Luoyang :: ตอนที่ 2 – ปีนผาส่องถ้ำเยี่ยมสวรรค์…ที่ถ้ำหินประตูมังกร – ถ้ำผาหลงเหมิน

ถ้ำหินหลงเหมิน หรือ หลงเหมินสือคู (龙门石窟) เริ่มงานขุดเจาะ ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเสี้ยวเหวินราชวงศ์เว่ยเหนือ(ค.ศ.471-ค.ศ.477)ใช้เวลากว่า 400 ปีจึงสร้างแล้วเสร็จ ปัจจุบันจึงมีประวัติ 1500 ปี ความยาวจากใต้สู่เหนือของถ้ำหินหลงเหมินประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบัน มีถ้ำหินกว่า 1300 ถ้ำ ช่องบรรจุพระพุทธรูป 2345 ช่อง มีคำเขียนและศิลาจารึกกว่า 3600 ชิ้น เจดีย์พุทธศาสนากว่า 50 องค์ พระพุทธรูปกว่า 97000 องค์ ในจำนวนนี้ ถ้ำกลางปินหยาง วิหารเฟิ่งเซียนและถ้ำกู่หยางนับว่าเป็นสถานที่ที่มีปฏิมากรรมการแกะสลักที่สวยงามน่าชื่นชมเป็นที่สุด


ครั้งที่แล้วเราเดินมาถึงปากทางเข้ากันแล้วใช่ไหมครับ
Luoyang :: Longmen Grottoes 龙门石窟 ถ้ำผาหลงเหมิน หรือ ถ้ำสวรรค์ประตูมังกร ตอนที่ 1 :: เดินทาง …
วันนี้เราจะมาซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปชม ถ้ำสวรรค์ประตูมังกร หลงเหมินคูสือ กันนะครับ
หลังจาก post ที่แล้ว เราบอกเล่าถึงการเดินทางจากโรงแรมที่เมืองซีอานมายังเมืองลั่วหยางโดยรถไฟหัวกระสุน
การต่อรถเมลล์จากสถานีรถไฟเพื่อมายังสถานที่แห่งนี้ Longmen Grottoes
และการเดินฝ่าลมหนาวผ่านร้านค้าของฝากร้านอาหารพื้นเมือง จนกระทั่งมาถึงจุดนี้
เคาน์เตอร์ขายตั๋วก็อยู่ที่อาคารนี้แหละครับ ด้านหลังป้ายใหญ่ๆนั่นแหละครับ

แฮะ แฮะ มาหลบซ่อนอยู่ด้านหลังแบบนี้ 

เจ้าหน้าที่ พูดภาษาอังกฤษสื่อสารใช้ได้ครับ (ทริปนี้ ไปตามสถานที่ท่องเที่ยว พนักงานพูดภาษาอังกฤษได้เกือบทุกที่เลยครับ ดีจัง)
เราบอกว่า ผู้ใหญ่ 2 เด็ก 1 เขาก็ชะเง้อมอง บอลล์ บอลล์ แล้วบอกว่า No need
อั๊ยยยย ยะ ….. งวดนี้ บอลล์เที่ยวฟรีตลอดเลยวุ๊ย …

ได้มาแล้ว ตั๋ว 2 ใบ
ราคาใบละ 120 หยวน (ค่าบัตรผ่านสถานที่ต่างๆที่นี่แพงจริงๆ)

ด้านหลังของบัตร สามารถจ่าหน้าซอง ใช้บัตรนี้เป็น Postcard ได้เลย
ส่วนด้านหน้าเป็นภาพของพระพุทธรูปโรจนะ และมีแผนผังแสดงบริเวณหุบเขาหน้าผาริมน้ำแห่งนี้ด้วย

พอซื้อบัตรผ่านเรียบร้อยแล้ว เราก็มายืนถ่ายภาพกับหินก้อนนี้กันก่อน ซึ่งน่าจะเป็นหินป้ายชื่อ(เราอ่านไม่ออกหรอก)
เห็นคนอื่นเขาถ่าย ก็ถ่ายกันบ้าง

โอเค ได้เวลาล๊ะ เราไปกันต่อ …. วันนี้ยังต้องเดินกันอีกเยอะ

จากลานกว้างตรงนั้น เราเดินตรงเข้าไปเลยตามป้าย สังเกตุง่ายครับ คนเดินตามกันเป็นแถว

เห็นสะพานข้ามแม่น้ำ อยู่แว๊บๆ ด้านหลังโน่น

ตรงนี้เป็น Tourist Center

ถ้ามองไปตรงๆด้านหน้า ก็จะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำ
ถ้ำผาหลงเหมินนี้ ตั้งอยู่ปากทางเข้าเมืองลั่วหยาง ทางทิศใต้ และมีแม่น้ำอี้ (Yi)(伊河) ซึ่งไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือไหลผ่านโดยมีภูเขาสูงชันขนาบทั้งสองฝั่ง

ประตูตรวจตั๋วก็อยู่ใต้สะพานนี้นี่เอง

งั้นเราเข้าไปกันเลยดีกว่า

เมื่อกี้ถ่ายสะพานก่อนเข้า มาถ่ายตอนเข้าประตูลอดใต้สะพานมาแล้วบ้าง
ช่วงนี้น้ำลดตอผุดกันละครับ ดังนั้นใครที่เคยเห็นรีวิวว่า ขาเดินกลับมีนั่งเรือกลับได้ด้วย วันนี้คงไม่ได้นะครับ …

ผมชอบการออกแบบเสาของป้าย information ต่างๆ ดูแล้วเข้ากับสถานที่จริงๆ

เอาละ เดินหน้ากันต่อ … เริ่มเข้าโซนที่ต้องปีนหน้าผากันแล้วหละ

จริงๆก็ไม่ได้ยากนะครับ
เดินขึ้นบันไดไปชมตามซอกตามถ้ำตามหน้าผาจุดต่างๆ เขาจัดทำไว้ค่อนข้างดีครับ
แต่ก็มีเหนื่อย อิอิ …

ถ้ำแรกคือ ถ้ำกู่หยัง(古阳洞) Guyang Cave ซึ่งถือได้ว่าเป็นถ้ำแรกที่ถูกสร้างขึ้น งานแกะสลักภายในถ้ำมีความละเอียดอ่อนโยน ภาพแกะสลักเหล่านั้นสามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้มากมาย ตามผนังถ้ำทั้งทางทิศเหนือและทางทิศใต้มีโพรงเป็นแท่นบูชาพระพุทธรูป 3 ชั้น ซึ่งภายในโพรงก็มีการแกะสลักพระพุทธรูป เป็นรูปพระพุทธเจ้า พระศากยมุนี พระศรีอาริยเมตรไตรยในอริยาบทต่างๆ
ทั้งนี้ภายในถ้ำยังได้มีการสลักชื่อผู้ที่ทำการแกะสลัก และวันเดือนปีที่แกะด้วย
ขณะที่หินสลักอักษรจีนที่ถูกเรียกรวมกันว่า ‘หินสลักอักษรศิลป์หลงเหมิน 20 ชิ้น’ อันเป็นโบราณวัตถุล้ำค่า นั้น 19 ชิ้นอยู่ในถ้ำกู่หยัง


หมายเหตุ ในนิกายมหายาน นิยมเรียกพระโคตมพุทธเจ้าว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้า (จีน: 释迦牟尼佛 ซื่อเจียโหฺมวหฺนีฝอ ตามสำเนียงจีนกลาง หรือ เสกเกียเมานีฮุก ตามสำเนียงฮกเกี้ยน) ซึ่งมักจะนิยมสร้างประติมากรรมในรูปแบบถือลูกแก้วสีแดง ส่วนทางธิเบตจะนิยมมีพระวรกายสีเหลือง ถ้าพบตามวัดก็จะพบพระศากยมุนีพุทธเจ้าประดิษฐานตรงกลาง ด้านซ้ายมือของพระศากยมุนี คือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาตถาคตพุทธเจ้า ส่วนด้ายขวามือของพระศากยมุนี คือพระอมิตาภพุทธเจ้า หรือที่พุทธศาสนิกชนชาวจีนเรียกว่า พระไตรรัตนพุทธเจ้า (จีน: 三寳佛 ซานเป้าฝอ ตามสำเนียงจีนกลาง หรือ ซำป้อฮุก ตามสำเนียงฮกเกี้ยน)


หมายเหตุ พระศรีอริยเมตไตรย หรือพระเมตไตรย (บาลี: Metteyya เมตฺเตยฺย; สันสกฤต: मैत्रेय ไมเตฺรย) เป็นพระโพธิสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 และองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปนี้ พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าเมื่อศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าสิ้นสุดไปแล้ว โลกจะล่วงเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอย อายุขัยของมนุษย์ลดลงจนเหลือ 10 ปี ก็เข้าสู่ยุคมิคสัญญี ผู้สลดใจกับความชั่วก็หันมารวมกลุ่มกันทำความดี จากนั้นอายุขัยเพิ่มขึ้นถึง 1 อสงไขยปี แล้วจึงลดลงอีกจนเหลือ 80,000 ปี ในยุคนี้จะมีพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีครบ 80 อสงไขยแสนมหากัป ลงมาตรัสรู้เป็น พระเมตไตรยพุทธเจ้า (Ref:Wikipedia)


เดินกันต่อ … ระหว่างเดินไป ก็มีถ้ำเล็กถ้ำน้อยตลอดทาง …

มองไปยังฝั่งตรงข้าม เสียดายเราไม่มีเวลาพอสำหรับไปเดินดูทางฝั่งโน้นด้วย

สามถ้ำปินหยาง (宾阳三洞) ถ้ำปินหยาง ทั้งสามแบ่งออกเป็น ถ้ำเหนือ ถ้ำกลาง และถ้ำใต้ สร้างขึ้นในสมัยเว่ยเหนือ หลักฐานระบุว่าใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 24 ปี โดย ‘ถ้ำกลาง’ นั้นถือเป็นถ้ำที่มีความสวยงามที่สุด และถูกยกย่องให้เป็นตัวแทนของพุทธศิลป์ยุคกลางแห่งราชวงศ์เหนือ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 11 องค์ โดยมีรูปสลักองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระประธาน
นอกจากนี้ยังมีสิงโตหินสลักคู่ พระสาวก และพระโพธิสัตว์ ประดับอยู่เป็นคู่ด้านหน้าพระประธาน ที่ผนังถ้ำตกแต่งไปด้วยรูปสลักนูนพระสาวก และพระโพธิสัตว์อีกจำนวนมาก ส่วนที่เพดานก็มีการแกะสลักเป็นรูปเซียนและเทพธิดา
มากกว่านั้น บนผนังถ้ำยังมีการแกะสลักภาพนูนเป็นรูปจักรพรรดิเสี้ยวเหวินตี้ ขณะทรงประกอบพิธีทางศาสนา เนื้อหาภาพเป็นฉากการเสด็จประกอบพิธีกงเต็กแด่พระชนกและพระชนนีของพระองค์ สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับภาพสลักนูนของถ้ำผาหยุนกังชุดนี้ก็คือ ในปี ค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) ส่วนหนึ่งของภาพสลักโดนชาวจีนที่ถูกว่าจ้างโดยชาวอเมริกันลักลอบขโมยออกนอกประเทศ ไปเก็บเอาไว้ที่ The Metropolitan Museum of Art กรุงนิวยอร์ก และ The Nelson-Atkins Museum of Art เมืองแคนซัส มลรัฐมิสซูรี


ถ้ำกลางปินหยาง(Middle Binyang Cave)(宾阳中洞) เป็นถ้ำหินแกะสลักที่เป็นตัวแทนสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ(ค.ศ.386-ค.ศ.512) เป็นถ้ำที่ใช้เวลาสร้างนานที่สุดคือ 24 ปี ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 11 องค์ พระพุทธรูปศากยมุนีในถ้ำนี้มีความสำคัญที่สุดโดยมีลักษณะที่เด่นสง่า น่าเลื่อมใส มีรอยแย้มพระสรวลอิ่มเอิบด้วยเมตตา สมกับที่เป็นศิลปะหินสลักอันยอดเยี่ยมสมัยช่วงกลางของราชวงศ์เว่ยเหนือ มีพระสาวก 2 องค์และพระโพธิสัตว์ 2 องค์ยืนอยู่ด้านซ้ายและด้านขวา พระโพธิสัตว์ก็ดูเด่นสง่า มีรอยแย้มพระสรวลอิ่มเอิบด้วยเมตตา ภาพหินแกะสลักภายในถ้ำ เช่น พระสาวกฟังธรรมและ นางฟ้าบนเพดานถ้ำก็สร้างขึ้นด้วยฝีมืออันละเอียดประณีต

พระพุทธรูปศากยมุนี

หน้าปากถ้ำกลางปินหยาง


ถ้ำปินหยางเหนือ (North Binyang Cave) (宾阳北洞) เป็นถ้ำที่สร้างขึ้นในสมัยเว่ยเหนือเช่นกัน แต่มาเสร็จในราชวงศ์ถัง

พระพุทธรูปแกะสลักบริเวณปากถ้ำปินหยางเหนือ

ถ้ำปินหยางใต้ (South Binyang Cave)(宾阳南洞) เช่นเดียวกันกับถ้ำปินหยางเหนือและกลาง นั่นก็คือสร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ แต่ถ้ำปินหยางใต้มาแล้วเสร็จในราชวงศ์สุ่ย

ปากถ้ำปินหยางใต้


เดินกันต่อไปเรื่อยๆ นะครับ ขึ้นบ้างลงบ้าง อากาศเย็นสบายแบบนี้ เดินไม่เหนื่อย

เหนื่อยนักก็พักก่อน


Moya Three Buddha Niche (摩崖三佛 – Móyá sān fú)
เป็นการแกะสลักบนผิวหน้าผา ไม่ได้อยู่ภายในถ้ำ บริเวณเดียวกันกับ ปินหยาง
พระประธานของหมู่นี้จะสร้างเป็น พระศรีอริยเมตไตรย (Buddha Maitreya) ความสูง 6 เมตร นั่งอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยม


ระหว่างทางเดินไปยังเป้าหมายถัดไป ถ้ำพระพุทธรูปหมื่นองค์ และ ถ้ำดอกบัว


ถ้ำพระพุทธรูปหมื่นองค์ Cave of Ten Thousand Buddhas (万佛洞 – Wàn Fú dòng) สร้างขึ้นในปี 680 สมัยราชวงศ์ถัง ภายในแกะสลักเป็นพระพุทธรูปองค์เล็กขนาด 2 ซม. เรียงรายสวยงามตามฝาผนังรวมทั้งสิ้น 15,000 องค์
พระประธานของถ้ำนี้ก็จะเป็น พระอมิตาภพุทธะ ( 阿弥陀佛)


พระอมิตาภพุทธะ เป็นพระธยานิพุทธะที่ประทับในแดนสุขาวดี ซึ่งเป็นพุทธเกษตรแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก พระองค์มีรูปกายเป็นสีแดง นับถือกันมากในนิกายสุขาวดี ควบคู่กับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หรือเจ้าแม่กวนอิม แต่ไม่เป็นที่ยอมรับในนิกายเถรวาท เพราะไม่มีกล่าวถึงในพระไตรปิฏกภาษาบาลี



ถ้ำดอกบัว Lianhua (Lotus Flower Cave) (莲花洞) ถ้ำแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยเว่ยเหนือ ช่วงปี 521 ถึง 576 มีความพิเศษก็คือ บนเพดานถ้ำนั้นมีการแกะสลักดอกบัวงดงามไว้หนึ่งดอกใหญ่ โดยดอกบัวนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็น ดอกไม้ตัวแทนของศาสนาพุทธ ด้วยความเชื่อที่ว่า ดอกบัวแม้จะกำเนิดจากโคลนตม แต่เมื่อโผล่ขึ้นเหนือน้ำแล้วก็กลายเป็นดอกไม้ที่สวย หอม และแสดงถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ด้านล่างนอกจากองค์พระประทานที่เป็นพระพุทธรูปยืนแล้ว จะมีสาวกยืนอยู่สองข้างคือ Kasyapa ทางด้านซ้าน และ Ananda ทางด้านขวา ส่วนหัวของสาวก Ananda นั้นหายไปจากการถูกขโมย และปัจจุบันไปปรากฎอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ Guimet ประเทศฝรั่งเศส


เมื่อเห็นป้ายนี้แล้ว คงร้องอ๋อกันหละครับว่า ทำไมรูปแกะสลักทั้งบนหน้าผาและในถ้ำ ถึงได้ถูกทำลายเสียถ้วนทั่ว ไม่ว่าจะเป็นรูปเล็กองค์ใหญ์ หรือลายแกะสลักที่สวยงาม เพราะว่ารูปแกะสลักเหล่านี้ เป็นการบ่งบอกถึงวัฒนธรรมในสมัยก่อนการปฏิวัติโดยเหมาเจ๋อตุง นั่นก็คือเป็นวัฒนธรรมสมัยเว่ยเหนือ (เป่ยเว่ย:北魏) สมัยถัง และสมัยโจว (เข้าใจว่า คงมีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงการทำลายศิลปเหล่านี้)


การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (อังกฤษ: Cultural Revolution; อักษรจีนตัวเต็ม: 無產階級文化大革命; อักษรจีนตัวย่อ: 无产阶级文化大革命; พินอิน: Wúchǎn Jiējí Wénhuà Dà Gémìng) เป็นชื่อเรียกการปฏิวัติหนึ่งในประเทศจีน ช่วงปี พ.ศ. 2509-2519 (ค.ศ. 1966-1976)
ในสมัยที่ประเทศจีนปกครองโดยคอมมิวนิสต์ใหม่ ๆ นั้น ได้มีการใช้ระบบคอมมูน (แนวคิดว่าทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ) โดยคอมมูนนี้เป็นจุดเริ่มของการปฏิวัติวัฒนธรรมเพราะคอมมูนการเลี้ยงดูได้ปลูกฝังแนวคิดสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ของจีน เป็นผลให้ระบบเครือญาติที่เคยเข้มแข็งอ่อนแอลง
โดยต่อมาการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นไปอย่างแพร่หลาย ผู้นำสังคมในยุคนั้นปลูกฝังประชาชนให้ให้ยึดมั่นอย่างเคร่งครัด ใครไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง โดยมีหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญ คือ พวกกองทัพพิทักษ์แดง (เรดการ์ด – Red Guard) หรือก็คือเยาวชนที่ผลิตโดยคอมมูนการเลี้ยงดูนั่นเอง
ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรม คือ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของจีนต้องถูกทำลาย เช่น หนังสือ วัดวาอาราม รูปปั้น งานศิลปะต่าง ๆ และทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างครอบครัว เพื่อนบ้าน เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครจะเป็นผู้แจ้งให้ทางการรู้เกี่ยวกับละเมิดกฎ
การเสียชีวิตของ เหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น มีผลต่อการล่มสลายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ผู้สืบอำนาจต่อมา คือ เติ้งเสี่ยวผิง นั้นได้ผ่อนคลายกฎลง ทำให้ภาวะการณ์คลี่คลาย โดยเฉพาะเมื่อมีการจับกุมกลุ่มผู้นำการปฏิวัติ ทำให้การปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดลง
Ref : วริษฐ์ ลิ้มทองกุล (ผู้จัดการออนไลน์)


ออกมาจากจุดนั้นแล้ว ด่านต่อไปก็เป็น Highlight ของที่นี่แหละครับ
เดินไปสบายๆ ไม่รีบ …

อย่ากระนั้นเลย …. ขอนั่งพักเอาแรงแป๊บ น๊ะ … (แอบเห็นความสูงแล้ว)

มั่นใจแล้ว ก็เริ่มเดิน เริ่มปีนกันเลย เป้าหมายอยู่ด้านบนโน้น …


วัดเฟิ่งเซียน (Fengxian Si) 奉先泗
วัดเฟิ่งเซียน (Fengxian Temple) ตั้งตระหง่านอยู่บนโตรกผาสูง 40 เมตร มีพระพุทธรูปองค์ประธานสูง 17.14 เมตร เฉพาะเศียรสูง 4 เมตร ใบหูยาว 1.9 เมตร เป็นพระประธานที่ช่างแกะสลักแสดงฝีมือสลักหินราวกับรูปสลักนี้แสดงอารมณ์ได้ พระวรกายอิ่มเอิบ พระพักตร์ก้มต่ำเล็กน้อยคล้ายกำลังเข้าสู่สมาธิขั้นสูง ริมฝีปากแสดงถึงความเมตตากรุณา ดวงตาที่เหลือบลงหลายคนบอกว่าไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงไหนก็เหมือนองค์พระกำลังมองดูเรา พระประธานองค์นี้พระนางบูเช็กเทียนสั่งให้ช่างแกะสลักสร้างขึ้น และถวายพระนามว่า พระโพธิสัตว์ไวโรจนะ (Vairocana Buddha) เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดของถ้ำหลงเหมิน และถือเป็นงานแกะสลักชุดสุดท้ายของถ้ำประวัติศาสตร์แห่งนี้
องค์พระพุทธรูปไวโรจนะ ล้อมรอบด้วยสานุศิษย์ และท้าวจตุโลกบาล โดย วัดโบราณเฟิ่งเซียนนี้เป็นช่องเขาขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณถ้ำผาหลงเหมิน และเป็นตัวแทนของศิลปะหินสลักแห่งราชวงศ์ถัง โดยตัวถ้ำกว้าง 38 เมตร สูง 30 เมตร และลึก 38 เมตร
วัดแห่งนี้เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ.672 ในรัชสมัย ฮ่องเต้ถังเกาจง (唐高宗) และสร้างเสร็จในปี ค.ศ.675 โดยหลักฐานระบุว่า พระนางบูเช็กเทียน (อู่เจ๋อเทียน:武则天) ผู้เป็นฮองเฮานั้นบริจาคเงินสร้างจำนวนกว่า 2 ล้านก้วน (贯; ก้วนเป็นหน่วยเงินในสมัยโบราณ เงินหนึ่งพันเหรียญเมื่อนำเชือกมาร้อยรวมกันแล้วจึงนับเป็น หนึ่งก้วน)


พระพุทธรูปไวโรจนะ (卢舍那;Vairocana Buddha) เป็นพระธยานิพุทธะ 1 ใน 5 องค์ ของนิกายวัชรยาน ทรงเป็นประธานของพระพุทธะทั้ง 5 หมายถึงปัญญาอันสูงสุด ตราประจำพระองค์เป็นธรรมจักร หมายถึง ความเป็นหนึ่ง พระกายเป็นแสงสว่าง มักแทนด้วยสีขาว ตำแหน่งในพุทธมณฑลจะอยู่ตรงกลางโดยมีพุทธะอีก 4 องค์ห้อมล้อม พระโพธิสัตว์ในกลุ่มของท่านที่สำคัญมี 2 องค์ คือ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์


ด้านข้างก็จะเป็นรูปแกะสลักของท้าวจตุโลกบาล

เน้นๆทีละรูป

มองลงมาด้านล่าง …

มาดูข้อมูล ขึ้นไปต่อได้อีก …

ถ้าเดินต่อไปก็เป็นทางเดินขึ้น ขึ้นมาสุดนี้น่าจะสูงที่สุดของถ้ำฝั่งทางด้านทิศตะวันตกแล้ว
ถ้าใครขึ้นไม่ไหวแล้วก็ลงได้เลยครับ เพราะว่า ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่…

เดี๋ยวลงไปแล้ว เราก็จะเดินข้ามสะพานนี้ไปยังฝั่งโน้น

 แต่เราเลือกที่จะเดินขึ้นไป … พอลงมาก็เป็นสภาพแบบนี้ 

มองย้อนกลับไป ….

หายเหนื่อยก็เดินกันต่อ … ออกประตูมาแล้ว 

เดินข้ามสะพานกัน

ข้ามมาถึงจุดตรงข้ามแล้ว 

มุมนี้ถ่าย 180 องศา มองกลับไปทางฝั่งโน้นเลยครับ

ใครไม่อยากเดิน หรือเวลาไม่พอ เรียกใช้บริการรถได้เลยครับ คนละ 10 หยวน
เราพร้อมใจกันกระโดดขึ้นทันทีเลย จ่ายไป 20 หยวน (เด็กฟรีอีกล๊ะ)

รถจะมาส่งเราตรงบริเวณที่เราซื้อตั๋วก่อนเข้านั่นแหละ

หลังจากนั้น เราก็เดินดูของฝากของกินกันต่อได้เลยครับ …

มาถึงร้านนี้ก็อดใจไม่ไหว ซื้อกินกันอีกรอบ แบบว่าอิ่มกันไปเลย 

ดูตอนทำสิ อร่อยขนาดไหน

หลังจากนั้น เราก็จะเดินมาขึ้นรถเมลที่ป้ายนี้ ใกล้ๆกับป้ายที่เมื่อเช้าตอนขามาเราลงรถ
(ป้ายที่เราลง จะเห็นอยู่ด้านหลังแว๊บๆนั่นแหละครับ)

มีตู้นายท่า อยู่ตรงนั้น เราเดินเข้าไปเอารูปให้ดูเลยว่า จะไปที่นี่แถวนี้หงะ

พอเขามองรูปใน iPhone เราปุ๊บ ก็ชี้ไปที่สาย 53 บนตู้เขา เหมือนบอกว่า ให้ไปสายนี้
พอดีว่ารถสาย 53 วิ่งมาพอดี เขาก็เลยรีบล้งเล้ง ชี้ให้ขึ้นคันนี้
เราก็ขึ้นเลยสิ ก่อนอื่นเพื่อความมั่นใจก็ถามคนขับก่อนเลย ยื่นรูปให้ดู เขาก็พยักหน้า
เราก็เลยหาที่นั่งใกล้ๆคนขับนั่นแหละ อิอิ นั่งไปนานเหมือนกัน แต่ไม่ได้จับเวลา (น่าจะเป็นชั่วโมงนะครับ)

นั่งจนรถมาผ่านแถวถนนสายอาหารเราก็ลงเดินไปโรงแรมกันเลย

ในภายหลัง มาได้ใบโฆษณาของ Hostel เป็นแบบนี้ครับ สำหรับนักท่องเที่ยวเอาไว้สื่อสาร

ตอนต่อไป ก็มาเดินชมถนนสายอาหาร และ เมืองเก่าลั่วหยางนะครับ
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม


Luoyang :: Longmen Grottoes 龙门石窟 ถ้ำผาหลงเหมิน หรือ ถ้ำสวรรค์ประตูมังกร ตอนที่ 1 :: เดินทาง …