ย
- ได้ยินว่ามีห้อง EIS ด้วย มันคืออะไร? ต้องสอบเข้ามาแยกต่างหากหรือปล่าว?
- ไม่มีห้อง Gifted หรอครับ?
- EP มีกี่ห้อง?
- ฯลฯ
วันนี้ขณะขับรถอยู่บนทางด่วน ขณะขับผ่านเข้าช่องจ่ายเงิน EasyPass ก็เลยนึกเอาไว้ว่า แล้วทำไมเราไม่ลองเขียนสรุป เอาตามที่เราเข้าใจ ซึ่งก็น่าจะมีส่วนถูกต้องอย่างน้อยมากกว่า 70% แล้วหละ 5 5 5 ดังนั้น อ่านแล้วก็ต้องถ่วงน้ำหนักด้วยนะครับว่า ผมไม่ใช่ครูที่โรงเรียนสามเสน ผมไม่ได้เป็นข้าราชการสังกัดสามเสนวิทยาลัย ผมเป็นเพียงแค่ผู้ปกครองของนักเรียนคนหนึ่ง ที่อาจจะสัมผัสกับข้อมูลมากกว่าหลายๆท่านที่ไม่ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ข้อมูลเช่นผม ก็เลยมานั่งๆคิดๆ กดแป้นคอมพิวเตอร์ ออกมาเป็น post นี้
รูปเดียวครบ 12 ห้อง
นั่งๆวาดไปวาดมาก็สรุปออกมาเป็นรูปนี้ อาจจะดูเก้เก้กังกัง หน่อยนะครับ โดยอิงประกาศรับสมัครนักเรียน ปีการศึกษา 2560
ซึ่งผมก็จะขออธิบายคร่าวๆ เท่าที่พอจะได้สดับรับฟังมาสำหรับ 12 ห้องนี้ แบ่งตามการสอบเข้าทั้งสองรอบประมาณนี้นะครับ
รอบโครงการห้องเรียนพิเศษ
นักเรียนทุกคนที่มีคุณสมบัติครบตามที่เขาประกาศไว้ มีสิทธิ์เท่าเทียมกันที่จะสมัครสอบคัดเลือกได้ ซึ่งแน่นอนว่า ทุกๆโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ก็จะจัดสอบในวันเดียวกัน ก็ต้องดูว่าชะตาจะลิขิตให้เราไปอยู่ที่ไหน
ในรอบนี้ สำหรับสามเสนวิทยาลัย ก็จะมีให้ลูกๆหลานๆได้ตัดสินใจสมัครสอบอยู่ 3 กลุ่มตัวเลือก รวม 192 คน นั่นก็คือ
- โครงการห้องเรียน ESC – Enrichment Science Classroom : 36 คน
- โครงการห้องเรียน MSEP – Mathematic and Science Enrichment Program : 36 คน
- โครงการห้องเรียน EP – English Program : 120 คน
เดี๋ยวเรามาดูรายละเอียดกันนะครับว่า แต่ละโครงการมีอะไร และ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
โครงการห้องเรียน ESC (ห้อง 1/1)
ห้อง ESC – Enrichment Science Classroom หรือที่เรียกกันเป็นภาษาไทยว่า “ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และ สิ่งแวดล้อม” …. โห .. ชื่อยาวกว่าภาษาอังกฤษอีก อย่างนี้เราเรียกย่อๆกันว่า ESC ละกันนะครับ
ห้อง ESC จะเป็นห้องเรียนตามแนวทางของ สสวท. และ สอนว. ห้องนี้ใครๆก็บอกว่าเรียนหนักการบ้านเยอะ เน้นเรียนวิทย์ทำแลป เขียนรายงาน เสาร์ก็ต้องมาเรียน 5 5 5 มีผู้ปกครองมาบ่นมากมาย (ถ้าผมเข้าใจผิดก็ท้วงติงด้วยนะครับ)
ในวันปกติก็จะมีเรียนคาบ 9 คาบ 10 ซึ่งจะเลิกประมาณ 16.40 น. ประมาณ 3-4 วันต่อสัปดาห์ (ปกติเรียนถึงคาบ 8 เลิกบ่ายสาม) ผมสอบถามข้อมูลจาก ผู้ปกครองมา วันเสาร์เรียนถึงบ่ายสอง และ เป็นวิชาที่เอามาคิดเกรดด้วย เหตุที่ห้อง ESC และ MSEP ต้องเรียนวันเสาร์ก็เพราะว่า วันเสาร์ทางโรงเรียนจะเชิญอาจารย์เก่งๆจากมหาวิทยาลัยมาสอน มาถ่ายทอดให้กับเด็กๆที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในเส้นทางวิชาการและวิทยาศาสตร์
แต่ !!! …. หลักสูตร และ กติกา เขาเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2556 โน่น ดังนั้นการที่เราจะสมัครสอบห้องนี้ เราก็ต้องยอมรับและเดินไปตามเส้นทางที่เราเลือกเอง (ผู้ปกครองและเด็กหลายๆท่าน ก็เลือกที่จะหนีไปสอบในห้อง MSEP หรือ EP แทน ซึ่งนั่นก็เป็นทางเลือกที่ทุกคนเป็นคนเลือกเอง….)
โครงการห้องเรียน MSEP (ห้อง 1/2)
ห้อง MSEP – Mathematic and Science Enrichment Program หรือ “ห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์” – ห้องวิทย์คณิต อะไรประมาณนั้น นะครับ ก็มีต้องนำเสนอโครงงานด้วยอะไรด้วย เรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษโดยอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญถนัดเฉพาะด้าน
ห้อง MSEP มีเรียนวันเสาร์ด้วยครึ่งวัน แต่เป็นวิชาที่ไม่ได้นำมาคิดเกรดด้วย แต่ก็มีการเช็คเวลาเรียน วิชาวิทยาศาสตร์ก็มีการทำแลป แต่ไม่ได้เข้มข้นเหมือนห้อง ESC แต่ ในวันปกติก็จะมีเรียนคาบ 9 คาบ 10 ซึ่งจะเลิกประมาณ 16.40 น. ประมาณ 3-4 วันต่อสัปดาห์ เหมือนห้อง ESC
เด็กเก่งๆที่ไม่อยากเรียนหนักเกิ้นนนน ไม่ชอบเขียนรายงานเยอะๆ จะมาสอบโครงการนี้กันเยอะ ทำให้อัตราการแข่งขันจะสูงกว่าห้อง ESC …. ก็เลยทำให้หลายคนที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันกับเด็กเก่งเทพๆได้ไหม หลบไปสอบ ESC หรือ EP ก็มีหลายราย(อันนี้ ผู้ปกครองหลายท่านสารภาพ)
ผปค.ที่ลูกเก่งๆหลายท่าน (หลายท่านมากๆ และ มากขึ้นเรื่อยๆ) กลับมีความคิดว่าไม่อยากให้ลูกเรียนหนักเกินที่โรงเรียน เพราะไม่ว่าจะเรียนอะไร เด็กๆก็ออกไปเจอกัน ไปเรียนเสริมแถวพญาไทหรือสยามอยู่ดี จึงเลือกที่จะหลบเรียนหนักการบ้านเยอะไปสอบเข้า EP แทน
โครงการห้องเรียน EP (ห้อง 1/9 – 1/12)
ชื่อโครงการก็พอที่จะอธิบายความหมายไปในตัวนะครับ หลักๆก็คือการเรียนเหมือนหลักสูตรสามัญ แต่ สอนเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นในบางรายวิชาเท่านั้นคือ ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และ แนะแนว
เมื่อสอบผ่านเข้ามาแล้ว เด็กที่มีคะแนนในลำดับที่ 1-30 ก็จะตกฟากมาลงห้อง 1/12 ที่เหลือ 90 คน ก็จะคละกันลงห้อง 1/9 ห้อง 1/10 และ ห้อง 1/11
รอบสามัญ หรือ รอบปกติ
ผมอ่านจากประกาศรับสมัคร หลายโรงเรียนก็ใช้คำว่า”รอบสามัญ” บางโรงเรียนก็ใช้คำว่า”รอบปกติ” และก็มีจำนวนหนึ่งที่ใช้คำว่า “รอบทั่วไป” แต่ก็ให้เข้าใจนะครับว่า ทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือความหมายเดียวกัน สอบวันเดียวกัน อาจจะมีแบ่งเกรดตามการแข่งขันบ้างก็คือ
- กลุ่มโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ซึ่งในฤดูกาลนี้สอบวันที่ 1 เมษายน 2560 โรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็เช่น โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย …. ตรวจสอบรายชื่อโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงได้จากไฟล์ด้านล่างนี้เลยครับ ซึ่งในปีนี้ โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง จะสอบกันในวันที่ 1 เมษายน 2560
รายชื่อโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง - กลุ่มโรงเรียนที่มีการแข่งขันระดับปกติ โรงเรียนที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ก็จะมาสอบในรอบนี้ เด็กที่สอบเข้าไม่ได้ในรอบปกติของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ก็สามารถมาลงสอบที่โรงเรียนในกลุ่มนี้ได้อีกรอบหนึ่ง ซึ่งในปีการศึกษานี้ จะมีการจัดสอบในวันที่ 8 เมษายน 2560
ในการสมัครของแต่ละโรงเรียนนั้น ก็จะมีการแยกประเภทของนักเรียนอีก
- นักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการ ก็คือนักเรียนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฏร์ที่ตรงตามหลักเกณฑ์ของทางโรงเรียนนั้นๆ เขตพื้นที่บริการของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยคือ เขตพญาไท แขวงสามเสนใน
- นักเรียนทั่วไป ไม่จำกัดเขต
- นักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 5 5 5 ข้อนี้ผมโดนถามบ่อยว่า มันคืออะไร … เท่าที่เห็นมีเกือบทุกโรงเรียนหละครับ ผมไม่รู้จะไปถามใครก็เลย search หาข้อมูลจากในเน็ทนี่หละครับ ก็ได้ข้อมูลที่เป็นหลักกลางๆประมาณนี้นะครับ ซึ่งคงต้องสอบถามโดยตรงกับแต่ละโรงเรียนหละครับว่า มีอะไรอย่างไรบ้าง
- นักเรียนที่ได้คะแนนสอบเท่ากันในลำดับสุดท้าย
- นักเรียนที่มีข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน
- นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส
- นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติ หรือผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ
- นักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือโรงเรียนคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย
- นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครู และบุคลากรของโรงเรียน
- นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
เอาหละ … กลับเข้าเรื่องของเราต่อ เมื่อมีการรับเด็กนักเรียนรอบปกติมาแล้ว ซึ่งของสามเสนวิทยาลัยก็จะได้นักเรีียนมาจำนวน 300 คน … จะมีการแบ่งห้องอะไรกันอย่างไรบ้าง …
เริ่มจากช่วงที่เด็กจะต้องมีการเรียนปรับพื้นฐานก่อนเปิดเทอม ทางโรงเรียนก็จะมีการประกาศรับสมัครนักเรียนที่สมัครใจจะสอบคัดแยกลงห้อง EIS เป็นการภายใน ซึ่งจะคัดจำนวน 100 คน ก็จะเท่ากับ 2 ห้องเรียนพอดี (รับสมัครจากเด็กนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกรอบปกติเข้ามาแล้ว นั่นก็คือ นักเรียน 300 คน นั่นเอง)
ในการสอบคัดเลือกแยกห้อง EIS นั้น จะสอบ 2 วิชาคือ ภาษาอังกฤษ และ คณิตศาสตร์ เมื่อได้มา 100 คนแล้วก็จะไปลงห้อง 1/7 และ 1/8
คำถามก็คือ ห้อง EIS คืออะไร?
EIS – English for Integrated Study เป็นห้องเรีียนที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์โดยใช้ตำราภาษาอังกฤษ แต่ทำการสอนโดยครูไทย ซึ่งเด็กๆก็จะคุ้นเคยกับคำศัพท์ที่ใช้ในแวดวงคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เด็กหลายคนบอกว่าสนุก แรกๆก็อาจจะงงงงกับคำศัพท์บ้างนิดหน่อย
ที่สำคัญ ห้องนี้เป็นแหล่งรวมเด็กที่พลาดหวังจากการสอบรอบพิเศษทั้ง EP Gifted MSEP ESC หรืออื่นๆที่สอบกันไปในรอบห้องเรียนพิเศษ
ในเรื่องการเรียนการสอน ก็จะมีการสอนเพิ่มเติมภาษาอังกฤษหลังเลิกเรียน ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการนี้ก็เท่าๆกับเด็กที่สอบเข้ามาในรอบปกติ มีจ่ายเพิ่มเติมประมาณ 3000 – 5000 บาท เป็นค่าหนังสือ text book และอื่นๆ
อย่างที่บอกว่ามีการเรีียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ซึี่งก็จะเรียนกันในคาบ 9 (วันหนึ่งมีเรียน 8 คาบ) โดยจะมีการเรีียนในเนื้อหา
- Writing จะเรียนสัปดาห์ละครั้ง สอนโดยครูคนไทย
- Conversation สอนโดยครูต่างชาติ โดยจะแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่มต่อห้อง
เอาหละ ตอนนี้ ก็จะเหลือ 200 คนสุดท้ายกับห้องที่เหลือคือ 1/3 , 1/4 , 1/5 และ 1/6 ก็จะทำการเรียงคะแนนจากคะแนนที่สอบเข้ามาตามลำดับ เด็กที่มีคะแนนสูงสุดอันดับที่ 1 -50 ก็จะไปอยู่ห้อง ม.1/3 ซึ่งเรียกกันว่า ห้องคิงส์ นั่นเอง ส่วนที่เหลืออีก 150 คน ก็จะไปคละห้อง ห้องละ 50 คน ลงยังห้อง 1/4, 1/5 และ 1/6
บทสรุป
เป็นไงหละ ตอนนี้ก็ครบถ้วนแล้วนะครับ 12 ห้องเรียนมัธยมต้นของ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ใครอยากจับจองห้องไหนก็เตรียมตัวให้พร้อม แล้วลงสนามได้เลยครับ ….
ท้ายนี้ ขอขอบคุณ คุณแม่จา คุณแม่ของน้องห้อง MSEP และ คุณแม่หนู คุณแม่ของน้องห้อง EIS รวมทั้ง ดร.ปู หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ผู้ดูแลโครงการห้องเรียนพิเศษ ที่ผมแอบจำจากการเข้าฟังการบรรยายของท่าน เก็บเล็กผสมน้อยเอามาเล่าให้พวกท่านฟังนี่แหละครับ แฮะๆ
ผมชอบคำนี้มาก “ถ้าท่านผู้ปกครองตัดสินใจเลือกให้ลูกสอบเข้าห้องเรียนพิเศษนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าท่านได้มอบบุตรหลานของท่านให้กับ วิชาการ แล้ว”
ท้ายของท้ายสุดนี้ จะเห็นว่า ผมเองจะไม่ค่อยได้เอาข้อมูลที่เป็นกิจลักษณะ จากทางโรงเรียนโดยตรงผมชอบรับข้อมูลจากการสัมผัสจริง จากผู้ปกครองอื่นๆมากกว่า เขียนในมุมมองของผู้ปกครองนะครับ… ขอบคุณครับ